เปิดโมเดล’พื้นที่สาธารณะ’ที่เปลี่ยนไป เมื่อธุรกิจใช้กลยุทธ์สีเขียวล่อใจคนกรุง 

ปัญญารัชต์ ลือวานิช : TCIJ Scool รุ่นที่ 2 26 เม.ย. 2558 | อ่านแล้ว 5982 ครั้ง

รายงานการศึกษาของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP ระบุว่า ในปี 2557 มีประชากรโลกร้อยละ 54 เข้ามาอาศัยอยู่ในเขตเมือง คาดว่าในปี 2593 ประชากรโลกจะพุ่งสูงถึง 9.2 พันล้านคน (ปัจจุบันโลกมีประชากร 7 พันล้านคน) ใน ขณะที่ประชากรเมืองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 66 นั่นหมายความว่าจะมีประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองมากถึง 6.3 พันล้านคน

สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันมีประชากรเมืองร้อยละ 49 ของประชากรทั้งหมด และคาดว่าในปี 2593 ประเทศไทยจะมีประชากรเมืองมากถึงร้อยละ 73  เมื่อการกระจุกตัวของคนเมืองผนวกกับความซับซ้อนของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ฯ ปัญหาการพัฒนาเมืองอย่างกรุงเทพมหานครเพื่อให้ตอบโจทย์คุณภาพชีวิตจึงตามมา

พื้นที่สาธารณะคืออะไร ?

Jürgen Habermas นักสังคมวิทยาและนักปรัชญาชาวเยอรมัน ได้แสดงทัศนะไว้ว่า พื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ที่มีการรวมตัวของคนหลากหลายชนชั้น เป็นสถานที่ที่มีการไหลเวียนทางความคิด เปิดกว้างให้คนทุกกลุ่มทุกภาคส่วนได้ถกเถียงและแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับปัญหาสังคม เพื่อทำให้เกิดการแก้ปัญหา

จากยุคสังคมศักดินา พื้นที่สาธารณะเป็นเพียงพื้นที่ที่ใช้แสดงอำนาจของเหล่าอภิสิทธิ์ชน ในขณะที่ยุคศตวรรษที่ 17-18 พื้นที่สาธารณะกลายเป็นแหล่งระดมความคิด เป็นพื้นที่ต่อสู้ทางการเมืองของชนชั้นกลางที่เริ่มมีฐานะและยกตัวเองขึ้นมาเป็นพลเมือง โดยมีร้านกาแฟ โรงเหล้า เป็นสถานที่พบปะเพื่อโค่นล้มระบอบศักดินา เมื่อชนชั้นกลางได้รับชัยชนะ พื้นที่สาธารณะกลับกลายเป็นเครื่องมือที่ไร้ประโยชน์  ในปัจจุบัน ชนชั้นกลางจึงแปลงความหมายเดิมจากมิติสังคม-การเมือง ให้ตอบสนองมิติสังคม-เศรษฐกิจแทน เราจึงเห็นการเกิดขึ้นของพื้นที่สาธารณะในนิยามใหม่อย่างสวนสาธารณะ ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์ และสถานที่เพื่อพักผ่อนหย่อนใจ

กรุงเทพมหานคร เมืองแห่งศูนย์การค้า

เมื่อพื้นที่สาธารณะเปลี่ยนเข้าสู่มิติทางเศรษฐกิจ ศูนย์การค้าที่บริหารจัดการโดยเอกชนจึงถูกตั้งคำถามถึงความเป็นพื้นที่สาธารณะ ด้วยสถานที่ที่เป็นแหล่งรวมคน ผนวกกับสังคมที่เร่งรีบและการจราจรติดขัด ยิ่งทำให้คนเมืองต้องการ One Stop Service  ศูนย์การค้าจึงเข้ามาตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย ไม่ว่าจะใช้ชีวิต ทำงาน หรือพักผ่อน จนกล่าวได้ว่าศูนย์การค้าได้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะหลักของคนกรุงเทพฯ ไปแล้ว

ศูนย์การค้า เป็นรูปแบบหนึ่งของธุรกิจค้าปลีก โดยแบ่งออกเป็น 7 ประเภท คือ ศูนย์การค้า (Siam Paragon, Central World) ห้างสรรพสินค้า (Robinson) ซูเปอร์สโตร์มอลล์ (Big C, Tesco Lotus, Makro) คอมมูนิตี้มอลล์ (Villa Market, K Village)  สเปเชียลตี้สโตร์ (พาวเวอร์บาย, ซูเปอร์สปอร์ต, โฮมโปร) เอนเตอร์เทนเม้นท์ คอมเพล็กซ์ (Major Cineplex) และพื้นที่ค้าปลีกสนับสนุน

รายงานวิจัย พื้นที่ค้าปลีกในกรุงเทพมหานคร โดยฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุว่า ศูนย์การค้ามีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 59 ของตลาดพื้นที่ค้าปลีกทั้งหมด โดยที่ร้อยละ 27 ของศูนย์การค้าอยู่ในพื้นที่ใจกลางเมือง และร้อยละ 21 อยู่ในพื้นที่รอบใจกลางเมือง นอกจากนี้ยังมีศูนย์การค้าที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2558-2559 อีกหลายโครงการ

“เราต้องไม่สร้างแค่ช้อปปิ้งเซ็นเตอร์ แต่ต้องสร้าง ‘ย่าน’...” เป็นคำให้สัมภาษณ์ของศุภลักษณ์ อัมพุช  รองประธานกรรมการ  บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด และประธานกรรมการ บริษัท ดิ เอ็มโพเรี่ยม กรุ๊ป จำกัด  ซึ่งหมายถึงโครงการ ดิ เอ็ม ดิสทริค (The Em District) โครงการย่านการค้าที่รวมเอา 3 ศูนย์การค้ามาไว้ด้วยกัน  ด้วยพื้นที่ที่ดูเหมือนโอบล้อมรอบสวนสาธารณะอุทยานเบญจสิริเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของห้าง เพื่อยกระดับสุขุมวิทให้เหมือนกับย่าน SOHO New York หรือ Midtown ที่ Tokyo

ศุภลักษณ์ยังกล่าวเสริมอีกว่า “อีกหนึ่งความอลังการที่ต้องพูดถึงคือ การยกสวนธรรมชาติมาไว้บนชั้น 6 เพื่อให้ทุกคนในย่านนี้มีที่เดินเล่นสูดอากาศกลางกรุง เรียกว่า ควอเทียร์ วอเทอร์ การ์เดน เป็นสวนที่เต็มไปด้วยแมกไม้นานาพรรณ และน้ำตกสูง 40 เมตรที่ลดหลั่นลงมา” 

ในขณะที่อีกฟากฝั่งของกรุงเทพมหานคร การพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยาโดยเอกชนเป็นไปอย่างคึกคัก การผนึกกำลังของ สยามพิวรรธน์ (ผู้บริหาร สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์และสยามดิสคัฟเวอรี่) แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น และเครือเจริญโภคภัณฑ์ กับการสร้างโครงการขนาดใหญ่ที่มีเม็ดเงินลงทุนสูงสุดในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของไทยอย่าง ไอคอนสยาม (Icon Siam)

ชฎาทิพ จูตระกูล กรรมการผู้อํานวยการใหญ่ บริษัท สยามพิวรรธน์ จํากัด ให้สัมภาษณ์สื่อโทรทัศน์ในงานแถลงข่าวประชาสัมพันธ์โครงการว่า “ตลอด 10 กิโลเมตร ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เราจับมือกับธุรกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม 40 กว่าแห่ง ตลาดท่าเตียน ยอดพิมาน เอเชียทีค โครงการที่อยู่อาศัยคอนโดมิเนียมทั้งหลาย เราจะเอื้ออำนวยประโยชน์ซึ่งกันและกันทั้งทางด้านธุรกิจและการสัญจรไปมาเชื่อมต่อ เราไม่มีคู่แข่ง วันนี้เราทำเพื่อประเทศ เราจะผนึกกำลังกันเพื่อสร้างให้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็น Global Destination ให้คนทั้งโลกอยากมา”

ศูนย์การค้า-ศูนย์กลางเมือง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการลงทุนของเอกชนในโครงการขนาดใหญ่ ก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกทั้งยังทำให้โครงสร้างพื้นฐานอย่างระบบน้ำ ระบบไฟ ระบบการขนส่ง มารวมอยู่ที่เดียวกัน  เกิดการประหยัดจากการกระจุกตัว แต่การพัฒนาของกรุงเทพฯ ในอดีตเห็นได้ชัดว่า หากศูนย์การค้าไปสร้างตรงไหน ย่อมทำให้เกิดศูนย์กลางเมือง อาทิ การเกิดขึ้นของเซ็นทรัลลาดพร้าวในอดีต ที่ส่งผลทำให้เกิดพื้นที่อยู่อาศัยโดยรอบ ตามมาด้วยการจราจรติดขัดคับคั่ง

ผศ.ดร.พนิต ภู่จินดา อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า

“ในทางผังเมืองเรียกว่า ลำดับศักดิ์ของการให้บริการ ยกตัวอย่างเปรียบเทียบง่ายๆ ว่า ถ้าเป็นสถานบริการทางด้านสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้านสุดคือ สถานีอนามัย โรงพยาบาลตำบล อยู่ไกลบ้านคุณหน่อย แขนหัก เข้าเฝือก ทำการผ่าตัดเล็กๆ ได้ โรงพยาบาลอำเภอ เริ่มผ่าตัดใหญ่ได้ โรงพยาบาลประจำจังหวัด รักษาได้ทุกโรค ศูนย์การค้าก็เหมือนโรงพยาบาลจังหวัด คุณไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาลจังหวัด ถ้าคุณปวดหัวตัวร้อนเป็นไข้ แต่สภาพตอนนี้คือ สถานีอนามัยมันหายไปหมดแล้ว”

แม้ว่าศูนย์การค้าในระยะหลังๆ มองเห็นปัญหา มีความพยายามจะช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว หรือผลักดันให้เกิดความเชื่อมโยงกับสังคมมากขึ้น แต่ตอนนี้ยังไม่เจอจุดที่ลงตัว ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ยังคงมีปัจจัยหลักในการเป็นพื้นที่สาธารณะเชิงเศรษฐกิจและไม่สามารถตอบโจทย์ในเชิงสังคมได้เพียงพอ

“ถ้าเป็นวิถีที่ถูกต้อง วันธรรมดาคุณจะไม่เดินศูนย์การค้า เพราะศูนย์การค้าไม่ได้อยู่ใกล้บ้านคุณ เลิกงานคุณกลับบ้าน ใช้พื้นที่สาธารณะขนาดเล็กแถวบ้าน ซื้อสินค้าดำรงชีวิตประจำวันแถวบ้าน ในร้านค้าของคนรู้จัก แต่ของเราถูกรวบเข้าหาศูนย์การค้า คุณไปเดินไม่รู้จักใครทั้งนั้นในศูนย์การค้า แล้วคุณก็กลับไปบ้านสี่ทุ่ม ความเข้มแข็งของชุมชนก็หายไป การเรียกร้องการรวมตัวกันเพื่อให้ได้พื้นที่สาธารณะในชุมชนก็ไม่เกิด เพราะไม่มีใครใช้” ผศ.ดร.พนิต กล่าว

หนทางที่เป็นไปได้

เมื่อพื้นที่เมืองมีจำกัด ในขณะที่เอกชนลงทุนเม็ดเงินมหาศาลในโครงการ ทำอย่างไรให้ภาครัฐทำงานร่วมกับภาคเอกชน เพื่อพัฒนาสังคมไปพร้อมๆ กัน โดยใช้เครื่องมือการฟื้นฟูเมืองด้านกฎหมายและข้อบัญญัติ ใช้นวัตกรรมด้านความร่วมมือ การเงินและการลงทุนในการพัฒนา

โอโมเตะซันโด รปปงหงิ ฮิลล์  มหานครโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ใช้โมเดลการพัฒนา POPS: Private Owned Public Space ที่มีหลักการว่า ให้ภาคเอกชนอุทิศที่ดินในแปลงตัวเองเป็นพื้นที่สาธารณะ โดยที่ภาครัฐเข้าไปจัดการ วางผังต่อเนื่องให้เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อกัน ให้รัฐเข้าไปตั้งข้อกำหนดต่างๆ เช่น ห้ามกั้นรั้ว เปิดให้ประชาชนใช้งานได้ 24 ชั่วโมง เป็นต้น สิ่งที่ภาคเอกชนได้คือ สามารถสร้างอาคารได้สูงขึ้นและเอาส่วนนี้ไปลดภาษีได้

หรือมาตรการทางภาษี  เช่น มหานครปารีสชั้นใน พื้นที่ของมหานครมีความหนาแน่นสูงมาก มีความต้องการการใช้ที่ดินสูง มหานครใหญ่ๆ ของโลกจึงไม่อนุญาตให้คนมีบ้านเดี่ยว รัฐมีมาตรการเก็บภาษีต่อเจ้าของที่ดินบ้านเดี่ยวในอัตราที่สูง เพื่อให้นำมาสร้างเป็นอพาร์ทเมนต์ที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินคุ้มมากกว่า

เมื่อทั่วโลกมีแนวโน้มมุ่งเข้าสู่ความเป็นเมือง (Urbanization) มากขึ้น การขยายเมืองในแนวราบเริ่มไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เนื่องจากค่าใช้จ่ายต่อหัวประชากรเพิ่มขึ้นจากโครงสร้างพื้นฐาน การมีประชากรหนาแน่นทำให้เกิดความต้องการใช้ที่ดินสูง เมืองจึงเติบโตในแนวดิ่งมากขึ้น ทำให้พื้นที่ส่วนตัวน้อยลง ก่อให้เกิดพื้นที่สาธารณะมากขึ้น

สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันการควบคุมโดยผังเมืองยังไม่ชัดเจน การขยายตัวของเมืองจึงแผ่ออกไปในแนวราบ ความหนาแน่นของอาคารในตัวเมืองชั้นในมีค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับมหานครใหญ่ๆ ของโลก ถึงแม้จะมีกฏหมายเพื่อการฟื้นฟูเมืองอย่างชัดเจน เช่น ผังเมืองเฉพาะ พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.2518 หรือ TDR: Transfer Development Rights การโอนถ่ายสิทธิ์ในการพัฒนาที่ดินบางส่วนของที่ดินแปลงหนึ่งไปยังที่ดินอีกแปลงหนึ่ง เพื่อการอนุรักษ์หรือเพิ่มพื้นที่โล่งว่างที่จำเป็นในเมือง แต่ก็ไม่สามารถนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรมได้

“กฏหมายผังเมืองของไทยมีมาตรฐานเทียบเท่าสากล แต่ปัญหาคือผู้มีอำนาจไม่นำมาใช้ให้เกิดเป็นรูปธรรม เนื่องจากมีผลกระทบต่อคนหลากหลายกลุ่ม สู้อยู่เฉยๆ ดีกว่า” ผศ.ดร.พนิต กล่าว

หากกลไกทางกฏหมายจากภาครัฐไม่สามารถขับเคลื่อนให้เกิดพื้นที่สาธารณะสำหรับเมืองได้ กรุงเทพมหานครจะมีโอกาสในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะหรือไม่ ?

ที่มา : www.yannawariverfront.org

‘ริมน้ำยานนาวา’ โมเดลพัฒนาพื้นที่สาธารณะ

พื้นที่กรุงเทพชั้นในจากสะพานกรุงธนถึงสะพานกรุงเทพฯ พื้นที่ส่วนใหญ่ถือครองโดยเอกชน มีเพียง 3.5 กิโลเมตร จากระยะทางริมแม่น้ำ 24 กิโลเมตร ที่เป็นพื้นที่สาธารณะให้ผู้คนสามารถใช้ทำกิจกรรมต่างๆ ได้

ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อโทรทัศน์ว่า

“พื้นที่ที่เราทำอยู่จากสะพานสาทรถึงคลองกรวยระยะทาง 1.2 กิโลเมตร จำนวนกรรมสิทธิ์ที่ดินประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ เป็นของรัฐและศาสนสถาน เป็นแปลงที่ดินขนาดใหญ่เรียงต่อกัน เพราะฉะนั้นความซับซ้อนจึงมีน้อย อีกทั้งเป็นจุดที่ใกล้ดาวน์ทาวน์ และเป็นจุดตัดเดียวของระบบรางกับเรือ คนใช้ 30,000 คนต่อวัน รวมทั้งนักท่องเที่ยว”

กระบวนการพัฒนาของโครงการริมน้ำยานนาวา คือการสร้างหุ้นส่วนการพัฒนาระหว่างรัฐ เอกชน กับเจ้าของที่ดินแปลงย่อย โดยไม่ต้องเวนคืน เป็นโมเดลการพัฒนาที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และภาคียุทธศาสตร์ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคชุมชน มามีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนการร่วมหารือไปจนถึงการพัฒนาและการบริหาร หรือ PPCP: Public Private Community Partnership โดยคาดว่าจะสร้างเสร็จในปี 2560 ที่สำคัญโครงการนี้จะเป็นแม่แบบในการสร้างพื้นที่สาธารณะริมเจ้าพระยา

(ดูคลิปแสดงรายละเอียดโครงการริมน้ำยานนาวา ที่ https://www.youtube.com/watch?v=iSf293Rldfk และข้อมูลโครงการริมน้ำยานนาวาเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ http://www.yannawariverfront.org/ )

 “คุณภาพชีวิตของคนเมืองเป็นประเด็นที่คนให้ความสนใจ เพราะเทรนด์การอยู่อาศัย เปลี่ยนจากบ้านพร้อมสวน รถยนต์ ชานเมือง กลับมาอยู่ในเมืองมากขึ้น ความต้องการพื้นที่สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น มันถึงเวลาที่จะทำแล้ว ไม่อย่างนั้นก็จะมีแต่ห้าง สรรพสินค้าที่เป็นศูนย์กลางจิตใจของคนกรุงเทพฯ” ผศ.ดร.นิรมล กล่าว

ในยุคที่ที่ดินแทบทุกตารางวามีกรรมสิทธ์และถูกทำให้เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจจนหมด การเกิดขึ้นของพื้นที่สาธาณะในความหมายเดิม เป็นเรื่องยากสำหรับการพัฒนาเมืองยุคใหม่ แต่ไม่ว่าอย่างไร  พื้นที่สาธารณะทุกยุคสมัย ยังคงทำหน้าที่เพื่อให้เกิดการปะทะสังสรรค์ คนทุกกลุ่มทุกชนชั้นได้สัมผัสสัมพันธ์วิถีชีวิตของกันและกัน การได้มาซึ่งพื้นที่สาธารณะสักหนึ่งแห่งในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการแบบประชาธิปไตย เพื่อให้เกิดกติกาการบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกัน และเพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมด้วยกันมากขึ้น หากไม่มีพื้นที่สาธารณะก็ไม่มีสังคม  คนกรุงคงไม่ได้ต้องการพื้นที่สาธารณะในมิติเชิงเศรษฐกิจอย่างศูนย์การค้า เพียงอย่างเดียว

หากเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร เป็นแบบอย่างการพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่ผิดฝาผิดตัว แล้วหัวเมืองใหญ่ตามภูมิภาค จะรอดพ้นชะตากรรมเดียวกันนี้หรือไม่ ?

อ่าน 'จับตา': “พื้นที่สีเขียวในกรุงเทพมหานครฯ”  
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5526

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ 
www.facebook.com/tcijthai

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: