หวั่นร้อนจัด-โรคระบาดพุ่ง-ไทยขาดแพทย์ เหตุงานหนัก-ค่าตอบแทนต่ำ-ไร้อนาคต

รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด ศูนย์ข่าว TCIJ 22 มี.ค. 2558 | อ่านแล้ว 2505 ครั้ง

เอกสารกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี บันทึกรายงานโรคระบาด พ.ศ.2475 ระบุโรคระบาด พบโรคระบาดส่วนใหญ่ในขณะนั้นคือ กาฬโรค อหิวาตโรค และไข้ทรพิษ หนึ่งร้อยปีถัดมาเทคโนโลยีสุขภาพทำให้โรคร้ายเหล่านั้นกลายเป็นเพียงโรคสามัญที่สามารถป้องกันได้ กระนั้น เชื้อโรคได้วิวัฒนาการตัวมันเอง สร้างสายพันธุ์โรคต่างๆ ขับเคี่ยวบนสังเวียนสุขภาพคู่ไปกับความก้าวหน้าทางการแพทย์ โดยเฉพาะแพทย์ระบาดวิทยาผู้เป็นด่านแรกของวิกฤติโรคระบาด

เพราะโรคร้ายไม่รอเวลา เมื่อเกิดโรคระบาด แพทย์ระบาดคือกลุ่มแรกที่ถูกเรียกตัวให้ลงพื้นที่เพื่อ ‘สอบสวนโรค’ (outbreak  investigation) แพทย์จะซักอาการผู้ป่วยโดยละเอียด เก็บรายละเอียดสภาพแวดล้อมโดยรอบ และนำผลมาวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุของโรค และหยุดการระบาดไปยังผู้ป่วยกลุ่มใหม่ให้เร็วที่สุด ดังนั้น ในหลายประเทศที่ให้ความสำคัญกับงานระบาดวิทยา พร้อมทั้งทีมแพทย์และเครื่องมือ การระบาดของโรคติดต่อจึงอยู่ในระดับต่ำ เช่นสหรัฐอเมริกามีแพทย์ระบาดวิทยาประจำอยู่ทุกเมืองในแต่ละมลรัฐ

โรคระบาด (Epidemic) คือ สถานการณ์การติดเชื้อโรคหรือโรคติดเชื้อที่เกิดขึ้นในระยะเวลาเดียวกันในชุมชน ในถิ่น หรือในแหล่งหนึ่งแหล่งใด ในอัตราสูงกว่าสถานการณ์ปกติที่ควรเป็น โดยการติดเชื้อนั้นลุกลามแพร่กระจายอยู่ในชุมชน ในถิ่น หรือในแหล่งนั้นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงจุดเริ่มต้นของโรค และสามารถแพร่กระจายลุกลามไปยังชุมชนอื่นๆ ที่อยู่ไกลออกไปได้หลายๆ ชุมชนหรือหลายๆ สถานที่ ทั้งนี้คำว่า Outbreak มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า Epidemic โดยบ่อยครั้งใช้แทนกัน แต่บางครั้งใช้เมื่อการระบาดยังไม่รุนแรงโดยมีผู้ติดเชื้อไม่มาก และยังจำกัดอยู่เฉพาะในชุมชนหรือในถิ่นเริ่มต้นของโรค

หากอ้างอิงตามมาตรฐานความมั่นคงด้านสุขภาพระดับสากล

กำหนดจำนวนแพทย์ระบาดวิทยาที่เหมาะสมอยู่ที่ 1 คน ต่อประชากร 2 แสนคน ประเทศไทยจึงควรมีแพทย์ระบาดวิทยาประมาณ 320 คน ต่อจำนวนประชากรประมาณ 70 ล้านคน แต่ปัจจุบัน ไทยมีแพทย์ระบาดวิทยาประจำทั่วประเทศเพียง 171 คน สวนทางกับนโยบายการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ 

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้แพทย์ระบาดวิทยาในประเทศไทยขาดแคลน?

ค่าตอบแทนต่ำ เสี่ยงติดโรคสูง

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา สังกัดกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้แพทย์ระบาดวิทยาในประเทศไทยขาดแคลน ปัจจัยหลักมาจากค่าตอบแทนที่ต่ำกว่าแพทย์สาขาอื่นๆ อีกทั้งมีความเสี่ยงสูงที่จะติดโรคจากผู้ป่วยระหว่างสอบสวนโรค ขณะที่ค่าตอบแทน เมื่อเทียบกับเพื่อนร่วมวิชาชีพเดียวกันในสาขาอื่น น้อยกว่ากันเกือบครึ่ง รวมถึงเวลาในการทำงานที่ไม่เป็นเวลา ทำให้แพทย์ไม่สามารถหารายได้จากการเปิดคลินิกนอกเวลาได้

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในแต่ละปีจะมีแพทย์จบใหม่แฉลี่ยปีละประมาณ 1,500 คน อัตราเงินดือนโรงพยาบาลรัฐ เริ่มต้นรวม 30,000-100,000 บาท ขณะที่โรงพยาบาลเอกชน เริ่มต้นรวมที่ 62,520-150,000 บาท และหากเรียนต่อแพทย์เฉพาะทาง เช่น อายุรแพทย์ ศัลยแพทย์ ค่าตอบแทนจะเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 100,000 บาท ขึ้นไป

ขณะที่ค่าตอบแทนแพทย์ประจำสำนักระบาดวิทยา ใช้ฐานเงินเดือนเดียวกับข้าราชการ ทำให้เงินเดือนเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 40,000 บาท ซึ่งน้อยกว่าแพทย์จบใหม่ถึง 2 เท่า ทำให้ในแต่ละปีจึงมีแพทย์ระบาดวิทยาจบใหม่เพียง 3-5 คน

“มีนักระบาดวิทยา คนหนึ่งเคยพูดกับผมว่า หากเป็นแพทย์เฉพาะทางทั่วไป เขาจะทำเงินจากการรักษาผู้ป่วยได้มากโดยเฉพาะหากเป็นแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชน แต่เขาจะรักษาผู้ป่วยได้ทีละคน แต่หากเขาเป็นแพทย์ระบาดวิทยา คิดมาตรการป้องกันโรค คนอีกหลายพันจะไม่ต้องป่วย”

ระบาดวิทยาในโรงเรียนแพทย์ มีฐานะเพียงเครื่องมือ

ไม่เฉพาะความเสี่ยงในการทำงานและค่าตอบแทนที่ต่ำกว่าแพทย์สาขาอื่นหลายเท่าตัว การเรียนการสอนในโรงเรียนแพทย์เอง เน้นถึงความสำคัญของสาขาระบาดวิทยาในด้านการทำงานวิจัยศึกษามากกว่าการรักษา

นศพ.วาสิฏฐี บุญรัศมี นักศึกษาคณะแพทย์ศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เล่าถึงสาเหตุที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกศึกษาต่อแพทย์เฉพาทางในสาขาระบาดวิทยา เป็นเพราะไม่รู้ว่าเส้นทางอาฃีพของแพทย์ระบาดวิทยาต้องเจออะไรบ้าง ค่าตอบแทนเท่าไหร่ ที่สำคัญแพทย์สาขาระบาดวิทยาไม่ได้รักษาผู้ป่วย งานส่วนใหญ่คือวิจัยเกี่ยวกับโรคระบาดในพื้นที่และหามาตรการควบคุม

“นักศึกษาแพทย์ส่วนใหญ่อยากรักษาคนไข้ ไม่ได้อยากเป็นนักวิจัย หรือเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยสอนวิชาเกี่ยวกับระบาดวิทยา”

ขณะที่ นพ.พลเทพ วิจิตรคุณากร แพทย์ประจำโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา หนึ่งในแพทย์ที่สนใจเลือกศึกษาต่อเฉพาะทางสาขาระบาดวิทยา กล่าวถึงสาเหตุที่ตัดสินใจเลือกศึกษาต่อด้านนี้ ปัจจัยหนึ่งมาจากความชอบส่วนตัวที่สนใจเรื่องงานศึกษาวิจัยตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม อีกทั้งระบาดวิทยายังเป็นสาขาที่ยังขาดแคลนบุคลากร ตนจึงอยากเข้ามามีบทบาทในส่วนนี้

ขณะที่บทบาทของวิชาระบาดวิทยาในโรงเรียนแพทย์ นพ.พลเทพ มองว่า ยังมีฐานะเป็นเพียงเครื่องมือในการทำวิจัย กระจายอยู่ตามสาขาวิชาต่างๆ ไม่ได้ถูกรวบรวมไว้เป็นหมวดหมู่ เช่น วิชาสูตินารี อายุรกรรม รวมถึงตัวอย่างบุคลากรระบาดวิทยาในโรงเรียนแพทย์คืออาจารย์สอนการวิจัย ไม่ใช่แพทย์ที่ทำหน้าที่รักษาคนไข้

อีกทั้งปัจจัยสำคัญคือเป็นสาขาวิชาที่สร้างรายได้ให้กับแพทย์ได้น้อยมากหากเทียบกับสาขาวิชาอื่นๆ เพราะงานส่วนใหญ่เน้นหนักไปที่การศึกษาวิจัย ไม่ใช่งานบริการการรักษาเหมือนแพทย์ทั่วไป ทำให้นักศึกษาแพทย์ส่วนใหญ่มองว่าไม่ตอบสนองจุดมุ่งหมายในการเป็นแพทย์

“หากต้องการผลิตนักระบาดวิทยาเพิ่ม ควรเริ่มตั้งแต่การปรับทัศนคติของบุคลากรที่จะเข้าศึกษาต่อในสาขาแพทยศาสตร์ ว่า วิชาชีพแพทย์ไม่ใช่อาชีพที่ทำเงินได้มหาศาล เพราะในความเป็นจริงรายได้ส่วนใหญ่ของแพทย์มาจากการทำงานนอกเวลาและเปิดคลินิค” นพ.พลเทพ ว่าที่นักระบาดวิทยากล่าวทิ้งท้าย  

อ่าน 'จับตา': “อันดับเงินเดือนแพทย์สาขาต่างๆ”  
http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5457

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ 
www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: