ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (2548-2557) ถือเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีความผันผวนทางการเมืองเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะมีการรัฐประหารถึง 2 ครั้ง ซึ่งประเทศคู่ค้าคู่ลงทุนที่สำคัญของไทย 3 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น ต่างก็มีการแสดงท่าทีต่อการเมืองในประเทศไทยแตกต่างกันไป
TCIJ รวบรวมข้อมูลตัวเลขทางการค้าสำคัญได้แก่ ดุลการค้าย้อนหลัง 10 ปี (ใช้ข้อมูลสินค้าขาออกและสินค้าขาเข้าของกรมศุลการกร กระทรวงการคลัง ที่รวบรวมโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ) เงินลงทุนโดยตรงจากทั้ง 3 ประเทศ 10 ปีหลังสุด (ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย) และเงินลงทุนโดยตรงของไทยในทั้ง 3 ประเทศ 10 ปีหลังสุด (ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย) พบรายละเอียดดังต่อไปนี้
การค้าการลงทุน ‘ไทย-สหรัฐอเมริกา’
ในด้านดุลการค้าไทยกับสหรัฐฯ นั้น ข้อมูลจากกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง พบว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (2548-2557) ไทยได้ดุลการค้าสหรัฐฯ มาทุกปี โดยในปี 2549 ไทยได้ดุลการค้าสหรัฐฯ มากที่สุดคือ 414,115,016,000 บาท และปีที่ไทยได้ดุลการค้าสหรัฐฯ น้อยที่สุดคือปี 2556 ไทยได้ดุลการค้าสหรัฐฯ 246,850,526,000 บาท
ด้านเงินลงทุนโดยตรงจากสหรัฐฯ ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าในปี 2555 สหรัฐฯ ลงทุนในไทยสูงสุด 122,295.96 ล้านบาท ปี 2552 ลงทุนน้อยที่สุดเพียง 383.81 ล้านบาท ส่วนเงินลงทุนโดยตรงของไทยในสหรัฐฯ ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าในปี 2555 ไทยลงทุนในสหรัฐฯ สูงสุด 35,119.23 ล้านบาท และในปี 2550 ลงทุนน้อยที่สุดคือ 300.92 ล้านบาท
ตัวอย่างเหตุการณ์การเมืองในประเทศที่มีผลกระทบต่อการค้าขายของทั้งสองประเทศนั้น มีอาทิ เช่น ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2544-2549 มีความพยายามในการเปิดเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐอเมริกา (FTA ไทย-สหรัฐฯ) แต่อย่างไรก็ตาม การเจรจาดังกล่าวได้ยุติลงไป จากการยุบสภาและการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549
การค้าการลงทุน ‘ไทย-จีน’
ในด้านดุลการค้าไทยกับจีนนั้น พบว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมานั้น ไทยขาดดุลการค้าจีนทุกปี โดยในปี 2552 ไทยขาดดุลจีนน้อยที่สุดคือ 37,367,041,000 บาท ส่วนในปี 2557 ไทยขาดดุลจีนมากที่สุดคือ 445,090,703,000 บาท
ด้านเงินลงทุนโดยตรงจากจีน ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าในปี 2556 จีนลงทุนในไทยสูงสุดคือ 29,072.65 ล้านบาท ปี 2550 ลงทุนน้อยที่สุดเพียง 541.98 ล้านบาท ด้านเงินลงทุนโดยตรงของไทยในจีน ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าในปี 2552 ไทยลงทุนในจีน สูงสุด 23,693.77 ล้านบาท ส่วนในปี 2551 ลงทุนน้อยที่สุดคือ 162.90 ล้านบาท
ตัวอย่างเหตุการณ์การเมืองในประเทศที่มีผลกระทบต่อการค้าขายของทั้งสองประเทศนั้น อาทิเช่น หลังการรัฐประหารปี 2557 ที่ผ่านมาจีนพยายามเข้ามากระชับความสัมพันธ์ทางการค้ากับไทยให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เช่น การเดินทางมาเยือนไทยของกลุ่มสภาอุตสาหกรรม กลุ่มรัฐวิสาหกิจ นักธุรกิจ และคนของรัฐบาลจีน เพื่อเข้าพบกับคนของรัฐบาลไทย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมทั้งมีการส่งทีมที่ปรึกษา คสช. นายทหาร และรัฐมนตรี ไปเยือนจีน นอกจากนี้จีนยังมีความสนใจในการลงทุน – ให้เงินกู้ แก่โครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆ ของไทย เช่น โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง เป็นต้น
การค้าการลงทุน ‘ไทย-ญี่ปุ่น’
ในด้านดุลการค้าไทยกับญี่ปุ่นนั้น พบว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมานั้น ไทยขาดดุลการค้าญี่ปุ่นทุกปี โดยในปี 2552 ไทยขาดดุลญี่ปุ่นน้อยที่สุดคือ 324,225,717,000 บาท ส่วนในปี 2555 ไทยขาดดุลญี่ปุ่นมากที่สุดคือ 825,341,905,000 บาท
ด้านเงินลงทุนโดยตรงจากญี่ปุ่น ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าในปี 2556 ญี่ปุ่นลงทุนในไทยสูงสุดคือ 343,022.16 ล้านบาท ปี 2554 ลงทุนน้อยที่สุดเพียง 44,061.20 ล้านบาท ด้านเงินลงทุนโดยตรงของไทยในญี่ปุ่น ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าในปี 2555 ไทยลงทุนในญี่ปุ่น สูงสุด 27,042.74 ล้านบาท ส่วนในปี 2549 ลงทุนน้อยที่สุดคือ 115.17 ล้านบาท
ตัวอย่างเหตุการณ์การเมืองในประเทศที่มีผลกระทบต่อการค้าขายของทั้งสองประเทศนั้น มีอาทิเช่น ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement - JTEPA) ที่มีการริเริ่มในช่วงปี 2545 - 2546 และมีการเจรจาทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการมากกว่า 10 ครั้ง สามารถบรรลุผลการเจรจาอย่างสมบูรณ์หลังช่วงการรัฐประหารปี 2549 โดยรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหาร ก็ได้ลงนามความตกลง JTEPA นี้เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2550 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
อ่าน 'จับตา': “สินค้านำเข้าและส่งออก 10 อันดับแรกของไทย ปี 2557”
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5908
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ