ชาวบ้าน จ.ร้อยเอ็ด ร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรม ระบุไปกู้เงินกองทุนหมู่บ้านแล้วกรรมการบอกเงินหมด ขณะที่ตัวแทนจากหลายอำเภอร้องถูกหักหัวคิว ณ ที่จ่าย เตรียมร้องเรียนนายก (ที่มาภาพข่าว: ไทยรัฐออนไลน์)
23 ก.ย. 2558 ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่าตามที่คณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของผู้มีรายได้น้อย 3 มาตรการ ได้แก่ 1. มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับหมู่บ้าน วงเงิน 60,000 ล้านบาท 2.มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล วงเงิน 36,275 ล้านบาท และ 3.มาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ วงเงิน 40,000 ล้านบาท รวมวงเงิน 136,275 ล้านบาท เพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนในระดับชุมชนและกระจายความเจริญเติบโตไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับหมู่บ้านเป็นหนึ่งในมาตรการดังกล่าว ผ่านโครงการสนับสนุนสินเชื่อกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จำนวน 60,000 ล้านบาท แยกเป็น ธนาคาร ธ.ก.ส.จำนวน 30,000 ล้านบาท และธนาคารออมสิน จำนวน 30,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ที่ จ.ร้อยเอ็ด 20 อำเภอ ธ.ก.ส. มีเป้าหมายอำนวยสินเชื่อให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง 1,049 กองทุน วงเงิน 1,049 ล้านบาท ให้คณะกรรมการกองทุนแต่ละหมู่บ้านดำเนินการให้เสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย.นี้นั้น
โดยเมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่ศาลากลาง จ.ร้อยเอ็ด นายพิพัฒน์ สิงคกุล หัวหน้างานศูนย์ดำรงธรรม ได้รับหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากผู้แทนชาวบ้านหลายหมู่บ้านในหลายอำเภอ กรณีกรรมการกองทุนหมู่บ้านเลือกปฏิบัติ ให้ชาวบ้านกู้เงินสินเชื่อตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาล
นายคำนวณ ชำนิกุล อายุ 34 ปี ชาว อ.เสลภูมิ บอกกับหัวหน้างานศูนย์ดำรงธรรม จ.ร้อยเอ็ด ว่าถูกกรรมการพิจารณาให้กู้เงินประจำหมู่บ้าน หักเงินร้อยละ 5 จากเงินที่ให้ชาวบ้านกู้แต่ละคน ซึ่งมีจำนวนมากน้อยแตกต่างกัน โดยกรรมการอ้างว่า เงินที่หักไปนั้น นำไปใช้เพื่อจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ สำหรับมาทำเอกสารหลักฐานเงินกู้ ซึ่งก่อนหน้านั้นตนได้โทรศัพท์ไปหารือกับเจ้าหน้าที่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติแล้วว่า ตามระเบียบของโครงการส่งเสริมความเป็นอยู่ของผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาลปัจจุบัน ไม่ได้กำหนดให้หักเงินจากเงินที่ชาวบ้านกู้เลย
ขณะที่นางดวง ลาวัลย์ อายุ 40 ปี ชาว อ.เชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด ได้บอกกับนายพิพัฒน์ สิงคกุล หัวหน้างานศูนย์ดำรงธรรม จ.ร้อยเอ็ด ว่า ที่หมู่บ้านของตน คณะกรรมการพิจารณาให้กู้เงิน ได้หักเงินจากผู้กู้รายละ 1,040 บาท ทันทีที่ได้รับเงินกู้ บอกว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการทำงาน กรรมการบางคนบอกว่าเป็นดอกเบี้ยล่วงหน้า ตนจึงสงสัยว่า เป็นอย่างนั้นจริงหรือ เพราะรัฐบาลประกาศแล้วว่า เงินสินเชื่อที่ชาวบ้านกู้ไป ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยใน 2 ปี แรก แต่ปีที่ 3 ถึงปีที่ 7 ต้องจ่ายดอกเบี้ย โดยคิดในอัตราผ่อนปรน จึงขอให้ผู้มีอำนาจไปตรวจสอบความโปร่งใสของคณะกรรมการฯโดยด่วนด้วย
ขณะเดียวกันมี นางแป แก้วปัญญา อายุ 69 ปี ชาว อ.เชียงขวัญ ได้จัดพานดอกไม้ ไปวางที่บันไดทางขึ้นไปศูนย์ดำรงธรรมศาลากลาง จ.ร้อยเอ็ด แล้วประนมมือ กราบวิงวอนให้ศูนย์ดำรงธรรม พิจารณาให้การช่วยเหลือได้กู้เงินสินเชื่อจากกองทุนหมู่บ้านด้วย เพราะก่อนหน้านี้ได้ไปขอกู้ แต่คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านบอกว่า ไม่ให้กู้ โดยอ้างว่าเงินให้กู้หมดแล้ว ทั้งที่ตนเป็นสมาชิกและมีเงินออมอยู่ในกองทุนหมู่บ้าน แต่ไม่เคยรู้เลยว่า เขาเปิดให้กู้กันเมื่อใด จึงทำให้มีความเข้าใจว่า คนรวยอยู่ก่อนแล้วจึงได้กู้ ส่วนคนจนไม่มีสิทธิกู้
นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนชาวบ้านบอกด้วยว่า ก่อนหน้านี้มีกรรมการบางคนที่ทราบว่า ชาวบ้านจะพากันเข้าไปร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ได้ไปพูดข่มขู่ชาวบ้านหลายอย่าง พร้อมห้ามเดินทางเข้ามาร้องเรียน อย่างไรก็ตาม ตัวแทนชาวบ้านบอกว่า ถ้าหากศูนย์ดำรงธรรม จ.ร้อยเอ็ด ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ชาวบ้านจะพากันเดินทางเข้ากทม. เพื่อร้องขอความเป็นธรรมจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต่อไป
ด้านนายพิพัฒน์ สิงคกุล หัวหน้างานศูนย์ดำรงธรรม ได้มารับหนังสือร้องขอความเป็นธรรมพร้อมกล่าวว่า การที่ชาวบ้านเข้าร้องขอความเป็นธรรมในครั้งนี้ นับว่าเป็นกรณีตัวอย่าง ที่ต้องรีบแก้ปัญหาโดยด่วน และรัฐบาลได้ให้นายอำเภอเป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาแก้ปัญหาในเบื้องต้น ดังนั้น ตนจะรีบทำหนังสือราชการด่วนที่สุด เสนอให้นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ร้อยเอ็ด พิจารณาลงนาม เพื่อส่งเวียนให้นายอำเภอทุกอำเภอใน จ.ร้อยเอ็ด ได้ทราบและถือเป็นแนวทางปฏิบัติในเรื่องนี้โดยด่วน ซึ่งผู้แทนชาวบ้านพอใจในคำชี้แจงของหัวหน้างานศูนย์ดำรงธรรม จ.ร้อยเอ็ด และพากันสลายตัวเมื่อเวลา 11.45 น. วันเดียวกัน
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ