เครือข่ายคนพิการนัดรวมตัวฟังคำพิพากษาประวัติศาสตร์ “บีทีเอสกับคนพิการ” วันพุธที่ 21 ม.ค. 2558 เวลา 13.30น. ระบุ สู้เรื่องนี้มานานกว่า 20 ปี ทุกวันนี้เข้าถึงรถไฟฟ้าไม่ได้ เหตุไม่มีลิฟต์-ทางเชื่อมต่อ สุดเจ็บปวดกับข้ออ้างบริการ “เท่าที่จำเป็น” มากกว่า “ความเท่าเทียม”
นายสุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ เลขาธิการมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ ผู้ฟ้องคดี กล่าวว่า วันพุธที่ 21 ม.ค. 2558 เวลา 13.30 น.นี้ ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษาอุทธรณ์ กรณีคนพิการฟ้อง กรุงเทพมหานคร และ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กรณีไม่จัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการในรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งศาลปกครองกลางได้เคยมีคำสั่ง "ยกฟ้อง" แล้วครั้งหนึ่ง เมื่อ 22 กันยายน 2552 เนื่องจากกฏหมายไม่มีผลย้อนหลัง เพราะมีการทำสัญญาการก่อสร้างรถไฟฟ้าในปี 2539 ก่อนที่จะมีกฏกระทรวงมหาดไทยที่กำหนดว่าต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการและคนชรา ได้มีผลบังคับใช้ในปี 2542 ซึ่งเป็นเรื่องทางเทคนิค ไม่ใช่หลักการบริการสาธารณะ
“ในวันนั้นเวลา 12.00 น. ที่หน้าศาลปกครองสูงสุด คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้สนใจ จะทะยอยมารวมตัวคาดว่าประมาณร้อยกว่าคน เพื่อมาฟังคำพิพากษาร่วมกัน เวลา 13.00 น. จะมีการเปิดแถลงจุดยืนของเครือข่ายต่ออนาคตอิสรภาพและความเท่าเทียมในการเดินทาง เพราะการตัดสินของศาลในวันนั้นจะถือว่าเป็นวันประวัติศาสตร์ของพวกเรา ที่พวกเราได้ได้ต่อสู้เรื่องนี้มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ก่อนปี 2538 นับถึงวันนี้ก็เป็นเวลากว่า 20 ปี ที่ประเทศไทยมีรถไฟฟ้า แต่คนพิการกลับไม่มีโอกาสได้เข้าถึงการใช้บริการเลย โดยเฉพาะลิฟต์ที่จะช่วยคนพิการขึ้นไปที่ชานชราได้”
นายสุภรธรรม กล่าวว่า ทุกวันนี้รถไฟฟ้าระยะแรกทั้ง 23 สถานี มีการติดลิฟต์แค่ 5 สถานีเท่านั้น คือ สยาม หมอชิต ช่องนนทรีย์ สนามกีฬาแห่งชาติ และอ่อนนุช ซึ่งเป็นสถานีปลายทางและสถานีเชื่อมต่อ ทำให้คนพิการไม่สามารถลงที่สถานีอื่นได้ ที่มากไปกว่านั้นยังเป็นการติดตั้งลิฟต์แค่จุดเดียวเท่านั้น และไม่มีจุดเชื่อมต่อในการเดินทาง ทำให้เมื่อลงลงลิฟท์มาแล้ว หากคนพิการต้องการข้ามถนนอีกฝั่งก็ไม่สามารถทำได้ นอกจากต้องนั่งแท็กซี่ข้ามเอง ซึ่งทำให้เสียทั้งเงินและเวลา นี่คือความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น ที่คนพิการไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะนี้ได้
“คนพิการได้ต่อสู้เรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อต้องการขับเคลื่อนสังคมไทยจาก "สังคมฐานเวทนานิยม" (Charity Base) ไปสู่ "สังคมฐานสิทธิ" (Rights Base) เพราะเรื่องที่เป็นสิทธิที่คนพิการควรได้รับอย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป และไม่มีควรมีการเลือกปฏิบัติ สิ่งที่เราเรียกร้องตั้งอยู่บนผลประโยชน์สาธารณะ เพราะการติดลิฟต์ จะช่วยอำนวยความสะดวกให้คนแก่ คนพิการ ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ พ่อบ้านแม่บ้านที่หิ้วของใช้และอาหารกลับบ้าน นักท่องเที่ยวที่มีประเป๋าเดินทาง เห็นได้ว่าทั้่งหมดนี้เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชนทุกคน ไม่ใช่ของคนพิการกลุ่มเดียว เป็นไปตามมาตรฐานสากลทุกประเทศทั่วโลก”
นายพิเชฎฐ์ รักตะบุตร ผู้ฟ้องคดีอีกท่านหนึ่ง กล่าวว่า การเลือกปฏิบัติไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่รถไฟฟ้า BTS เท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นที่รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ด้วย เพราะถึงแม้จะมีการติดตั้งลิฟต์ครบ 18 สถานี แต่จาก 60 ทางออก มีการทางออกที่ติดลิฟต์เพียง 30 ทางออก เท่านั้น โดยบางสถานีมีลิฟต์แค่ทางออกเดียวเท่านั้น เช่น สถานีลาดพร้าว เมื่อเป็นเช่นนี้คนพิการก็ไม่สามารถใช้ MRT ได้อยู่ดี เพราะปัญหาเดิมคือ หากต้องการข้ามถนนไปอีกฝั่งก็ต้องรถแท็กซี่ข้ามไป เพราะระบบที่มีอยู่ไม่ได้อำนวยความสะดวกและไม่มีทางเชื่อมต่อให้คนพิการได้ใช้บริการการขนส่งเหมือนคนทั่วไป
“ที่มากไปกว่านั้นสำหรับ MRT ทุกวันนี้มีลิฟต์ก็จริง แต่ก็ไม่สามารถใช้ได้เพราะลิฟต์ถูกล็อค ต้องมีการขออนุญาต ซึ่งกว่าจะมีคนมาเปิดให้ก็ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 15 นาที พอเจอแบบนี้ก็รู้สึกว่าเราเป็นภาระ เพราะฉะนั้น เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นการเลือกปฏิบัติที่สะสมมาอย่างยาวนาน ที่ทำให้เราไม่สามารถใช้ชีวิตแบบคนทั่วไปได้ เพราะการเดินทางของคนพิการมีต้นทุนที่สูงมาก ซึ่งคนทั่วไปไม่สามารถเห็นได้ เพราะระบบที่เป็นอยู่ทำให้คนพิการไม่สามารถไปไหนมาไหนได้แบบคนทั่วไป” นายพิเชฎฐ์ กล่าว
เลขาธิการมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ กล่าวว่า การเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้น เพราะผู้กำหนดนโยบายใช้หลักในการจัดการบริการสาธารณะตามหลัก “ตามที่จำเป็น” มากกว่าหลัก “เพื่อความเท่าเทียม” ในการเดินทาง โดยจากการที่เราได้สร้างความเข้าใจเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน เขาบอกว่าเหตุที่ติดลิฟต์ไม่ครบทุกทางออก เพราะมีการลงพื้นที่เก็บข้อมูลและพบว่าบริเวณที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าไม่พบว่ามีคนพิการจึงสร้างออกมาแค่นี้ ซึ่งเป็นหลักการคิดที่ไม่เป็นธรรม เขาคงลืมไปว่าที่พวกเขาไม่เห็นคนพิการ ไม่ใช่ไม่มีคนพิการ แต่เป็นเพราะพวกเราไม่มีโอกาสได้ใช้ชีวิตแบบคนทั่วไปต่างหาก
“เป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาที่ผู้กำหนดนโยบายใช้ตรรกะนี้ ซึ่งจำเป็นต้องทบทวนอย่างเร่งด่วน เพราะขณะนี้มีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดินเกิดขึ้นทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งเท่าที่ทราบมีการสร้างจุดติดตั้งลิฟต์สถานีละ 1 ทางออกเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นประโยชน์เพราะสุดท้ายคนพิการ หรือคนที่ต้องใช้รถเข็นทั้งคนแก่ คนท้อง ก็จะไม่สามารถใช้บริการได้ จึงอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องพิจารณาเรื่องนี้และสร้างจุดติดลิฟท์ให้ครบทุกทางออกทุกสถานี เรามีบทเรียนมาแล้ว ไม่ควรเกิดความผิดพลาดซ้ำซากขึ้นอีก ทุกคนควรมีสิทธิเข้าถึงบริการสาธารณะ” นายสุภรธรรม กล่าว
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ