บทวิเคราะห์: Bonapartism และการเมืองของการทำให้ตัวเองดูเป็นกลางทางการเมือง

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ 20 ม.ค. 2558 | อ่านแล้ว 3861 ครั้ง

บทเรียนสำคัญที่คอมมิวนิสต์ไทยสอนฝ่ายต่อต้านคอมมูนิสต์ในประเทศนี้คือ จงปลุกระดมมวลชนผ่านความเกลียดชังชนชั้นนายทุน และหลังจากฝ่ายคอมมิวนิสต์แพ้ฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ไปในกลางทศวรรษ 2520 เพราะถูกปราบปรามทางทหารในเวลาที่ไม่มีปัจจัยสนับสนุนจากต่างประเทศอีกต่อไป ฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ก็ไม่ได้ยุติวิธีปลุกระดมมวลชนแบบนี้ตามไปด้วย ผลก็คือสังคมที่ฝ่ายซ้ายมีอิทธิพลระดับต่ำกว่าศูนย์กลับกลายเป็นสังคมที่คำว่านายทุนมีความหมายลบอย่างถึงที่สุด ถึงแม้องค์ประกอบต่างๆ ของฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ในสังคมไทยจะเป็นนายทุนทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผยอยู่มากก็ตาม

คำถามคือฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์หลังทศวรรษ 2520 ใช้ความเกลียดชนชั้นนายทุนแบบนี้ไปปลุกระดมเพื่อต่อต้านใคร?

อานิสงก์ของสงครามกลางเมืองที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์เคยขยายตัวจนประเทศนี้มีพื้นที่สีแดงอย่างกว้างขวาง คือการบอกฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อจูงใจมวลชนให้ไม่ไปอยู่กับฝ่ายตรงกันข้าม และหนึ่งในสิ่งที่ฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ในเวลานั้นเลือกทำคือการยอมปรับตัว โดยแบ่งปันอำนาจทางการเมืองที่กลุ่มตัวเองยึดไว้อย่างเข้มข้นให้กระจายไปสู่คนกลุ่มอื่น นับตั้งแต่นักธุรกิจท้องถิ่นไปจนถึงพลังมวลชนกลุ่มต่างๆ ผ่านประชาธิปไตยรัฐสภาที่กองทัพเป็นคนตั้งนายกและรัฐมนตรีทั้งหมด

ทศวรรษ 2520 เป็นทศวรรษประวัติศาสตร์ที่ฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ยอมรับการเลือกตั้งและระบบรัฐสภาในฐานะเทคนิคการปกครองที่มีความจำเป็นท่ามกลางสถานการณ์สงครามกลางเมือง

แน่นอนว่าการอยู่ร่วมกันระหว่างฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่มีกองทัพเป็นแกนกลางกับพรรคการเมืองและผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งนั้น ไม่เคยเป็นเรื่องง่าย  อำนาจที่เป็นจริงทั้งในทางการเมืองและกฎหมายกระจุกตัวอยู่ที่คนกลุ่มเล็กๆ ซึ่งเป็นแก่นของระบอบแบบนี้ทั้งหมด ที่สำคัญกว่านั้นก็คือฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ฉวยใช้วาทกรรมต่อต้านชนชั้นนายทุนแบบคอมมิวนิสต์ไปเป็นเครื่องมือโจมตีพรรคการเมืองและผู้แทนจากการเลือกตั้งไปได้แต่เพียงฝ่ายเดียว

เพราะเหตุนี้  รัฐสภาและการเลือกตั้งในทศวรรษ 2520 จึงไม่ได้เป็นเพียงรัฐสภาและการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเพราะฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์อนุมัติภายใต้สถานการณ์ที่มีลักษณะพิเศษ แต่ยังเป็นรัฐสภาและการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นพร้อมกับการถูกสาดโคลนว่ามีความหมายเท่ากับการปกครองของชนชั้นนายทุน

ถึงจุดนี้ คำวิจารณ์แนวประจักษ์นิยมคงโต้แย้งต่อไปว่าระบบการเมืองหลังทศวรรษ 2520 เป็นระบบที่ชนชั้นนายทุนเข้าไปมีส่วนร่วมทั้งทางตรงและทางอ้อมมากขนาดไหน เช่นเดียวกับนักประวัติศาสตร์การเมืองคงอภิปรายต่อไปถึงรายชื่อของมหาเศรษฐีและนักธุรกิจที่เป็นรัฐมนตรีและกรรมการร่วมกับภาครัฐตั้งแต่สมัยนั้นเป็นต้นมา แต่คำถามที่น่าสนใจกว่าก็คือทำไมสังคมที่คอมมิวนิสต์ไม่ได้เป็นภัยคุกคามแล้ว กลับอยู่กินกับการปลุกระดมให้รังเกียจชนชั้นนายทุนต่อมาอีกหลายสิบปี

คำถามที่ยากขึ้นไปกว่านั้น อะไรทำให้นายทุนและผู้มีเงินซึ่งถึงตอนนี้มีในสังคมไทยมากมายมหาศาลนั่งทำตาปริบๆ ยอมรับการโจมตีให้รังเกียจชนชั้นนายทุนแต่โดยดุษฎี

โปรดสังเกตว่าในการโจมตีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในทศวรรษ 2540 และ 2550 ฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยก็หยิบยืมเครื่องมือทางวาทกรรมของฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์มาใช้อย่างต่อเนื่องเหมือนกัน รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจึงถูกครหาว่าเป็นรัฐบาลของกลุ่มทุนนั้น กลุ่มทุนนี้ได้เสมอ โดยฝ่ายต่อต้านการเลือกตั้งที่ก็มีความเป็นกลุ่มทุนไม่น้อยไปกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งบ้าง โดยฝ่ายเลือกตั้งด้วยกันเองบ้าง  แต่เมื่อเกิดรัฐบาลของฝ่ายต่อต้านการเลือกตั้งขึ้นมา ความเป็นทุนของคนเหล่านี้กลับไม่เคยเป็นปัญหาแม้แต่นิดเดียว

ตัวอย่างที่ดีที่สุดของเรื่องนี้ในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งยุคก่อนทศวรรษ 2540 มีรัฐมนตรีที่มาจากผู้บริหารธนาคารใหญ่ 3 แห่ง คือธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารทหารไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ โดยตั้งฉายาให้ตัวเองว่า ‘ดรีมทีมเศรษฐกิจ’ โดยไม่เผชิญข้อครหาเรื่องความเป็นกลุ่มทุนแม้แต่นิดเดียว หรือแม้แต่รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งหลังปี 2549 ก็มีรัฐมนตรีที่ทุกคนรู้อย่างเปิดเผยว่าเป็นเครือญาติกับกลุ่มทุนไหนอยู่ในคณะรัฐบาลด้วยเหมือนกัน

หนึ่งในปมเงื่อนสำคัญที่ฝ่ายต่อต้านการเลือกตั้งประสบความสำเร็จในการปั่นวาทกรรมเกลียดชนชั้นนายทุน คือการสร้างความเข้าใจที่แบ่งแยกชนชั้นนายทุนออกจากระบบเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการรักษาผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุน พูดอีกแบบคือฝ่ายต่อต้านการเลือกตั้งทำให้คำว่า ‘ชนชั้นนายทุน’ เป็นเรื่องของตัวบุคคล ไม่ใช่ระบบทุนนิยม การขูดรีดมูลค่าส่วนเกิน การกระจุกตัวของทรัพย์สิน ฯลฯ

การโจมตีแบบนี้จึงเปิดโอกาสให้ผู้โจมตีเลือกโจมตีคนบางคนว่าเป็นนายทุนได้ แต่ไม่โจมตีนายทุนบางคน ต่อให้อยู่ในสถานะทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ทางสังคมแบบเดียวกัน

ใครไม่เชื่อเรื่องนี้ก็ลองหลับตานึกถึงใบหน้าของคนที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘นายทุน’ ในสังคมไทยดู ตัวอย่างเช่นคุณทักษิณได้ชื่อว่าเป็นนายทุนแน่ๆ ขณะที่เจ้าของกลุ่มบริษัทสามารถ ที่ทำธุรกิจสื่อสารเหมือนกันกลับไม่โดนข้อหาเดียวกัน หรือคุณเจริญและคุณธนินทร์ก็ถูกเรียกอย่างยกย่องว่า ‘เจ้าสัว’ ซึ่งฟังดูเป็นนายทุนอีกวรรณะที่เหนือกว่า ‘นายทุน’

ถึงตรงนี้ คำว่านายทุนด้วยกันก็ยังมีเฉดที่หลากหลายจาก ‘นายทุน’ แบบคุณทักษิณไปจนถึงเถ้าแก่ตัน, เจ้าสัวเจริญ, ห้าเสือพ่อค้าข้าว, เสี่ยนพพร ฯลฯ และแน่นอนว่าแต่ละเฉดก็มีน้ำเสียงทางศีลธรรมและความยอมรับทางสังคมที่แตกต่างกัน

พูดอีกแบบคือฝ่ายต่อต้านการเลือกตั้งทำให้คำว่า

‘ชนชั้นนายทุน’ เป็นเรื่องของตัวบุคคล ไม่ใช่ระบบทุนนิยม

การขูดรีดมูลค่าส่วนเกิน การกระจุกตัวของทรัพย์สิน ฯลฯ

เมื่อทำให้นายทุนเป็นเรื่องของตัวบุคคลมากกว่าจะเป็นสถานะทางเศรษฐกิจ ก็ง่ายที่จะโจมตีบุคคลด้วยอคติทางวัฒนธรรมและสังคมที่ไหลเวียนอยู่ในสังคมไทยเยอะไปหมด นักการเมืองที่ถูกโจมตีว่าเป็นนายทุนจึงมักมีคุณสมบัติร่วมกันข้อหนึ่งคือเป็นคนรวยรุ่นใหม่, มีพื้นเพเป็นคนต่างจังหวัด, มีกำพืดเป็นจีนแบบที่เรียกว่า ‘เจ๊ก’ ซึ่งคือจีนที่ต่ำกว่าชนชั้นเจ้าสัว และที่สำคัญที่สุดคือมีความสัมพันธ์ทางสังคมกับคนชั้นสูงในสังคมไทยน้อยมาก ก่อนที่จะมีฐานะเป็นผู้มีทรัพย์ขึ้นมา

แน่นอนว่าคุณสมบัติร่วมเหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงของคนที่ถูกโจมตีว่าเป็นนายทุนจริงๆ แต่คุณสมบัติแบบนี้ไม่ใช่ปัญหา เพราะการเป็นคนรวยรุ่นใหม่จากต่างจังหวัดที่ไม่มีชาติตระกูลสูงส่งนั้น อาจถูกอธิบายว่าแสดงถึงความวิริยะและความสามารถทางธุรกิจก็ได้ แต่ในคำอธิบายของฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตย การเป็นคนรวยรุ่นใหม่ผู้ไร้ชาติตระกูลถูกทำให้เท่ากับคนที่ทำทุกอย่างเพื่อผลกำไร โดยไม่คำนึงถึงศีลธรรมหรือประโยชน์ส่วนรวม

ความหมายในวงเล็บของเรื่องนี้ก็คือจงอย่าไปเลือกนักการเมืองที่เป็นแบบนี้เป็นผู้นำประเทศ โปรดปล่อยประเทศเป็นของคนที่ไม่ใช่นักการเมืองผู้มีชาติตระกูลเก่าแก่และเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายชนชั้นนำเก่าๆ ในกรุงเทพมหานครต่อไป

น่าสนใจด้วยว่าฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยสร้างจินตนาการเรื่องนายทุนกอบโกยประเทศในความหมายนี้อย่างไม่รู้จบ เมื่อถักทอส่วนประกอบต่างๆ เข้าด้วยกัน ภาพใหญ่ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยกำลังถูกกัดกร่อนจากนักการเมืองผู้ที่อีกด้านเป็นนายทุนผู้เห็นแก่ได้จนบ้านเมืองเข้าใกล้สภาวะวิกฤติ โลกทัศน์ทางสังคมแบบนี้นำไปสู่ผลลัพธ์สองข้อ ข้อแรกคือการยอมรับใครก็ได้เพื่อปกป้องประเทศจากหายนะข้อนี้ และข้อที่สองคือใครที่ว่านั้นต้องเป็น ‘กลาง’ จากทุกฝ่ายในสังคมการเมือง

เราอาจพูดอีกแบบก็ได้ว่า ผลลัพธ์ข้อแรกเป็นการสร้างเงื่อนไขทางสังคมให้ผลลัพธ์ข้อสองเป็นไปได้ คนที่เป็นกลางจึงจะมีบทบาทได้ก็แต่ในเวลาที่สังคมเชื่อ (หรือถูกทำให้เชื่อ) ว่าเข้าใกล้สภาวะวิกฤติถึงขั้นเป็นหายนะของส่วนรวม

เพื่อประโยชน์ในการตามประเด็น ความหมายนัยประหวัดของเรื่องนี้คือการสร้างสภาวะวิกฤติหรือการทำให้เกิดความรู้สึกถึงสภาวะวิกฤติเป็นองค์ประกอบที่สำคัญขนาดขาดไปไม่ได้ ในการสถาปนาระบอบการเมืองแบบต่อต้านประชาธิปไตย ส่วนจินตนาการเรื่องนายทุนกอบโกยประเทศผ่านการมีตำแหน่งทางการเมืองด้วยการเลือกตั้ง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การสร้างสภาวะวิกฤติแบบนี้เป็นไปได้ขึ้นมา

ฟังดูคล้ายฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยในสังคมไทยฉลาดเป็นพิเศษในการสร้างเงื่อนไขทางสังคมเพื่อปฏิบัติการปฏิปักษ์ประชาธิปไตย แต่อันที่จริงฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยที่ไหนก็ทำอะไรแบบนี้ทั้งนั้น Marx ใน The 18th Brumaire of Louis Bonaparte เคยพูดถึงฝรั่งเศสภายใต้เผด็จการทหารผู้โง่เขลา ตัวสั้น ไม่มีสมอง ที่ดำรงตำแหน่งผู้นำได้เพราะทุกฝ่ายเหนื่อยล้าจากการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างกัน ซึ่งยืดเยื้อยาวนานจนมองไม่เห็นผู้ชนะ และในที่สุดก็เป็นผู้นำที่แย่ที่สุด ซึ่งเหมือนเป็นกรรมการกลางจากทุกฝ่ายมากที่สุดที่ก้าวขึ้นมาปกครองฝรั่งเศสในเวลาต่อมา

ในแง่นี้ โบนาปาร์ตอยู่ในตำแหน่งได้ เพราะฉวยโอกาสจากการเมืองแบบแบ่งฝักแบ่งฝ่ายตามชนชั้นและความคิดทางการเมือง โดยทำตัวเองให้เหมือนไม่เกี่ยวกับคู่ขัดแย้งฝ่ายไหนให้มากที่สุด ฝรั่งเศสยุคหลังปฏิวัติประชาธิปไตยที่มีทั้งฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา ฝ่ายนิยมเจ้า ฝ่ายสังคมนิยม ฝ่ายเสรีนิยม ฝ่ายประชาธิปไตยจาโคแบง ฯลฯ จึงอยู่ภายใต้ระบอบของผู้นำที่ไม่เข้าท่าไปอย่างเหลือเชื่อ โบนาปาร์ตอ้างตัวเองเป็นตัวแทนของส่วนรวมยิ่งกว่าฝ่ายต่างๆ ที่มีในสังคมทั้งหมด การไม่มีใครสนับสนุนถูกบิดเบือนไปอย่างเหลือเชื่อว่าแสดงถึงความเป็นกลางของโบนาปาร์ตผู้เป็นตัวแทนส่วนรวมที่แท้จริง

งานเขียนของ Carl Schmitt เรื่อง The Crisis of Parliamentary Democracy และ Die Diktatur ก็มีด้านที่พูดถึงสภาพของเยอรมนียุคสาธารณรัฐไวมาร์ ซึ่งเอื้อสู่การมีอำนาจของฮิตเลอร์ไว้แบบนี้เหมือนกัน พูดสั้นๆ ก็คือความกลัวฝ่ายซ้าย ความกลัวฝ่ายขวา และความรู้สึกว่าสังคมเยอรมนีใกล้ถึงกาลล่มสลายทำนองที่ปรากฏในหนังสือ The Decline of the West ทำให้เยอรมนีหันไปยอมรับลัทธิสวัสดิกะและการทำสงครามเพื่อเชิดชูความยิ่งใหญ่ของเผ่าพันธุ์อารยัน

ถ้าจะมีอะไรบ้างที่นักคิดอย่าง Marx และ Schmitt ซึ่งมาจากขั้วทางการเมืองและรากฐานทางความคิดที่แตกต่างกันกลับมีคล้ายๆ กัน หนึ่งในนั้นก็คือการเตือนว่า การวิเคราะห์อำนาจในสังคมการเมืองไม่ควรหยาบตื้นแค่มองว่าผู้มีอำนาจเป็นใคร มีความสัมพันธ์กับคนกลุ่มไหน แต่ต้องมองต่อไปเสมอว่าสิ่งที่ผู้มีอำนาจทำนั้นเอื้อต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยรวมของคนกลุ่มไหน ต่อให้ผู้มีอำนาจคนนั้นจะแสดงตัวว่าเป็นกลางและไม่ปรากฎว่ามีความสัมพันธ์กับคนกลุ่มไหนเลยก็ตาม

ทั้งหมดนี้เป็นการกล่าวถึงกำเนิดของวาทกรรมต่อต้านการเลือกตั้งและปรากฎการณ์ Bonarpartism ซึ่งไม่มีอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยในปัจจุบัน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: