พลเรือนไทยใน ‘ศาลทหาร’ ในวันที่กระบวนการยุติธรรมปกติไม่ทำงาน

ทีมข่าว TCIJ 22 ก.พ. 2558 | อ่านแล้ว 3063 ครั้ง

หากว่ากันตามหลักการของกระบวนการยุติธรรมที่นานาอารยะประเทศให้การยอมรับ การที่พลเรือนต้องขึ้นศาลทหารเป็นเรื่องถูกต้องตามหลักการหรือไม่ ?

ล่าสุด ร่าง พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่...) พ.ศ.... ได้ผ่านการลงมติจากสภานิติบัญญัติไปเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่นมา  จึงเป็นที่ถกเถียงในวงกว้างว่า นี่เป็นการเพิ่มอำนาจแก่ศาลทหารในภาวะที่กฎอัยการศึกยังประกาศใช้อยู่  ซึ่งนำไปสู่ความกังวลว่าเขตอำนาจศาลทหารจะครอบคลุม      พลเรือนเข้าไปด้วย เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน  ผลจากประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ทำให้พลเรือนที่ถูกกล่าวหาในคดีบางประเภทต้องขึ้นศาลทหารอยู่แล้ว

ฟากรัฐบาลแก้ต่างว่า ร่างกฎหมายศาลทหารฉบับนี้ เพื่อให้การบังคับใช้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยไม่มีผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด

คำกล่าวของภาครัฐจะเท็จจริงประการใดก็ตาม แต่ไม่แปลกที่ฟากฝ่ายองค์กรสิทธิมนุษยชนจะไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ เพราะนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 วันที่ 25 เดือนเดียวกันนั้น คสช. ก็ออกประกาศให้คดีที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์, คดีความมั่นคง, คดีที่เกี่ยวกับการละเมิดคำสั่ง คสช. และคดีที่เป็นความ ผิดเกี่ยวเนื่อง ต้องขึ้นศาลทหาร และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร (อีกครั้ง) ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย  เป็นกระบวนการยุติธรรมที่ไม่สามารถการันตีได้ถึงความเป็นอิสระและความเป็นกลาง

และนี่ก็ดูจะขัดกับหลักการทั้งปวงว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมปกติและหลักการระหว่างประเทศ

มีศาลทหารเพื่ออะไร ?

ฝั่งที่เห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีศาลทหาร  มักตั้งคำถามว่า เมื่อทหารทำผิดเหตุใดจึงต้องมีอภิสิทธิ์ขึ้นศาลของตนเอง แทนที่จะใช้กระบวนการยุติธรรมปกติ สิ่งนี้สะท้อนถึงความไม่เสมอภาคและความมีอภิสิทธิ์บางประการของทหารหรือไม่

ฝ่ายที่เห็นว่าจำเป็นต้องมี เสนอเหตุผลไว้ 3 ประการคือ หนึ่ง-เป็นเหตุผลทางอุดมการณ์ความคิดทางการเมืองที่เชื่อในเรื่องความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย การแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และการป้องกันภัยคุกคามต่างๆ เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมของศาลทหารมีประสิทธิภาพมากกว่ากระบวนการปกติ    สอง-ลักษณะความแตกต่างของข้อพิพาท โดยมองว่าข้าราชการทหารมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากพลเรือนโดยเฉพาะประเด็นเรื่องระเบียบวินัยและโครงสร้างภายในของกองทัพ

และสาม-เป็นเหตุผลที่ค่อนข้างอารยะและใช้กันมากที่สุดในปัจจุบัน คือ ข้ออ้างเรื่องสถานการณ์ความขัดแย้งหรือสงคราม  หรือเมื่อกองกำลังรักษาสันติภาพจากต่างประเทศต้องเข้าไปรักษาสันติภาพในดินแดนหนึ่ง บางครั้งเขตอำนาจศาลภายในของแต่ละรัฐเอื้อมไปไม่ถึง การตั้งศาลทหารที่เขียนเฉพาะขึ้นมาให้มีเขตอำนาจครอบคลุม จึงมีความจำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้ทหารหลุดพ้นจากความรับผิด

ปัจจุบัน บางประเทศจึงไม่มีศาลทหาร เพราะไม่เห็นความจำเป็น ขณะที่บางประเทศที่มีศาลทหารมักกำหนดโครงสร้างให้มีตุลาการพลเรือนรวมอยู่ในองค์คณะด้วย หรือบางประเทศก็ให้ผู้พิพากษาที่มาจากระบบศาลปกติมีจำนวนมากกว่า บางประเทศเลือกที่จะไม่มีศาลทหาร แต่ให้มีแผนกศาลทหารอยู่ในระบบศาลปกติ บางประเทศแยกศาลทหารออกมาจากระบบศาลปกติและมีตุลาการศาลทหารทั้งหมด แน่นอน ในที่นี้หมายถึงประเทศไทย ซึ่งใช้เหตุผล 2 ข้อแรกเป็นหลักในการมีอยู่ของศาลทหาร

ทว่า การดำรงอยู่ของศาลทหารของไทยดูเหมือนจะไม่ได้ตอบโจทย์ตามเหตุผล 2 ข้อที่หยิบมาอ้างอิง เพราะที่ผ่านมาศาลทหารสร้างร่องรอยความเสียหายอย่างน้อย 2 ประการ  หนึ่ง-จำนวนนายทหารที่หลุดพ้นจากความรับผิดมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะนายทหารระดับสูง  และสอง-พลเรือนถูกนำขึ้นศาลทหารมากขึ้นๆ

10 ปีไฟใต้ 10 คดีมีเพียง 1 ที่ทหารถูกดำเนินคดีในศาลทหาร

เยาวลักษ อนุพันธ  หัวหน้าและผู้ก่อตั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน บอกเล่าบางประสบการณ์จากการทำงานเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ทางศูนย์ฯ พบว่ากรณีที่ทหารทำการซ้อมทรมานหรือทำร้ายร่างกายชาวมุสลิม 10 คดีจะมีเพียงคดีเดียวเท่านั้นที่ขึ้นสู่ศาลทหาร ส่วน 9 คดยังไม่มีทหารคนใดได้รับผิด จากกรณีทำร้ายร่างกายหรือข้อหาอื่นที่รุนแรงกว่าเลย  ส่วนใหญ่มักถูกโยกย้ายออกนอกพื้นที่

“มีอยู่คดีหนึ่งซึ่งเป็นคดีดังมาก ทหารนำคนมุสลิมไปซ้อมในวัด เนื่องจากค่ายเฉพาะกิจส่วนใหญ่จะอยู่ในวัดและในโรงเรียน คดีนี้เราประชุมกันว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ขึ้นศาลพลเรือน ปรากฏว่ารถที่ใช้คุมขังชาวมุสลิมเป็นรถตำรวจ เราจึงฟ้องตำรวจที่ศาลจังหวัดนราธิวาส สืบพยานกันเต็มที่ สุดท้ายเมื่อไต่สวนมูลฟ้องเสร็จ ศาลนราธิวาสก็สั่งว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร”

ส่วนเหตุการณ์หลังรัฐประหาร  เยาวลักษ์ เล่าว่าช่วงหนึ่งเดือนแรกพบพฤติกรรมการละเมิดกรณีที่ทหารทำ การจับกุมและไม่เปิดเผยสถานที่คุมขัง  หลังจาก 100 วันผ่านพ้น ข้อมูลทางคดีจึงค่อยๆ พบว่า ทหารมีการ จับกุมคุมขังคนที่ก่อความรุนแรงก่อนรัฐประหาร เมื่อควบคุมตัวมาจะทำการซ้อมทรมานหรือไม่ก็มีการคุมขังเกิน 7 วัน ทั้งที่กฎอัยการศึกให้อำนาจควบคุมเพียง 7 วัน โดยทางศูนย์ฯ ได้รับคดีซ้อมทรมาน 14 กรณี

หัวใจสำคัญที่สะท้อนถึงปัญหา

ของประเทศไทยคือเรื่องเขตอำนาจ

พลเรือนต้องไม่ถูกฟ้องคดีในศาลทหาร นี่คือหลักการพื้นฐาน

เยาวลักษ์ อธิบายว่า ในสถานการณ์ปกติที่ไม่มีกฎอัยการศึกการจับกุมคุมขังต้องใช้อำนาจศาลเท่านั้น แต่ ขณะนี้กล่าวได้ว่าทุกคนมีสิทธิถูกจับกุมได้ทุกเมื่อ  แล้วจะถูกนำไปกักตัวและสอบถามเอาข้อมูล แต่ถ้าเป็นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจาก 7 วัน ผู้ถูกควบคุมตัวจะถูกคุมขังต่ออีก 30 วันตาม พ.ร.ก.ว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จากนั้นจึงจะขออำนาจศาลทหารคุมตัวอีกไม่เกิน 84 วัน  บางกรณี ผู้ต้องหาอาจไม่ได้รู้เห็น ไม่ได้กระทำผิด แต่กระบวนการสอบถามเอาข้อมูลของทหารนั้นบีบคั้นให้ต้องรับสารภาพในชั้นอัยการ  แต่สุดท้ายกลับปรากฎว่าไม่มีพยานหลักฐานว่ากระทำผิด ทำให้พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง

จำต้องรับสารภาพ

จากการรวบรวมสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำงานของเยาวลักษ์ พบว่า สถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทหารมีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะขอเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการยุติธรรม แต่ตลอด 10 ปีที่ผ่านมายังไม่บรรลุผล ปัจจุบันที่ทหารครองอำนาจ จึงทำให้อนาคตไม่แน่นอนว่า ทหารจะเป็นหนึ่งในบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมหรือไม่

ปัญหาอีกประการคือความเชี่ยวชาญและความเป็นอิสระของตุลาการศาลทหาร  เยาวลักษ์ยกตัวอย่างเช่นการให้มีการพิจารณาคดีลับหรือการยื่นฟ้องวันสุดท้ายก่อนครบ 84 วัน ซ้ำเป็นการยื่นฟ้องตอน 6 โมงเย็น ซึ่งศาลในระบบปกติจะไม่ปฏิบัติเช่นนี้  อีกทั้งการยื่นฟ้องจะต้องนำตัวจำเลยมาฟังคำฟ้องด้วยตนเอง แต่ศาลทหาร กลับให้จำเลยยังคงอยู่ในเรือนจำ และ 1 เดือนต่อมาจำเลยจึงจะได้รับคำฟ้อง

นอกจากนี้ ศาลทหารยังไม่มีกระบวนการสืบเสาะหาข้อมูล ไม่มีทนายความขอแรง ไม่อนุญาตให้ใช้กรมธรรม์ในการประกัน ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ และมีการพิพากษาลงโทษที่ค่อนข้างหนัก เช่นคดีตามมาตรา 112 โทษที่กำหนดโทษสูงสุดไว้ 15 ปี จำเลย 2 คนถูกศาลทหารตัดสินลงโทษจำคุก 9 ปีกับ 10 ปี รับสารภาพลดกึ่งหนึ่งเหลือ 4 ปีครึ่งกับ 5 ปี ขณะที่ศาลพลเรือนจะลงโทษอยู่ที่ 5 ปี ลดกึ่งหนึ่งเหลือ 2 ปี 6 เดือน เยาวลักษ์ กล่าวว่า

“มีการพูดกันว่าถ้าใครสู้ ศาลจะลงโทษเต็ม 15 ปี ก็เลือกว่าจะสู้หรือจะรับสารภาพ เมื่อสู้ไปไม่มีอนาคต จึงทำให้ตอนนี้มีผู้ลี้ภัยจำนวนมาก”

มาตรฐานขั้นต่ำที่ศาลทหารจำเป็นต้องมี

ศาลทหารจำเป็นต้องมีหรือไม่?  แม้เป็นข้อถกเถียงที่ไร้ข้อสรุปสำหรับประเทศไทยในห้วงเวลานี้ แต่ถ้าจะมีศาลทหาร อะไรคือมาตรฐานหรือหลักเกณฑ์ขั้นต่ำที่ควรจะเป็น นี้คือคำตอบที่สหประชาชาติได้สร้างขึ้น โดยยึดเอาหลักการจากกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ไอซีซีพีอาร์(International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ซึ่งเป็นกติกาสากลที่ประเทศไทยลงนามรับรอง

ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล  อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า หลักเกณฑ์พื้นฐานของศาลทหารมี 20 ข้อคือ


1.ศาลทหารต้องตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย และเป็นไปตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ
2.ต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ
3.แม้จะประกาศใช้กฎอัยการศึก แต่ศาลทหารยังคงต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์สิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศ
4.ศาลทหารต้องอยู่ภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ
5.เขตอำนาจศาลทหารต้องไม่ครอบคลุมไปถึงพลเรือน  พลเรือนต้องไม่เป็นจำเลยในศาลทหาร
6.นายทหารทั้งหลายมีเสรีภาพในจิตสำนึกและในความคิดเห็นของตนเอง กล่าวคือไม่จำเป็นต้องปฏิบัติคำสั่งผู้บังคับบัญชาเสมอไป หากคำสั่งนั้นขัดต่อจิตสำนึกของตน ย่อมมีสิทธิขัดขืนคำสั่งได้ และศาลทหารต้องคุ้มครองเรื่องนี้
7.ไม่ควรนำเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีมาขึ้นศาลทหาร แต่หากจะทำต้องมีข้อยกเว้น
8.ความผิดที่อยู่ในเขตอำนาจศาลทหารจะต้องเป็นความผิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของทหาร
9.บุคคลที่ถูกกล่าวหาในศาลต้องได้สิทธิในกระบวนการที่ยุติธรรม
10.การรักษาความลับของทหารต้องเป็นข้อยกเว้น ไม่ใช่หลักการ
11.ระบบเรือนจำทหารต้องได้มาตรฐานสากล
12.การจับกุมต้องมีหมายจับที่ออกโดยศาล
13.ตุลาการศาลทหารต้องมีความเป็นกลางและอิสระ
14.กระบวนการพิจารณาต้องทำอย่างเปิดเผย
15.จำเลยต้องมีสิทธิในการต่อสู้คดี
16.ผู้ที่ถูกทหารละเมิดสิทธิหรือเหยื่อ ต้องเข้าถึงกระบวนการพิจารณา
17.ศาลทหารควรมีความสัมพันธ์กับศาลปกติ
18.หลักความรับผิดชอบของตุลาการ
19.ไม่ควรมีโทษประหารชีวิต ถ้าจะมีต้องเขียนไว้ในกฎหมายและเป็นกรณีจำกัด
20.ประมวลกฎหมายที่ว่าด้วยศาลทหารต้องถูกทบทวนตรวจสอบเสมอ ว่าเข้าเกณฑ์สิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่

ลองพิจารณาดูว่าศาลทหารของไทยเข้าเกณฑ์ใดบ้าง

พลเรือนต้องไม่ขึ้นศาลทหาร

“หัวใจสำคัญที่สะท้อนถึงปัญหาของประเทศไทยคือเรื่องเขตอำนาจ พลเรือนต้องไม่ถูกฟ้องคดีในศาลทหาร นี่คือหลักการพื้นฐาน เพราะถ้าอ้างเหตุผลเรื่องวินัยทหารจึงต้องมีศาลทหาร ก็ต้องตัดสินเฉพาะทหาร อย่ามายุ่งกับพลเรือน” ดร.ปิยบุตร กล่าว

ทว่า พลเรือนที่ถูกนำตัวขึ้นศาลทหารในเวลานี้ มักมีการอ้างบทบัญญัตแห่งรัฐธรรมนูญปี 2557 มาตรา 4 ที่ ระบุว่า ‘ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้’

อย่างไรก็ตาม  ปิยบุตรชี้ให้เห็นความซ่อนเงื่อนในรัฐธรรมนูญปี 2557 มาตรา 47 ซึ่งระบุว่า ‘บรรดาประกาศ และคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ... ที่ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด’ ซึ่งมีผลให้มาตรา 4 ที่รับประกันสิทธิเสรีภาพไร้ความหมายไปทันที

และแม้ไอซีซีพีอาร์จะมีข้อยกเว้น  กรณีที่ประเทศสมาชิกอยู่ในสภาวะฉุกเฉินที่คุกคามต่อความอยู่รอดของ ชาติและมีการประกาศสภาวะนั้นแล้ว  รัฐสมาชิกอาจออกมาตรการบางอย่างที่ไม่เป็นไปตามไอซีซีพีอาร์ได้ แต่ต้องทำเท่าที่จำเป็นตามสภาวการณ์ความฉุกเฉินและต้องไม่ขัดต่อพันธะกรณีอื่นๆ ภายใต้กฎหมาย ระหว่างประเทศ และต้องแจ้งไปที่ไอซีซีพีอาร์  ซึ่งปิยบุตรย้ำว่า แม้รัฐบาลไทยจะแจ้งไปยังไอซีซีพีอาร์  แต่มิได้หมายความว่าจะทำอะไรก็ได้ เพราะยังมีกรอบกฎเกณฑ์อยู่

หากว่ากันตามหลักการระหว่างประเทศที่ยึดโยงกับหลักสิทธิมนุษยชนดังที่กล่าวมาข้างต้น คงได้รับคำตอบ ชัดเจนพอสมควรว่า พ.ร.บ.ศาลทหารที่ถูกประกาศใช้ขณะนี้ ขัดกับกระบวนการยุติธรรมที่ควรจะเป็นหรือไม่ และคงไม่แปลกใจว่า แม้การแก้กฎหมายธรรมนูญศาลทหารจะมีเหตุผลรองรับจากรัฐบาลเพียงใดก็ตาม แต่สาธารณชนกลับวิตกกังวลว่า เงื้อมเงาอำนาจศาลทหารกำลังแผ่ขยายปกคลุมชีวิตพลเรือนไทย

ชมคลิปการเสวนา 'ศาลทหาร กับ ความยุติธรรมระหว่างบรรทัด?' ได้ที่ 

https://www.youtube.com/watch?v=DHKv1YckNlU&feature=youtu.be
 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: