ประเทศไทยมีที่ดินทั่วประเทศทั้งหมดจำนวนประมาณ 321 ล้านไร่ โดยในจำนวนนี้เป็น ’ที่ราชพัสดุ’ ถึง 12.5 ล้านไร่ แยกเป็นการใช้ในราชการ 10.466 ล้านไร่ จัดให้เช่า 0.185 ล้านไร่ และสงวนไว้ใช้ในราชการ อีก 1.859 ล้านไร่
5 ปีเก็บค่าเช่าได้ 17,086.265 ล้านบาท
จากข้อมูลของกรมธนารักษ์ ที่ได้ส่งตัวแทนเข้าชี้แจงกับคณะอนุกรรมาธิการด้านการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน ในคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจการเงินและการคลัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2557 - มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา ระบุถึงเม็ดเงินการจัดเก็บรายได้ของกรมธนารักษ์ กรณีประเภทค่าเช่าที่ราชพัสดุ ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ถึงปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 นั้นมีมูลค่ารวมถึง 17,086.265 ล้านบาท [ส่วนปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 (1 ต.ค. 2557 - 28 ก.พ. 2558) จัดเก็บได้จำนวน 2,793.721 ล้านบาท และมีการคาดการณ์ไว้ว่าจะจัดเก็บได้ถึงสิ้นปี จำนวน 5,570 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้
การจัดเก็บรายได้ของกรมธนารักษ์ กรณีประเภทค่าเช่าที่ราชพัสดุปีงบประมาณ 2553 ถึงปีงบประมาณ 2557
ที่มา: คณะอนุกรรมาธิการด้านการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน
ในคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจการเงินและการคลัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
ทั้งนี้ผู้แทนจากกรมธนารักษ์ระบุว่าได้เร่งผลักดันและดำเนินการบริหารจัดการที่ราชพัสดุว่า ปัจจุบันมีส่วนราชการจำนวนมากที่ติดต่อขอใช้ที่ราชพัสดุ ซึ่งกรมธนารักษ์ได้ดำเนินการอำนวยความสะดวกและสนับสนุนให้ส่วนราชการต่าง ๆ ใช้ที่ราชพัสดุตามความเหมาะสมโดยจะมีการวางผังบริหารจัดการการใช้พื้นที่ราชพัสดุให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งกรมธนารักษ์จะจัดทำแผนแม่บท (Master Plan) การใช้ที่ราชพัสดุให้มีประสิทธิภาพ โดยเน้นการวางผังการใช้ที่ราชพัสดุของส่วนราชการก่อน
กรมธนารักษ์ยังระบุว่า ได้นำที่ราชพัสดุมาใช้ให้เกิดประโยชน์และรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐ เช่น โครงการจัดหาที่ราชพัสดุเพื่อสนับสนุน/รองรับการดำเนินโครงการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โครงการนำที่ราชพัสดุที่อยู่ตามแนวพื้นที่เศรษฐกิจและจุดผ่านแดนสำคัญมาสนับสนุนการสร้างศูนย์พักและกระจายสินค้า และสนับสนุนการจัดตั้งเขตปลอดภาษี เพื่อรองรับ AEC และโครงการนำที่ราชพัสดุมาสนับสนุนโครงการบ้านพักเพื่อผู้สูงอายุ (Retirement Home) และโครงการนำที่ราชพัสดุสนับสนุนแนวรถไฟความเร็วสูง เป็นต้น ส่วนในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม มีโครงการอาทิเช่น การสร้างสวนสาธารณะเบญจกิตติส่วนที่ 2 (บริเวณโรงงานยาสูบ) และลานกีฬา เป็นต้น และในด้านการเร่งรัดโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่นั้น ก็มีเช่น แผนการพัฒนาที่ดินราชพัสดุบริเวณศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงที่ตั้งโรงภาษีร้อยชักสาม เป็นต้น
ความคืบหน้าโครงการสำคัญ
สำหรับความคืบหน้าแนวทางการบริหารจัดการที่ราชพัสดุในความครอบครองของส่วนราชการต่าง ๆ กรมธนารักษ์ระบุไว้กับคณะอนุกรรมาธิการด้านการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน ว่าเนื่องจากปัจจุบันยังมีที่ราชพัสดุที่ส่วนราชการสงวนไว้แต่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่เหมาะสมกับสภาพภารกิจของหน่วยงาน ดังนั้นเพื่อเป็นการปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุดังกล่าว กรมธนารักษ์ได้มีการนำระบบเทคโนโลยี Smart GIS มาใช้ในการประเมินราคาทรัพย์สินและการกำหนดพื้นที่เพื่อจัดทำประโยชน์ และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการนำที่ราชพัสดุมาใช้ประโยชน์ โดยคณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดแนวทางและวิธีการส่งคืน-รับคืนที่ราชพัสดุ โดยคณะกรรมการพิจารณาการนำที่ราชพัสดุมาใช้ประโยชน์ ได้มีหนังสือแจ้งให้ส่วนราชการที่ครอบครองที่ราชพัสดุไว้เกินความจำเป็นจำนวน 459 แปลง เนื้อที่ประมาณ 12,014 ไร่ โดยยังไม่รวมพื้นที่ที่ใช้ในราชการกระทรวงกลาโหมอีกจำนวน 35 แปลง เนื้อที่ประมาณ 381,987 ไร่ ส่งคืนพื้นที่ให้กรมธนารักษ์ ซึ่งขณะนี้มีส่วนราชการแจ้งความประสงค์ส่งคืนที่ราชพัสดุให้กรม ธนารักษ์แล้วทั้งสิ้นจำนวน 69 แปลง เนื้อที่ประมาณ 2,028 ไร่
กรมธนารักษ์ เล็งขอพื้นที่ราชการจำนวน 8,000 ไร่คืน เมื่อปลายเดือนกันยายน 2558 อธิบดีกรมธนารักษ์เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่ากรมธนารักษ์เตรียมจัดทำยุทธศาสตร์การจัดระเบียบที่ราชพัสดุ 25 ล้านไร่ทั่วประเทศใหม่ ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ เพื่อดำเนินการจัดระเบียบให้ได้ในต้นปี 2559 โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าว จะมีแผนการจัดระเบียบที่ราชพัสดุ ระยะสั้น กลาง และยาว เพื่อให้สามารถใช้พื้นที่ราชพัสดุได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่พื้นที่ราชพัสดุที่อยู่ในความดูแลของส่วนราชการ 500 แห่ง 8,000 ไร่ นั้น กรมธนารักษ์ ได้ประสานงานโดยการทำหนังสือเวียนกับหน่วยงานราชการทุกแห่งทั่วประเทศ เพื่อขอความร่วมมือให้หน่วยงานราชการตรวจสอบพื้นที่ราชพัสดุในสังกัดว่า มีพื้นที่ใดบ้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ แต่พบว่ามีบางหน่วยงานราชการใช้พื้นที่ผิดวัตถุประสงค์ จึงนำมาบริหารใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานราชการคืนพื้นที่มาจำนวน 50 แห่ง จำนวน 1,000 ไร่ เท่านั้น จากการขอคืนพื้นที่ 500 แห่ง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของพื้นที่ที่ผู้ค้าและประชาชนบุกรุกเข้าใช้พื้นที่กว่า 100,000 ไร่ ที่เกิดข้อพิพาทกันอยู่นั้น จะเจรจาขอคืนพื้นที่ดังกล่าว เพื่อนำมาปรับปรุงและบริหารจัดการ ในเชิงสาธารณะและเชิงพาณิชย์อย่างเป็นระบบ แต่ยอมรับการขอคืนพื้นที่จากผู้ค้าและประชาชนดำเนินได้ยาก เนื่องจากผู้อยู่อาศัยอยู่ในพื้นที่มานาน จึงทำให้กรมฯ ต้องร่วมกับส่วนงานราชการในจังหวัดต่าง ๆ หาพื้นที่สำรองให้กับกลุ่มคนเหล่านี้แทน |
ด้านความคืบหน้าแนวทางการบริหารจัดการที่ราชพัสดุที่ไม่อยู่ในความครอบครองของส่วนราชการ และความคืบหน้าในการทำประโยชน์ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น เนื่องจากกรมธนารักษ์เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีหน้าที่ดูแลที่ราชพัสดุ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่สามารถนำมาใช้เป็นฐานในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย กรมธนารักษ์จึงมีนโยบายใช้ที่ดินตอบสนองนโยบายของรัฐ โดยเร่งการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการปรับรื้อระบบการจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุขึ้นใหม่ โดยเริ่มจากการกำหนดวิสัยทัศน์และภารกิจและการแบ่งพื้นที่ดินออกเป็นกลุ่ม ๆ
ในเบื้องต้นมีการแบ่งกลุ่มพื้นที่ออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ 1) กลุ่มพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจ 2) กลุ่มพื้นที่ที่ดินในเขตเกษตรกรรม และ 3) กลุ่มพื้นที่ที่ดินในเขตที่อยู่อาศัย ทั้งนี้การแบ่งกลุ่มพื้นที่ที่ดินดังกล่าวจะเกิดประโยชน์ในด้านการกำหนดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมในการบริหารจัดการพื้นที่ เช่น การใช้ที่ราชพัสดุเพื่อประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ จะเป็นการพัฒนาที่ราชพัสดุในเชิงพาณิชย์ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป เช่น การเปิดประมูลเพื่อหาผู้ลงทุนปลูกสร้างอาคาร โดยกรมธนารักษ์จะต้องกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประมูลทำการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ตามความประสงค์ของส่วนราชการ หรือกรณีที่ราชพัสดุที่กรมธนารักษ์จัดให้เช่าเพื่อที่อยู่อาศัย โดยถ้าจัดให้เช่าเพื่อประกอบการเกษตร หากสภาพทำเลมีการเปลี่ยนแปลงก็จะพิจารณาโดยให้สิทธิแก่ผู้เช่าเดิมในอัตราผ่อนปรนไม่เกินไร่ละ 200 บาท ต่อปี เป็นต้น
ความคืบหน้าผลการดำเนินโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงต่างที่สำคัญ ๆ มีดังนี้
(ที่มาภาพจาก : Google Maps และ กรมธนารักษ์)
โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงซอยพิพัฒน์ 2 ที่ตั้ง แขวงสีลม เขตบางรักษ์ กรุงเทพมหานคร (ที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ กท.0423ว8) ที่ราชพัสดุแปลงนี้มีเนื้อที่ประมาณ 12-2-08 ไร่ เดิมใช้ประโยชน์ในราชการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และบริษัท ยางไทย จำกัด โดยมีการจัดให้ราษฎรเช่าเพื่ออยู่อาศัย จำนวน 107 ราย ปัจจุบันที่ดินมีราคาตารางวาละ 250,000 บาท มูลค่าที่ดิน 1,252 ล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจากที่ราชพัสดุแปลงดังกล่าวมีข้อจำกัดทางกายภาพ คือ ผิวการจราจรภายในซอยพิพัฒน์ 2 กว้างเพียง 5.50 เมตร มีผลทำให้ไม่สามารถก่อสร้างอาคารที่สูงกว่า 23 เมตร และอาคารขนาดใหญ่พิเศษที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรได้ ในเบื้องต้นกรมธนารักษ์จึงได้มีการจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการวิเคราะห์แนวทางในการพัฒนาที่ดินแปลงนี้ว่าสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง โดยหากกระทรวงการคลังมีนโยบายที่ชัดเจนที่จะดำเนินการพัฒนาที่ดินแปลงนี้ต่อไป ก็อาจจะมีการพิจารณาดำเนินการจัดหาพื้นที่เพื่อขยายถนนให้มีทางเข้า-ออก ได้มากกว่า 5.50 เมตร โดยอาจมีการดำเนินการจัดซื้อจากพื้นที่ของเอกชน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ซึ่งกรมธนารักษ์ได้ประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจการของรัฐ (สคร.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการขอให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐเพื่อสอบถามแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมาตลอด และจากการคำนวณมูลค่าโครงการตามหลักเกณฑ์ของประกาศ เรื่อง แนวทางปฏิบัติสำหรับการคำนวณมูลค่าของโครงการการลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2558 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2558 พบว่าโครงการซอยพิพัฒน์ 2 มีมูลค่าประมาณ 2,115 ล้านบาท โดยต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ทั้งนี้ กรมธนารักษ์ได้รับแจ้งจาก สคร. ว่าอยู่ระหว่างการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐสำหรับโครงการที่มีวงเงินมูลค่าตั้งแต่ 1,000 ล้านบาท แต่ไม่ถึง 5,000 ล้านบาท โดยกรมธนารักษ์ระบุว่าจะดำเนินการตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวต่อไป
โครงการให้เช่าที่ราชพัสดุตลาดชลประทานปากเกร็ด ที่ตั้ง ต.ปากเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี (ที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ นบ.394) ที่ราชพัสดุแปลงนี้ (บริษัท บ้านขวัญนนท์ จำกัด) ได้มีการเสนอโครงการและรายละเอียดมาให้กรมธนารักษ์พิจารณาแล้ว โดยกรมธนารักษ์ได้พิจารณาความเห็นชอบในเบื้องต้นแล้ว และกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาจัดส่งแบบโครงการฉบับแก้ไขให้สำนักงานธนารักษ์พื้นที่นนทบุรี เพื่อนำไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ และนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจร จ.นนทบุรีพิจารณาต่อไป
โครงการจัดระเบียบที่ราชพัสดุ (Pilot Project) การแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ราชพัสดุแปลงสวนผึ้ง จ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2558 ได้มีการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรอง (หน่วยงานทหารและสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ราชบุรี) เพื่อพิจารณาการเช่าที่ราชพัสดุเพื่อประกอบกิจการสถานที่ตากอากาศจำนวน 172 ราย สรุปได้ว่า ผู้เช่าที่ดินราชพัสดุเพื่ออยู่อาศัยและประกอบการเกษตรที่มีสิ่งปลูกสร้างลักษณะเป็นที่พักตากอากาศ จำนวน 45 ราย แจ้งความประสงค์ขอเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์การเช่าเป็นกิจการสถานที่ตากอากาศ จำนวน 32 ราย ไม่ประสงค์ประกอบกิจการสถานที่พักตากอากาศจำนวน 11 ราย และไม่มาแจ้งความประสงค์ใด ๆ จำนวน 2 ราย นอกจากนี้ผู้แจ้งความประสงค์ขอเช่าเพื่อประกอบกิจการสถานที่พักตากอากาศบนที่ดินราชพัสดุแปลงดังกล่าว จำนวน 54 ราย (ผ่านความเห็นชอบของหน่วยราชการทหารจำนวน 47 ราย) ไม่ประสงค์ประกอบกิจการสถานที่ตากอากาศ จำนวน 10 ราย และไม่มาแจ้งความประสงค์ใด ๆ จำนวน 38 ราย โดยผู้ประกอบกิจการสถานที่พักตากอากาศบนที่ดินดังกล่าวแจ้งว่าสถานประกอบกิจการของตนปลูกสร้างอยู่บนที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ (นส. 3 ก และ ส.ค. 1) จำนวน 25 ราย ทั้งนี้จากกรณีดังกล่าวมีการดำเนินคดีไปหลายรายแล้ว
โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต ในการประชุมคณะกรรมการพิจารณากำหนดแนวทางดำเนินโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิตครั้งที่ 1/2558 โดยที่ประชุมมีความเห็นว่าควรมีการแก้ไขสัญญากับบริษัท บางกอก เทอร์มินอล จำกัด โดยให้แต่งตั้งคณะทำงานเจรจาการออกแบบโครงการ เพื่อพิจารณาเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเกี่ยวกับแนวทางการวางโครงข่ายโทรคมนาคมขนส่งทางเข้า-ออก โครงการแบบแปลนโครงการ และแผนการดำเนินการ เป็นต้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะทำงานในการแจ้งให้กรมขนส่งทางบกยืนยันการใช้ประโยชน์พื้นที่สถานีขนส่งประเภทใดระหว่างรถตู้หรือรถบัส
(ที่มาภาพจาก : Google Maps และ กรมธนารักษ์)
โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงที่ตั้งโรงภาษีร้อยชักสาม โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่กรมธนารักษ์ได้ดำเนินการพัฒนาที่ราชพัสดุในเขตพื้นที่บางรัก เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ ซึ่งแต่เดิมเป็นอาคารที่ใช้ในทางราชการ ต่อมากรมธนารักษ์ได้ทำสัญญากับกิจการร่วมค้า ประกอบด้วย บริษัท แนเชอรัลพาร์ค จำกัด (มหาชน) [ซึ่งมีกลุ่มมาลีนนท์เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่], บริษัท อามันรีสอร์ท เซอร์วิสเซส จำกัด และบริษัท ซิลเวอร์ลิงค์ โฮลดิ้ง จำกัด เพื่อให้สิทธิในการพัฒนาที่ราชพัสดุดังกล่าว โดยกำหนดให้สร้างเป็นโรงแรมในเชิงอนุรักษ์ ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาได้ประสบปัญหาในการจ่ายค่าชดเชยให้กับตำรวจดับเพลิงโดยกิจการร่วมค้า ประกอบกับเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของส่วนราชการ ทำให้ตำรวจดับเพลิงถูกโอนย้ายมาอยู่ภายใต้การดูแลของกรุงเทพมหานคร จึงทำให้การพัฒนาที่ราชพัสดุดังกล่าวเกิดความล่าช้า อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกรุงเทพมหานครอยู่ระหว่างการดำเนินย้ายครอบครัวของตำรวจดับเพลิงออกจากพื้นที่ ในขณะที่กรมธนารักษ์และกิจการร่วมค้าอยู่ในระหว่างการเจรจาเพื่อดำเนินการตามสัญญาที่ได้ทำการตกลงกันไว้ เพื่อดำเนินการพัฒนาที่ราชพัสดุดังกล่าวต่อไป
ส่วนราชการหวงที่ มีเพียงร้อยละ 1.4 ที่มีการจัดหาประโยชน์
ในด้านปัญหาและอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับกรมธนารักษ์นั้น ตัวแทนกรมธนารักษ์ได้ชี้แจงต่อคณะอนุกรรมาธิการด้านการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน ไว้ว่าที่ราชพัสดุส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์ในราชการประมาณร้อยละ 98.6 และมีเพียงร้อยละ 1.4 ที่นำไปจัดหาประโยชน์ โดยการนำมาใช้สนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ต้องให้ส่วนราชการที่ครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุนั้น ๆ ส่งคืนให้กรมธนารักษ์ก่อน ซึ่งเป็นไปด้วยความล่าช้า เพราะส่วนราชการต่าง ๆ ไม่ให้ความร่วมมือ
นอกจากนี้พบว่าที่ราชพัสดุที่จะนำไปพัฒนาเพื่อจัดหาประโยชน์นั้น มีราษฎรครอบครองอยู่อาศัยและโต้แย้งสิทธิ ซึ่งต้องทำการพิสูจน์สิทธิระหว่างรัฐกับราษฎรผู้ครอบครองที่ดิน ทำให้เสียเวลาในการแก้ไขปัญหา นอกจากนี้พบว่าที่ราชพัสดุที่จะนำไปพัฒนาเพื่อจัดหาประโยชน์นั้นหากมีมูลค่าโครงการเกิน 1,000 ล้านบาท จะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ส่วนอุปสรรคในด้านกฎหมายนั้น พระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 เป็นกฎหมายเชิงบริหารไม่มีบทลงโทษ ทำให้ไม่มีสภาบังคับในการนำที่ดินกลับคืนมาให้กรมธนารักษ์ดำเนินการ
(คลิกอ่านจับตา : ขาใหญ่ที่ราชพัสดุ)
ใช้ ม.44 คืนป่า เตรียมให้เอกชนเช่าอีกเพียบ
สถานการณ์หลังการรัฐประหารที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สามารถออกกฎหมายในการบริหารประเทศได้เองนั้น โดยเฉพาะการใช้ มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ก็พบว่ามีการใช้มาตรา 44 นี้ประกาศเพิกถอนที่ป่าสงวน ที่ดินปฏิรูป และที่สาธารณะอื่น ๆ ให้เป็นที่ราชพัสดุในหลายพื้นที่แล้ว เพื่อนำพื้นที่เหล่านั้นมาให้เอกชนเช่าในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ
โดยข้อมูลจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ระบุว่าในเขตเศรษฐกิจพิเศษ 5 จังหวัด ได้แก่ ตาก มุกดาหาร หนองคาย สระแก้ว และตราด ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 มีคำสั่งให้เพิกถอนที่ดินจากป่าสงวนแห่งชาติ เขตป่าไม้ถาวร เขตปฏิรูป และที่ดินสาธารณะ ให้เป็นที่ราชพัสดุเพื่อนำมาใช้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้วนั้น ขั้นตอนต่อไป กนอ.จะเจรจารายละเอียดกับกรมธนารักษ์ ตกลงเรื่องเงื่อนไข ค่าเช่า และอื่น ๆ โดยจะมีระยะเวลาการเช่าอย่างน้อย 50 ปี
สำหรับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 5 จังหวัดที่ประกาศแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการพัฒนาพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานรองรับ โดยจะเริ่มโครงการปี 2561 โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะต้องยื่นขอ บีโอไอ ภายในปี 2560 และระยะต่อไปรัฐบาลมีแผนจะประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มอีก 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย นครพนม กาญจนบุรี นราธิวาส และอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา
การใช้ มาตรา 44 ดังกล่าวนี้ ฝ่ายรัฐระบุว่าเป็นแก้ปัญหาหลังจากรัฐบาลประกาศนโยบายกำหนดพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน ทำให้ราคาที่ดินเพิ่มขึ้น จึงแก้ปัญหาด้วยการนำที่สาธารณะมาใช้ ด้วยการออกคำสั่งดังกล่าว แต่ทั้งนี้พบว่ามีการเพิกถอนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติด้วย (อ่านเพิ่มเติมกรณีนี้ : คนสระแก้วค้านเขตเศรษฐกิจพิเศษ หวั่นสูญเสียป่าอนุรักษ์ , คน 'เชียงของ' ต้านโค่นป่า 1,700 ไร่ สร้าง 'เขตเศรษฐกิจพิเศษ' ทหารพรานให้ปลดป้ายประท้วง และ คสช. ใช้ม.44 เพิกถอนป่าสงวน จ.ตาก 2,100ไร่ เตรียมให้เอกชนเช่าสิ้นปี)
อนึ่งเมื่อวันที่ 15 พ.ค.2558 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคำสั่ง ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 17/2558 เรื่อง "การจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ" อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 เร่งรัดกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งพื้นที่ที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยเพิกถอนสภาพที่ดินต่างๆ ให้ตกเป็นที่ราชพัสดุ มีการระบุแผนที่แนบท้ายคำสั่ง ดังนี้
ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก
ต.คำอาฮวน อ.เมืองมุกดาหาร จ.มุกดาหาร
ต.ป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว
ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ จ.ตราด
ต.สระใคร อ.สระใคร จ.หนองคาย
ที่ดินที่ตกเป็นที่ราชพัสดุตามคำสั่งนี้ และที่ดินอื่นที่คณะกรรมการกำหนดให้ใช้ประโยชน์ในการใช้เป็นพื้นที่พัฒนาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
ต.ป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว
ต.สำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา
เมืองหนองคาย จ.หนองคาย
อ่าน 'จับตา': “ขาใหญ่ที่ราชพัสดุ”
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5851
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ