“ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุดในเมืองหรือในชนบท ห้องสมุดในมหาวิทยาลัย หรือโรงเรียน.....ท่านควรจะเผยแพร่หนังสือประเภทใด และควรระวังหนังสือประเภทใด นี้เป็นปัญหาทางการเมือง การศาสนา และสังคมที่ท่านคงจะประสบไม่วันนี้ ก็วันข้างหน้า”
คำกล่าวนี้คือบางช่วงตอนของ ศ. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เรื่อง ห้องสมุดในทรรศนะของข้าพเจ้า จากปาฐกถาที่แสดงในการประชุมสามัญประจำปี 2511 ของสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย กว่าสี่สิบปีผ่านไป คำกล่าวของบรมครูท่านนี้ยังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในมหาวิทยาลัยของท่านเอง
'ห้องสมุด' คลังความรู้ขนาดใหญ่ประจำสถาบันการศึกษา ปัจจุบันมีห้องสมุดมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชนรวมกันประมาณ 85 แห่ง ทั่วประเทศ หนึ่งในสิทธิของนักศึกษาที่หลายคนอาจไม่รู้คือ การแนะนำหนังสือเข้าห้องสมุด ซึ่งงบประมาณบางส่วนหักจากค่าเทอมของนักศึกษาและเงินอุดหนุนของมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตามไม่ใช่หนังสือทุกเล่มที่นักศึกษาแนะนำจะผ่านเกณฑ์พิจารณา โดยเฉพาะเมื่อเป็นหนังสือนอกสาขาวิชาเรียน หากไม่ใช่อาจารย์หรือผู้เชี่ยวชาญทางศาสตร์นั้น ๆ เป็นผู้แนะนำ โอกาสที่หนังสือจะได้รับเลือกจึงแทบเป็นไปไม่ได้
กรณีตัวอย่างที่กลายเป็นกระแสในโลกออนไลน์อยู่ช่วงหนึ่ง เมื่อนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มหนึ่ง ถูกเรียกไปทำความเข้าใจกับห้องสมุดมหาวิทยาลัย สาเหตุหลักมาจากห้องสมุดพบว่า นักศึกษาแนะนำหนังสือเข้าห้องสมุดนอกเหนือสาขาวิชาที่เรียน
เช่นเดียวกับกรณีห้องสมุดมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่โละทิ้งหนังสือจำนวนมากถึง 3,000 กิโลกรัม ปรากฎเป็นข่าวครึกโครมและเป็นที่วิพากษ์วิจาร์อย่างหนัก เพราะจำนวนไม่น้อยนั้นเป็นหนังสือเก่าหายาก เป็นที่ต้องการของนักการศึกษา
นำมาสู่คำถามที่ว่าท่ามกลางกระแสปฏิรูปการศึกษา ระบบการศึกษาไทยกลับตีกรอบความรู้ของนักศึกษาให้อยู่เพียงสาขาวิชาของตน โดยห้องสมุดซึ่งเป็น'บ่อน้ำ' แหล่งค้นคว้าหาความรู้ที่สำคัญที่สุด กลับกลายเป็นกำแพงสะกัดกั้นความกระหายของผู้ใฝ่รู้เสียเอง
ผลสำรวจการอ่านหนังสือของประชากรปี 2556 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ายิ่งประชากรมีระดับการศึกษาที่สูงจะยิ่งอ่านหนังสือมาก ถึงร้อยละ 98.6 อย่างไรก็ตาประเภทหนังสือที่มีผู้อ่านเฉลี่ยสูงที่สุดคือหนังสือพิมพ์ สูงถึงร้อยละ 73.7 ขณะที่หนังสือตำราให้ความรู้อื่นๆ อยู่ที่ร้อยละ 49.2 และตราเรียนตามหลักสูตร ร้อยละ29.5
ขณะที่เนื้อหาสาระที่ผู้อ่านหนังสือชอบอ่านมากที่สุด คือ ข่าว ร้อยละ 54.3 รองลงมาคือ สารคดี/ความรู้ทั่วไป ร้อยละ 36.4 บันเทิง ร้อยละ 32.3 ความรู้วิชาการ 23.2 และคำสอนทางศาสนา 13.4 ส่วนโฆษณาเนื้อหาสาระประเภทความคิดเห็น/วิเคราะห์ มีผู้อ่านเพียงเล็กน้อย
‘ความรู้’ ที่ถูกตีกรอบ
หนึ่งในนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ถูกห้องสมุดเรียกไปทำความเข้าใจ กล่าวว่า
ตนและเพื่อนถูกเจ้าหน้าที่ห้องสมุดเรียกไปปรับทัศนคติเกี่ยวกับการแนะนำหนังสือ เนื่องจากห้องสมุดพบว่าตนและเพื่อนแนะนำหนังสือที่นักเรียนประวัติศาสตร์ไม่ควรแนะนำตามทัศนะของเจ้าหน้าที่ห้องสมุด อาทิ ประวัติศาสตร์การแพทย์ ประวัติศาสตร์ทันตกรรม ประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์จิตวิทยา เป็นต้น
เจ้าหน้าที่จึงตั้งข้อสงสัยว่าเรียนประวัติศาสตร์ทำไมจึงแนะนำหนังสือสายวิทย์ เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ได้เข้าไปดูในหลักสูตรของคณะศิลปศาสตร์ เอกประวัติศาสตร์ พบว่าไม่มีการสอนวิชาดังกล่าว จึงสงสัยว่าเหตุใด เรียนประวัติศาสตร์ไม่แนะนำหนังสือประวัติศาสตร์ แต่กลับแนะนำหนังสือเกี่ยวกับการแพทย์ วิทยาศาสตร์ และตั้งข้อสังเกตว่าเอาไปใช้เพื่อการอ่านจริงหรือไม่
“ผมพยายามอธิบายไปว่า หนังสือพวกนี้ผมอ่าน หลายเล่มผมและเพื่อนใช้ทำ thesis (วิจัย, วิทยานิพนธ์) โดยเฉพาะของเพื่อนที่ทำ thesis เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การแพทย์โดยตรง อีกหลายเล่มเพื่อนนักศึกษาหรือแม้แต่อาจารย์ก็ยืมไปอ่าน ไม่ได้สั่งหรือแนะนำมาเฉย ๆ ให้เปลืองงบประมาณมหาวิทยาลัย ไม่นับว่าหนังสือพวกนี้ ถ้านำรายชื่อมาให้ดูจะพบว่าเป็นหนังสือสำคัญของแต่ละสาขาวิชาที่ห้องสมุดที่หลายคนยกย่องว่าเป็นห้องสมุดสังคมศาสตร์ที่ดีที่สุดในประเทศไทยยังไม่มี”
เจ้าหน้าที่ห้องสมุดอธิบายถึงปัญหาที่จะเกิดตามมาภายหลัง หากซื้อหนังสือนอกสาขาวิชาเรียนของนักศึกษาเข้าห้องสมุดว่า ต้องอธิบายให้กับผู้บริหารฟังว่า เหตุใดจึงอนุญาตให้นักศึกษาแนะนำหนังสือเข้าห้องสมุดข้ามสาขาวิชาเรียน เนื่องจากปัจจุบัน ห้องสมุดแต่ละแห่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใช้งบประมาณแยกส่วนกัน หากเป็นปีก่อนๆ ที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยยังใช้งบประมาณก้อนเดียวกัน การสั่งหนังสือข้ามสาขาวิชาอาจจะไม่เป็นปัญหา ดังนั้นเมื่อใช้งบประมาณแยกส่วนกัน ทำให้ผู้บริหารคาดหวังว่า งบประมาณของหอสมุดปรีดี ควรใช้สำหรับหนังสือสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ งบประมาณห้องสมุดนงเยาว์ ประจำคณะสายวิทยาศาสตร์ ควรใช้สั่งหนังสือการแพทย์และวิทยาศาสตร์ และในทางกลับกันคือ ถ้าจะสั่งหรือแนะนำหนังสือข้ามสาขาวิชา ควรให้นักศึกษาที่เรียนในแต่ละคณะเป็นคนแนะนำ
ข้อมูลโดยย่อเกี่ยวกับงบประมาณสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2556 ได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 167,575,200 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่ได้งบประมาณ 143,045,400 บาท หรือเพิ่มขึ้นจากเดิม 24,529,800 บาท โดยมีแหล่งงบประมาณมาจาก งบประมาณแผ่นดิน งบประมาณรายจ่ายจากรายได้หน่วยงานและงบเบิกแทน สกอ.
นักศึกษารายดังกล่าวเสนอว่า บุคลากรหรือบรรณารักษ์ที่ทำหน้าที่คัดเลือกหนังสือ ควรแยกความแตกต่างระหว่างหนังสือหรือตำราเรียนเฉพาะทาง เช่น ตำราแพทย์ ที่เต็มไปด้วยความรู้เฉพาะทางการแพทย์ เป็นความรู้เชิงลึกที่มักมีแต่เฉพาะนักศึกษาที่เรียนสายแพทย์อ่านเข้าใจ เนื่องจากมีพื้นฐานจากสายการเรียน ขณะที่หนังสือสังคมศาสตร์ที่เกี่ยวกับเรื่องทางการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์ เนื้อหาไม่ได้มีลักษณะเฉพาะทาง หรือเต็มไปด้วยศัพท์เทคนิคมากนัก โดยเฉพาะหนังสือกลุ่มประวัติศาสตร์ ซึ่งนักศึกษาสายสังคมศาสตร์ หรือสายการเรียนอื่นๆ ที่ไม่ใช่สายการแพทย์และวิทยาศาสตร์ ก็สามารถอ่านและทำความเข้าใจได้ หากบรรณารักษ์สามารถแยกประเภทหนังสือต่างๆ ได้ ปัญหาดังกล่าวจะไม่เกิด
การค้นคว้า ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้เชี่ยวชาญ
สอบถามไปยังบรรณารักษ์ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ พบว่าในแต่ละมหาวิทยาลัย อาจารย์และนักศึกษามีสิทธิในการแนะนำหนังสือเข้าห้องสมุดมหาหาวิทยาลัย โดยมหาวิทยาลัยจะมีแบบฟอร์มให้กรอกรายละเอียดหนังสือที่ต้องการ จากนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาคัดเลือกหนังสือเพื่อจัดซื้อ โดยดูจากสาขาวิชาที่นักศึกษาเรียน ซึ่งส่วนใหญ่หากเป็นหนังสือที่ตรงตามสาขาวิชาที่เรียน ห้องสมุดจะจัดซื้อให้ตรงตามความต้องการ
ฐิติ คำหอมกุล บรรณารักษ์ศูนย์สารสนเทศทางประชากรศาสตร์ วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า ตามระเบียบทั่วไปของห้องสมุดเรื่องการพิจารณาหนังสือที่นักศึกษาแนะนำให้ห้องสมุดสั่งซื้อ จะพิจารณาจากหลักสูตรที่นักศึกษาเรียนอยู่ว่ามีความจำเป็นหรือเกี่ยวข้องกับหนังสือที่แนะนำข้ามามากน้อยเพียงใด โดยขั้นแรกบรรณารักษ์จะเป็นผู้พิจารณา ส่วนกรณีทีเป็นหนังสือที่คาบเกี่ยวกับสาขาวิชาอื่น จะส่งต่อให้อาจารย์เป็นประจำสาขาวิชาเป็นผู้พิจารณา
กรณีหนังสือบางประเภทที่คาบเกี่ยวกัน หากมีนักศึกษาเอกประวัติศาสตร์แนะนำหนังสือเรื่องประวัติศาสตร์การแพทย์ ประวัติศาสตร์ทันตกรรม ซึ่งคาบเกี่ยวกันระหว่างสองสาขาวิชา คือประวัติศาสตร์และการแพทย์ บรรณารักษ์จะยังไม่ตัดสินใจว่าควรซื้อหรือไม่ แต่จะขอรายละเอียดหนังสือเพื่อพิจารณา ดูเนื้อหาและการอ้างอิงในตัวเล่มเป็นองค์ประกอบ หากเนื้อหาเน้นไปทางประวัติศาสตร์มากกว่าการแพทย์เชิงเทคนิค ก็จะตัดสินใจซื้อเข้าห้องสมุด
สำหรับสาเหตุที่ต้องพิจารณาจากหลักสูตรที่นักศึกษาเรียนเป็นหลัก เนื่องจากว่าในการจัดซื้อหนังสือแต่ละครั้งนั้นจำเป็นต้องพิจารณาถึงความสำคัญและคุ้มค่าของทรัพยากร เพราะไม่มีหลักประกันว่าหนังสือแต่ละเล่มที่ห้องสมุดจัดซื้อตามคำแนะนำของนักศึกษานั้นจะถูกใช้มากน้อยแค่ไหน หรือมีนักศึกษาคนอื่นๆ เข้ามาใช้ต่อหรือไม่
บรรณารักษ์ แค่ผู้อำนวยความสะดวก
บรรณารักษ์โดยเนื้อแท้ของวิชาชีพแล้ว คือ ผู้อำนวยความสะดวกให้ผู้ค้นคว้าเข้าถึงแหล่งความรู้ในห้องสมุด แม้ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าบรรณารักษ์จำเป็นต้องมีองค์ความรู้เกี่ยวกับหนังสือที่หลากหลาย แต่ในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยากมากเนื่องจากข้อจำกัดทางวิชาชีพและบุคลากร
โดยปกติแล้วบรรณารักษ์ในห้องสมุดจะทำหน้าที่เพียงอำนวยความสะดวกให้ผู้ค้นคว้า จัดแบ่งประเภทหนังสือและสื่อต่าง ๆ เป็นหมวดหมู่ ในขณะที่บรรณารักษ์ที่ทำหน้าที่คัดเลือกหนังสือ คือ บรรณารักษ์เฉพาะทาง ซึ่งไม่ใช่บรรณารักษ์โดยวิชาชีพ คือเป็นผู้เชี่ยวชาญทางศาสตร์นั้น ๆ เช่น สังคมศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ที่ทำงานในห้องสมุด คอยพิจารณาและคัดเลือกหนังสือ ซึ่งปัจจุบันห้องสมุดสถาบันการศึกษาในเมืองไทย แทบจะไม่มีบรรณารักษ์เฉพาะทางประจำห้องสมุด
อ่าน 'จับตา': “ห้องสมุดในสถาบันอุดมศึกษาไทย”
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5690
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ