คนอุบลฯ ตบเท้าร้องดีเอสไอขอพื้นที่สาธารณะคืน
26 มกราคม 2558 ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มประชาชนรักธรรมชาติสายน้ำบุ่งไหม ซึ่งเป็นการร่วมตัวกันของชาวบ้านกุดละงุมหมู่ ๓และบ้านคำกลาง หมู่ ๖ ตำบลบุ่งไหม อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ได้มายื่นหนังสือร้องเรียนกรณีการออกเอกสารสิทธ์โดยมิชอบกับทางDSI
นาย โอภาส เจริญพจน์ ที่ปรึกษาชาวบ้านทางด้านกฎหมาย กล่าวว่า ขณะนี้ชาวบ้านกุดละงุมหมู่ ๓และบ้านคำกลาง หมู่ ๖ ตำบลบุ่งไหม อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ได้รับความเดือดร้อนจากกรณี กองทัพธรรมมูลนิธิ ฟ้องร้อง ขับไล่ ไม่ให้ชาวบ้านเขาไปใช้พื้นที่สาธารณะประโยชน์ประเภทประชาชนใช้ร่วมกันเช่นในอดีต จึงพากันเดินทางมาครั้งนี้ โดยเล่าว่า
“ตั้งแต่ยุคที่พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ตั้งนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า เปิดโอกาสให้มีการนำเอาที่ดินว่างเปล่ามาออกเป็นเอกสารสิทธิ์ ที่ดินแถวนั้นเลยบูม ที่สาธารณะจึงถูกนำไปออกเอกสารสิทธิ์ โดยนางทัศนา เศวตาภรณ์ อดีตชาวบ้านในพื้นที่ ได้เข้ามาซื้อที่ดินในพื้นที่บางส่วนแบบปากเปล่า เพราะที่ตรงนั้นมันไม่มีโฉนด แต่ก็ยังถือว่าได้สิทธิการครอบครองต่อเนื่องตามกฎหมายอยู่ หลังจากนั้นนางทัศนา ได้ร่วมมือกับนายจรูญ ถาวร ผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้นและเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน ออกเอกสารสิทธิ์บนพื้นที่สาธารณะ ข้อพิรุธแรกที่เราตรวจพบคือการที่ นาย จรูญ ถาวร ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6ในขณะนั้น ลงชื่อรับรองเอกสารระวังชี้แนวเขตด้วยตำแหน่งผู้ปกครองท้องที่ของทั้งหมู่ 6 และหมู่ 3ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งตามความเป็นจริง ไม่มีใครจะเป็นผู้ใหญ่บ้านสองหมู่บ้านพร้อมกันได้”
นายจรูญลงชื่อเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6
นายจรูญลงชื่อเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3
นาย โอภาส กล่าวต่ออีกว่า“จริงๆแล้วมันต้องมีชาวบ้านมาร่วมชี้จุดระวังแนวเขต พอสอบถามชาวบ้านไป เขาบอกไม่รู้เรื่อง ไม่เคยเห็นใครมาสำรวจที่ดิน ชาวบ้านก็ใช้ชีวิตกันไปตามปกติ ในช่วงปี 2537 หลังจากนางทัศนาได้เอกสารสิทธิ์ นางทัศนาได้นำที่ดังกล่าวไปจำนองกับธนาคาร ด้วยราคา 28 ล้านบาท แล้วก็ปล่อยให้ล้มละลาย ที่ดินหลุดจำนอง ธนาคารจึงนำไปขายทอดตลาดตามระเบียบของเขา กองทัพธรรมมูลนิธิก็เข้ามาซื้อในช่วงนี้ ด้วยราคา 6 ล้านบาทเอง ธนาคารขาดทุนไป 22 ล้าน คิดดูว่ามันเป็นไปได้มั้ย ?”
“ปัญหาคือคนที่มาซื้อต่อจาการขายทอดตลาดจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1332 กองทัพธรรมมูลนิธิก็ใช้มาตรานี้แหละยกขึ้นสู้ ฟ้องร้องชาวบ้านให้ออกจากพื้นที่สาธารณะ”
ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 ระบุว่าบุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาด หรือในท้องตลาด หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ไม่จำต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา
สู้มาแล้ว 2 ศาลผลัดกันแพ้ – ชนะ
ด้านนาย กฤษฎีพงศ์ อร่ามรุ่งทรัพย์ เจ้าพนักงานที่ดิน จังหวัดอุบลราชธานี สาขาวารินชำราบ กล่าวถึงปัญหาพิพาทที่เดียวกันนี้ในระหว่างการพูดคุยในเวทีสาธารณะ โดยชี้ให้เห็น ประเด็นว่า ที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์จริงหรือไม่ และเรื่องนี้ก็ได้มีการดำเนินการทางศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ ทั้ งนี้ขณะนี้ชาวบ้านก็ได้อุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับฎีกา เพราะฉะนั้น กระบวนการในชั้นศาลยังไม่ได้ข้อยุติ ทางราชการก็ต้องรอผลคำพิพากษาของศาลด้วยว่าผลถึงที่สุดหรือยัง เมื่อยังไม่ได้ข้อยุติ เราก็ต้องพักไว้ก่อน
ในขณะที่นาย รินไท มุ่งมาจน กรรมการกองทัพธรรมมูลนิธิ กล่าวว่า “เราพร้อมที่จะให้ตรวจสอบ เพราะเราซื้อจากการขายทอดตลาด กฎหมายถือว่าซื้อโดยบริสุทธิ์ การที่เราจะรู้ว่ามีการขายทอดตลาด มันไม่ใช่ว่าอยู่ๆ เราจะรู้ เขาจะต้องปิดประกาศขายทอดตลาด พอปิดประกาศ เราจึงทราบจึงนำเข้าที่ประชุม ที่ประชุมว่าที่ตรงนี้เป็นที่นา แล้วจุดประสงค์ของเราคือการทำกสิกรรมไร้สารพิษ เราใช้ปุ๋ยอินทรีย์ธรรมชาติ ซึ่งตรงนี้มันเป็นประโยชน์แก่ชุมชนและสังคม”
อย่างไรก็ตาม นาย เจษฎา อนุจารี ผอ.สำนักฝึกอบรมวิชาว่าความแห่งสภาทนายความ แสดงความเห็นในแง่มุมทางกฎหมายต่อกรณีนี้ว่า “จริงๆไม่ได้ตำนิมูลนิธิ แต่ว่ามูลนิธิอาจเป็นเหยื่อ เคยมีคดีหนึ่งที่ขึ้นสู่ศาลฎีกา มีการเอาถนนมาออกโฉนด แล้วขายทอดตลาดเหมือนกัน ในที่สุดศาลบอกว่า ถึงยังไงก็ตามการขายทอดตลาด ก็ต้องถือว่าเป็นที่ดินที่ออกมาโดยไม่ชอบ เพราะเป็นที่สาธารณะประโยชน์ คดีนั้นก็จะเทียบ เคียงคดีนี้ได้ ประเด็นก็คือ เราต้องมาตรวจสอบว่าตกลงที่ตรงนี้เป็นที่สาธารณะประโยชน์หรือเปล่า ถ้าเป็นที่สาธารณะประโยชน์ประเภทประชาชนใช้ร่วมกัน หรือเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่ต้องรักษาไว้ ก็ไม่มีสิทธิที่จะออกโฉนด ใครซื้อหรือรับโอนก็ไม่มีสิทธิ์ทั้งนั้น”
แม้กรณีดังกล่าว จะมีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้คลี่คลายโดยเฉพาะความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ทำให้ต้องเดินทางมาร้องเรียนต่อดีเอสไอดังกล่าว
สู้ต่อ-ใช้ประเด็นที่มาของทรัพย์สินขายทอดตลาด
ทั้งนี้ ชาวบ้านยังคงเดินหน้าหาแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้ เพื่อต่อสู้ขอคืนพื้นที่สาธารณะดังกล่าว จากคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ที่ชาวบ้านชนะคดี โดยคำพิพากษาตัดสินว่าพื้นที่ปัญหาดังกล่าวเป็นพื้นที่สาธารณะ ชาวบ้านมีสิทธิเข้าไปใช้ ต่อมา กองทัพธรรมมูลนิธิก็สู้คดีในศาลชั้นอุทธรณ์ต่อ และได้รับการตัดสินให้กองทัพธรรมชนะ ด้วยเหตุผลที่ว่ากองทัพธรรมซื้อที่ดินมาโดยถูกต้องตามการขายทอดตลาด แต่ชาวบ้านเห็นว่าแม้คนซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ซึ่งหากสามารถพิสูจน์ได้ว่าโฉนดดังกล่าวออกโดยมิชอบมาตั้งแต่ต้น การขายทอดตลาดก็จะตกไป ซึ่งหากถูกเพิกถอน ผู้ซื้อจะต้องไปฟ้องกับบุคคลที่เกี่ยวข้องอีกครั้งหนึ่ง
“แม้ศาลอุทธรณ์เราจะแพ้ เราก็ไม่ยอม จะขอสู้ให้ถึงที่สุด ตอนนี้ยื่นฎีกาไปแล้ว แต่ทางโจทย์ค้านฎีกาของเรา ฎีกาเลยถูกตีตก ตอนนี้เราก็อุทธรณ์คำสั่งเรื่องไม่รับฎีกา ในตอนนี้เราจะไม่สู้แค่ศาลแพ่งแล้ว เราจะสู้ในชั้นศาลปกครองด้วย สู้ในกรณีรัฐออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ แต่ยังไงก็ต้องดูศาลฎีกาก่อนว่าผลออกยังไงค่อยมาคิดเรื่องศาลปกครองอีกที” ตัวแทนชาวบ้านระบุ
จากข้อมูลปัจจุบัน มีชาวบ้าน 14 รายที่ถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากกองทัพธรรมมูลนิธิ เหตุเพราะเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ โดยสถานที่พิพาทแห่งนี้ กองทัพธรรมมูลนิธิตั้งชื่อว่า ราชธานีอโศก อยู่ในเขตพื้นที่ต.บุ่งไหม อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี นอกจากนี้ ทางกองทัพธรรมมูลนิธิได้เคยนำเรื่องราวดังกล่าวไปออกอากาศในช่อง 'บุญนิยมทีวี' โดยสาระสำคัญรายงานถึงการบุกรุกพื้นที่และใช้ความรุนแรงของชาวบ้าน โดยนาย จรูญ ถาวร และชาวบ้านอีกบางส่วนได้เข้ารวมแลกเปลี่ยนในรายการ
อนึ่ง กองทัพธรรมมูลนิธิมีสาขาอยู่ทั่วประเทศ ได้แก่
· พุทธสถานสันติอโศก แขวงคลองกุ่ม เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร
· พุทธสถานศีรษะะอโศก ตำบลกระแชงใหญ่ อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ
· พุทธสถานศาลีอโศก ตำบลโคกเดื่อ อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์
· พุทธสถานปฐมอโศก ตำบลพระประโทน อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
· พุทธสถานสีมาอโศก ตำบลหนองบัวศาลา อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
· พุทธสถานภูผาฟ้าน้ำ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
· สังฆสถานทักษิณอโศก อำเภอเมือง จังหวัดตรัง
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ