‘เด็ก’ในกองกำลังติดอาวุธชายแดนใต้  ‘ความเชื่อ-ความแค้น’เหตุร่วมขบวนการ

รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด : 20 ธ.ค. 2558 | อ่านแล้ว 3373 ครั้ง

ปี 2557 ผลสำราจจากยูนิเซฟ พบว่าทั่วโลกมีเด็กประมาณ 12,000 คน ที่ทำงานเป็นทหารเด็กให้แก่กองทหารและกลุ่มติดอาวุธ  ในปีเดียวกัน กองทัพพม่าปล่อยตัวทหารเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวนมากกว่า 400 คน  หลังลงนามความร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติเมื่อปี 2555 เพื่อยุติการเกณฑ์ทหารเด็ก

ในประเทศไทย  ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกว่า 14,688 ครั้งในจังหวัดชายแดนใต้ต่อเนื่องนับสิบปี  แม้จะไม่มีรายงานว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า18 ปีเข้าร่วมการโจมตีในแต่ละครั้ง หรือให้เด็กจับอาวุธร่วมรบหรือไม่  ทว่าข้อมูลจากการสำรวจของภาคประชาชนและคำบอกเล่าของเยาวชนบางกลุ่มในพื้นที่ กลับพบว่า“เด็ก” ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสนองอุดมการณ์และความรุนแรงของผู้ใหญ่

ชายด์โซวเจอร์อินเตอร์เนชั่นแนล (Child Soldiers International) องค์กรสากลเพื่อการวิจัยและสนับสนุนสิทธิมนุษยชน โดยมีเป้าหมายที่จะหยุดยั้งและป้องกันการเกณฑ์เด็กเป็นทหารและใช้เด็กเข้าร่วมสงคราม  ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เปิดเผยรายงาน“ภาคใต้ของประเทศไทย-การนำเข้าร่วมและการใช้เด็กโดยกลุ่มติดอาวุธ” พบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า18 ปีเข้าร่วมและถูกนำไปใช้ปฏิบัติการณ์โดยกลุ่มติดอาวุธในประเทศไทย เด็กส่วนใหญ่ทำงานให้กับฝ่ายกองกำลังของแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani หรือ BRN)

รายงานดังกล่าวระบุว่า จากการสัมภาษณ์อดีตสมาชิกและสมาชิกปัจจุบันของกลุ่ม BRN จำนวน26 คน  พบว่า   มีอย่างน้อย 13 คนที่เข้าร่วมขบวนการขณะที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี ในจำนวนนี้มีเด็กอยู่ 5 คนซึ่งได้เข้าร่วมในช่วงปี 2554-2555 ในจังหวัดนราธิวาสและยังคงปฏิบัติการให้กับกลุ่ม BRN ในช่วงปลายปี 2556

ความเชื่อ-สังคม ปัจจัยหนุนเด็กร่วมขบวนการ

แรงกดดันทางสังคมและความเชื่อทางศาสนา มักเป็นปัจจัยสำคัญที่มีส่วนผลักดันให้เด็กและเยาวชนเข้าร่วมขบวนการ แม้ว่าเด็กอาจจะไม่ได้ขออนุญาตผู้ปกครองในการเข้าร่วมกับขบวนการ แต่ไม่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าผู้ปกครองต่อต้านไม่ให้ลูกหลานเข้าร่วมกับกลุ่มติดอาวุธ  นอกจากนี้ แนวร่วมที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีบางคนเติบโตในครอบครัวที่มีสมาชิกเข้าร่วมกับกลุ่มติดอาวุธ หรือมีสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนสนิทถูกฝ่ายความมั่นคงของไทยสังหาร หรือจับกุม หรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เป็นฐานที่มั่นของกลุ่มติดอาวุธ

ก่อนปี 2547 ความคับแค้นในอดีตและสำนึกในหน้าที่ทางศาสนา เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ชาวมลายูมุสลิมเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยอาวุธ  สมาชิกของกลุ่ม BRN คนหนึ่งซึ่งเข้าร่วมกลุ่มในปี 2535 ที่นราธิวาสขณะที่อายุ 16 ปีเล่าว่า ustadz (ครูสอนศาสนา) ที่โรงเรียนมัธยมต้นของเขา ได้สอนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของรัฐปาตานีให้กับนักเรียนกลุ่มเล็กๆนอกเวลาเรียน โดยครูสอนว่า เมื่อก่อนนั้นปัตตานีเป็น“ดารุลอิสลาม” ซึ่งหมายถึงดินแดนที่ปกครองโดยผู้นำมุสลิม มีกฎหมายชะรีอะฮ์ (กฎหมายอิสลาม) เป็นกฎหมายสูงสุดและเป็นหน้าที่ของชาวมลายูมุสลิมที่จะต้องทวงสถานะนี้กลับคืนมา โดยการต่อสู้เพื่อเอกราชของปาตานี

ขณะที่อดีตสมาชิกขบวนการอีกคนหนึ่งซึ่งเข้าร่วมกลุ่มเมื่อปี 2545 ขณะที่อายุ 17 ปีก็กล่าวเช่นเดียวกันว่า สำนึกในหน้าที่ทางศาสนาเป็นแรงจูงใจให้เข้าร่วมการต่อสู้นี้  เขากล่าวว่า ญาติของเขาซึ่งเป็นครูสอนศาสนาอิสลามบอกว่าชาวมลายูมุสลิมมีหน้าที่ที่จะต้องทำญิฮาดเพื่อทวงคืนปาตานี ซึ่งเป็นมาตุภูมิของพวกเขากลับคืนมา

หมัด (นามสมมติ) อดีตเยาวชนผู้เข้าร่วมกับกลุ่ม BRN เปิดเผยกับ TCIJ ว่า ราวปี 2547 ตอนนั้นอายุ15 ปีตัดสินใจเข้าร่วมกับกองกำลัง เพราะถูกสอนว่าเราต้องต่อสู้เพื่อคนมลายู และด้วยความที่เป็นคนสนใจเรื่องศาสนาอยากให้พื้นที่ที่ตนอยู่เป็นรัฐอิสลาม จึงตัดสินใจเข้าร่วมกับขบวนการ ซึ่งตอนนั้นเริ่มเข้ามาในหมู่บ้าน

“ที่เข้าร่วมในตอนนั้น ด้วยความที่เป็นคนสนใจเรื่องศาสนามากๆ อยากจะเห็นรัฐอิสลามตามแบบฉบับท่านศาสดาอยากเห็นรัฐอิสลามแแบบรัฐมาดีนะฮฺในอดีต”

หมัด ระบุถึงสาเหตุที่ตัดสินใจออกจากขบวนการเพราะไม่เห็นด้วยกับแนวทางและรู้สึกกลัว  หมัดเล่าถึงวันที่ตัดสินใจหนีออกจากขบวนการว่า ขณะนั้นตนยังไม่ได้เข้าร่วมอย่างเต็มตัวเนื่องจากยังไม่ได้ผ่านพิธีดื่มน้ำสาบานวันที่ตัดสินใจหนีออกมานั้น คือวันระดมพลก่อนเข้าโจมตีมัสยิดกรือเซะ ขณะที่อยู่บนรถพร้อมเพื่อนอีกหลายคนและรู้ว่าจะต้องไปจับอาวุธพร้อมกับให้ดื่มน้ำสาบานตน  หมัดรู้สึกกลัวและคิดว่าไม่น่าใช่หนทางที่ถูกต้อง จึงอาศัยจังหวะที่รถหยุด หนีออกมาและกลับไปหลบที่บ้าน  รุ่งขึ้นจึงรู้ว่าเพื่อนและรุ่นพี่ที่โดยสารไปในรถคันเดียวกัน ถูกวิสามัญที่มัสยิดกรือเซะ จึงไม่มีใครไปแจ้งหัวหน้าว่าหมัดหนีออกมา

จากความเชื่อสู่ความแค้น

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แรงจูงใจอื่นที่ผลักดันให้เยาวชนมลายูมุสลิมเข้าร่วมขบวนการต่อสู้มีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะการปราบปรามด้วยความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนที่สะสมมากว่า10 ปีนับแต่ประกาศใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ ซึ่งไม่ว่าจะถูกละเมิดเองโดยตรงหรือได้รับรู้การละเมิดนั้นก็ตาม  ได้กลาย เป็นปัจจัยหลักที่จูงใจให้คนเหล่านี้เข้าร่วมกับกลุ่มติดอาวุธ  “ความรู้สึกต้องการแก้แค้น” เป็นสิ่งที่เยาวชนมลายูมุสลิมส่วนใหญ่ที่ให้สัมภาษณ์บอกว่า เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้พวกตนเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยอาวุธนี้

สุไลมาน (นามสมมติ) เข้าร่วมการเคลื่อนไหวในปี 2554 ขณะที่อายุ 15 ปี  เขาเล่าว่าเข้าร่วมการเคลื่อนไหวเพราะต้องการแก้แค้นที่ผู้ประท้วงชาวมลายูมุสลิมในเหตุการณ์ที่ตากใบ ถูกปฏิบัติอย่างโหดร้าย  รวมถึงการโจมตีครั้งอื่นๆ ซึ่งเพื่อนและคนรู้จักของเขาถูกฆ่า กักขัง และมีรายงานว่าถูกเจ้าหน้าที่ความมั่นคงซ้อมทรมาน

เด็กชายอายุ 14 ปีอีกคนหนึ่งซึ่งเข้าร่วมขบวนการในปีเดียวกันนั้น เล่าว่า เหตุการณ์ที่ชาวมลายูมุสลิมได้รับการปฏิบัติอย่างโหดร้ายมาอย่างต่อเนื่อง ผลักดันให้เขาเข้าร่วมการต่อสู้ติดอาวุธ หนึ่งในเหตุการณ์เหล่านั้นคือการยิงผู้หญิงในหมู่บ้านของเขา ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นการกระทำของทหารพรานซึ่งทำให้เกิดการประท้วงเพื่อเรียกร้องให้ทหารพรานถอนกำลังออกจากฐานซึ่งตั้งอยู่ในโรงเรียนของรัฐในเขตหมู่บ้าน

เด็กและเยาวชนในกองกำลัง

การดำเนินงานแบบปิดลับของกลุ่มติดอาวุธ ทำให้ยากที่จะสืบหาบทบาทของสมาชิกแต่ละคนอย่างละเอียด  ทั้งในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังการปฏิบัติการทางทหาร  อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่เปิดเผยผ่านรายงานของชายด์โซวเจอร์ พบว่า บทบาทของเด็กในกลุ่มติดอาวุธ มักอยู่ในบทบาทที่เป็นผู้สนับสนุน เช่น การเตรียมระเบิดและเป็นผู้ดูต้นทางก่อนการปฏิบัติการทางทหารของกลุ่มติดอาวุธ

รายงานระบุถึงคำให้การของสมาชิกอายุ 23 ปีคนหนึ่งของกลุ่มติดอาวุธ  ที่เชื่อว่าเชื่อมโยงกับกลุ่ม BRN ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มในพื้นที่นราธิวาสที่มีสมาชิก 12 คน เล่าว่า เขาใช้เด็กในทีมที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีบางคนเพราะจำนวนนักรบที่เป็นผู้ใหญ่มีไม่เพียงพอ  จากคำบอกเล่าของเขา เขามักจะไม่มอบหมายให้เด็กมีส่วนร่วมในการสู้รบโดย ตรง เพราะว่าเด็กเกินไปสำหรับการตัดสินใจที่สำคัญหากตกอยู่ในสถานการณ์คับขัน  อย่างไรก็ตาม ภายหลังการโจมตี เด็กอาจมีหน้าที่รวบรวมอาวุธจากสถานที่ใกล้เคียงไปเก็บรักษายังที่ปลอดภัย

เช่นเดียวกับคำบอกเล่าของสมาชิกในขบวนการรายหนึ่ง เล่าว่า ขณะเข้าร่วมขบวนการเมื่อปี 2544 มีอายุได้16 ปีเขาได้รับมอบหมายจากขบวนการให้ติดตามความเคลื่อนไหวของทหารในหมู่บ้านที่อาศัยอยู่ ในอำเภอศรีสาครจังหวัดนราธิวาส เพื่อบันทึกเส้นทางที่ทหารใช้ลาดตระเวนและตารางปฏิบัติการประจำวัน  รวมถึงช่วยดูต้นทางเวลาที่สมาชิกในขบวนการจะกลับมาเยี่ยมครอบครัวในหมู่บ้าน

แนะหยุดใช้เด็กเป็นเครื่องมือ

สำหรับข้อเสนอต่อกองกำลังติดอาวุธในชายแดนใต้ จากรายงานดังกล่าว ได้ยื่นข้อเสนอให้กองกำลังทุกกลุ่ม  ยุติการปลูกฝังความคิดเรื่องความรุนแรงให้กับเด็ก และการฝึกอาวุธตามโรงเรียนหรือสถานที่ต่างๆ  ยกเลิกการใช้เด็กอายุต่ำกว่า18 ปีที่อยู่ในกองกำลัง และปล่อยเด็กคืนสู่ครอบครัวและชุมชน  รวมถึงปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยชนระหว่างประเทศ  หยุดการโจมตีพลเรือน โรงเรียน และการโจมตีโดยไม่เลือกเป้าหมาย

ในขณะเดียวกัน  รายงานดังกล่าวเสนอให้รัฐบาลไทยทำการเจรจากับกลุ่ม BRN เกี่ยวกับมาตรการเพื่อเพิ่มการคุ้มครองเด็ก และการยุติการเกณฑ์และใช้ผู้ที่อายุต่ำว่า18 ปีในการต่อสู้ด้วยอาวุธ  รวมไปถึงรัฐบาลไทยควรแก้ไขกฎอัยการศึกและพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ประกาศใช้ในจังหวัดชายแดนใต้มากว่าสิบปี  ให้ระบุอย่างชัดเจนว่าไม่สามารถควบคุมตัวเด็กอายุต่ำกว่า18 ปีได้ภายใต้กฎหมายนี้  และให้ใช้ พ.ร.บ. ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว 2553 เข้ามาดำเนินการแทน ในกรณีเด็กที่สงสัยว่าก่ออาชญากรรมที่เกี่ยวกับความมั่นคง

อ่าน 'จับตา': “ประวัติการก่อความรุนแรงด้วยอาวุธในชายแดนใต้”  
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5954

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: