ทส.จับมือ WWF รณรงค์แก้ปัญหาลักลอบค้างาช้างผิดกฎหมาย

20 ก.พ. 2558 | อ่านแล้ว 1869 ครั้ง

19 กุมภาพันธ์ 2558 ที่่ผ่านมา WWF-ประเทศไทย หรือ กองทุนสัตว์ป่าโลก ส่งมอบช้างจำลอง  “บุญช่วย” ให้แก่ พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แสดงพลังของคนไทยที่รักช้างและร่วมต้านการฆ่าช้างเอางาผ่านแคมเปญ “ช.ช้าง ช่วยช้าง” เพื่อสนับสนุนความพยายามและการทำงานของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการลักลอบค้างาช้างผิดกฎหมายในประเทศไทย

ช้างจำลอง "บุญช่วย" เป็นช้างไม้ความสูง 2 เมตร มีลวดลายเป็นรูปภาพคอลลาจของประชาชนชาวไทยที่ร่วมแคมเปญ "ช.ช้าง ช่วยช้าง” ผ่านทางโซเชียลมีเดีย จากทั้งหมดกว่า 1 ล้านคน โดยชื่อ “บุญช่วย” นั้นมาจากการร่วมมือร่วมใจของคนไทยในการแสดงออกซึ่งความรักที่มีต่อช้างและร่วมกันแสดงพลังปกป้องและช่วยชีวิตช้างที่ถูกฆ่าเพื่อเอางากว่าปีละ 20,000 ตัวในทวีปแอฟริกา โดยนางสาวเยาวลักษณ์ เธียรเชาว์ ผู้อำนวยการ WWF-ประเทศไทย และ

นางสาวจันทน์ปาย องค์ศิริวิทยา ผู้จัดการโครงการรณรงค์ต่อต้านการค้างาช้างเป็นผู้แทนจาก WWF-ประเทศไทยส่งมอบช้าง “บุญช่วย” ให้แก่พลเอกดาว์พงษ์ และตัวแทนจากหน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอันประกอบด้วย  โดยมีกรมศุลกากร กระทรวงการคลังได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการรับมอบและวางภาพตราสัญลักษณ์ของหน่วยงานติดบนช้าง “บุญช่วย” เพื่อร่วมแสดงพลังรักช้างและต้านการฆ่าช้างเอางา โดย WWF-ประเทศไทยจะนำช้าง “บุญช่วย” ไปจัดแสดงนิทรรศการตามสถานที่ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้สัมผัสถึงพลังรักช้างของคนไทยและร่วมถ่ายรูป โดยเริ่มที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระหว่างวันที่ 23-27 กุมภาพันธ์ 2558

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “ประเทศไทยกำหนดให้มีมาตรการแก้ไขปัญหาการค้างาช้างผิดกฎหมาย เพื่อยุติการลักลอบการค้างาช้าง โดยริเริ่มผ่านกิจกรรม และวิธีการต่างๆ เพื่อรณรงค์ให้มีการคุ้มครองและอนุรักษ์สัตว์ป่าอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนนี้รวมถึง กิจกรรมการรณรงค์ส่งเสริมการตระหนักรู้ของสาธารณชนถึงวิกฤติการณ์ที่ช้างแอฟริกากำลังเผชิญอยู่ ณ ปัจจุบัน ดังนั้น ความร่วมมือของประชาชนพี่น้องชาวไทยทุกคนจะช่วยให้เราดูแลและคุ้มครองช้างทั้งในประเทศไทย และทั่วโลกได้มากยิ่งขึ้น”

ปัจจุบัน รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการลักลอบค้างาช้าง โดยผลักดันให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กำหนดให้ช้างแอฟริกาเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายไทย การออกพระราชบัญญัติงาช้าง พ.ศ.2558 การปรับปรุงระบบทะเบียนและตั๋วรูปประพรรณช้างบ้าน และประชาสัมพันธ์เพื่อเน้นย้ำให้ประชาชนรับทราบถึงวิกฤตการณ์ฆ่าช้างเอางา ข้อต้องห้ามทั้งการนำเข้า ส่งออก และการค้างาช้างแอฟริกา พร้อมกับการจัดทำรายงานความคืบหน้าของการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งชาติ (National Ivory Action Plan)  เสนอต่อคณะกรรมการบริหารอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ หรือไซเตส (CITES) ภายในสิ้นเดือนมีนาคม 2558

ด้านนางสาวเยาวลักษณ์ เธียรเชาว์ ผู้อำนวยการ WWW-ประเทศไทยกล่าวว่า “ตราบใดที่ยังมีความต้องการใช้งาช้างอยู่ ช้างทั้งในแอฟริกา เอเชีย และทั่วโลกก็จะยังตกอยู่ในภาวะเสี่ยง ดังนั้นโครงการรณรงค์นี้จะช่วยให้เห็นวิกฤติการณ์ที่ได้เกิดขึ้นแล้วและภาวะการคุกคามช้างจากการฆ่าช้างเอางา พร้อมกับการเรียกร้อง และรณรงค์ให้ประชาชนชาวไทยทุกคนร่วมกันแสดงพลังผ่านทางโซเชียลมีเดียและให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่ซื้อ ขาย หรือใช้ผลิตภัณฑ์งาช้าง การส่งมอบช้าง "บุญช่วย” ในวันนี้เป็นการสนับสนุนความพยายามและการทำงานของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการลักลอบค้างาช้างผิดกฎหมายในประเทศไทยผ่านพลังของประชาชนชาวไทยที่ต่างก็มีช้างเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ”

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: