เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 ไทยพีบีเอสรายงานว่า องค์กรแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี 2557-2558 ที่จัดขึ้นพร้อมกันทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย โดยรายงานในส่วนที่เกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยนั้น แอมเนสตี้ฯ ระบุว่าการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอ่อนแอลง มีการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและจับกุม "นักโทษทางความคิด" พร้อมกับเรียกร้องให้ยุติการใช้ศาลทหารเพื่อไต่สวนคดีต่อพลเรือน แก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ
แอมเนสตี้ฯ สรุปสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยว่า ความตึงเครียดทางการเมืองยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2557 ในขณะที่การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอ่อนแอ ความรุนแรงที่มีการใช้อาวุธยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในจังหวัดชายแดนใต้ มีการจำกัดอย่างเข้มงวดต่อเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคมและการชุมนุมอย่างสงบ ส่งผลให้มีการจับกุมโดยพลการต่อบุคคลจำนวนมาก หลายคนถือได้ว่าเป็นนักโทษทางความคิด"
ทั้งนี้รายงานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประจำปี 2557-2558 เป็นการรวบรวมสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนตลอดปี 2557 โดยให้ภาพรวมของ 5 ภูมิภาคและข้อมูลของแต่ละประเทศทั้งหมด 160 ประเทศและดินแดน
สำหรับประเทศไทย แอมเนสตี้ได้กล่าวถึงประเด็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนและข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย ดังนี้
11 ประเด็นสิทธิมนุษยชน
1) การขัดแย้งกันด้วยอาวุธในประเทศ - เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดภาคใต้และการปะทะทางการเมือง
2) การซ้อมทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย -กรณีการใช้กฎอัยการศึกควบคุมตัวบุคคล,การใช้ความรุนแรงของกลุ่ม กปปส.
3) การบังคับบุคคลให้สูญหาย - กรณีนายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ นักอนุรักษ์ชาวกะเหรี่ยงที่สูญหายไปจากการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
4) เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม - กรณีการประกาศใช้กฎอัยการศึกหลังการทำรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557, การจำกัดเข้มงวดต่อเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงล, การสั่งปิดเว็บไซต์และสถานีวิทยุชุมชน, การออกคำสั่งเซ็นเซอร์ห้ามไม่ให้สื่อวิพากษ์วิจารณ์ คสช.,การจัดกิจกรรมใดๆ ต้องขออนุญาตล่วงหน้า
5) การจับกุมและควบคุมตัวโดยพลการ - มีการจับกุมนักการเมือง นักวิชาการ ผู้สื่อข่าว นักกิจกรรม นักศึกษา โดยอ้างกฎอัยการศึก หลายคนถูกลงโทษในคดีอาญาเนื่องจากไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง มีการลงโทษคุมขังบุคคลโดยใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และผู้ถูกควบคุมตัวในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมักไม่ได้รับการประกันตัวในช่วงรอการไต่สวนและอุทธรณ์คดี
6) การไต่สวนคดีอย่างไม่เป็นธรรม - คสช.ออกประกาศขยายอำนาจของศาลทหารเพื่อให้มีการฟ้องร้องคดีต่อพลเรือนที่ขัดขืนคำสั่งคสช.ต่อศาลทหาร รวมทั้งความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์และความมั่นคงในประเทศ คำตัดสินของศาลทหารถือเป็นสิ้นสุด อุทธรณ์ไม่ได้
7) การลอยนวลพ้นผิด - ไม่มีการดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน
8) นักปกป้องสิทธิมนุษยชน - นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนหลายคนถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการเคลื่อนไหวที่ชอบด้วยกฎหมาย ถูกทำร้าย จับกุมและฟ้องคดี
9) การค้ามนุษย์ - รัฐบาลไทยบกพร่องอย่างต่อเนื่องในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั้งในรูปของแรงงานบังคับและการค้าบริการทางเพศ
10) ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิง - ไม่มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิที่จะมีที่พักพิง ทำให้ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงเสี่ยงที่จะถูกจับกุมและถูกส่งกลับ
11) โทษประหารชีวิต - ศาลมีคำสั่งลงโทษประหารชีวิตในช่วงปี 2557 แต่ไม่มีรายงานว่ามีการประหารชีวิต
31 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย
แอมเนสตี้ฯ ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยเพื่อให้แก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชน รวมทั้งหมด 31 ข้อ ประเด็นสำคัญ เช่น
-ปฏิรูปหรือยกเลิกกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ ในการแสดงความเห็น การรวมตัว การชุมนุมโดยสงบ
-ยุติการจับกุมและควบคุมตัวโดยพลการ ยุติการใช้ศาลทหารเพื่อไต่สวนคดีต่อพลเรือนว่ากรณีใดๆ
-แก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้สอดคล้องกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศและยกเลิกการอนุญาตให้บุคคลทั่วไปสามารถให้ฟ้องร้องบุคคลอื่นข้อหาละเมิดกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
-ยุติการเซนเซอร์เว็บไซต์ ถอนข้อกล่าวหาบุคคลใดๆ ที่ถูกดำเนินคดีเพียงเพราะใช้เสรีภาพในการแสดงออก
-ทบทวนวิธีควบคุมฝูงชนขณะเดินขบวนประท้วง เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามหลักสากลในการสลายฝูงชนและการใช้กำลัง
-ให้ประกันว่าจะมีการสอบสวนเจ้าหน้าที่ทันทีกรณีมีข้อร้องเรียนว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน และสั่งพักราชการขณะสอบสวน
-การปราบปรามผู้ประท้วงอย่างสงบต้องยุติทันที ต้องประกาศรายละเอียดบุคคลและสถานที่ควบคุมตัวอย่างชัดเจน
-สอบสวนอย่างอิสระและรอบด้านต่อข้อกล่าวหาการทรมานโดยเจ้าหน้าที่และเยียวยาและชดเชยแก่เหยื่อและครอบครัว
-แก้ไขกฎอัยการศึก/ยกเลิก แก้ไข ม.17 ที่ยกเว้นการฟ้องคดีเจ้าหน้าที่ ให้ผู้ที่ถูกควบคุมตัวเข้าถึงทนายความและญาติได้
-สืบหาและแจ้งให้ทราบถึงที่อยู่ของทนายสมชาย นีละไพจิตรและบุคคลที่ถูกบังคับสูญหายและนำผู้รับผิดชอบมาลงโทษ
-เคารพต่อหลักการไม่ส่งกลับ ประกันว่าไม่ส่งกลับหรือส่งไปยังประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง
-ให้สอบสวนกรณีบังคับขับไล่ชาวโรฮิงญา และประกันว่าจะนำตัวคนผิดมาลงโทษ ยุติควบคุมตัวผู้ลี้ภัยโดยไม่มีกำหนด
-ประกันว่าคนงานพลัดถิ่นจะได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมมีสภาพการทำงานที่ปลอดภัย ยุติการละเมิดต่อคนงานพลัดถิ่นทั้งกาค้ามนุษย์และรีดไถ
-ประกาศพักการประหารชีวิตในทางปฏิบัติโดยทันที แก้ไข กฎหมายลดจำนวนความผิดทางอาญาที่มีโทษประหารชีวิต
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ