นักวิชาการ สถาปนิกชุมชนแนะรัฐ สื่อสารกับชุมชน สร้างพื้นที่สาธารณะริมคลอง เน้นปฏิสัมพันธ์ชาวบ้าน ร่วมแก้ปัญหาคลองลาดพร้าว (ขอบคุณภาพจาก: เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาพื้นที่ริมคลอง)
21 พ.ย. 58 เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาพื้นที่ริมคลองเปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ออกอากาศเมื่อวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา ถึงการริเริ่มโครงการนำร่องเพื่อคืนสายน้ำสู่สังคม ซึ่งจะเป็นแผนปฏิบัติการคลองแสนแสบ ระยะทางยาว 72 กิโลเมตร ในการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมานั้น ได้มีการเสนอแผนการ ในเรื่องของการพัฒนาการบูรณาการ การดำเนินงาน ระหว่าง กระทรวง และหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลร่วมกับกรุงเทพมหานครฯ ในการแก้ปัญหาขยะและมลพิษในคลองแสนแสบ และการระบายน้ำเสียต่างๆ ลงคลองแสนแสบโดยจะแก้ปัญหาให้ได้โดยเร็วภายใน 2 ปี ใช้งบประมาณวงเงิน 7,000 ล้านบาท รวมถึงพัฒนาสายน้ำและชุมชนริมคลองทั่วประเทศ ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้
ประเด็นการอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชนและพื้นที่คลองนั้นถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยถึงแนวทางการจัดการอยู่หลายครั้ง โดยเฉพาะเรื่องสภาพบ้านเรือนและชุมชนที่ไม่ชวนมอง ปัญหามลพิษทางน้ำทั้งที่เกิดจากชุมชนริมคลองและมาจากที่อื่นๆ และในการแก้ปัญหาดังกล่าวนั้นไม่เพียงแต่เรื่องการออกแบบบ้านและการจัดการพื้นที่สาธารณะ แต่ยังต้องคำนึงถึงเรื่องมิติของชุมชนริมคลอง ซึ่งหนึ่งในผู้ที่เข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้คือ สถาปนิกชุมชน
ดร.บุญอนันต์ นทกุล อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการทำงานของสถาปกนิกชุมชน โดยยกตัวอย่างการทำงานกับชุมชนริมคลองลาดพร้าวว่า การออกแบบที่อยู่อาศัยและผังชุมชนคือเครื่องมือในการสื่อสารกับชาวบ้าน เป็นกระบวนการที่มีปฏิสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องระหว่างชาวบ้าน ชุมชน และสถาปนิก พูดได้ว่าเป็นกระบวนการสรางการมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น
“ก่อนทำงานออกแบบ เราจะให้นักศึกษาลงพื้นที่สังเกตลักษณะทางกายภาพของที่อยู่อาศัย ลักษณะทางสังคม กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และสุดท้ายคือวัฒนธรรมการอยู่อาศัย เช่น มีศาลเจ้าชุมชน มีต้นไม้ใหญ่ที่ชุมชนดูแลรักษา พวกนี้เป็นปัจจัยเรื่องวัฒนธรรมที่ถ้าเราไม่ลงพื้นที่เราจะออกแบบไม่ได้”
ในส่วนของรูปแบบบ้าน ดร.บุญอนันต์ อธิบายว่า เมื่อเก็บข้อมูลและนำมาออกแบบแล้วใช่ว่าจบงาน แต่จะต้องนำแบบที่ได้กลับไปพูดคุยกับชาวบ้านอีกครั้ง กระบวนการนี้จะเกิดซ้ำๆ กระทั่งแบบบ้านและผังชุมชนเป็นที่พอใจและตอบสนองความต้องการของชาวบ้านภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ และข้อมูลที่มี
“ยกตัวอย่างการเก็บข้อมูลเชิงสังคม เช่น บางหลังบ้านเล็ก แต่อยู่กันหลายคน เขาอยู่ยังไง ก็จะเห็นว่าเขามีการหมุนเวียนกัน คนหนึ่งไปทำงานข้างนอก อีกคนอยู่บ้าน หรือการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างซอยเป็นอย่างไร เพราะโดยธรรมชาติของการเกิดชุมชนเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็เป็นญาติพี่น้อง เราก็ต้องพิจารณาว่าถ้าเขาได้บ้านใหม่ เขาจะอยู่ยังไง จะรวมกันอยู่เหมือนเดิมแต่บ้านหลังใหญ่หรือแยกกันอยู่แต่บ้านชิดกัน”
วิถีชีวิตแบบคนเมืองทำให้การปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในละแวกบ้านไม่เกิดขึ้น ซึ่งผิดกับสภาพชุมชนริมคลอง การออกแบบบ้านและการออกแบบผังชุมชนจึงต้องถูกคิดให้สอดคล้องกัน โดยที่สิ่งปลูกสร้างจะยังคงช่วยรักษาปฏิสัมพันธ์ของคนในชุมชนไว้หรือเพิ่มให้มากขึ้น เช่น การกำหนดเป็นกลุ่มบ้านหรือคลัสเตอร์ โดยให้บ้านที่มีความใกล้ชิดกันประมาณสามสี่หลังสร้างติดกัน และจัดพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับใช้ร่วมกัน ขณะที่หน้าบ้านก็จะมีการเว้นพื้นที่จากตัวบ้านมาถึงถนนไว้ เมื่อบ้านสองหลังที่หันหน้าเข้าหากันบวกกับพื้นที่ถนนก็จะเกิดพื้นที่หน้าบ้านกว้างขึ้น เนื่องจากชุมชนลักษณะนี้ ถนนคือพื้นที่ของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในชุมชน
“การที่เราคำนึงถึงวิถีชีวิตเขามากๆ พอเขาอยู่ไป จะยิ่งทำให้เขารักชุมชนของตนเองมากขึ้น แทนที่จะขายสิทธิ์ให้คนอื่น แล้วย้ายออกไป ถ้าเราไม่สร้างการเป็นชุมชน จะไม่สามารถอยู่แบบยั่งยืนได้”
การออกแบบที่อยู่อาศัยและผังชุมชนริมคลองลาดพร้าวไม่ได้จบแค่ภายในชุมชน แต่ยังถูกนำไปคิดร่วมกับแนวทางการพัฒนาเมืองในภาพรวมด้วย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ