‘ตัวตนและภาพตัวแทน’ โรฮิงญา การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์

คุณวุฒิ บุญฤกษ์: 25 พ.ค. 2558 | อ่านแล้ว 5790 ครั้ง


บทความชิ้นนี้ไม่ต่อเนื่องจากชิ้นแรก ในชิ้นนี้จะพูดถึงภาพรวมของปัญหาเรื่องภาพตัวแทนของชาวโรฮิงญา และประสบการณ์การทำงานภาคสนามของผู้เขียน บางส่วนในบทความเป็นเนื้อหาที่ผู้เขียนเคยเขียนไว้กับศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษ อ่านรายละเอียดบทความดังกล่าวได้ที่
'No Land’s Man: Stateless man who fell from the ASEAN train' 

อคติที่ซุกซ่อน ความหมายที่บิดเบือน  ชีวิตและอัตลักษณ์ที่ถูก “กักขัง” 

ปัญหาของชาวโรฮิงญาที่ส่งผลต่อเนื่องมาจากปรากฏการณ์การอพยพครั้งใหญ่ คือภาพตัวแทนที่ถูกผลิตซ้ำในสื่อกระแสหลัก จนสร้างความหมายให้ชาวโรฮิงญากลายเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ดูป่าเถื่อน เป็นกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง ซึ่งส่งผลมาจากภาพความรุนแรงในการต่อสู้ระหว่างชาวมุสลิมโรฮิงญา และชาวมอคที่นับถือศาสนาพุทธ รวมถึงการเชื่อมโยงชาวโรฮิงญาที่อพยพมายังภาคใต้ของไทย เช่น จังหวัดระนอง และสงขลา กับกลุ่มก่อความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ (ดูเพิ่มเติมที่ “หมอพรทิพย์” เผยพบ “โรฮิงญา” เชื่อมโยงโจรใต้ http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9560000011027)

การสร้างภาพตัวแทนเช่นนี้ สามารถนำไปสู่การสร้างความเกลียดชัง และทำให้การแก้ไขปัญหาในสังคมไทยยากขึ้นทุกขณะ ผู้เขียนพบว่า การที่สื่อมวลชน รวมทั้งสื่อออนไลน์ คือประชาชนทั่วไป พยายามสร้างภาพที่ผลักไสชาวโรฮิงญา ทำให้โรฮิงญากลุ่มที่ผู้เขียนปฏิสัมพันธ์ด้วยในพื้นที่ชายแดน พยายามที่จะปิดบังชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ เจ้าหน้าที่รัฐ หรือคนแปลกหน้าที่ไมได้อาศัยอยู่ในชุมชนชายแดน โดยจะเลี่ยงการใช้ชื่อโรฮิงญาไปใช้ชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกัน เช่น มุสลิมพม่า และ เบงกาลี โดยเฉพาะชื่อ “เบงกาลี” ที่นอกจากจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีลักษณะทางกายภาพที่แทบจะแยกไม่ออกจากชาวโรฮิงญาแล้ว ภาษาที่ใช้ก็มีความคล้ายคลึงกันพอสมควร

จากการทำงานภาคสนามของผู้เขียนในช่วงสองปีที่ผ่านมา ชาวโรฮิงญาในพื้นที่ชายแดนในอดีต  อพยพด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจเป็นหลักในช่วงปี พ.ศ. 2520 โดยการติดตามผู้หลักผู้ใหญ่มาทำธุรกิจ ในยุคนั้น ลุงชาวโรฮิงญาที่เป็นผู้ให้ข้อมูลกับผู้เขียน ได้ “เข้าๆ ออกๆ” ชายแดนไทย-พม่า ก่อนที่ชาวโรฮิงญาจะถูกปฏิเสธเรื่องสัญชาติอย่างจริงจัง ซึ่งก่อนหน้านั้นคุณลุงเล่าว่าไม่เคยมีปัญหาในการเดินทาง คนในอาระกันไม่ว่าจะเป็นใคร ก็เดินทางออกนอกพื้นที่ได้หมด ความขัดแย้งระหว่างโรฮิงญากับ (Mog) ยังไม่รุนแรงถึงขั้นที่รัฐบาลทหารพม่าจะเข้ามาจัดการ

ในช่วงดังกล่าว นอกจากจะไม่มีใครรู้จักว่าโรฮิงญาคืออะไรแล้ว คนในชายแดนยังเรียกพวกเขาว่า “กะลา” ซึ่งเป็นชื่อเรียกกลุ่มมุสลิมในพม่าที่มีนัยยะของ “ความเป็นอื่น” เอาไว้ใช้เรียก ชาวมุสลิมพม่าที่ถูกมองในเชิงลบและ ‘ต่ำกว่า’ มุสลิมเชื้อสายอื่นๆ ด้วยเพราะเป็นแรงงานรับจ้างราคาถูก และเป็นพวกต่างด้าวที่ไม่มีบัตร และชอบก่อปัญหาในชุมชน ซึ่งชาวโรฮิงญาก็ถูกนับรวมอยู่ในนั้นด้วย อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกๆ การเป็นหรือไม่เป็นโรฮิงญานั้นไม่ได้ส่งผลมากมายกับชีวิตและการทำธุรกิจ จนกระทั่งเกิดการอพยพของชาวโรฮิงญาในระลอกปี พ.ศ. 2551 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นช่วงที่โรงไม้มือสองของชาวโรฮิงญากำลังเจริญเติบโต

“พวกเราไม่ได้ปิดบังอะไร ใครถามว่ามาจากไหนเราก็บอก แต่เมื่อก่อนคำว่าโรฮิงญามันยังไม่ค่อยมีใครรู้จัก ยกเว้นจะเป็นมุสลิมพม่า หรือพวกเบงกาลีด้วยกัน ก็จะรู้ เราก็บอกตลอดว่ามาจากยะไข่ เป็นมุสลิมนะ พูดภาษาต่างๆ ได้นะ ก็ไม่เคยมีปัญหาอะไร พอเราเริ่มมีธุรกิจ มีเครือข่ายของเรา ก็เริ่มมีมุสลิมที่นี่หาว่าเรามาแย่งงาน ช่วงที่มีปัญหา พวกคนเมือง (หมายถึงชาวมุสลิมไทยในชายแดน) บอกว่าเราไปโกหก ไม่บอกว่าเป็นโรฮิงญา ทำให้พวกเขาเดือดร้อน เราก็แปลกใจ ในเมื่อเราอพยพมานานแล้ว ยังไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน  จะให้ทำยังไงในเมื่อลูกหลานเราบางคนยังไม่มีบัตร บอกไปก็โดนจับ โดนจับก็เสียเงินให้ป๋า (ตำรวจ) เขาอีก” (ซัยดุลบาซัร, 26 มิ.ย. 57)

หากพิจารณาอย่างผิวเผิน  คนทั่วไปอาจมองว่าชาวโรฮิงญากลุ่มนี้ไม่ได้ภาคภูมิใจกับความเป็นชาติพันธุ์ของตนเอง แต่หากพิจารณาจากเงื่อนไขของ ‘การอยู่รอด’ ความรุนแรงของการเปิดเผยตัวตนต่อสาธารณะ แม้อาจไม่เทียบเท่ากับกลุ่มที่อพยพมาได้ไม่นาน และไม่มีสถานะทางกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น แต่เงื่อนไขของการอยู่รอดของคนเหล่านี้หมายถึง “การเอาชีวิตรอด” ในพื้นที่ใหม่ที่เขาหนีตายออกมา ในอีกด้านหนึ่ง  ชาวโรฮิงญาในชายแดน จึงเลือกที่จะเปิดเผยตัวตนกับคนใน และคนที่พวกเขารู้จักมักคุ้นเป็นอย่างดี หรืออย่างน้อยที่สุดเป็นคนที่เคยทำธุรกิจด้วยกัน และไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ

นอกจากภาพตัวแทนแบบคู่ตรงข้ามดังกล่าว ล่าสุด กระแสข่าว และการโต้เถียงเรื่องโรฮิงญา ได้พยายามสร้างภาพตัวแทนอีกหลายอย่าง เช่น โรฮิงญาไม่มีความสามารถ ผลิตลูกอย่างเดียว กินข้าวไม่ล้างจาน และอีกหลายอย่าง ถูกเผยแพร่ และผลิตซ้ำอยู่ในสื่อของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อออนไลน์ ในขณะที่ภาพโรฮิงญาที่ผู้เขียนคลุกคลีและรู้จักมานาน มันมีความหลากหลายมากกว่านั้น และแน่นอนว่าเราไม่สามารถเหมารวมกว่ากลุ่มชาติพันธุ์ใดชาติพันธุ์หนึ่งจะมีลักษณะทางสังคมเพียงแค่แบบเดียว ภาพตัวแทนที่ผู้เขียนพยายามจะชี้ให้เห็น จึงเห็นชัดขึ้น ถึงอคติที่ซุกซ่อน และนำมาซึ่งการ “กักขัง” ให้ชาวโรฮิงญาไม่มีทางออก  และนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมาของอาเซียน

ความเป็นชาติพันธุ์ที่ชาวโรฮิงญาพยายามปิดบังอำพราง เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับสังคมภายนอก จึงเป็นการต่อรองเพื่อไม่ให้ตนเองถูกผลักให้เป็นอื่นในสังคมมุสลิมชายแดน การสวมทับความเป็นชาติพันธุ์อื่นที่ใกล้เคียงกับชาวโรฮิงญา แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงในเชิงสัญลักษณ์ที่สังคมภายนอก  คือ สื่อ และสายตาจากคนข้างนอกที่พยายาม ‘สร้างภาพของโรฮิงญา’ ส่งผลกระทบถึงพวกเขาโดยตรง จนนำไปสู่การปิดบัง  ละทิ้ง  หรือซุกซ่อนไม่ให้ใครได้รับรู้ตัวตนของพวกเขา  และสร้างความยากลำบากในการก่อร่าง สร้าง “ความไว้ใจ” ซึ่งกันและกันในสังคมไทยด้วย

ภาพจาก AFP

ภาพจาก Aljazeera

สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึง “กระบวนการสร้างภาพตัวแทนที่ตายตัว”  ซึ่งเกิดขึ้นจากสังคมภายนอก ได้ซุกซ่อนและกักขังความหมายของชาวโรฮิงญาให้หยุดนิ่ง ทำให้พลวัตด้านอัตลักษณ์ของชาวโรฮิงญาหายไป  เราไม่เห็นรายละเอียดของชาวโรฮิงญาในแง่มุมต่างๆ ซึ่งในมุมหนึ่งนอกจากเราจะผลัก ‘ความเป็นอื่น’ ให้กับเขา ในขณะเดียวกันเราก็ยัง ‘ผลิตซ้ำวาทกรรมเดียวกันกับพม่า’ ที่ทำให้ชาวโรฮิงญาเป็นเสมือนกลุ่มที่ไม่มีตัวตนใดๆ  และเป็นผู้น่ารังเกียจ ในประวัติศาสตร์ที่สลับซับซ้อนของพม่า ภาพตัวแทนเหล่านี้จึงไม่ใช่เป็นเพียงภาพตัวแทนดาดๆ ทั่วไป แต่เป็นภาพที่โน้มน้าวให้ผู้คนในสังคมโต้ตอบในแง่มุมที่ไม่เห็นด้วยกับการช่วยเหลือชาวโรฮิงญา ภาพตัวแทนที่ปิดล้อมและกักขังความหมายไว้ในทางลบและความเป็นอื่นทำให้ชาวโรฮิงญาต้องเผชิญกับการนิยามจากสังคมภายนอกในแง่ลบ และปิดบังตนเองอยู่ตลอดเวลา ทำให้ชาวโรฮิงญาที่พลัดถิ่นที่แทบจะไร้พื้นที่ของการต่อรองในความสัมพันธ์กับรัฐและสังคมชายแดน ยิ่งตกอยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่ และ การแก้ไขปัญหาต่างๆของสังคมไทยเลวร้ายหนักขึ้น

สำมะโนประชากรพม่า :  ท่าทีที่ตอกย้ำความเป็นอื่น

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นปี ประเทศพม่ายังคงมีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ไม่สนใจและไม่ยอมรับการทำสำมะโนประชากรโดยรัฐบาลกลางเพราะเกรงว่าจะได้รับสิทธิด้อยกว่าประชากรหลัก ในขณะที่ยังคงมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต้องการอยู่ในระบบ แต่ไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันสิทธิของตัวเองได้ ทำให้เป็นไปได้สูงว่ารัฐบาลจะแขวนพวกเขาให้อยู่นอกระบบต่อไป เพราะไม่มีเอกสารแสดงความเป็นสัญชาติที่ชัดเจน ทั้งๆที่พวกเขามีบ้านเกิดและมีที่อยู่อาศัยอย่างถูกต้อง ดังนั้นกรณีที่รัฐบาลจะพัฒนาประเทศโดยเร็วก็ต้องมองข้ามสิทธิของคนกลุ่มนี้ไป โดยไม่พยายามจะจัดระบบชนกลุ่มน้อยและชาติพันธุ์ ซึ่งชาวโรฮิงญาถูกจัดอยู่ในกลุ่มหลังที่แม้จะมีเอกสารการอยู่อาศัย และมีหลักฐานถิ่นที่อยู่ชัดเจน ก็ไม่สามารถถูกรวมเป็นประชากรชาวพม่าได้

“เบงกาลี” ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งในชายแดนรัฐยะไข่ และในบังคลาเทศ จึงเป็นชื่อเรียกโรฮิงญาที่ทางการพม่าใช้ในการขึ้นทะเบียนสัญชาติในครั้งนี้ เพื่อที่จะแยกให้เป็นกลุ่มที่ผิดกฎหมายและเป็น “ชาวต่างชาติ”  ซึ่งมีนัยยะของ ‘ความเป็นอื่น’ ที่ชาวโรฮิงญาถูกมองเป็นว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เพิ่งเข้ามาตั้งรกรากในสมัยของอาณานิคมอังกฤษ ไม่ได้มีประวัติศาสตร์อันยาวนานตามที่กล่าวอ้างไว้แต่อย่างใด

ปัญหาเรื้อรังของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา และโอกาสในการหวนคืนสู่มาตุภูมิ

“โรฮิงญาเป็นปัญหาของอาเซียนใช่หรือไม่”

คำถามสำคัญที่แม้หลายฝ่ายเคยเสนอให้ยกระดับปัญหาของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาให้เป็นปัญหาระดับภูมิภาคของอาเซียน โดยใช้กลไกด้านสิทธิมนุษยชนของอาเซียนรับมือ ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐไทย และประเทศปลายทางอย่างมาเลเซียกับอินโดนีเซีย อาจต้องยอมรับและทำความเข้าใจก่อนเป็นอันดับแรกว่า ไม่ว่าจะจับกุมหรือผลักดันอย่างไร ชาวโรฮิงญาจากอาระกันก็จะยังคงสามารถเล็ดลอดและหลั่งไหลเข้าสู่ชายแดนของแต่ละประเทศ และยังคงเดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความท้าท้ายที่สำคัญมากไปกว่าการนั่งวิตกถึงปัญหาที่เกิดขึ้น  นั่นคือจะทำอย่างไรในการยกระดับปัญหาเหล่านี้ เพื่อนำไปสู่การแก้ไข

ผู้เขียนเห็นว่าปัญหาของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่ลักลอบเข้าเมืองนั้น ในอนาคตอันใกล้อาเซียนต้องเข้ามารับภาระมากขึ้น และที่สำคัญคือรัฐบาลไทย และผู้ที่เกี่ยวข้องต้องยืนยันให้ชัดเจนว่าชาวโรฮิงญาเหล่านี้อยู่ในสถานภาพใด เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านที่เกี่ยวข้องและเป็นต้นตอของปัญหา

การส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศโดยสมัครใจในอนาคตนั้นอาจเกิดขึ้นได้ภายใต้เงื่อนไขทางการเมืองที่เอื้ออำนวย เนื่องจากภายหลังปี พ.ศ. 2555 สถานการณ์ทางการเมืองในพม่ามีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้น ภายหลัง พล.อ.เต็ง เส่ง ประธานาธิบดีพม่าดำเนินนโยบายปฏิรูปทางการเมืองและเศรษฐกิจ เพื่อเตรียมตัวเป็นประธานอาเซียนในปี พ.ศ. 2557 อีก ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนไทยให้เดินทางกลับภูมิลำเนาเดิมโดยสมัครใจด้วยความปลอดภัยในอนาคต ดังนั้นไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศที่สาม และองค์การระหว่างประเทศต่างๆ จึงควรแสวงหาลู่ทางในการสร้างกระบวนการและเงื่อนไขให้เกิดการเดินทางกลับของผู้ลี้ภัยโดยสมัครใจ โดยต้องพิจารณาเรื่องความปลอดภัย การทำมาหาเลี้ยงชีพของผู้ลี้ภัย และการตั้งถิ่นฐานในภูมิลำเนาเดิม

แต่อย่างไรก็ตาม “การกลับบ้าน” ของชาวโรฮิงญา อาจไม่ง่ายดังเช่นผู้อพยพที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ กรณีชาวโรฮิงญานั้น การส่งกลับภูมิลำเนาเดิมคงไม่ใช่ทางออกที่เป็นไปได้ ด้วยปัญหาที่เรื้อรังเรื่องการไร้สัญชาติ การไม่มีสถานะพลเมืองและสถานะทางกฏหมายนั้นจำเป็นต้องรอจนกว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายของพม่าให้ยอมรับคนเหล่านี้เป็นพลเมืองที่มีสิทธิเท่าเทียมกับชาวพม่า ซึ่งทำให้ทางออกที่เหลือน้อยลงมาก หากเทียบกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ

ชาวโรฮิงญาทำได้เพียงตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สามหรืออาศัยอยู่อย่างหลบซ่อนในประเทศปลายทางที่อพยพเข้ามา ซึ่งในแง่นี้ ประชาคมอาเซียนจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยเหลือ ให้ที่พักพิงและโอกาสในการตั้งถิ่นฐานชั่วคราว หรือหากสถานการณ์ยังคงไม่มีทีท่าที่ดีขึ้น ประชาคมอาเซียนอาจต้องพิจารณาไปถึงการตั้งถิ่นฐานอย่างถาวรของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา

องค์กรระหว่างประเทศที่สามารถเข้าให้ความช่วยเหลือชาวโรงฮิงญามีหลายหน่วยงานตั้งแต่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ(UNHCR) องค์กรนานาชาติเพื่อการย้ายถิ่นฐาน(IOM) กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาติและกาชาดสากล(ICRC) แต่หากพิจารณากันให้ดี  วันนี้ทั้งภูมิภาคของเราต่างก็ขับเคลื่อนสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กรณีนี้อาเซียนจึงมีบทบาทโดยตรงที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาของโรฮิงญาเนื่องจากเป็นปัญหาในภูมิภาค การเพิกเฉยของอาเซียนต่อปัญหานี้ย่อมแสดงถึงความไม่เป็นเอกภาพของประเทศสมาชิกทั้งที่อาเซียนเองก็มีกลไกแก้ปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนคือ ASEAN Human Rights Body (AHBR) และมีคณะกรรมการร่วมระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนอาเซียน(AICHR) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนส่งเสริมเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนอาเซียนตลอดจนรักษาสิทธิของประชาชนอาเซียนที่จะอยู่อย่างสันติ มีศักดิ์ศรี และเจริญรุ่งเรือง

กรณีการหลบหนีเข้าเมืองของชาวโรฮิงญาจึงเป็นพันธกิจโดยตรงของกลไกนี้ เป็นความท้าทายอย่างยิ่งว่ากลไกความร่วมมือซึ่งมีการประชุมและคณะทำงานในหลายประเทศจะประสานให้เกิดการแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร แต่หากไม่มีมาตรการใดที่ออกมาจากกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียนในประเด็นแบบนี้ ย่อมมีคำถามตามมาอีกมากมายว่าอาเซียนเป็นชุมชน หรือว่าเป็นเพียง “วาทกรรมทางการเมือง” โดยที่ชาวโรฮิงญาเหล่านี้ก็ยังคงไม่รู้ว่าปลายทางของพวกเขาจะหยุดลงที่ไหน

การแยกแยะระหว่างภาพตัวแทนจากสื่อต่างๆ  และการอภิปรายข้อมูลด้านต่างๆ ของผู้เขียน อาจช่วยสร้างความเข้าใจการพลัดถิ่นของชาวโรฮิงญาที่เกิดขึ้น กับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ “เรา” มักมอง “เขา” เป็นอื่นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งผู้เขียนคิดว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นของชาวโรฮิงญาต้องมีความยืดหยุ่นในการมองประเด็นต่างๆ โดยไม่มองทุกเรื่องเป็นปัญหาโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับคนที่เดินทางเคลื่อนย้าย และเราอาจต้องยอมรับว่าการที่รัฐไทยไม่มีการดำเนินนโยบายที่มีการวางแผนอย่างระยะยาว ทำให้การจัดการแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะชาวโรฮิงญา เป็นการดำเนินนโยบายตามสถานการณ์เท่านั้น ไม่สามารถจัดการและแก้ปัญหาได้จริง และเป็นช่องทางให้กลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์ใช้เป็นช่องทางในการขูดรีดทรัพย์สินจากผู้พลัดถิ่นเหล่านี้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: