กรมควบคุมมลพิษ เตรียมรวบรวมข้อคิดเห็น ปรับปรุงร่างมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทการเลี้ยงสุกร โดยเพิ่มความเข้มงวดการกำหนดค่ามาตรฐานมากกว่าเดิม หลังสำรวจและเก็บตัวอย่างน้ำทิ้งพื้นที่เลี้ยงสุกรหนาแน่นระหว่างปี 2556 - 2557 จำนวน 401 ฟาร์ม พบไม่ผ่านมาตรฐาน 293 ฟาร์ม (ที่มาภาพประกอบ: indymedia.org.nz)
24 ส.ค. 2558 สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยรายงานว่านายวิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวเมื่อวันที่ 21 ส.ค. ที่ผ่านมาว่ากรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้ง จากแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทการเลี้ยงสุกร ภาคประชาชน ผู้ประกอบการเลี้ยงสุกร เครือข่ายและสมาคมผู้เลี้ยง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 4 ครั้ง ใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับ (ร่าง)การปรับปรุงมาตรฐานฯ และมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เช่น เพิ่มวิธีการตรวจวิเคราะห์ค่าบีโอดี เพิ่มการกำหนดค่าโคลิฟอร์มแบคทีเรีย เพิ่มความเข้มงวดการกำหนดค่ามาตรฐานให้เข้มงวดมากกว่าเดิม เพิ่มการกำหนดแบบแปลนชนิดระบบบำบัดน้ำเสียแนบท้ายประกาศมาตรฐานฯ และขอให้ คพ. เร่งจัดทำแนวทางการนำน้ำเสียจากการเลี้ยงสุกรไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่การเกษตร โดยไม่ขัดต่อกฏหมาย ซึ่งข้อมูลที่ได้รับทั้งหมด จะนำมาทบทวนและปรับปรุงค่ามาตรฐานฯ ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีมากขึ้น จากนั้น จะเสนอคณะอนุกรรมการประสานการจัดการสิ่งแวดล้อมจากการเกษตร และคณะกรรมการควบคุมมลพิษพิจารณาต่อไป
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวด้วยว่า ปัญหาคุณภาพน้ำ โดยเฉพาะการแพร่กระจายของสาหร่ายในแหล่งน้ำ มีผลให้คุณภาพน้ำขาดออกซิเจนอย่างเฉียบพลัน ทำให้สิ่งมีชีวิตในน้ำตาย และคุณภาพน้ำเน่าเสีย สาเหตุมาจากการเลี้ยงสุกรที่ปล่อยน้ำเสียของการล้างคอกที่ปนเปื้อนมูลสุกร และมีปริมาณสารอินทรีย์สูง จากการสำรวจและเก็บตัวอย่างน้ำทิ้งพื้นที่เลี้ยงสุกรหนาแน่น คือ จังหวัดนครปฐม ฉะเชิงเทรา ราชบุรี ลพบุรี เชียงใหม่ สุพรรณบุรี นครราชสีมา ชลบุรี นครศรีธรรมราช และพัทลุง ระหว่างปี 2556-2557 จำนวน 401 ฟาร์ม พบว่า ผลการวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ มีน้ำทิ้งผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 109 ฟาร์ม ส่วนอีก 293 ฟาร์ม ไม่ผ่านมาตรฐาน
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ