ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้ผู้ถือครองที่ดินห้วยสัตว์ใหญ่ในโครงการพระราชดำริแจ้งคืนทางการ สั่งธนารักษ์พื้นที่อัพเดทตรวจละเอียดทุกแปลง หลังเหตุรั้วไฟฟ้าช็อตช้างป่าล้ม พบข้อมูลบุกรุก-เปลี่ยนมือ ทั้งที่ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิได้ (ที่มาภาพ: ASTV ผู้จัดการออนไลน์)
21 ก.ค. 2558 สำนักข่าวไทย รายงานว่านายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการหมู่บ้านสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ หนองพลับ กลัดหลวง ประจวบคีรีขันธ์ วานนี้ (20 ก.ค.) ที่สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ห้วยสัตว์ใหญ่ เพื่อแก้ปัญหาช้างป่าจากเขตอุทยานแห่งชาติ โดยให้ยึดถือประกาศของจังหวัดและประกาศของอุทยานฯ ห้ามใช้รั้วไฟฟ้าแรงสูงล้อมพื้นที่ รวมทั้งแก้ปัญหาการถือครองที่ดินภายในพื้นที่โครงการตามพระราชดำริ ซึ่งมีการบุกรุกและซื้อขายเปลี่ยนมือโดยไม่มีเอกสารสิทธิ หลังจากมีการแจ้งความดำเนินคดีเจ้าของไร่เนื้อที่ 83 ไร่ หมู่ 1 ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ ในข้อหาบุกรุกเข้าไปในสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเข้าไปยึดถือครอบครอง รวมทั้งแผ้วถางป่าทำให้เสื่อมสภาพในที่ราชพัสดุ ซึ่งไร่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เกิดเหตุช้างป่าถูกรั้วไฟฟ้าช็อตตาย 3 ตัว เมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา
นายสุทธิพงษ์ คล้ายอุดม นายอำเภอหัวหิน กล่าวว่า ที่ประชุมให้ผู้ครอบครองที่ดินที่มีการเปลี่ยนมือทุกรายในโครงการตามพระราชดำริ แสดงเจตนาในการคืนพื้นที่ให้กับทางราชการ และให้สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ตรวจสอบผังที่ดินรายแปลงให้เป็นข้อมูลปัจจุบัน หลังจากสำรวจเมื่อปี 2556 พบว่ามีผู้ถือครองครองที่ดิน 1,589 แปลง แต่ได้ลงทะเบียนกับสำนักงานธนารักษ์พื้นที่เพียง 956 แปลง เนื่องจากผู้ครอบครองที่ดินรายใหม่ที่ซื้อที่ดินจากชาวบ้านไม่ได้เดินทางมาแจ้งข้อมูล
ด้านนายนครินทร์ คีรีเพชร นักวิชาการที่ดินชำนาญการ สำนักงานที่ประจวบคีรีขันธ์ สาขาหัวหิน กล่าวว่า ในอดีตกรมที่ดินเป็นผู้จัดผังรายแปลงเพื่อมอบให้กรมธนารักษ์จัดสรรพื้นที่ให้ประชาชนผู้ยากไร้เข้าทำกินตามพระราชประสงค์ โดยทางการได้แจ้งการขึ้นทะเบียนที่ดินพระราชทานหลายครั้ง และแจ้งว่าที่ดินดังกล่าวไม่สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ เพราะไม่มีเอกสารสิทธิ
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2558 ที่ผ่านมา ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่านายนิพนธ์ โชติบาล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ต่อ “ASTVผู้จัดการออนไลน์” กรณีปัญหาช้างป่าซึ่งถูกไฟฟ้าช็อตตาย 3 ตัว ในพื้นที่ของอาศรมบูรพา ซึ่งอยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานว่า ถึงแม้จะมีการจับกุมผู้ต้องหาในคดีนี้ได้ และยอมรับสารภาพว่าได้ใช้ไฟฟ้าช็อตช้างป่าที่บริเวณบ่อน้ำ โดยทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ จะทำหนังสือไปยังกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่รับผิดชอบพื้นที่โครงการสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ ป่าเด็ง ป่าละอู อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรที่ยากจนครอบครัวละ 23 ไร่ ซึ่งห้ามขาย หรือโอนสิทธิให้แก่ผู้อื่น และพื้นที่จุดที่เกิดเหตุพบช้างป่าเสียชีวิตก็เป็นพื้นที่ในโครงการฯ ซึ่งมีการเปลี่ยนมือจากเกษตรกรมาเป็นบุคคลอื่น และนำมาเป็นอาศรมบูรพา ซึ่งถือว่าผิดวัตถุประสงค์ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องไปตรวจสอบความเป็นมาเป็นไปของที่ดินแปลงดังกล่าวด้วยว่าได้มาโดยถูกต้องหรือไม่อย่างใด
“ผมได้สั่งการไปยังสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี และหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ให้ดูในเรื่องของการใช้รั้วไฟฟ้าเพิ่มเติมอีกครั้งว่า ยังมีพื้นที่ใดบ้างที่เกษตรกรยังมีการล้อมรั้วไฟฟ้าอยู่ และมีการขออนุญาตจากท้องถิ่น และทางเจ้าหน้าที่หรือไม่ และการติดตั้งโดยผู้ที่มีความรู้หรือไม่ เพราะทราบว่าที่ผ่านมา ทางอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ก็ได้ทำการประชาสัมพันธ์ให้ได้รับทราบ รวมทั้งทางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ก็ออกประกาศเช่นกัน แต่ก็ยอมรับว่ายังมีผู้ฝ่าฝืนอยู่ และเกิดปัญหาเช่นกรณีดังกล่าวที่เกิดขึ้น ซึ่งเกิดจากการปล่อยกระแสไฟฟ้าบ้านเข้าไป ไม่ใช่กระแสไฟฟ้าแบตเตอรี่อย่างใด”
“ผมอยากให้ยกกรณีดังกล่าวเป็นบทเรียนสำหรับเกษตรกรที่พยามป้องกันไม่ให้ช้างป่าลงมาทำลายพืชสวน แต่ก็อยากให้เป็นวิธีที่ถูกต้อง อยากให้ทางช้างและคนอยู่ร่วมกันได้ ส่วนช้างป่าที่มีอาการเจ็บป่วยซึ่งทางสัตวแพทย์กรมอุทยานแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้ติดตามให้การรักษาอย่างต่อเนื่องจนเกือบ 1 เดือนแล้ว ก็มีผลเป็นที่น่าพอใจอาการดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งหากทีมสัตวแพทย์ที่ให้การรักษายืนยันว่า อาการของช้างป่าเป็นปกติเมื่อไหร่ก็คงต้องปล่อยกลับเข้าสู่ป่าต่อไป”
ด้านนายสรัชชา สุริยกุล ณ อยุธยา ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี กล่าวว่า ตอนนี้ได้แจ้งให้ทางศูนย์ประสานงานโครงการหมู่บ้านสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ ตรมพระราชดำริ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ตรวจสอบว่าพื้นที่ซึ่งที่เกิดเหตุช้างป่าเสียชีวิต และพื้นที่ใกล้เคียงซึ่งปักป้ายเป็นรีสอร์ต ฯลฯ เป็นพื้นที่ครอบครองโดยถูกต้องหรือไม่อย่างไร ก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบทึ่ต้องดำเนินการนับจากนี้ไป
“สิ่งสำคัญหากเป็นไม่ได้พื้นที่ซึ่งเป็นแปลงหญ้า และบ่อน้ำบริเวณดังกล่าวหากทางผู้ครอบครองพื้นที่คืนให้แก่สัตว์ป่าได้ลงมากินน้ำกินหญ้า ก็จะเป็นสิ่งที่ดี ส่วนพื้นที่ที่เหลือเจ้าของก็สามารถนำไปทำสวนเกษตรให้เป็นไปตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงก็น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกด้อง เพราะก็ทราบว่าในพื้นที่ของอาศรมบูรพาก็มีการทำปลูกชาใบหม่อน และปลูกพีชอย่างอื่นด้วย และให้หาพื้นที่ด้านบนขุดเจาะน้ำบ่อบาดาลไว้ใช้แทน ส่วนบ่อน้ำที่เกิดปัญหาก็ได้ให้สัตว์ป่าช้างป่าได้ลงมาใช้ต่อไป”
“นอกจากนั้นแล้ว ทางศูนย์ประสานงานโครงการหมู่บ้านสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ตามพระราชดำริ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดเพชรบุรี และธนารักษ์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.หนองพลับ เพื่อให้ตรวจสอบพื้นที่แปลงดังกล่าวในข้อหาบุกรุก ทั้งนี้ เบื้องต้นต้องตรวจสอบว่า ใครเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสอบ” นายสรัชชา กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อปี 2554 และปี 2557 ได้เกิดกรณีช้างป่าในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพศผู้ มีงาออกมาในแปลงมะม่วงของเกษตรกรในพื้นที่อำเภอสามร้อยยอด และอำเภอปราณบุรี และถูกไฟฟ้าช็อตตายมาแล้วรวม 2 ตัว และครั้งนี้นับเป็นอีกครั้งที่เกิดปัญหาในลักษณะเดียวกัน และช้างป่าในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานโขลงที่อาศัยหากินอยู่บริเวณรอยต่อของพื้นที่ตำบลป่าเด็ง อำเภอแก่งกระจาน และตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก็มาถูกไฟฟ้าช็อตตายถึง 3 ตัวอีกครั้ง และถือเป็นบทเรียนที่สำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งต่อไปหลายหน่วยงาน และผู้เกี่ยวข้องทั้งคงต้องมาพิจารณาหาแนวทางแก้ไขไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซากต่อช้างป่าสัตว์คู่บ้านคู่เมืองเกิดขึ้นอีก
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ