ครบปีรัฐประหารเปิดรายงาน 364 วันหลังประหาร ประมวลสถานการณ์เสรีภาพในการแสดงออก พบบุคคลอย่างน้อย 751 คน ถูกคสช. เรียกรายงานตัวด้วยวิธีการต่างๆ 46 คน ถูกตั้งข้อหา ม.112
23 พ.ค. 2558 เว็บไซต์iLaw รายงานเมื่อวันที่ 22 พ.ค ที่ผ่านมา เนื่องในวันครอบรอบ 1 ปี การรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ทางศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โดย iLaw ซึ่งได้ติดตามและเก็บข้อมูลการบังคับใช้กฎหมายและอำนาจการปกครองของ คสช. มาโดยตลอด จึงจัดทำรายงาน "364 วันหลังประหาร ประมวลสถานการณ์เสรีภาพในการแสดงออก" รายละเอียดสรุปได้ ดังนี้ (ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก เว็บไซต์iLaw)
สถิติการเรียกบุคคลไปรายงานตัวหลังการรัฐประหาร
นับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ถึง 21 พฤษภาคม 2558 บุคคลอย่างน้อย 751 คน ถูกคสช. เรียกรายงานตัวด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งประกาศเรียกอย่างเป็นทางการผ่านวิทยุและโทรทัศน์ และการเรียกเข้ารายงานตัวอย่างไม่เป็นทางการ การโทรศัพท์มาเชิญไปรับประทานอาหารหรือกาแฟ และการส่งทหารไปเชิญที่บ้าน
หากจำแนกประเภทของบุคคลจะพบว่า
- ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทยและกลุ่มคนเสื้อแดงถูกเรียกตัว อย่างน้อย 278 คน
- ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่ม กปปส. และกลุ่มคปท. ถูกเรียก อย่างน้อย 41คน
- นักวิชาการ นักกิจกรรม นักศึกษา นักเขียน และสื่อมวลชน ถูกเรียก อย่างน้อย 176 คน
ในจำนวนนี้ มีอย่างน้อย 22 คน ถูกตั้งข้อกล่าวหาหลังเข้ารายงานตัว ซึ่ง 6 คน ถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ดูเหมือนว่า การเรียกบุคคลรายงานตัว นอกจากจะเป็นเครื่องมือที่ใช้ "ปรับความเข้าใจ" หรือสร้างเงื่อนไขไม่ให้กลุ่มคนที่เห็นต่างจากคสช.เคลื่อนไหวทางการเมืองแล้ว ยังถูกใช้เป็นทางลัดในการตามตัวบุคคลมาดำเนินคดีอีกด้วย
สถิติคดี 112 หลังการรัฐประหาร
ในช่วงเวลา 364 วัน หลังการรัฐประหาร มีการตั้งข้อหาบุคคลตามมาตรา 112 จากการแสดงออก อย่างน้อย 46 คน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบกับบรรยากาศก่อนการรัฐประหารที่มีนักโทษ 112 อยู่ในเรือนจำ 5 คน และมีคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาอยู่อีก 5 คดี
การดำเนินคดีพลเรือนในความผิดตามมาตรา 112 โดยศาลทหาร
- หลังการรัฐประหาร มีการประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีพลเรือนบางประเภท รวมทั้งคดี 112 จากกาเก็บข้อมูลพบว่า ศาลทหารมีคำพิพากษาคดี 112 ที่เกิดจากการแสดงความคิดเห็นออกมาแล้วอย่างน้อย 4 คดี
นอกจากนี้ ยังมีการจับกุมและดำเนินคดี คนป่วยทางจิตด้วย โดยมีผู้ต้องหาตามมาตรา 112 อย่างน้อย 3 คนที่ถูกจับกุมหลังการรัฐประหารและถูกส่งไปตรวจอาการทางจิต แต่ยังคงถูกคุมขังและดำเนินคดี คือ "ธเนศ", สมัคร และประจักษ์ชัย กรณีของ "ธเนศ" และ ประจักษ์ชัย นั้นมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเคยพบตัวและพูดคุยแล้วแต่ตัดสินใจไม่จับกุมเพราะสังเกตเห็นอาการไม่ปกติจากการพูดคุย แต่มาถูกจับกุมและดำเนินคดีอีกครั้งในยุคหลังการรัฐประหาร
การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมและการจัดกิจกรรมสาธารณะหลังการรัฐประหาร
จากการเก็บข้อมูล พบว่า นับจากการรัฐประหาร มีการปิดกั้น แทรกแซง การชุมนุมและการจัดกิจกรรมสาธารณะอย่างน้อย 71 ครั้ง แบ่งเป็นชุมนุมสาธารณะ 22 ครั้ง และเวทีเสวนาวิชาการและกิจกรรมสาธารณะอื่นๆ 49 ครั้ง ประเด็นที่ถูกปิดกั้นหรือแทรกแซงมากที่สุด ได้แก่ ประเด็นประวัติศาสตร์และการเมือง 33 ครั้ง รองลงมาเป็นเรื่องที่ดินและสิทธิชุมชน 12 ครั้ง
การใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ดำเนินคดีกับชาวบ้านที่เผยแพร่รูปภาพของทหารที่มีข้อพิพาทกับชาวบ้าน
จากการเก็บข้อมูลพบว่า มีอย่างน้อย 3 กรณีที่เจ้าหน้าที่เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษและแจ้งข้อหาความผิตาม พ.ร.บ.คอมฯ
- กรณีชาวลาหู่ ถูกดำเนินคดีแจ้งความดำเนินคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หลังโพสต์วิดีโอคลิปการเจรจาระหว่างชาวบ้านกับทหาร ซึ่งในวิดีโอ มีการกล่าวหาว่าทหารตบหน้าชาวบ้าน
- กรณีผู้ดูแลเพจเฟซบุ๊กกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล-ดูนสาด ที่เคลื่อนไหวคัดค้านโครงการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียม ถูกสารวัตรกำนันที่ ต.ดูนสาด อ.กระนวน จ.ขอนแก่น เข้าแจ้งความร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาท และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เนื่องจากมีการโพสต์รูปถ่ายสารวัตรกำนันลงในเพจเฟซบุ๊กดังกล่าว และมีผู้ใช้เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นที่อาจเข้าข่ายดูหมิ่นใส่ความผู้เสียหาย
- กรณีลูกจ้างของหน่วยควบคุมไฟป่า ถ่ายภาพทหารที่เข้าไปยังที่ทำกินของชาวบ้านคำน้อย จ.ชัยภูมิ และภาพดังกล่าวถูกนำไปโพสต์ในเพจเฟซบุ๊กสมัชชาคนจน พร้อมแถลงการณ์ระบุว่า เจ้าหน้าที่บังคับให้ชาวบ้านเซ็นชื่อในเอกสารยินยอมคืนพื้นที่ โดยเจ้าตัวยอมรับว่าเป็นผู้ถ่ายภาพจริง แต่ไม่ได้เป็นผู้โพสต์ แต่ก็ถูกพาตัวไปที่สภ.เมืองชัยภูมิ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ