แปลจาก Frans de Waal, “Who Apes Whom?,” The New York Times, September 15, 2015 http://www.nytimes.com/2015/09/15/opinion/who-apes-whom.html (accessed September 21, 2015)
Frans de Waal (ฟรานส์ เดอ วาล)[1]
การค้นพบสายพันธุ์ที่ชื่อว่า โฮโม นาเลดี (Homo naledi) อย่างเหลือเชื่อได้รับการยกย่องอย่างสมเหตุสมผลทั้งในแง่จำนวนและสภาพของซากฟอสซิลที่ค่อนข้างสมบูรณ์ มันมีสะโพกของสายพันธุ์ออสตราโลพิเตซีนและมีสมองขนาดเท่าเอป ทว่ากลับมีเท้าและฟันคล้ายคลึงกับสายพันธุ์ของมนุษย์
รูปลักษณ์ที่ผสมผสานกันของโครงกระดูกในยุคก่อนประวัติศาสตร์เหล่านี้ขัดแย้งกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับกำเนิดของมนุษย์ที่เรายอมรับกัน ที่มองว่าการเดินสองขานำไปสู่การเกิดขึ้นของเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงระบบเผาผลาญพลังงาน และสติปัญญาอันชาญฉลาด ลักษณะทางกายภาพส่วนหนึ่งของสายพันธุ์ใหม่พัฒนาล่าช้ากว่าแบบแผนข้างตน ขณะที่อีกส่วนหนึ่งกลับก้าวไปไกลกว่า เราจึงควรเรียกมันว่าเป็นสายพันธุ์แบบโมเสค (Mosaic species)
ถึงอย่างนั้น เราก็ชื่นชอบสิ่งใหม่มากกว่าสิ่งเก่า และทำราวกับว่าฟอสซิลทุกชิ้นจะต้องอยู่ ณ จุดใดจุดหนึ่งในสายธารประวัติศาสตร์ที่นำทางไปสู่จุดสูงสุดของการสร้างสรรค์ คริส สตริงเจอร์ (Chris Stringer) นักมานุษยบรรพชีวินวิทยาชื่อดังชาวอังกฤษ ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการขุดค้นครั้งนี้ ให้สัมภาษณ์กับ BBC ว่า “สิ่งที่เรากำลังเห็นกันอยู่คือสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าธรรมชาติได้ทำการทดลองว่ามนุษย์จะวิวัฒนาการขึ้นได้อย่างไร ดังนั้นจึงได้สร้างสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะคล้ายมนุษย์ในรูปแบบที่แตกต่างกันขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันในพื้นที่ต่างๆ ของทวีปแอฟริกา”
นี่เป็นทัศนคติที่เชื่อในเป้าหมายปลายทาง (teleological view) อย่างน่าประหลาดใจ สตริงเจอร์พูดราวกับว่ากระบวนการคัดสรรตามธรรมชาติกำลังมองหาผลลัพธ์บางอย่างอยู่ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่เช่นนั้น ธรรมชาติไม่ได้พยายามแสวงหาปลายทางอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับที่แม่น้ำมิได้พยายามมุ่งสู่มหาสมุทร
รายงานข่าวในที่ต่างๆ พูดถึง “บรรพบุรุษใหม่” หรือกระทั่ง “มนุษย์สายพันธุ์ใหม่” โดยมีสมมติฐานถึงขั้นบันไดที่มุ่งตรงมาสู่ตัวเรา ขณะที่สิ่งที่พบจริงๆ เมื่อลงไปศึกษาบรรพบุรุษของเรากลับเป็นกิ่งก้านสาขาที่พัวพันกันจนยุ่งเหยิง ไม่ใช่เรื่องดีเลยที่จะจัดลำดับให้โฮโม นาเลดี อยู่ในสาแหรกที่เป็นต้นกำเนิดของพวกเราเอง ขณะเดียวกัน สิ่งนี้ก็มิได้ทำให้การค้นพบน่าสนใจน้อยลงแต่อย่างใด
ทุกสายพันธุ์ในวงศ์ของเราล้วนบอกอะไรบางอย่างเกี่ยวกับตัวเราทั้งสิ้น เพราะวงศ์โฮโมนอยด์ (มนุษย์ เอป และทุกๆ สายพันธุ์ระหว่างนั้น) ต่างผูกพันกันอย่างแนบแน่นในทางพันธุกรรม เราแยกสายออกจากกันไม่นานเท่ากับสมาชิกของวงศ์อื่นๆ อีกหลายวงศ์ ไม่ว่าจะเป็นอีควิดส์ (ม้า ม้าลาย ลา) หรือแคนิดส์ (หมาป่า สุนัข หมาใน) หากไม่ใช่เพราะอีโก้ของมนุษย์ นักอนุกรมวิธานก็อาจรวมวงศ์โฮโมนอยด์ทั้งหมดให้อยู่ในสกุลเดียวกันไปตั้งนานแล้วก็ได้
เรื่องเล่าฉบับมาตรฐานบอกเราว่า แรกเริ่มเดิมที บรรพบุรุษของมนุษย์ทิ้งความเป็นเอปไว้เบื้องหลังก่อนกลายเป็นออสตราโลพิเทซีนซึ่งเจริญเติบโตอย่างซับซ้อนและชาญฉลาดขึ้นจนกลายเป็นเรา แต่จะเป็นอย่างไรหากขั้นตอนเหล่านี้เกิดผสมผสานกันในทางพันธุกรรม นักวิทยาศาสตร์บางคนเสนอว่าดีเอ็นเอของมนุษย์และเอปผสมกันในช่วงแรกๆ เป็นไปได้ไหมว่าหลังจากที่แยกสายออกมาแล้ว บรรพบุรุษของเรายังคงกลับไปหาเอป ทำนองเดียวกับที่หมีกริซลีกับหมีขั้วโลกยังคงผสมข้ามสายพันธุ์กันอยู่บ้างในทุกวันนี้
แทนที่จะเฝ้ามองหาอนาคตอันรุ่งโรจน์ วงศ์ของพวกเราอาจยังคงหลงใหลในอ้อมกอดอันรุงรังของบรรพบุรุษของตนเองอยู่ อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์บางคนปฏิเสธเรื่องการร่วมเพศข้ามสายพันธุ์และกล่าวถึงการแยกวงศ์ที่ไม่สมบูรณ์ ไม่ว่าจะทางไหน สิ่งที่ตกทอดมาเป็นเราก็ล้วนผสมผสานกันอย่างใกล้ชิด
ปัญหาก็คือเรายังคงทึกทักกันไปเองว่าต้องมีจุดใดจุดหนึ่งที่เรากลายเป็นมนุษย์ สิ่งนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้ในทำนองเดียวกับที่ไม่น่ามีจุดใดจุดหนึ่งบนความยาวคลื่นแสงที่สเปกตรัมของสีส้มกลายเป็นสีแดง ข้อเสนอทั่วๆ ไปว่ามนุษย์กลายเป็นมนุษย์ได้อย่างไรให้น้ำหนักกับก้าวกระโดดทางจิต (mental breakthrough) อันเป็นจุดประกายอันน่ามหัศจรรย์ที่ทำให้เราแตกต่างจากสิ่งอื่นอย่างถึงราก แต่ทว่าหากเราศึกษาหาความรู้ใดๆ ก็ตามจากงานวิจัยเกี่ยวกับชิมแพนซีและสัตว์ที่เฉลียวฉลาดชนิดอื่นๆ ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา เราจะพบว่ากำแพงที่กั้นขวางการรู้คิด (cognition) ของมนุษย์กับสัตว์อยู่นั้นไม่ต่างอะไรกับสวิสชีส[2]
นอกจากความสามารถทางภาษาแล้ว ไม่มีข้อเสนอเกี่ยวกับความพิเศษของมนุษย์อื่นใดที่อยู่รอดได้เกินทศวรรษโดยไม่ถูกหักล้าง คุณลองนึกดูก็ได้ ไม่ว่าการใช้เครื่องมือ การสร้างเครื่องมือเครื่องใช้ วัฒนธรรม การแบ่งปันอาหาร ทฤษฎีเรื่องจิต[3] การวางแผน ความเข้าอกเข้าใจ การใช้เหตุผลแบบอนุมาน (inferential reasoning) ทั้งหมดล้วนแต่พบได้ในไพรเมตป่า ยิ่งกว่านั้น คุณสมบัติหลายประการยังพบได้ในการทดลองที่ได้รับการควบคุมอย่างระมัดระวัง
ยกตัวอย่างเช่น เราทราบว่าพวกเอปวางแผนล่วงหน้าได้ พวกมันแบกเครื่องมือต่างๆ ในระยะทางไกลไปยังสถานที่ที่จะใช้เครื่องมือเหล่านั้น บางครั้งพวกมันขนกิ่งไม้ 5 กิ่งไปเพื่อใช้ทำลายรังผึ้งหรือแหย่รังมดที่อยู่ใต้ดิน ในห้องทดลอง เอปพวกนี้สร้างเครื่องมือต่างๆ โดยคาดว่าจะมีโอกาสได้ใช้ในอนาคต สัตว์คิดโดยปราศจากคำพูด เช่นเดียวกับที่พวกเราทำในหลายต่อหลายครั้ง
แม้การที่สมองของโฮโม นาเลดี มีขนาดเล็กโดยเปรียบเทียบจะกลายเป็นอุปสรรค แต่ทีมนักวิจัยยังไม่ละความพยายามในการระบุถึงลักษณะความเป็นมนุษย์ของสายพันธุ์ดังกล่าวด้วยการชี้ไปที่โครงกระดูกที่ถูกฝังอยู่ในถ้ำ แต่หากการเชื่อเช่นนั้นมีความหมายโดยนัยว่า มีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่โศกเศร้าเสียใจกับความตาย เราเองก็กำลังลากเส้นแบ่งระหว่างมนุษย์กับเอปเร็วเกินไป
ดูเหมือนเอปจะรู้สึกกระทบกระเทือนอย่างลึกซึ้งจากการตายของเอปตัวอื่นถึงขนาดที่พวกมันเลือกปลีกไปตัวอยู่เงียบๆ หาการปลอบประโลมจากเอปข้างๆ และหดหู่จนไม่กินอาหารไปหลายวัน เอปอาจจะไม่ฝังศพ แต่ดูเหมือนพวกมันจะเข้าใจดีเกี่ยวกับการไม่อาจย้อนคืนของความตาย หลังจากที่พวกมันใช้เวลาพักใหญ่กับการจ้องมองร่างไร้วิญญาณของมิตรสหาย บางคราวก็คอยทำความสะอาด[4] หรือพยายามปลุกร่างนั้นให้ฟื้นขึ้นมา พวกเอปก็ออกเดินทางต่อไป
เนื่องจากเอปมิได้อาศัยอยู่ที่ใดที่หนึ่งเป็นเวลานานนัก จึงไม่มีเหตุผลที่พวกมันจะปิดบังหรือฝังศพ แต่ถ้าหากพวกเอปอาศัยอยู่ในถ้ำหรือถิ่นฐานสักที่หนึ่ง พวกมันย่อมสังเกตได้ว่าซากศพดึงดูดสัตว์กินซากซึ่งบางตัวก็เป็นนักล่าที่อันตรายอย่างเช่น ไฮยีน่า การแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการกลบกลิ่นศพหรือย้ายศพไปไว้ที่อื่นไม่ใช่เรื่องเกินสมรรถภาพทางจิตของเอปแต่ประการใด
ข้อเสนอจากนักวิชาการบางคนที่มองว่าการจะฝังศพได้ต้องอาศัยความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตายเป็นเพียงการคาดการณ์เอาเท่านั้น จริงๆ แล้วเรายังไม่รู้ว่าโฮโม นาเลดี ฝังศพด้วยความห่วงหาอาทร หรือนำร่างเหล่านั้นไปทิ้งไว้ในถ้ำที่ห่างไกลออกไปเพื่อกำจัดโดยไม่มีพิธีรีตอง
เป็นความบังเอิญที่แปลกประหลาดตรงที่คำว่า นาเลดี หรือ "naledi" คือการสับเปลี่ยนพยัญชนะของคำว่า ปฏิเสธ หรือ "denial" พวกเราพยายามกันอย่างหนักในการปฏิเสธว่ามนุษย์ไม่ใช่เอปที่ได้รับการดัดแปลงมาอีกที การค้นพบโครงกระดูกเหล่านี้เป็นก้าวกระโดดครั้งสำคัญทางบรรพชีวินวิทยา ทำไมเราจึงไม่ฉวยโอกาสนี้ก้าวข้ามการยึดถือมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (anthropocentrism) และหันมาตระหนักถึงความคลุมเครือของการจำแนกแยกแยะสิ่งต่างๆ ภายในวงศ์วานที่กว้างใหญ่ของเราเอง มนุษย์คือส่วนผสมอันรุ่มรวยจากการปะติดปะต่อของสายพันธุ์ต่างๆ ไม่ใช่เพียงในทางพันธุกรรมและกายวิภาคเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในทางจิตใจด้วย.
[1] ฟราน เดอ วาล (FRANS de WAAL, 1948- ) เป็นนักไพรเมตวิทยาและนักพฤติกรรมวิทยา (ethologist) ชาวดัตช์
[2] เปรียบเทียบว่าถึงจะกั้นขวางไว้อย่างไร ก็ยังมีรูเล็กๆ ให้ลอดผ่านได้อยู่ดี พูดอีกอย่างคือกั้นขวางได้ไม่สมบูรณ์
[3] ความสามารถในการรับรู้ว่าตัวเองและคนอื่นๆ ที่ปฏิสัมพันธ์กับเราต่างก็มีความเชื่อ ความคิด ความรู้สึก ความปรารถนา
[4] การทำความสะอาดให้กันและกันในหมู่ไพรเมตไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อความสะอาดเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้าง รักษา และเยียวยาสายสัมพันธ์ในกลุ่มทางสังคมของตนเองด้วย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ