นักมานุษยวิทยาศึกษาต้นตอการก่อการร้าย ชี้ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมคือปัจจัยหลัก

ภาคิน นิมมานนรวงศ์ 20 พ.ย. 2558 | อ่านแล้ว 1590 ครั้ง


	นักมานุษยวิทยาศึกษาต้นตอการก่อการร้าย ชี้ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมคือปัจจัยหลัก

นักมานุษยวิทยาชาวสหรัฐฯ ลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้มีแนวโน้มจะเป็นผู้ก่อการร้ายและผู้ที่ยอมรับว่าตนเองเป็นผู้ก่อการร้าย พบปัจจัยสำคัญคือสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจที่เหลื่อมล้ำระหว่างประชากรต่างศาสนาวัฒนธรรม (ขอบคุณภาพจาก: nature)

20 พ.ย.58 วารสาร Nature ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ สก็อต เอทราน นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ผู้กำลังทำวิจัยเกี่ยวกับแนวคิดเบื้องหลังของการก่อการร้าย เขาลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้มีแนวโน้มจะเป็นผู้ก่อการร้าย รวมถึงผู้ที่ยอมรับว่าตนเองเป็นผู้ก่อการร้ายในหลายประเทศทั่วโลก เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับแรงจูงใจของผู้เข้าร่วมขบวนการก่อการร้ายเหล่านี้

สก็อตตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจอยู่เบื้องหลังโศกนาฏกรรมในฝรั่งเศสเมื่อเดือนมกราคม 2558 (เหตุการณ์ Charlie Hebdo) กล่าวคือ ในขณะที่ผู้อพยพในสหรัฐฯ มีโอกาสเลื่อนชนชั้นและได้รับการศึกษา ผู้อพยพในฝรั่งเศสกลับมีแนวโน้มจะยากจนลงและมีโอกาสได้รับการศึกษาน้อยลงเรื่อยๆ ในขณะที่ฝรั่งเศสมีประชากรชาวมุสลิมอยู่ร้อย 7.5 แต่เกินครึ่งหนึ่งของคนเหล่านี้อยู่ในเรือนจำ ความแตกต่างตรงนี้เป็นเหตุผลให้อุดมการณ์ของกลุ่มก่อการร้ายดึงดูดใจคนรุ่นใหม่ๆ งานวิจัยชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นว่าคนฝรั่งเศส อายุระหว่าง 18-24 ปี ราวร้อยละ 27 มีทัศนคติเชิงบวกต่อขบวนการรัฐอิสลาม (IS) เขาเห็นว่าอุดมการณ์ญิฮาด (jihad) เป็นอุดมการณ์ทางวัฒนธรรมที่ดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้รับการเหลียวแลจากสังคมเพราะมันทำให้คนเหล่านี้รู้สึกมีตัวตน ทำให้พวกเขามีที่ทางของตนเอง และทำให้พวกเขาเชื่อว่าตนสามารถเปลี่ยนโลกได้

อย่างไรก็ตาม สก็อตมองว่ากลุ่มก่อการร้ายอย่าง IS หรืออัล-กออิดะฮ์ ไม่ได้มีการจัดการองค์กรหรือจัดหาสมาชิกที่เป็นระบบ แต่ตัวขบวนการมักทำหน้าที่ชี้แจงวิธีการหรือแผนการบางอย่างให้สมาชิกในกลุ่มไปดำเนินการสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง ตัวอย่างเช่นการทำระเบิด นอกจากนี้ การก่อการร้ายยังไม่ได้มีการวางแผนอย่างรัดกุมทุกครั้ง แต่การโจมตีที่ประสบความสำเร็จจะเป็นที่จดจำ เช่น เหตุการณ์ 9/11 หรือการระเบิดรถไฟในกรุงมาดริดเมื่อปี 2547 ดังนั้น จึงเป็นความโกลาหลที่ตามมาต่างหากที่สร้างความหวาดกลัวได้มากกว่าการโจมตีที่วางแผนอย่างรัดกุมและเกิดขึ้นจริงๆ 

สก็อตมองว่าการพยายามระบุตัวหรือคาดการณ์ว่าใครมีแนวโน้มจะเป็นผู้ก่อการร้ายทำได้ยาก หนึ่งเพราะการเข้าร่วมขบวนการก่อการร้ายทำได้ง่ายมาก สองเพราะว่ามีคนจำนวนมากที่เห็นด้วยกับการต่อสู้ของขบวนการเหล่านี้ในบางครั้ง แต่ใช่ว่าทุกคนจะพร้อมยอมสละชีวิตเข้าร่วมการต่อสู้ เขาเสนอว่าทางที่ดีที่สุดในการระบุตัวคนเหล่านี้อาจต้องพิจารณาจากอาหารที่พวกเขากิน วิธีที่พวกเขาแต่งกาย กิจกรรมที่คนเหล่านี้ทำร่วมกัน เขาเห็นว่าไม่มีใครพูดถึงแผนการกันในสถานที่ทางศาสนาอย่างมัสยิด แต่มักเป็นสถานที่ที่เหมาะกับการพูดคุยกันอย่างร้านอาหารฟาสต์ฟูด สนามฟุตบอล หรือสวนสาธารณะมากกว่า

เมื่อถูกถามเกี่ยวกับการลงพื้นที่และงานวิจัย สก็อตกล่าวว่าอุปสรรคของการทำวิจัยเกี่ยวกับผู้ก่อการร้ายคือการหากลุ่มตัวอย่าง การโน้มน้าวให้พวกเขาวางอาวุธและยอมตอบคำถาม รวมทั้งการที่ต้องรู้ว่าคำถามไหนถามได้และคำถามไหนไม่ควรถาม เพราะถ้าถามแล้วพวกเขาอาจหยิบปืนมายิงคุณ 

นอกจากนี้ สก็อตเล่าว่าเขายังต้องพบปัญหาเกี่ยวกับจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์จากทั้งมหาวิทยาลัยและกระทรวงกลาโหมของสหรัฐ ซึ่งต่างก็คัดค้านการทำวิจัยในประเด็นนี้ 

สก็อตวิจารณ์ว่าเหตุผลที่ถูกคัดค้านไม่ใช่เพราะสถาบันเหล่านี้เกรงว่าผู้ทำวิจัยจะได้รับอันตราย แต่เพราะว่ากฎระเบียบของจริยธรรมการวิจัยถูกออกแบบมาเพื่อปกป้องนักศึกษาชนชั้นกลาง [ไม่ให้ถูกฟ้องร้องจากผู้ให้ข้อมูลหรืออาสาสมัครที่เข้าร่วมในการวิจัย] เขาบอกว่า คงเป็นเรื่องตลกเอามากๆ หากตนต้องไปชี้แจงรายละเอียดให้นักรบญิฮาดทราบว่ากระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยครั้งนี้ พร้อมกับนำเอกสารจริยธรรมการวิจัยไปให้พวกเขาเซ็นยินยอม

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: