ไทยใช้จ่ายการศึกษาสูงสุดในภูมิภาค แต่ผลยังรั้งท้าย งบฯกว่าครึ่งเป็นเงินเดือนครู

26 พ.ค. 2558 | อ่านแล้ว 1758 ครั้ง


	ไทยใช้จ่ายการศึกษาสูงสุดในภูมิภาค แต่ผลยังรั้งท้าย งบฯกว่าครึ่งเป็นเงินเดือนครู

พบรายจ่ายการศึกษาไทยคิดเป็นร้อยละ 6.4 ของ GDP สูงสุดในภูมิภาคอาเซียน แต่คุณภาพการศึกษายังรั้งท้าย พบรายจ่ายกว่าร้อยละ 69 ถูกใช้ไปในด้านผลิตนักเรียนบัณฑิต ส่วนใหญ่เป็นเงินเดือนครู อาจารย์ ขณะที่เพียงร้อยละ 5 เป็นรายจ่ายเพื่อการพัฒนาสื่อ วิธีการเรียนการสอน (ขอบคุณภาพจากwww.qlf.or.th)

26 พ.ค. 2558 รศ.ดร.ชัยยุทธ์ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ เปิดเผยข้อมูลบัญชีรายจ่ายก้านการศึกษาของไทย จากการสัมนา Thailand Economic in Focus (TEF) จัดโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา พบว่า ในปี 2556 ประเทศไทยใช้จ่ายเพื่อการศึกษาเป็นมูลค่ากว่า 8 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.4 ของ GDP ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค แต่การพัฒนาคุณภาพของการศึกษากลับไม่น่าพอใจนัก

สาเหตุหลักคือเงินเหล่านี้ไม่ได้ถูกบริหารอย่างเหมาะสม โดยพบว่า ร้อยละ 69 ถูกใช้ไปในด้านผลิตนักเรียนบัณฑิต ส่วนใหญ่เป็นเงินเดือนครู อาจารย์ ซึ่งค่อนข้างสูง ขณะที่เพียงร้อยละ 5 เป็นรายจ่ายเพื่อการพัฒนาสื่อ วิธีการเรียนการสอน รวมถึงกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำ ซึ่งหมายความว่ายังคงมีการใช้จ่ายเพื่อกิจกรรมที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพค่อนข้างน้อย

อีกหนึ่งข้อค้นพบคือ รายจ่ายต่อหัวสำหรับนักเรียน คือ ประมาณ 53,000 บาท ต่อคนต่อปี ต้นทุนเฉลี่ยต่อหัวในการจัดการศึกษาโดยเอกชน ต่ำกว่าของรัฐประมาณร้อยละ 22 ทั้งนี้เพราะรัฐบาลดูแลโรงเรียนจำนวนวมากที่มีขนาดเล็กในพื้นที่ชนบท ซึ่งมีนักเรียนจำนวนน้อย ทำให้ต้องใช้ครูและผู้บริหารมากตามไปด้วย อีกทั้งนักเรียนที่เลือกเข้าโรงเรียนรัฐ ส่วนใหญ่มีฐานะยากจนกว่า โรงเรียนรัฐจึงมีภาระเพิ่มขึ้นในการอุดหนุนนักเรียนกลุ่มนี้

ครอบครัวที่ยากจน ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา เป็นสัดส่วนของรายได้ที่สูงกว่าครอบครัวที่มีฐานะรำ่รวย และปัญหาความยากจนปนสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กบางส่วนเลิกเรียนเสียกลางคัน ซึ่งหมายความว่าการใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือนักเรียนยากจนยังไม่ประสบความสำเร็จ

ทั้งนี้การแก้ไขระบบบริหารจัดการครูให้มีประสิทธิภาพ ประหยัด จึงเป็นหัวใจของการปฎิรูปทรัพยากร นอกจากนี้การปรับลดต้นทุนการบริหารส่วนกลางของระบบ โดยลดกิจกรรมที่ดำเนินการจากส่วนกลางไปให้โรงเรียนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการแทน ก็จะนำไปสู่การใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: