จำนวนผู้ลี้ภัยในประเทศไทย

26 ม.ค. 2558 | อ่านแล้ว 4698 ครั้ง


จากข้อมูลปลายปี 2556 ประเทศไทยได้ให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวพม่ามากกว่า 128,000 คน เป็นผู้ลี้ภัยที่ได้รับการลงทะเบียนแล้ว 77,913 คน และมีผู้ขอลี้ภัยอีก 13,000 คน ซึ่งได้หนีภัยความขัดแย้งภายในประเทศพม่าข้ามชายแดนตะวันออกของประเทศที่บริเวณชายแดนไทย-พม่ามายังฝั่งไทยต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 30 ปี   ซึ่งส่วนมากเป็นชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยงและกะเหรี่ยงแดง (กะยาห์)

ผู้ลี้ภัยเหล่านี้อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย หรือพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่งใน 4 จังหวัดตามแนวชายแดนในประเทศไทย ค่ายเหล่านี้ได้รับการดูแลจากรัฐบาลไทย ผู้ลี้ภัยได้รับความช่วยเหลือขั้นพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร ที่พักอาศัย ยารักษาโรค และการให้การศึกษาซึ่งดำเนินการโดยองค์กรพัฒนาเอกชน

ในขณะที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติได้ร่วมทำงานในค่ายเหล่านี้โดยเน้นหนักไปที่กิจกรรมการคุ้มครองเพื่อทำให้ผู้ลี้ภัยได้อยู่อาศัยอย่างปลอดภัยในค่าย ตลอดจนเป็นการทำงานเพื่อสังคม และให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ในทางการเมือง ทั้งนี้กฎบัตรและมติขององค์การสหประชาชาติได้มอบหมายให้สำนักงานฯ ทำงานเพื่อให้ความคุ้มครองระหว่างประเทศ และค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ถาวรสำหรับผู้ลี้ภัยและบุคคลอื่น ๆ ในความห่วงใย

ยูเอ็นเอชซีอาร์เริ่มดำเนินการในประเทศไทยโดยคำเชิญของรัฐบาลไทยในปีพ.ศ. 2518 สืบเนื่องมาจากสถานการณ์ผู้ลี้ภัยนับแสนคนจากประเทศกัมพูชา ลาว และเวียดนามอพยพเข้ามาในประเทศไทย ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยในภูมิภาคอินโดจีน ช่วงเวลานั้น มีผู้ลี้ภัยกว่า 1.3 ล้านคนอยู่ในความดูแลของรัฐบาลไทยเป็นเวลาหลายปี

ประเทศไทยมิได้เป็นภาคีสมาชิกกับอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยปี พ.ศ. 2494 และพิธีสารปี พ.ศ. 2510 อีกทั้งยังไม่มีกฎหมายที่ยอมรับการเข้ามาของผู้ขอลี้ภัย ดังนั้นผู้ลี้ภัยต้องปฏิบัติตามกฎหมายการตรวจคนเข้าเมืองดั่งเช่นชาวต่างชาติอื่น ๆ และภายใต้บริบทดังกล่าว ผู้ลี้ภัยสามารถถูกจับกุม กักกัน และเนรเทศออกนอกประเทศได้

รัฐบาลไทยได้มีการบริหารจัดการสำหรับค่ายผู้ลี้ภัย โดยมีคณะกรรมการพิจารณาสถานภาพผู้ลี้ภัยระดับจังหวัดที่มีการจัดตั้งค่ายผู้ลี้ภัยอยู่นั้น เข้ามาทำการประเมินสถานะผู้ขอลี้ภัยจากประเทศพม่าก่อนที่จะทำการขึ้นทะเบียนผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการเพื่ออาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยได้ กระทรวงมหาดไทยและคณะกรรมการค่ายซึ่งบริหารจัดการโดยผู้ลี้ภัย เป็นหน่วยงานที่ดูแล และจัดการค่ายแบบวันต่อวัน ทั้งนี้ องค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) และหน่วยงานในระดับชุมชนได้ให้ความช่วยเหลือทางด้านอาหาร ที่พัก ยารักษาโรคและการศึกษาแก่ผู้ลี้ภัย รวมไปถึงผู้ขอลี้ภัยซึ่งมาใหม่และยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการด้วย ยูเอ็นเอชซีอาร์ได้แสดงบทบาทให้ความช่วยเหลือตลอดแนวชายแดนในปี พ.ศ. 2542 ทุกวันนี้ ยูเอ็นเอชซีอาร์มีสำนักงานอยู่ใน 4 จังหวัดซึ่งมีค่ายผู้ลี้ภัย ยูเอ็นเอชซีอาร์ติดต่อประสานงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ลี้ภัย เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานปฏิบัติการต่าง ๆ และรวมไปถึงผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในฐานะตัวแทนผู้ลี้ภัยเพื่อที่จะดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์การปกป้องคุ้มครองตามหลักสากล

ในปี พ.ศ. 2552 ยูเอ็นเอชซีอาร์ประเทศไทยได้เสนอผู้ลี้ภัยจำนวน 19,840 คนสำหรับการพิจาณาเข้าไปตั้งถิ่นฐานใหม่ และผู้ลี้ภัยจำนวน 16,828 ได้ออกเดินทางไปใช้ชีวิตใหม่ในประเทศต่าง ๆ เป็นจำนวน 9 ประเทศแล้ว ในปี พ.ศ. 2553 ยูเอ็นเอชซีอาร์มุ่งหวังที่จะเสนอผู้ลี้ภัยประมาณ 10,000 คนสำหรับการพิจารณาเข้าไปตั้งถิ่นฐานใหม่

 

ที่มา

ยูเอ็นเอชซีอาร์

ขอบคุณรูปภาพจาก http://www.manager.co.th/

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: