รีไซเคิล 'ถุงยางอนามัย' ยันถุงมือแพทย์ หวั่นจะเป็นถุงยางใช้แล้วเพื่อลดต้นทุน

พิมพ์กมล พิจิตรศิริ : TCIJ School รุ่นที่ 2 24 ก.ค. 2558 | อ่านแล้ว 11989 ครั้ง

ผู้ผลิตสินค้าจากถุงยางอนามัยรีไซเคิล ยืนยันไม่ใช่ของใช้แล้ว เผยไทยครองแชมป์ส่งออกถุงยาง ชี้ถุงยางรีไซเคิลมีคุณภาพ ช่วยลดต้นทุน แพทย์ย้ำไม่อันตรายแต่ควรตรวจสอบคุณภาพและอายุผลิต ก่อนใช้ (ที่มาภาพประกอบ: bulbbeat.com)

หากยังจำกันได้ถึงกรณีเผาถุงยางอนามัยกลางแจ้งจำนวนกว่าสองตันที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา แม้จะเป็นหนึ่งในกรรมวิธีเตรียมถุงยางเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนรีไซเคิล  ทว่า ทัศนคติสังคมต่อถุงยางอนามัย ยังมองเป็นสิ่งน่งรังเกียจ นำมาสู่คำถามที่ว่า ถุงยางจำนวนกว่า 2 ตันเหล่านี้จะถูกแปรรูปเป็นสินค้าประเภทใด กระบวนการรีไซเคิลนั้นจะสามารถสร้างความมั่นใจในสินค้าต่อผู้บริโภคได้หรือไม่ และประเทศไทยผลิตถุงยางอนามัยได้มากเท่าไร จึงเหลือทิ้งให้นำกลับมาผลิตใหม่

ไทยครองแชมป์ส่งออก ‘ถุงยาง’

ข้อมูลจากเครือข่ายพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา กระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า ถุงยางอนามัยถือเป็นอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากน้ำยางที่สำคัญอุตสาหกรรมหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกถุงยางอนามัยมากที่สุดในโลกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 โดยในปี พ.ศ. 2547 ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มขึ้นเกือบเป็น 2 เท่าในปี พ.ศ. 2552 คือ 72 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มขึ้นเกือบเป็น 4 เท่าในปี พ.ศ. 2556 ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก139.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีส่วนแบ่งตลาดโลกร้อยละ 23.81 ส่วนตลาดนำเข้าถุงยางอนามัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้แก่ ประเทศจีน โดยในปี พ.ศ. 2556 มีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 133.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2555 ถึงร้อยละ 175.25 โดยมีส่วนแบ่งตลาดโลกอยู่ที่ร้อยละ 23.04

โดยในกระบวนการผลิตถุงยางอนามัยจะมีการตรวจสอบคุณภาพ ได้แก่ การตรวจสอบความยาว ความกว้าง ความหนา การทดสอบความยืดหยุ่นและการทดสอบปริมาตรและความดันขณะแตก การทดสอบเสถียรภาพและอายุการใช้งาน การตรวจสอบหารูรั่ว และข้อบกพร่องอื่นๆ  ก่อนที่จะนำถุงยางอนามัยมาบรรจุกล่องในขั้นตอนสุดท้าย หากพบสิ่งผิดปกติที่ไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐาน ถุงยางอนามัยชิ้นนั้นจะถูกแยกออกเพื่อคัดทิ้งต่อไป

จีน จุดรองรับถุงยางคัดทิ้ง

ดร. สมไทย วงษ์เจริญ ประธานบริษัท วงษ์พาณิชย์ จำกัด ธุรกิจรับซื้อ-ขายขยะรีไซเคิลที่มีเครือข่ายกว่า 200 รายทั่วประเทศ เปิดเผยว่า ในประเทศไทยมีการนำถุงยางอนามัยมารีไซเคิลเพื่อผลิตสินค้าอื่นๆ จริง โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ถุงยางอนามัยหมดอายุและถุงยางอนามัยไม่ผ่านมาตรฐานการตรวจสอบคุณภาพ ซึ่งการนำถุงยางอนามัยมารีไซเคิลไม่ได้มีเพียงประเทศไทยเท่านั้น แต่ในต่างประเทศอย่างประเทศจีนก็มีการนำถุงยางอนามัยมารีไซเคิลเพื่อผลิตสินค้าเช่นกัน โดยส่วนหนึ่งได้นำเข้าถุงยางอนามัยที่ถูกคัดทิ้งจากไทยอีกด้วย

“วงษ์พาณิชย์ไม่ได้รับซื้อถุงยางอนามัยจากการโละทิ้งโดยตรง แต่จะมีลูกค้า นั่นคือโรงงานอุตสาหกรรมถุงยางอนามัย ผ้าอนามัย ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ที่จะเตรียมสินค้าที่เสื่อมคุณภาพและไม่ผ่านมาตรฐานการควบคุมคุณภาพสินค้ามาส่งให้ทางวงษ์พาณิชย์ แล้ววงษ์พาณิชย์จะส่งต่อให้เมืองจีน  เพราะที่ทราบมาไม่มีบริษัทไหนที่จะรับซื้อ-ขายถุงยางอนามัยจากโรงงานอุตสาหกรรมได้เท่ากับวงษ์พาณิชย์และแฟรนไชส์ อีกทั้งเมืองจีนจะรับซื้อสินค้าเสื่อมคุณภาพและไม่ผ่านมาตรฐานการควบคุมคุณภาพสินค้าจากไทย ตลอดจนเมืองจีนยังรับซื้อสินค้าที่เสื่อมคุณภาพ ไม่ผ่านมาตรฐานการควบคุมคุณภาพสินค้า และผ่านการใช้งานแล้วจากประเทศตน เพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลให้ได้สินค้าใหม่” ดร. สมไทยกล่าว

'ถุงยางอนามัยรีไซเคิล' ลดต้นทุนการผลิต

แม้จะเป็นถุงยางอนามัยที่ถูกคัดทิ้งแต่ถุงยางอนามัยบางประเภทก็ผลิตจากน้ำยางธรรมชาติ ในมุมมองของผู้ประกอบการนั้น สามารถนำมารีไซเคิลได้เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์จากน้ำยางธรรมชาติอื่นๆ

บริษัทวงษ์พาณิชย์จะรับซื้อถุงยางอนามัยในราคากิโลกรัมละ 4 บาท ปริมาณการซื้อประมาณ 10-20 ตันต่อครั้ง ใน 1 เดือนจะรับซื้อประมาณ 1-2 ครั้งขึ้นอยู่กับปริมาณถุงยางอนามัยที่คัดทิ้ง และขายให้ผู้ประกอบการชาวจีนทั้งหมดในราคากิโลกรัมละ 7 บาท ทำให้ประเทศจีนกลายเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่รับซื้อถุงยางอนามัยรีไซเคิลจากประเทศไทย

ขณะที่น้ำยางสดหรือยางใหม่นั้นมีราคาสูงกว่าถุงยางอนามัยที่ถูกคัดทิ้งหรือเศษยางรีไซเคิลอื่นๆ มาก โดยราคาน้ำยางสดในประเทศ (ณ โรงงาน) เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 ราคากิโลกรัมละ 45.50 บาท จึงทำให้การนำถุงยางอนามัยที่ถูกคัดทิ้งมารีไซเคิลเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าจะได้ต้นทุนที่ถูกกว่าการใช้ยางใหม่ทั้งหมด

ดร. สมไทย กล่าวต่อว่า “ต้นทุนการผลิตระหว่างผลิตภัณฑ์จากการคัดทิ้งกับผลิตภัณฑ์ใหม่ (ยางใหม่) กล่าวได้ว่า ต้นทุนการคัดทิ้งเท่ากับผลพลอยได้ เช่น หากนำถุงยางอนามัยไปทิ้งที่กองขยะ ก็จะไม่มีการซื้อ-ขาย ดังนั้นบอกได้ว่า บริษัทที่เมืองจีนนำถุงยางอนามัยจากการคัดทิ้งในเมืองไทยมาแปรรูปผลิตภัณฑ์ใหม่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตของบริษัทได้มาก เช่น  ถ้าบริษัทเมืองจีนรีไซเคิลผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยใช้ส่วนผสมของเม็ดพลาสติกจากการคัดทิ้งกับเม็ดพลาสติกใหม่ในอัตราส่วน 30:70 แสดงว่าบริษัทเมืองจีนที่รีไซเคิลจะได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ลดต้นทุนการผลิตไปได้ 30% เท่ากับว่า การแข่งขันในตลาดเกิดผลสำเร็จและเกิดความคุ้มค่า หากบริษัทรีไซเคิลผลิตภัณฑ์ดูความต้องการของตลาดได้เหมาะสม อีกทั้งขึ้นอยู่กับสูตรในการใช้ผลิตผลิตภัณฑ์รีไซเคิลด้วย”

จากถุงยาง สู่ยางมัดผม-เครื่องมือแพทย์

อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ อดีตผู้ประกอบการด้านยางพาราให้ข้อมูลว่า การนำถุงยางอนามัยที่ถูกคัดทิ้ง คือถุงยางอนามัยไม่ผ่านมาตรฐานการควบคุมคุณภาพสินค้าและถุงยางอนามัยหมดอายุ กลับมาใช้ใหม่โดยไม่ผ่านกระบวนการแปรสภาพใดๆ ทั้งสิ้น หรือเรียกง่ายๆ ว่า การใช้ซ้ำ จะนำมาประยุกต์เป็นอุปกรณ์ช่วยเหลือตัวเองด้านการขับถ่ายปัสสาวะทางอวัยวะเพศของผู้ป่วยชายได้

“กรณีที่ผู้ป่วยชายไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองด้านการขับถ่ายปัสสาวะทางอวัยวะเพศได้ ก็จะมีการรับซื้อถุงอนามัยที่ไม่ผ่านมาตรฐานการตรวจสอบคุณภาพและหมดอายุมาใช้ในการช่วยเหลือผู้ป่วย เพราะจะช่วยประหยัดต้นทุนการซื้อแพมเพิสโดยมีวิธีการใช้คือ นำถุงยางอนามัยของผู้ชายมาตัดตรงปลาย จากนั้นจึงสวมใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้ป่วยชาย”

นอกจากนี้ ข้อมูลสินค้าที่ได้จากการรีไซเคิลถุงยางอนามัยของอรรคณัฐและ ดร. สมไทยเป็นไปในทางเดียวกัน  โดยในประเทศจีนสามารถนำมารีไซเคิลเพื่อผลิตสินค้าหลายประเภท เช่น ถุงมือทางการแพทย์ ถุงนิ้วมือยางและถุงมือยางในงานอุตสาหกรรม ส้นรองเท้าของผู้หญิง ยางรองขาเก้าอี้ ยางมัดผม แผ่นยางกันสึก เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ได้มีการนำเข้าสินค้าบางส่วนจากจีน อีกทั้งยังมีความเป็นไปได้ว่าในประเทศไทยจะมีการรีไซเคิลเพื่อผลิตสินค้าประเภทเดียวกัน

สินค้าใหม่ สร้างความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

ปลายปี พ.ศ.2551 หนังสือพิมพ์ไชน่าเดลี่ของจีนรายงานว่า หนังสือพิมพ์เดลี่ เอ็กซ์เพรส ในเมืองกวางโจว มณฑลกวางตุ้ง ตีพิมพ์ข่าวเปิดโปงธุรกิจที่นำถุงยางใช้แล้วไปรีไซเคิลเป็นยางมัดผม ขายราคาถูกกว่ายางมัดผมทั่วไปอยู่ในเมืองต่งกวน ข่าวดังกล่าวทำให้ชาวบ้านโกรธเคืองและวิตกถึงปัญหาด้านความปลอดภัยของสุขภาพ

ข่าวดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับที่ประธานบริษัทวงษ์พาณิชย์กล่าวว่า นอกจากประเทศจีนจะรับซื้อถุงยางอนามัยที่ถูกคัดทิ้งจากประเทศไทยแล้วยังรับซื้อสินค้าที่เสื่อมคุณภาพ ไม่ผ่านมาตรฐานการควบคุมคุณภาพสินค้า และผ่านการใช้งานแล้วจากประเทศตน เพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลผลิตสินค้าใหม่อีกด้วย

ถุงยางอนามัยที่รีไซเคิลเป็นยางมัดผม รูปภาพจาก http://www.oknation.net/blog/clear/2009/06/23/entry-1

สำหรับประเทศไทย การรีไซเคิลถุงยางอนามัยอาจเหมาะกับสินค้าบางประเภทและไม่เหมาะกับสินค้าบางประเภท ถุงยางอนามัยที่ยางไม่เสื่อมคุณภาพเป็นหนึ่งวัตถุดิบในการแปรรูปสินค้าใหม่ได้ แต่ในกรณีนำถุงยางอนามัยที่ใช้แล้วมารีไซเคิล เป็นการกระทำที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะถุงยางอนามัยที่ใช้แล้วจัดเป็นขยะติดเชื้อ เสี่ยงต่อการปนเปื้อนในสิ่งมีชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่อยู่ในกระบวนการการรีไซเคิลหรือกระบวนการผลิตสินค้ามากกว่าผู้บริโภคโภคสินค้าชิ้นนั้นโดยตรง

แพทย์ระบุ เครื่องมือแพทย์จากถุงยาง ปลอดภัย-ช่วยลดต้นทุน

แม้ว่าจะไม่มีข้อมูลยืนยันชัดเจนว่ามีการนำถุงยางอนามัยใช้แล้วมารีไซเคิลในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนำมาผลิตเป็นสินค้าทางการแพทย์ก็ตาม ผศ. ดร. พรภิมล ตั้งชัยสิน อาจารย์คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ความเห็นว่า ถุงมือยางแพทย์ที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องสวมใส่ทุกครั้งทั้งในงานผ่าตัดและงานตรวจรักษาโรคทั่วไปนั้น โรงพยาบาลไม่มีการใช้ถุงมือทางการแพทย์ที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลจากถุงยางอนามัย เนื่องจากแพทย์ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเองในการสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง

“ถ้าเป็นถุงมือทางการแพทย์ ประเภท นอนสเตอร์รีไลซ์ (ถุงมือยางไม่ฆ่าเชื้อ) จะใช้ทั่วๆ ไป งานอะไรก็ได้ที่ไม่ต้องใช้กับผู้ป่วย และงานวิจัยทางการแพทย์ เช่น การตรวจรูทวาร อันนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ถุงมือทางการ แพทย์ประเภทสเตอร์รีไลซ์ (ถุงมือยางฆ่าเชื้อ) ที่มีราคาสูง เหมาะสำหรับใช้งานผ่าตัด และผู้ป่วยติดเชื้อ  อีกทั้งเชื่อว่าทางโรงพยาบาลไม่มีการใช้ถุงมือทางการแพทย์ที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลจากถุงยางอนามัย เพราะตัวแพทย์เองต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการสัมผัสผิวโดยตรงกับคนไข้อยู่แล้ว”

สินค้าที่ได้จากกระบวนการรีไซเคิลถุงยางอนามัยในทัศนคติที่หลากหลายข้างต้น  สะท้อนให้เห็นถึงความใกล้ตัวในชีวิตประจำวันของผู้คนกับสินค้าที่ได้จากการรีไซเคิลเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคที่หลากหลาย แล้วอย่างนี้จะมีความมั่นใจได้อย่างไรว่าสินค้าที่มาจากการรีไซเคิลถุงยางอนามัย ไม่ว่าจะที่ถูกคัดทิ้งหรือที่ใช้แล้วจะมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคเฉกเช่นเรา

“หากเราจะสามารถสร้างความมั่นใจในตัวสินค้าที่ได้จากการกระบวนการรีไซเคิลได้นั้น เราต้องดูว่าสินค้าที่ได้จากการแปรรูปมาจากบริษัทไหน เช่น กรณีสินค้ามาจากถุงยางอนามัยประเภทไม่ผ่านมาตรฐานการควบคุมคุณภาพสินค้านั้นไม่มีปัญหา เอาไปรีไซเคิลและรียูสได้ คุณภาพของสินค้าก็ไม่ได้ตกหรือด้อยมาก แต่กรณีสินค้ามาจากถุงยางอนามัยประเภทหมดอายุ จะมีปัญหาในเรื่องของคุณภาพยางเสื่อม คือเราจะได้สินค้าใหม่ที่คุณภาพยางด้อยกว่าสินค้าที่ได้จากถุงยางอนามัยไม่ผ่านมาตรฐานการควบคุมคุณภาพสินค้า แต่เรานำมารีไซเคิลและรียูสได้เช่นกัน  ส่วนกรณีสินค้ามาจากถุงยางอนามัยประเภทใช้แล้วนั้นไม่แนะนำให้บริโภค เพราะเป็นถุงยางที่ผ่านการใช้งานแล้ว อาจารย์ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วจะเข้มงวดเลยว่าห้ามใช้ ห้ามรียูส เพราะเป้าหมายของการใช้ถุงยางอนามัยคือป้องกันการมีบุตร ป้องกันการติดเชื้อ และการวางแผนครอบครัว ไม่ใช่การนำถุงยางอนามัยที่ผ่านการใช้งานแล้วกลับมารีไซเคิล” ผศ. ดร. พรภิมล กล่าว

ในส่วนของข้อกฎหมายนั้นประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการรีไซเคิลเพื่อผลิตเป็นสินค้า แต่กรณีของถุงยางอนามัยไม่ผ่านมาตรฐานการควบคุมคุณภาพสินค้านั้น หากมองในแง่วัตถุดิบแล้วก็ไม่ต่างอะไรกับเศษยางเหลือใช้อื่นๆ ที่นำมารีไซเคิล เว้นแต่ถุงยางอนามัยหมดอายุที่ยังมีข้อกังวลในเรื่องคุณภาพยาง จึงอาจไม่เหมาะกับการนำไปผลิตสินค้าบางชนิด ส่วนการรวบรวมถุงยางอนามัยใช้แล้วจากครัวเรือน โรงแรมม่านรูด หรือสถานบริการก็ไม่ใช่เรื่องง่าย   ดังนั้น การไปเอาถุงยางอนามัยที่คัดทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมย่อมง่ายกว่า และในกระบวนการรีไซเคิลเพื่อผลิตสินค้านั้น ถุงยางอนามัยดังกล่าวจะต้องผ่านความร้อนที่มีอุณหภูมิสูงจึงยากที่เชื้อโรคจะมีชีวิตอยู่ได้

ทว่า ปัญหาที่แท้จริงของการรีไซเคิล คือการเข้าถึงข้อมูลข้อเท็จจริงและการกำกับดูแลโดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งกับสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยและต่างประเทศ ที่จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยและคุณภาพที่ควรเป็นของสินค้าต่อผู้บริโภค เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและคลี่คลายทัศนคติด้านลบ ที่มิใช่เพียงแต่ถุงยางอนามัยรีไซเคิลเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสินค้ารีไซเคิลอื่นๆ อีกด้วย

อ่าน 'จับตา': “ไอเดียถุงยางอนามัยแห่งอนาคต”  
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5698

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: