ขาใหญ่ที่ราชพัสดุ

ทีมข่าว TCIJ 25 ต.ค. 2558 | อ่านแล้ว 2593 ครั้ง


จากนั้นในหลังสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 คำจำกัดความของ ‘ที่ดินราชพัสดุ’ เกิดขึ้นครั้งแรกในระเบียบการปกครองและจัดประโยชน์ที่ดินสิ่งปลูกสร้างราชพัสดุ พุทธศักราช 2485 ระบุว่า ‘ที่ดินราชพัสดุ’ หมายความว่า 1) ที่ดินซึ่งรัฐบาลปกครองใช้ในราชการอยู่ หรือสงวนไว้ใช้ในราชการภายหน้าและรัฐบาลได้เข้าใช้ประโยชน์แล้ว นอกจากที่ดินในความปกครองกรมรถไฟ ทางหลวงในความปกครองกรมโยธา เทศบาล และทรัพย์สินของจังหวัดตามมติคณะรัฐมนตรี และ 2) ที่สาธารณประโยชน์เลิกใช้ เช่น คู คลอง ถนน ทางหลวงต่าง ๆ ซึ่งมิใช้เพื่อการสาธารณประโยชน์แล้ว

ส่วนความหมายตาม พระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518  ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ระบุว่า ‘ที่ราชพัสดุ’ คือ อสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลประเภทหนึ่งนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 มาตรา 4 กำหนด ความหมายหรือ คำจำกัดความของ ‘ที่ราชพัสดุ’  ไว้ หมายความว่า อสังหาริมทรัพย์ อันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินทุกชนิด เว้นแต่ สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ดังต่อไปนี้ 1. ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืน หรือทอดทิ้ง หรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่นตามกฎหมายที่ดิน 2. อสังหาริมทรัพย์สำหรับพลเมือง หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ของพลเมือง ใช้ร่วม กันเป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ ส่วนอสังหาริมทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคล และขององค์การปกครองท้องถิ่นไม่ถือว่าเป็นที่ราชพัสดุ

บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด

ในหลาย ๆ โครงการการพัฒนาพื้นที่ราชพัสดุและอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ นั้นมักจะมีภาคเอกชนหรือบริษัทใหญ่ ๆ เข้าร่วมเป็น ‘กิจการคู่ค้า’ในโครงการลงทุนและแบ่งปันผลกำไร แต่รู้หรือไม่ว่ากรมธนารักษ์เองก็มีการจัดตั้งองค์กรที่แยกตัวออกมาบริหารแบบภาคเอกชน นั่นก็คือ "บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด หรือ" ธพส. 

โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2547 อนุมัติให้กระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์ ดำเนินการโครงการศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้กระทรวงการคลังได้จัดตั้งบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) ซึ่งมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 โดยกระทรวงการคลังถือหุ้น ร้อยละ 99.99 (เก้าสิบเก้าจุดเก้าเก้า) ของทุนจดทะเบียนของ ธพส . และให้กรมธนารักษ์เป็นหน่วยงานกำกับดูแล ธพส . ซึ่ง ธพส . จะทำหน้าที่ลงทุนก่อสร้างอาคาร และบริหารจัดการศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 รวมทั้งกิจการอื่นที่ต่อเนื่องกับการบริหารศูนย์ราชการ และพัฒนาทรัพย์สินอื่นของรัฐ ตามนโยบายที่รับมอบหมาย

ในเริ่มแรก ธพส . มีทุนจดทะเบียนจำนวน 258,338,120 (สองร้อยห้าสิบแปดล้านสามแสนสามหมื่นแปดพันหนึ่งร้อยยี่สิบ) บาท (ชำระแล้วเต็มจำนวน) โดยแบ่งออกเป็นหุ้นสามัญ ทั้งสิ้นจำนวน 25,833,812 (ยี่สิบห้าล้านแปดแสนสามหมื่นสามพันแปดร้อยสิบสอง) หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 10 (สิบ) บาท โดยกระทรวงการคลังถือหุ้นทั้งหมดเป็นจำนวน 25,833,810 (ยี่สิบห้าล้านแปดแสนสามหมื่นสามพันแปดร้อยสิบ) หุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 99.99 (เก้าสิบเก้าจุดเก้าเก้า) ของทุนจดทะเบียน

จากรายงานประจำปี 2557 ของ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ระบุว่าธพส. และบริษัทย่อยมีรายได้รวมในปี 2557 จำนวน 2,923.36 ล้านบาท ประกอบด้วย ดอกเบี้ยรับตามสัญญาเช่าการเงินจำนวน 1,158.07 ล้านบาท รายได้ค่าบริการโครงการศูนย์ราชการ จำนวน 861.52 ล้านบาท รายได้ค่าเช่าและค่าบริการพื้นที่ธุรกิจโครงการศูนย์ราชการ จำนวน 293.86 ล้านบาท รายได้ค่าก่อสร้างบ้านธนารักษ์ จำนวน 247.43 ล้านบาท รายได้ค่าบริการศูนย์ประชุมและโรงแรม จำนวน 101.71 ล้านบาท ดอกเบี้ยรับ จำนวน 181.26 ล้านบาท และรายได้อื่น จำนวน 79.52 ล้านบาท โดยรายได้รวมเพิ่มขึ้นจากปี 2556 จำนวน 299.54 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.42 ทั้งนี้รายได้ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ รายได้ค่าก่อสร้างบ้านธนารักษ์ ดอกเบี้ยรับ และรายได้อื่น ในปี 2556 ธพส. และบริษัทย่อยมีรายได้รวม จำนวน 2,623.82 ล้านบาท ประกอบด้วยดอกเบี้ยรับตามสัญญาเช่าการเงินจำนวน 1,164.64 ล้านบาท รายได้ค่าบริการโครงการศูนย์ราชการจำนวน 822.36 ล้านบาท รายได้ค่าเช่าและค่าบริการพื้นที่ธุรกิจโครงการศูนย์ราชการจำนวน 291.63 ล้านบาท รายได้ค่าก่อสร้างบ้านธนารักษ์ จำนวน 34.45 ล้านบาท รายได้ค่าบริการศูนย์ประชุมและโรงแรมจำนวน 158.33 ล้านบาท ดอกเบี้ยรับจำนวน 147.58 ล้านบาท และรายได้อื่นจำนวน 4.83 ล้านบาท โดยรายได้รวมเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 82.38 ล้านบาท จากปี 2555 คิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.24 ทั้งนี้รายได้ที่เพิ่มขึ้นที่สำคัญ ได้แก่ รายได้ค่าบริการโครงการศูนย์ราชการ รายได้ค่าก่อสร้างบ้านธนารักษ์ และรายได้ค่าบริการศูนย์ประชุมโรงแรม ในขณะที่รายได้ดอกเบี้ยรับตามสัญญาเช่าการเงิน ลดลงจากปี 2555 คิดเป็นร้อยละ 22.87

ค่าใช้จ่ายรวมในปี 2557 จำนวน 993.55 ล้านบาท ประกอบด้วย ต้นทุนค่าเช่าและค่าบริการโครงการศูนย์ราชการ จำนวน 511.41 ล้านบาท ต้นทุนค่าก่อสร้างบ้านธนารักษ์ จำนวน 245.44 ล้านบาท ต้นทุนบริการ ศูนย์ประชุมและโรงแรม จำนวน 50.00 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการบริหาร จำนวน 186.70 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้นจากปี 2556 จำนวน 46.45 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.90 ทั้งนี้ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้แก่ ต้นทุนค่าก่อสร้างโครงการบ้านธนารักษ์ และต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหาร ในขณะที่ต้นทุน ค่าเช่าและค่าบริการโครงการศูนย์ราชการ ลดลงจากปี 2556 จำนวน 168.97 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24.83 อนึ่งในปี 2557 ธพส. และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ จำนวน 366.64 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 เป็นจำนวน 252.98 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นกำไรของ ธพส. จำนวน 247.35 ล้านบาท และบริษัทย่อย จำนวน 119.29 ล้านบาท ในปี 2556 ค่าใช้จ่ายรวม จำนวน 947.09 ล้านบาท ประกอบด้วยต้นทุนค่าเช่าและค่าบริการโครงการศูนย์ราชการจำนวน 680.39 ล้านบาท ต้นทุนค่าก่อสร้างบ้านธนารักษ์จำนวน 32.17 ล้านบาท ต้นทุนบริการศูนย์ประชุมและโรงแรมจำนวน 69.92 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการบริหาร จำนวน 164.62 ล้านบาทโดยค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้นจากปี 2555 จำนวน 56.43 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.34 ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นที่สำคัญได้แก่ ต้นทุนบริการศูนย์ประชุมและโรงแรมจำนวน 40.26 ล้านบาท ต้นทุนค่าก่อสร้างบ้านธนารักษ์จำนวน 16.64 ล้านบาท และต้นทุน ค่าเช่าและค่าบริการโครงการศูนย์ราชการจำนวน 12.78 ล้านบาท เป็นต้น อนึ่งในปี 2556 ธพส.และบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินจำนวน 1,563.06 ล้านบาท ลดลงจากปี 2555 เป็นเงิน 89.06 ล้านบาท หรือคิดเป็นการลดลงร้อยละ 5.39 ส่งผลให้ในปี 2556 ธพส. และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 113.66 ล้านบาท

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 ธพส. และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมมีมูลค่าทั้งสิ้น 24,752.73 ล้านบาทลดลง จากปีก่อน จำนวน 107.20 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.43 ส่วนในด้านหนี้สินนั้น ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 ธพส. และบริษัทย่อยมีหนี้สินรวมมูลค่า 24,393.27 ล้านบาท โดยลดลงจากปี 2556 คิดเป็นร้อยละ 1.91

ทั้งนี้ในการชี้แจงต่อคณะอนุกรรมาธิการด้านการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน ในคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจการเงินและการคลัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2557 - มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา ของผู้แทนจากกรมธนารักษ์ต่อประเด็นการให้ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุโครงการสำคัญอื่น ๆ นั้น นายเอกวัฒน์ มานะแก้ว รองอธิบดีกรมธนารักษ์ ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าการจัดตั้งบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) มีวัตถุประสงค์ในเบื้องต้น คือ การดำเนินการสร้างและดูแลศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ซึ่งต่อมาได้มีแนวคิดที่จะเสริมศักยภาพให้กับ ธพส. ให้มีความเป็นมืออาชีพในการที่จะพัฒนาที่ราชพัสดุทั่วประเทศ โดยในขณะนี้มีบางส่วนที่ ธพส. ได้เข้ามามีส่วนรับผิดชอบในการดำเนินการไปแล้วคือ โครงการบ้านธนารักษ์ ซึ่งจัดสร้างเพื่อประโยชน์ในเรื่องสวัสดิการของข้าราชการ เช่น โครงการบ้านธนารักษ์นนทบุรี โครงการบ้านธนารักษ์เชียงใหม่ และโครงการบ้านธนารักษ์ภูเก็ต เป็นต้น แต่สำหรับโครงการดำเนินการพัฒนาที่ราชพัสดุที่สำคัญ ๆ อื่น ๆ ยังไม่ได้มีการพิจารณาหรือพูดคุยในเรื่องนี้แต่อย่างใด โดยกรมธนารักษ์ระบุว่าเนื่องจากจะต้องพิจารณาศักยภาพการดำเนินการของ ธพส. เป็นหลักด้วย (อ่านเพิ่มเติมในรายงาน: เปิดขุมทรัพย์ค่าเช่าที่ราชพัสดุ 5 ปี หนึ่งหมื่นเจ็ดพันล้าน พบหลัง รปห. ใช้ ม.44 รุกป่าเตรียมให้เอกชนเช่าอีกเพียบ)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: