ระยะนี้มีการกล่าวถึงเรื่องหนี้ครัวเรือน หนี้รัฐบาล และหนี้ต่างประเทศกันมาก อาจจะเป็นเพราะประเทศไทยของเรามาถึงจุดที่จะต้องลงทุนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการขนส่งทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ เพราะเหตุที่ประเทศของเราได้ว่างเว้นการลงทุนโครงการพื้นฐานมาเป็นเวลานาน จนเป็นเหตุให้ประเทศล้าหลังประเทศอื่น เช่น จีน เกาหลี ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง หรือแม้แต่อินโดนีเซีย
ประเทศไทยจึงเป็นประเทศที่เกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดมาตลอดตั้งแต่หลังเหตุการณ์ต้มยำกุ้ง ต่อเนื่องมาโดยตลอดเป็นเวลากว่า 17-18 ปีแล้ว จึงมีแรงกดดันให้มีการพูดถึงการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น การลงทุนในระบบราง การลงทุนในระบบการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ซึ่งจะต้องใช้เงินทุนจำนวนมหาศาล
การที่เราเกินดุลบัญชีเดินสะพัดทุกปี ก็แปลว่าประเทศของเรา ‘ออม’ มากกว่า ‘ลงทุน’ สะสมมาเรื่อยๆ หรือจะกล่าวว่าเราลงทุนน้อยเกินไป หรือ ‘underinvest’ มาตลอดเวลาก็ได้
ถ้าเปรียบเทียบกันระหว่างบริษัท 2 บริษัท ที่ผลการดำเนินงานมีกำไรเท่าๆ กัน บริษัทหนึ่งถือโอกาสนำกำไรไปลงทุนต่อ ขยายตลาดต่อ กับอีกบริษัทนำกำไรไปฝากธนาคารไว้เพื่อความมั่นคง ต่อมาอีก 10 ปี บริษัทที่นำเอากำไรไปลงทุนต่อก็จะมีกิจการใหญ่โต และถ้ารู้จักระมัดระวัง ไม่ลงทุนเกินตัวจนมีหนี้สินมากเกินไป ก็จะมีการเติบโตพร้อมๆ กับมีความมั่นคงด้วย ส่วนบริษัทที่นำกำไรไปฝากธนาคารเป็นเงินออมของบริษัท แม้จะมีความมั่นคงระดับหนึ่ง แต่ก็จะแคระแกร็นและอาจจะอยู่ไม่ได้ เพราะไม่สามารถแข่งขันกับบริษัทอื่นได้ ประเทศก็เช่นเดียวกัน ถ้าสามารถสร้างเงินออมได้ แต่ไม่รู้จักลงทุน อีกทั้งยังนำเงินออมของประเทศไปซื้อพันธบัตรของสหรัฐอเมริกาก็เท่ากับนำเอาเงินออมของตนไปให้อเมริกาใช้ชดเชยการลงทุนของเขา เราไม่ได้ประโยชน์อะไรนอกจากดอกเบี้ย ซึ่งขณะนี้ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์
การลงทุนโครงการใหญ่จึงเป็นของจำเป็น โดยรัฐบาลเป็นผู้ลงทุนจากการกู้ยืม ‘เงินบาท’ จากประชาชน ฉะนั้นจึงไม่มีอันตรายอะไรเลย เมื่อจะนำเข้าสินค้าหรือบริการก็นำเงินบาทไปซื้อเงินตราต่างประเทศในตลาดเงินหรือตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศได้ ไม่มีปัญหาอะไร ในกรณีที่รัฐบาลกู้เงินบาทครัวเรือนก็เป็นเจ้าหนี้
สำหรับหนี้ของรัฐบาลและภาครัฐที่เป็นหนี้ภายในประเทศควรจะเกินเท่าใดจึงจะไม่เป็นอันตรายต่อฐานะการเงินการคลังของประเทศนั้น ไม่มีสูตรแน่นอนตายตัว แต่มักจะวัดกันว่ามีสัดส่วนเท่าใดของรายได้ประชาชาติบ้าง เช่น เราตั้งเพดานไว้ว่าไม่ควรเกิน 60 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติ แต่แม้จะเกินก็ไม่เป็นไร มีหลายประเทศที่หนี้สาธารณะมีจำนวนสูงกว่ารายได้ประชาชาติก็มีมาก เช่น ญี่ปุ่นมีสูงกว่า 250 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติ เป็นต้น
ที่สำคัญก็คือ ‘ภาระการชำระหนี้’ ทั้งที่เป็นเงินต้นและดอกเบี้ย เรากำหนดไว้ใน พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณว่าไม่ให้เกินร้อยละ 25 ของงบประมาณรายจ่าย มีบางช่วงหลังวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่ 2 รายได้จากภาษีอากรไม่เข้าเป้า ก็มีการแปลงหนี้โดยการกู้หนี้ใหม่มาใช้หนี้เก่า เพื่อยืดอายุการชำระหนี้ออกไปก็มี เป็นเรื่องที่จัดการได้
หนี้ของรัฐบาลและของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งหนี้ของบริษัทห้างร้านต่างๆ ที่เป็นเงินบาท ในแง่มหภาคหรือเศรษฐกิจของประเทศโดยส่วนรวมจึงเป็นหนี้ของตัวเอง กล่าวคือ ลูกหนี้และเจ้าหนี้ต่างก็เป็นคนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจอันเดียวกัน ดอกเบี้ยที่ลูกหนี้จ่ายก็เป็นรายได้ของเจ้าหนี้ รวมแล้วรายได้ของคนในระบบมีเท่าเดิม
สำหรับหนี้ของครัวเรือนที่มีการพูดถึงกันมากว่า จะเป็นอันตรายต่อระบบการเงินและเสถียรภาพของครอบครัว โดยมีการรายงานหนี้ของครัวเรือนว่ามีเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้แล้ว รายงานหนี้ของครัวเรือน น่าจะแฝงอคติเข้าไปด้วยว่าการเป็นหนี้ของครัวเรือนเป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นสิ่งที่ชั่วร้าย
ขณะเดียวกันกับความวิตกว่าหนี้ของครัวเรือนหรือหนี้ส่วนบุคคลมีจำนวนสูงขึ้น ก็มีอีกฝ่ายหนึ่งชี้ให้เห็นว่าช่องว่างระหว่างรายได้ของบุคคลหรือครัวเรือนนั้น เป็นเพราะคนในระดับ ‘รากหญ้า’ ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้
เนื่องจากเงินทุนเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต นอกเหนือไปจากแรงงานในประเทศด้อยพัฒนาหรือประเทศกำลังพัฒนา
ที่ค่าตอบแทนต่อแรงงานมักจะต่ำ เพราะปริมาณแรงงานมีมากเมื่อเทียบกับความต้องการ ขณะเดียวกันค่าตอบแทนต่อเงินทุนมีสูง เพราะเงินทุนมีจำกัดเมื่อเทียบกับความต้องการ การเข้าถึงเงินทุนอย่างทั่วถึงเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะทำให้คนในระดับรากหญ้าสามารถเปลี่ยนอาชีพจากผู้ใช้แรงงานมาเป็นผู้ประกอบการรายย่อยได้ เป็นผู้ประกอบการที่สามารถใช้เงินทุนให้ได้ผลตอบแทนในอัตราที่สูงกว่า ‘ดอกเบี้ย’ และในขณะเดียวกันกับหนี้สินในระบบที่อัตราดอกเบี้ยไม่สูง ย่อมจะทำให้ครัวเรือนสามารถสร้างทรัพย์ของครัวเรือนได้
ด้วยเหตุที่ธนาคารพาณิชย์ไม่อาจจะสนองตอบต่อความต้องการของครัวเรือนระดับล่างในการให้กู้ยืมเพื่อการผลิตในระดับครัวเรือนได้ จึงเป็นหน้าที่ของ ‘รัฐ’ ที่จะจัดตั้งสถาบันการเงินภาครัฐ เช่น ธ.ก.ส.ก็ดี ธนาคารออมสินก็ดี ธนาคารอาคารสงเคราะห์ก็ดี หรือแม้แต่ธนาคารเพื่อวิสาหกิจขนาดย่อม เพื่อทำหน้าที่จัดระดมเงินฝากจากครัวเรือนรายย่อยและจัดหาสินเชื่อให้กับครัวเรือนในกรณีที่ตลาดการเงินไม่ทำงาน
คนชั้นสูงมักจะมองว่าคนชั้นล่างไม่ควรเป็นหนี้เพื่อซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องไฟฟ้าในครัวเรือน และอื่นๆ โดยลืมไปว่าสิ่งของอย่างเดียวกันที่คนระดับล่างซื้อหามาใช้ในครัวเรือนมิใช่เป็นสินค้าเพื่อการบริโภคอย่างเดียว แต่มีลักษณะเป็นสินค้าทุนด้วย เช่น ยานพาหนะที่ใช้ในการประกอบอาชีพเพื่อการขนส่ง โทรศัพท์มือถือก็ใช้ในการประกอบอาชีพ รวมทั้งเครื่องใช้ไม้สอยในครัวเรือนก็อาจจะเป็นเครื่องผ่อนแรง ที่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า ค่าแรงงานที่เขาสามารถทำมาหาได้ ความจริงแล้วส่วนใหญ่ต่างก็เป็น ‘สัตว์เศรษฐกิจ’ ทั้งนั้น
การรายงานตัวเลขหนี้สินของครัวเรือนอย่างเดียวโดยไม่ได้ดูทางด้านทรัพย์สินและรายได้ของครัวเรือน จึงเป็นการมองที่ผิวเผินและอาจจะนำไปสู่การดำเนินนโยบายที่ผิดๆ ด้วย ถ้าเปรียบเทียบหนี้ของครัวเรือนของไทยน่าจะมีอัตราสูงกว่าหนี้ของครัวเรือนในพม่าหรือประเทศอินโดจีน แต่ไม่ได้หมายความว่า เสถียรภาพทางการเงินของครัวเรือนในพม่า ในเวียดนามหรือประเทศอื่นจะดีกว่าเสถียรภาพทางการเงินของครัวเรือนในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม น่าจะมีครัวเรือนบางแห่งที่สมาชิกในครัวเรือนไม่รับผิดชอบ ติดยาเสพติด ติดสุรายาเมา เมื่อถึงเวลาชำระหนี้ก็ผิดนัด กลายเป็นหนี้เสีย แต่น่าจะเป็นส่วนน้อย ในที่สุดกลุ่มคนส่วนนี้ก็อาจจะลงไปพึ่งเงินกู้นอกระบบ ที่มีอัตราดอกเบี้ยแพงและเป็นข่าว ซึ่งน่าจะเป็นคนกลุ่มน้อย แต่ก็เป็นหน้าที่ที่รัฐจะต้องยื่นมือเข้ามาป้องกันการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเหล่านั้น
สังคมที่พัฒนาแล้วเช่นสหรัฐอเมริกาและยุโรป ประชาชนเริ่มต้นชีวิตและครอบครัวโดยการเป็นหนี้ก่อน เพราะในช่วงอายุยังน้อยรายได้ยังต่ำ การเป็นหนี้คือการดึงเอารายได้ในอนาคตมาใช้ก่อน โดยเริ่มจากการกู้ยืมเพื่อการศึกษา ซื้อยานพาหนะ บ้านและที่ดิน แล้วก็ค่อยๆ ผ่อนส่งไปจนถึงเวลาเกษียณอายุ ความเสี่ยงย่อมเป็นความเสี่ยงของเจ้าหนี้ หรือสถาบันการเงินที่ให้กู้ยืมด้วย ไม่ใช่ของครัวเรือนเท่านั้น ส่วนลูกหลานจบการศึกษาแล้วหาเอาเอง
แต่ค่านิยมของพวกเราชาวตะวันออกมิได้เป็นเช่นนั้น พ่อแม่จึงต้องออมไว้เป็นมรดกสำหรับลูกหลาน
คิดไม่เหมือนกัน ระบบภาษีก็ไม่ควรเหมือนกัน
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ