ปัดฝุ่น ‘นิคมฮาลาลปัตตานี’ ทิ้งของเดิม 10 ปีไม่คืบ หลังสูญงบกว่า 600  ล้าน

รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด TCIJ 22 ม.ค. 2558 | อ่านแล้ว 2433 ครั้ง

ไม่ว่ารัฐบาลใดขึ้นมาบริหารประเทศ นโยบายผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลจะถูกพ่วงเข้ามาเป็นอีกหนึ่งภารกิจ ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในงานประชุมวิชาการและการแสดงสินค้านานาชาติ ‘Thailand Halal Assembly’ ว่า ไทยควรเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลให้เป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารของโลก เพื่อรองรับชาวมุสลิมในอาเซียนซึ่งมีประมาณ 300 ล้านคน

อีกทั้ง เมื่อเร็วๆ นี้ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี เปิดเผยถึงแผนสร้างนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล กำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์พัฒนาและขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจในปี 2558 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ลงพื้นที่สำรวจเพื่อเลือกสถานที่ก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ตัดสินใจเลือกพื้นที่บริเวณตำบลบานา อำเภอเมือง ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานีในปัจจุบัน

ขณะที่พื้นเดิมคือ อำเภอปานาเระ ซึ่งได้ดำเนินการและก่อสร้างอาคารไปแล้ว  ถูกยกเลิกเนื่องจากที่ผ่านมาถูกผู้ก่อความไม่สงบลอบโจมตีหลายครั้ง เกรงจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และแรงงานที่จะเข้ามาสมัครงาน

พบรอบนิคมฯ ส่อขัดแย้งกว้านซื้อที่ดิน

ก่อนหน้านี้ TCIJ ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณอำเภอปานาเระ จังหวัดปัตตานี พื้นที่เป้าหมายเดิมโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล ปัตตานี พบเพียงอาคารศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร ของ กนอ. ที่สร้างแล้วเสร็จ อีกทั้งตัวอาคารยังปรากฎร่องรอยความเสียหายจากเหตุลอบวางเพลิงเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2557

แม้ว่าโครงการจะหยุดชะงัก งบประมาณสนับสนุนจากส่วนกลาง

กลับถูกอนุมัติลงมาตลอด จนถึงปี 2555

เป็นจำนวนเงินกว่า 600 ล้านบาท

ยะพา อามะ อดีตนายยกองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำบ่อ  เล่าถึงหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้นิคมอุสาหกรรมฮาลาลไม่คืบหน้าว่า เพราะเจ้าของโครงการ ยังไม่ทำสัญญาซื้อขายที่ดินในโครงการอย่างชัดเจน  มีเพียงสัญญาปากเปล่าว่าจะขอซื้อไปเพื่อสร้างนิคม

สอดคล้องกับรายงานวิจัย ‘วิเคราะห์ปัญหาและแนวทางการบริหารจัดการที่ดิน บริเวณลุ่มน้ำสายบุรี’ โครงการวิจัยการพัฒนาการมีส่วนของประชาชนในการจัดการลุ่มน้ำสายบุรี ระยะที่ 2 ระบุว่า ที่ดินย่านอำเภอปานาเระ สายบุรี มีปัญหาสืบเนื่องจากการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล บริเวณพื้นที่ตำบลน้ำบ่อ บ้านท่าสู อำเภอบางเก่า อำเภอสายบุรี ทราบกันโดยทั่วไปว่าเป็นพื้นที่ที่จะจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ในระยะที่ 1 รวม 933 ไร่ และในระยะที่สองอีกประมาณ 1,000 ไร่ ซึ่งยังไม่ได้กำหนดว่าจะสร้างที่ไหน

ร่องรอยความเสียหายจากเหตุการณ์ความไม่สงบ

งานวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า กลุ่มทุนซื้อไปแล้วในหลายพื้นที่ ที่ดินได้หลุดมือจากชาวบ้านไปอยู่ในมือกลุ่มทุนหลายกลุ่ม ส่วนพื้นที่สร้างนิคมฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ของชาวบ้านเดิม บางพื้นที่มีปัญหาเอกสารสิทธิทับซ้อนกัน แย่งชิงที่ดินกันอยู่แต่เดิม โดยไม่คิดว่าในอนาคตที่ดินจะเปลี่ยนมือ แต่ในระยะหลังที่ดินมีราคาสูง เมื่อมีการพัฒนานิคมฯ จึงมีการจับจองบ้าง ขายสิทธิบ้าง และมีความขัดแย้งเรื่องแนวเขตทับซ้อนกันบ้าง แม้จะมีแผนกำหนดเขตนิคมฮาลาลในเนื้อที่ 933 ไร่ แต่ความเป็นจริงสามารถทำได้เพียงสิบไร่กว่า ส่วนที่เหลือชาวบ้านไม่ยอมขาย เหตุเพราะเดิมพื้นที่ที่ชาวบ้านถือครองนั้น จะขายให้กับนายหน้าที่มาติต่อซื้อที่ดินทำอุตสาหกรรมต่างๆ ในราคาเพียงไร่ละ 40,000-60,000 กว่าบาท แต่ยังไม่ได้จ่ายเงิน เป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขาย แต่ตอนหลังทราบว่า มีบริษัทในจังหวัดปัตตานี ต้องการซื้อที่ดินในราคาสูงกว่า โดยเสนอราคาเป็นไร่ละแสนบาท ชาวบ้านจึงไม่ขายให้นิคมฯ แม้จะกำหนดแผนไว้แล้วก็ตาม

ใช้งบฯ เกือบ 600 ล้าน แต่โครงการไม่เดินหน้า

TCIJ ตรวสอบไปยังรายงานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและติดตามการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลจังหวัดปัตตานี วุฒิสภา พบว่า ในปี 2545 บริษัท ฟาตอนี อินดัสทรีส์ จำกัด ต้องการตั้งโรงงานแปรรูปไก่แช่แข็งป้อนตลาดตะวันออกกลาง ระหว่างทำการศึกษาทราบว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กำลังจะจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในเขตจังหวัดปัตตานี สนองนโยบายการส่งเสริมให้ภาคใต้ เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ตามยุทธศาสตร์แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 9 ‘การเป็นประเทศศูนย์กลาง’

บริษัทเห็นว่า หากมีนิคมฯ เกิดขึ้นก็จะเข้าไปตั้งโรงงานในเขตนิคมฯ แต่หากว่าภาครัฐดำเนินการเองอาจไม่ทันการ จึงเสนอเข้าร่วมโครงการด้วย โดยเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2546 บริษัท ฟาตอนีฯ ลงนามสัญญาร่วมดำเนินการกับ กนอ. 7 วันต่อมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ กนอ. เป็นเจ้าภาพร่วมดำเนินการกับ บริษัท ฟาตอนี อินดัสทรีส์ จำกัด

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ส่งผลถึงสถาบันการเงินและนักลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล ไม่กล้าลงทุนและสถาบันการเงินไม่อนุมัติเงินกู้ ในขณะนั้น บริษัท ฟาตอนีฯ ติดค้างชำระค่าที่ดินกับชาวบ้าน จากการกว้านซื้อที่ทำกิน เดิมคือที่ดิน นส.3 ก. โดยมีโฉนดที่เป็นชื่อบริษัทเพียงแปลงเดียว

แม้ว่าโครงการจะหยุดชะงัก งบประมาณสนับสนุนจากส่วนกลางกลับถูกอนุมัติลงมาตลอด จนถึงปี 2555  เป็นจำนวนเงินกว่า 600 ล้านบาท

แม้มติชัดเจนจากสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานีจะประกาศยกเลิกโครงการฯ ในพื้นที่เดิมเพราะไม่เห็น ถึงความเป็นไปในการสานต่อ ทว่า บทเรียนราคา 600 ล้านที่เสียไป อาจต้องจับตามองว่าโครงการนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลที่ถูกทิ้งร้างกว่า 10 ปี จะเกิดขึ้นจริงภายใต้รัฐบาลปัจจุบันหรือไม่

อ่าน จับตา: การเปลี่ยนแปลงที่ดินรอบนิคมฮาลาล

อ่านข่าวก่อนหน้าที่

‘นิคมฮาลาลปัตตานี’ เป็นหมัน-สิบปีไม่คืบ ไร้คำตอบจากรัฐ-ไม่เดินหน้าแต่ก็ไม่เลิก
http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=3837

ปมปั่นราคาที่ดินดึง ‘นิคมฮาลาล’ ฝันค้าง รัฐหวังแค่ทางผ่านดัน ‘เซาท์เทิร์นซีบอร์ด’

http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=3843

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: