นักกฎหมายสหรัฐ ฟ้องห้างค้าปลีกขายกุ้งซีพี เหตุเกี่ยวพันใช้แรงงานทาส

21 ส.ค. 2558 | อ่านแล้ว 3021 ครั้ง


	นักกฎหมายสหรัฐ ฟ้องห้างค้าปลีกขายกุ้งซีพี เหตุเกี่ยวพันใช้แรงงานทาส

สำนักงานกฎหมาย 3 แห่งจากรัฐแคลิฟอร์เนีย ฟ้องร้องห้างค้าปลีกในสหรัฐฯ ที่จำหน่ายกุ้งแช่แข็ง ‘ซีพี’ เหตุฟาร์มกุ้งรับซื้ออาหารเลี้ยงกุ้งมาจากผู้ผลิตและจัดหาวัตถุดิบที่เป็นเรือประมงที่ใช้แรงงานทาส (ขอบคุณภาพจาก ahmadiyyatimes)

21 ส.ค. 2558 เว็บไซต์ประชาไท รายงายเมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า สำนักงานกฎหมาย 3 แห่งจากรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐฯ เรียกร้องให้ศาลมีคำสั่งห้ามบริษัทค้าปลีกสหรัฐฯ 'คอสต์โค' ขายกุ้ง เว้นแต่จะมีการแปะฉลากระบุให้เห็นว่าเป็นผลผลิตจากแรงงานทาส ซึ่งก่อนหน้านี้สำนักงานกฎหมายทั้ง 3 แห่งเคยฟ้องร้องคอสต์โคและบริษัทวัตถุดิบในไทยอย่างซีพีโดยกล่าวหาว่าทำการค้ากุ้งที่มีที่มาจากการใช้แรงงานทาสชาวประมง

เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ที่ผ่านมา โมนิกา ซุด โจทย์ผู้เป็นตัวแทนผู้อยู่อาศัยในแคลิฟอร์เนียยื่นฟ้องดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ต่อคอสต์โค ซึ่งหมายถึงการดำเนินคดีที่การตัดสินตัวแทนในกรณีหนึ่งจะส่งผลต่อผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆ ซึ่งในกรณีนี้ซุดเป็นตัวแทนที่การตัดสินจะส่งผลต่อผู้อาศัยในแคลิฟอร์เนียทั้งหมดด้วย

การฟ้องร้องคดีดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่เมื่อปีที่แล้ว (2557) สำนักข่าวเดอะการ์เดียนนำเสนอรายงานของสหประชาชาติและขององค์กรเอ็นจีโอซึ่งเปิดโปงเรื่องการค้ามนุษย์เพื่อนำไปใช้เป็นแรงงานทาสในภาคส่วนการประมงของไทยซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำฟาร์มกุ้งที่มีการส่งขายไปยังห้างค้าปลีกต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงคอสต์โคด้วย ความเกี่ยวข้องดังกล่าวคือการที่ฟาร์มกุ้งรับซื้ออาหารเลี้ยงกุ้งมาจากผู้ผลิตและจัดหาวัตถุดิบที่เป็นเรือประมงที่ใช้แรงงานทาส

บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ 'ซีพีกรุ๊ป' ของไทยถูกกล่าวหาว่าทำฟาร์มเลี้ยงกุ้งที่รับซื้ออาหารเลี้ยงสัตว์น้ำคือปลาป่นจากแหล่งวัตถุดิบดังกล่าว ซึ่ง ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานของซีพีเคยกล่าวชี้ถึงประเด็นนี้ว่าทางซีพีจะให้ความช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ทางการไทยเพื่อให้มีการดำเนินคดีตามกฎหมายกับกลุ่มค้ามนุษย์และใช้แรงงานทาสที่เป็นผู้จัดหาวัตถุดิบอาหารเลี้ยงกุ้งให้กับทางบริษัท

แรงงานทาสที่หลบหนีออกมาได้เล่าถึงสภาพการใช้งานหนักบนเรือโดยมีการให้พวกเขาทำงาน 20 ชั่วโมง มีการทุบตี ทารุณกรรม และการสังหารแรงงานทาสเหล่านี้

เดเรก โฮเวิร์ด จากสำนักงานกฎหมายโฮเวิร์ดอธิบายถึงการฟ้องร้องของพวกเขาว่าเป็นไปเพื่อทำให้ชาวแคลิฟอร์เนียมีความเชื่อมั่นว่าพวกเขาจะ "ไม่ได้รับการเสิร์ฟ 'แรงงานทาส' เป็นอาหารเย็น"

ทางด้านคอสต์โคชี้แจงในแถลงการณ์ว่า หลังจากที่มีข้อกล่าวหาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทยซึ่งเผยแพร่มานานกว่า 1 ปีแล้ว ทางห้างค้าปลีกคอสต์โคก็ยังคงดำเนินการร่วมมือกับกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่นรัฐบาลไทย อุตสาหกรรมไทย และห้างค้าปลีกอื่นๆ เพื่อหารือถึงปัญหานี้และจะยังคงดำเนินการต่อไป ในระหว่างนั้นลูกค้าที่ไม่พอใจในสินค้าจากคอสต์โคสามารถนำสินค้าไปคืนได้โดยจะได้รับเงินค่าสินค้าคืน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: