นักวิจัยพบสุนัขอาจมีถิ่นกำเนิดในเอเชียกลางเมื่อ 1.5 หมื่นปีก่อน

ภาคิน นิมมานนรวงศ์ 23 ต.ค. 2558 | อ่านแล้ว 3162 ครั้ง


	นักวิจัยพบสุนัขอาจมีถิ่นกำเนิดในเอเชียกลางเมื่อ 1.5 หมื่นปีก่อน

งานวิจัยเผย ต้นกำเนิดสุนัขอาจมีถิ่นกำเนิดจากทวีปเอเชียกลาง วิวัฒนาการมาจากหมาป่ายูเรเชียเมื่อ 15,000 ปีที่แล้ว 

23 ต.ค.58 ผู้สื่อข่าวอ้างรายงานจากเว็บไซต์ iflscience ระบุว่า สุนัข หรือชื่อวิทยาศาสตร์คือ Canis lupus familiaris เป็นสัตว์เลี้ยงชนิดแรกๆ ของมนุษย์ นักชีววิทยาและนักโบราณคดีต่างยอมรับตรงกันว่าสุนัขวิวัฒนาการมาจากหมาป่ายูเรเชีย (Canis lupus lupus) เมื่อราว 15,000 ปีที่แล้วเป็นอย่างน้อย อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาและถิ่นกำเนิดที่แน่นอนของสุนัขยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในทุกวันนี้

ล่าสุด ทีมนักวิจัยนานาชาติ นำโดยลอรา แชนนอน (Laura Shannon) และอดัม บอยโค (Adam Boyko) นักวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยคอร์แนล ได้ศึกษาข้อมูลด้านพันธุกรรมของสุนัขพันธุ์แท้ พันธุ์ผสม และพันทางกว่า 5,392 ตัวจาก 38 ประเทศทั่วโลก พบหลักฐานที่ทำให้เชื่อได้ว่าสุนัขอาจมีถิ่นกำเนิดในเอเชียกลาง บริเวณประเทศเนปาลและมองโกเลียในปัจจุบัน[1]

ผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences แสดงให้เห็นว่า สุนัขในปัจจุบันน่าจะมีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สุนัขมีความหลากหลายทางพันธุกรรมสูงที่สุด ขณะที่สุนัขในพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งจากเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันตกเฉียงใต้ อินเดีย รวมถึงอียิปต์ ต่างมีความหลากหลายทางพันธุกรรมสูงไล่เลี่ยกัน

ทีมวิจัยยังพบว่า สุนัขสายพันธุ์จากแปซิฟิกใต้และแถบป่าเขตร้อนบริเวณลุ่มน้ำอเมซอนแทบทั้งหมดสืบเชื้อสายมาจากสุนัขพันธุ์ยุโรป แม้จะมีสุนัขอาศัยในบริเวณดังกล่าวมาก่อนหน้าที่คนและสุนัขจากยุโรปจะเดินทางมาถึงแล้วก็ตาม ขณะที่สุนัขสายพันธุ์อื่น โดยเฉพาะจากแอฟริกา เป็นพันธุ์ผสมระหว่างสุนัขพันธุ์พื้นเมืองกับสุนัขพันธุ์ยุโรปเป็นหลัก

บอยโคบอกว่า สุนัขในปัจจุบันแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ หนึ่งคือสุนัขพันธุ์แท้และพันธุ์ผสมซึ่งมีความหลากหลายทางพันธุกรรมน้อยเนื่องจากได้รับการคัดสรรโดยมนุษย์เมื่อราว 2-3 ศตวรรษที่แล้ว กับสองคือสุนัขพันทางซึ่งผสมกันหลากหลายสายพันธุ์มาเป็นเวลายาวนานและมีจำนวนประชากรมากกว่าสุนัขกลุ่มแรก ดังนั้น ความหลากหลายทางพันธุกรรมของสุนัขจึงช่วยให้เราคาดการณ์ได้ว่าถิ่นกำเนิดแรกๆ ของพวกมันอยู่ที่ใด

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าการเลี้ยงหมาป่ายูเรเชียก่อนที่พวกมันจะแยกสายพันธุ์กลายเป็นสุนัขเช่นปัจจุบันนั้นมีวิธีการอย่างไรและเกิดขึ้นด้วยเหตุผลใด

ทฤษฎีหนึ่งที่เชื่อกันคือมนุษย์และหมาป่ายูเรเชียต่างใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในทุ่งหญ้าแถบเอเชียกลางเมื่อราว 15,000 ปีก่อน ก่อนที่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือไม่ก็พัฒนาการทางเทคโนโลยีในการล่าสัตว์ของมนุษย์จะทำให้เหยื่อตามธรรมชาติของหมาป่าลดจำนวนลงและบีบให้พวกมันต้องหันมากินซากสัตว์ที่เหลือจากมนุษย์แทน ความเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมดังกล่าวทำให้ท้ายที่สุดพวกมันต้องหันมาพึ่งพิงมนุษย์มากขึ้นจนนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในระดับพันธุกรรม

บอยโคย้ำว่า ตอนนี้เรายังสรุปไม่ได้ทันทีว่าสุนัขทั้งหมดมีถิ่นกำเนิดจากเอเชียกลางร้อยเปอร์เซนต์ และไม่แน่ว่าการเลี้ยงหมาป่ายูเรเชียจนกลายเป็นสุนัขอาจเกิดขึ้นในภูมิภาคอื่นๆ และสุนัขเหล่านั้นอาจย้ายถิ่นเข้ามายังเอเชียกลางแล้วค่อยๆ แพร่พันธุ์ต่อไปก็เป็นไปได้

 


[1] เรียงเรียงจาก Janet Fang, “Dogs May Have Originated In Central Asia,” IFLScience, October 19, 2015 http://www.iflscience.com/plants-and-animals/dogs-were-domesticated-central-asia.; Grennan Milliken, “The First Dog May Have Been Domesticated in Central Asia,” Popular Science, October 19, 2015 http://www.popsci.com/dogs-may-have-been-first-domesticated-in-central-asia

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: