เกาะติดนิวเคลียร์ : ตามดู ก.พลังงาน ใช้งานพีอาร์ดัน‘โรงไฟฟ้านิวเคลียร์’

ทีมข่าว TCIJ 26 ก.ค. 2558 | อ่านแล้ว 2030 ครั้ง

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถือว่าเป็น “ของร้อน” สำหรับรัฐบาลเลือกตั้งมาทุกยุคทุกสมัย เพราะเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อความนิยมทางการเมืองโดยตรง  แต่หากสถานการณ์การเมืองมีความพิเศษขึ้นมาเมื่อใด โดยเฉพาะเมื่อประเทศมีรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง  ก็มักมีการหยิบยกเรื่องนี้กลับมาปัดฝุ่นทุกครั้ง และหลังการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเมื่อปี 2557 ความเคลื่อนไหวของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ดูเหมือนจะคึกคักขึ้นอีกครั้ง

เมื่อต้นปี 2558 ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานขยับเดินหน้า โดยมีความพยายามเดินสายจัดเวทีให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่เป้าหมายจังหวัดยุทธศาสตร์ 9 จังหวัด ที่คาดว่าจะเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี ชัยนาท ตราด ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ ชลบุรี และจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดที่มีอาณาเขตติดกับจังหวัดยุทธศาสตร์อีก 20 จังหวัด ได้แก่ ตาก ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ อุทัยธานี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี ลพบุรี จันทบุรี เพชรบุรี ระนอง กระบี่ ตรัง พัทลุง พิจิตร กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ ระยอง ฉะเชิงเทรา และพังงา

สอดคล้องกับข้อมูลจากแหล่งข่าวด้านพลังงานระบุว่าในเร็ววันนี้จะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกมาเพื่อรองรับกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในแผน PDP 2015 ก็ยังคงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไว้ปลายแผน จังหวะก้าวจากนี้ไปของการประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจกับประชาชนของรัฐเกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จึงมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง  

ทีมข่าว TCIJ จะขอพาย้อนไปดูผลการดำเนินการด้านสื่อสารสาธารณะและการยอมรับของประชาชน จาก แผนงาน "โครงสร้างพื้นฐานเพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์" ในอดีตเมื่อปี 2552-2553 ซึ่งมีวิธีการ ‘ล้อบบี้’ สื่อ-เอ็นจีโอ-สถานศึกษา เข้าไปเกี่ยวข้องในการดำเนินการให้ประชาชนยอมรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ในอดีตว่ามีวิธีการใดบ้าง 

แผนงานโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ 14 โครงการ 122 ล้าน

จาก อกสาร องค์ความรู้เรื่อง "การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศไทย" โดย คณะทำงานจัดการความรู้ สนพ. พ.ศ. 2553 ระบุว่าเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2552 คณะอนุกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้มีมติเห็นชอบจัดสรรเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานถึง 122 ล้านบาท ให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน หรือ สนพ. แผนงาน "โครงสร้างพื้นฐานเพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์"  ปีงบประมาณ 2552 จำนวน 14 โครงการ ดังนี้

1. โครงการศึกษาและปรับปรุงกฎหมายด้านความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ระดับสากล พันธกรณีทางนิวเคลียร์ต่าง ๆ เปรียบเทียบกับกฎหมายไทยในปัจจุบัน 2. โครงการศึกษาและจัดทำแผนงานด้านโครงสร้างอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ 3. โครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กลุ่มกฎหมายและการกำกับดูแล 4. โครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กลุ่มสื่อสารสารธารณะและการยอมรับของประชาชน 5. โครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและผลกระทบเชิงพื้นที่ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ 6. โครงการจัดหาที่ปรึกษาเพื่อศึกษาแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยเพื่อรองรับการจัดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ 7. โครงการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ 8. โครงการพัฒนาเว็บไซต์เพื่อส่งเสริมการให้ความรู้ด้านพลังงานนิวเคลียร์ 9. โครงการผลิตข่าวสารนิวเคลียร์ 10. โครงการส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมและสนับสนุนกิจกรรมกลุ่มสื่อมวลชนสัมพันธ์ กลุ่มรัฐกิจสัมพันธ์และกลุ่มสตรีและแม่บ้าน 11. โครงการจัดทำสื่อเพื่อการรณรงค์และเผยแพร่องค์ความรู้ความเข้าใจพลังงานนิวเคลียร์ 12. โครงการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมประชาชน 13. โครงการส่งเสริมสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้ด้านพลังงานนิวเคลียร์ร่วมกับองค์กรเอกชนและองค์กรสาธารณะต่าง ๆ 14. โครงการจัดตั้งสำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์

โครงการที่น่าสนใจก็อาทิเช่น “โครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กลุ่มสื่อสารสารธารณะและการยอมรับของประชาชน” ที่ตั้งวงเงินไว้ที่ 11 ล้านบาท และได้จ้างสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นวงเงิน 11 ล้านบาท โดยเอกสารสรุปความคืบหน้าในปี 2552 ระบุถึงการดำเนินงานว่ามีการอบรมและเสวนา ด้านการสื่อสารสาธารณะและความรู้ความเข้าใจด้านโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ไปแล้ว 7 รุ่น มีการคัดเลือกผู้เข้าร่วมอบรมและเสวนาไปดูงานด้านสื่อสารสาธารณะที่ประเทศญี่ปุ่น “โครงการส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมและสนับสนุนกิจกรรมกลุ่มสื่อมวลชนสัมพันธ์ กลุ่มรัฐกิจสัมพันธ์และกลุ่มสตรีและแม่บ้าน” ที่ตั้งวงเงินไว้ที่ 8 ล้านบาท ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในวงเงิน 7.995 ล้านบาท เอกสารสรุปความคืบหน้าในปี 2552 ระบุถึงการดำเนินกิจกรรมว่า กลุ่มสตรีแม่บ้านจัดสัมมนาไป 3 ครั้ง, กลุ่มรัฐกิจ จัดสัมมนาแก่กรรมาธิการวุฒิสภา 2 ครั้ง, กลุ่มสื่อมวลชนสัมพันธ์ ได้พบปะ สังสรรค์ จำนวน 3 ครั้ง กับ นสพ.ไทยรัฐ นสพ.สยามรัฐ และ นสพ. โพสต์ทูเดย์ และได้จัดกิจกรรมพาผู้สื่อข่าวเยี่ยมชมการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ที่เมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน

ส่วน “โครงการส่งเสริมสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้ด้านพลังงานนิวเคลียร์ร่วมกับองค์กรเอกชนและองค์กรสาธารณะต่าง ๆ” ที่ตั้งวงเงินไว้ 10 ล้านบาท และได้จ้างมูลนิธิสร้างสุขชุมชน ในวงเงิน 9.995 ล้านบาท นั้นเอกสารสรุปความคืบหน้าในปี 2552 ระบุว่าได้มีการดำเนินการให้ความรู้แก่ประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ รวม 6 ครั้ง และดำเนินการสัมมนาร่วมกับวุฒิสภา 1 ครั้ง [อนึ่งในเดือนธันวาคม ปี 2553 (ซึ่งหมดระยะเวลาดำเนินงานในรอบงบประมาณปี 2552 ไปแล้ว) ข้อมูลจากเว็บไซต์ maemoh.egat.com ระบุว่ามูลนิธิสร้างสุขชุมชนได้ร่วมกับกองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้าจังหวัดลำปาง ดำเนินโครงการประชาสัมพันธ์และพัฒนาเครือข่ายวิทยุชุมชนคนพลังงาน โดยการจัดเสวนาเรื่อง การสร้างความรู้ความเข้าใจด้านพลังงาน ให้แก่สื่อวิทยุกระจายเสียงและสื่อวิทยุชุมชนในพื้นที่จังหวัดลำปาง จำนวน 57 สถานี โดยมีนายวิวัฒ เมธีวรรณกิจ ปลัดจังหวัดลำปาง เป็นประธานในการเปิดเวทีเสวนา วิทยากรประกอบด้วยที่ปรึกษาสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน, ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ และผู้อำนวยการฝายการผลิตโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เป็นวิทยากร โดยผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะระบุในเวทีนั้นว่า "ปัจจุบันโรงไฟฟ้าถ่านหินมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพสูง เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แม้กระทั่งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็มีความปลอดภัยที่ได้มาตรฐาน ต่างชาติให้การยอมรับ ในส่วนของประเทศไทย เชื้อเพลิงในการผลิตไฟ ไม่ว่าจะเป็นถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติกำลังจะหมดลงไป ต้องหาพลังงานใหม่ที่นำมาใช้ทดแทนได้ ชุมชนจึงต้องร่วมคิดร่วมตัดสินใจ เพื่อให้ได้แหล่งพลังงานที่ยั่งยืน มั่นคง เพื่ออนาคตของคนรุ่นลูกรุ่นหลาน จึงอยากให้สื่อมวลชนกระจายความรู้ ความเข้าใจในวันนี้ ถ่ายทอดไปสู่คนในชุมชนต่อไป"]

(ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก http://maemoh.egat.com/index_maemoh.php?content=news&topic=1327)

กิจกรรมของมูลนิธิสร้างสุขชุมชนในการการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านพลังงานที่ จ.ลำปาง เมื่อปี 2553

กางแผนงานด้านสื่อสารสาธารณะและการยอมรับของประชาชน

เมื่อเจาะลงไปเฉพาะ “แผนงานด้านสื่อสารสาธารณะและการยอมรับของประชาชน” ซึ่งเป็นแผนงานที่สำคัญที่จะช่วยผลักดันด้านบวกของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ต่อสาธารณะชนนั้น พบว่าคณะอนุกรรมการฯ ได้เผยถึงโครงการที่น่าสนใจต่าง ๆ ไว้ในบันทึกการประชุมติดตามความคืบหน้าของการดำเนินโครงการต่าง ๆ 8 ครั้ง เมื่อปี 2552 ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

เหล่านี้จะเห็นได้ว่าเทคนิคการ “ล็อบบี้” ในอดีตของกระทรวงพลังงานนั้น “ผู้เล่น” ที่สำคัญนอกจากบริษัทด้านพีอาร์ประชาสัมพันธ์หรือบริษัทรับทำวิจัยแล้ว หน่วยงานภาครัฐอย่างสถาบันการศึกษา สื่อมวลชน และองค์กรพัฒนาเอกชน ก็เป็นหนึ่งในหมากที่กระทรวงพลังงานพยายามดึงมามีส่วนร่วม ผ่านการจ้างเป็นที่ปรึกษาให้ทุนทำโครงการต่าง ๆ ในการผลักดันภาพลักษณ์แง่ดีของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ต่อสาธารณะ

และดังที่กล่าวไปในข้างต้นว่าจังหวะก้าวจากนี้ไป หลังจากประกาศจังหวัดยุทธศาสตร์ 9 จังหวัด ที่คาดว่าจะเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กอปรกับการที่แผน PDP ฉบับใหม่ของประเทศไทยก็ยังคงให้มีไว้ซึ่งพลังงานไฟฟ้าจากนิวเคลียร์อยู่ รวมทั้งข้อขัดแย้งระหว่างรัฐกับพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่นับวันรุนแรงเข้มข้น  จนแม้นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เอ่ยปากต่อสาธารณะว่าอาจหาทางออกด้วยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์  จึงน่าจับตาว่ากระทรวงพลังงานจะเดินหน้าใช้วิธีการเดิม ๆ เช่นในอดีตมา“ล็อบบี้” หรือไม่ ? และสถาบันการศึกษา สื่อมวลชน และองค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มใดบ้างที่จะเข้าไปร่วมสังฆกรรมในครั้งนี้

อ่าน 'จับตา': “รัฐบาลทหารปลุกผีนิวเคลียร์ “จาก คมช. 2550 ส่งไม้ต่อ คสช. 2558””  
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5699

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: