ในอดีตนั้นการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan - PDP) มักจะมีข้อวิจารณ์จากทั้งนักวิชาการและองค์กรภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวด้านพลังงานไฟฟ้า ว่ามีการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า (Load Forecast) สูงไปกว่าความเป็นจริงมาก ซึ่งจะทำให้แผน PDP นั้นๆ มีการวางแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการ มากกว่าความจำเป็น ซึ่งจะทำให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าเหลือเป็นปริมาณสำรองในสัดส่วนที่สูง เป็นการลงทุนโรงไฟฟ้าเกินความจำเป็น และกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าอนาคต รวมทั้งทำให้เกิดแรงต้านจากประชาชนในพื้นที่ที่จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานเปิดเผยถึงความคืบหน้าในการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ PDP 2015 ที่จะเริ่มใช้ในปี พ.ศ.2558-2579 ในส่วนแรกซึ่งเป็นการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าของประเทศไทย โดยคณะอนุกรรมการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้านั้นได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วเมื่อต้นเดือนมกราคม 2557
ความต้องการไฟฟ้าลดเหตุปรับลด GDP และใช้แผนอนุรักษ์พลังงานเต็มศักยภาพ
ประเด็นสำคัญของการพยากรณ์ครั้งนี้ พบว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าเมื่อสิ้นสุดแผน PDP 2015 จะลดต่ำลงจากแผน PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 เป็นอย่างมาก โดยผลจากการคำนวณของคณะอนุกรรมการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าเมื่อเทียบกัน ณ ปี พ.ศ.2573 (ในกรณี BASE EE 100%) เดิมแผน PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ได้ผลลัพธ์การใช้ไฟฟ้าที่ 346,767 ล้านหน่วย ส่วนแผน PDP 2015 ได้ผลลัพธ์การใช้ไฟฟ้าที่ 291,519 ล้านหน่วย ลดลงถึง 55,248 ล้านหน่วย ลดลงถึงร้อยละ 15.9 หรือเมื่อเทียบเป็นเมกะวัตต์จะลดลงถึง 7,832 เมกะวัตต์ (ณ ปี พ.ศ.2573) และเมื่อสิ้นสุดแผน PDP 2015 ณ ปี พ.ศ.2579 ผลลัพธ์ค่าพยากรณ์พลังไฟฟ้ารวมสุทธิจะอยู่ที่ 49,655 เมกะวัตต์เท่านั้น ซึ่งก็ยังน้อยกว่าแผน PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ณ ปี พ.ศ.2573 ผลลัพธ์ค่าพยากรณ์พลังไฟฟ้ารวมสุทธิจะมีถึง 52,256 เมกะวัตต์เลยทีเดียว
โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตัวเลขการพยากรณ์ลดลงไปมาก ก็เนื่องจากมีการปรับตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) เฉลี่ยทั้งแผนลดลงจากเดิมร้อยละ 4.41 ในแผน PDP 2010 ลงเหลือแค่ร้อยละ 3.94 ในแผน PDP 2015 รวมทั้งการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานที่คาดว่าจะประหยัดได้จากแผนอนุรักษ์พลังงาน (EEDF) ขึ้นเป็นร้อยละ 74 จากเดิมที่แผน PDP 2010 นำมาใช้ในการคิดคำนวณแค่ประมาณร้อยละ 20 เท่านั้น
เป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานในปี พ.ศ. 2558-2579
มาตรการ |
ที่อยู่อาศัย |
อุตสาหกรรม |
อาคารธุรกิจ |
ภาครัฐ |
รวม |
1. การจัดการโรงงานและอาคารควบคุม |
- |
10,598 |
8,657 |
- |
19,255 |
2. มาตรการพลังงานในอาคาร |
- |
- |
16,185 |
- |
16,185 |
3. มาตรการประสิทธิภาพอุปกรณ์ |
9,528 |
7,030 |
9,707 |
- |
26,265 |
4. มาตรการสนับสนุนด้านการเงิน |
- |
9,893 |
6,675 |
- |
16,568 |
5. มาตรการส่งเสริม LED |
3,288 |
3,236 |
4,098 |
777 |
11,399 |
รวม (GWh) |
12,816 |
30,757 |
45,322 |
777 |
89,672 |
ที่มา: กระทรวงพลังงาน, มกราคม 2558
ในด้านสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิง สำหรับแผน PDP 2015 จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วง 11 ปีแรกของแผน มีกรอบประมาณการสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติลดลงเหลือร้อยละ 45-50, ถ่านหินสะอาดเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20-25, เพิ่มการซื้อไฟจากต่างประเทศ สัดส่วนร้อยละ 15-20 และพลังงานทดแทนร้อยละ 10-15
ส่วนช่วง 10 ปีหลังสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติลดลงมาเล็กน้อยที่ร้อยละ 40-45, ถ่านหินสะอาดเท่าเดิม ร้อยละ 20-25, ซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ สัดส่วนร้อยละ 15-20, พลังงานทดแทนร้อยละ 15-20 และพลังงานนิวเคลียร์ สัดส่วนร้อยละ 5 ซึ่งจะอยู่ท้ายแผน (ปี พ.ศ.2576-79) ประมาณ 2,000 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ ตามแผน PDP2015 ได้กำหนดเบื้องต้นการจัดหาไฟฟ้าจะมาจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ครึ่งหนึ่งและจากโรงไฟฟ้าภาคเอกชนอีกครึ่งหนึ่ง ซึ่งอาจจะมาจากโครงการของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่หรือ IPP (Independent Power Producer-IPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กหรือ SPP (Small Power Plant-SPP) แต่ยังไม่ได้กำหนดรายละเอียดชัดเจน เพราะแผนอาจจะปรับปรุงได้ตลอดหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลง รวมทั้งต้องคำนึงถึงปริมาณสำรองไฟฟ้าให้อยู่ในระดับเหมาะสมที่ร้อยละ 15 ของกำลังการผลิตรวม
คาดอัตราการสร้างโรงไฟฟ้าน้อยลง ด้านธุรกิจพลังงานดิ้นหวั่นโดนหั่นยอดรับซื้อไฟฟ้า
สำหรับกระบวนการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าของแผน PDP 2015 นี้ พบว่า ได้ผลลัพธ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงจากเดิม จึงทำให้ความจำเป็นที่จะต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่มีสัดส่วนลดลงด้วย ขณะที่โครงการที่ถูกกำหนดเอาไว้ในแผน PDP 2010 ก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีการเจรจาให้เลื่อนกำหนดการจ่ายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์หรือ COD ออกไปเพื่อไม่ให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด
โดยโครงการสำคัญที่คาดว่าจะต้องมีการขอเจรจาเพื่อให้เลื่อนกำหนดการจ่ายไฟเข้าระบบออกไป คือโครงการของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ของกลุ่มบริษัท กัลฟ์ จำนวน 5,000 เมกะวัตต์ โดยในแผน PDP 2010 นั้น บริษัท กัลฟ์ เอส อาร์ ซี จำกัด จะต้องเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตั้งแต่ปี 2564-2567 ปีละ 1,250 เมกะวัตต์ ซึ่งสถานะ ณ ปัจจุบันยังคงมีความคลุมเครือว่าจะสามารถเจรจาให้เลื่อนออกไปอย่างไร อาจต้องรอความชัดเจนจากผู้กำหนดนโยบายให้กระทรวงพลังงาน รวมทั้งความชัดเจนของแผน PDP 2015 นี้
เช่นเดียวกับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก เมื่อต้นเดือนมกราคม 2558 ที่ผ่านมาสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนได้ออกมาเรียกร้องรัฐบาลให้พิจารณาบรรจุแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก ในแผน PDP 2015 ที่อยู่ระหว่างการจัดทำด้วย หลังจากได้ทราบข้อมูลว่ามีการถอดการรับซื้อไฟฟ้า SPP ออกจากแผน ขณะที่แผน PDP ฉบับปัจจุบันมีสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ราวร้อยละ 10 นอกจากนี้ สมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนยังเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งตัดสินใจทำสัญญาการรับซื้อไฟฟ้าใหม่จาก SPP แบบพลังความร้อนร่วมภายในกลางปีนี้
โดยปัจจุบัน SPP มีสัญญาการซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ประมาณ 6,000 เมกะวัตต์ โดยกลุ่มแรกที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าประมาณ 1,800 เมกะวัตต์ จำนวน 25 โรง จะหมดสัญญาในช่วงปี 2560-2567 ขณะที่กลุ่มที่ 2 มีขนาดกำลังผลิตรวม 1,700 เมกะวัตต์ จะหมดสัญญาในช่วงปี 2568-2573 และกลุ่มที่ 3 มีขนาดรวม 3,500 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้า SPP แห่งแรกที่จะเริ่มหมดอายุสัญญาในปี 2560
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ตัวเลขการพยากรณ์ลดลงไปมาก
ก็เนื่องจากมีการปรับตัวเลขอัตรา
การเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) เฉลี่ยทั้งแผนลดลง
ทั้งนี้ SPP กลุ่มแรกได้เริ่มทยอยเจรจากับภาครัฐเพื่อขอทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าฉบับใหม่ทดแทนสัญญาชุดเดิมที่จะหมดอายุลง (SPP Replacement) แล้ว เนื่องจากการจะติดตั้งเครื่องจักรใหม่เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม รวมถึงการเจรจาจนกว่าจะได้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) น่าจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 ปีครึ่ง
เบื้องต้นได้มีการเจรจาขอทำสัญญาใหม่เป็นเวลา 25 ปี บนพื้นที่เดิม ซึ่งจะทำให้สามารถลดปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงลดต้นทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า โดยคาดว่าต้นทุนโรงไฟฟ้าขนาด 120-140 เมกะวัตต์ จะลดลงเหลือราว 4.5 พันล้านบาทต่อโครงการ จากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ที่ราว 5 พันล้านบาทต่อโครงการ และจะทำให้ราคาขายไฟฟ้าให้กับภาครัฐลดลงได้ราว 5-10 สตางค์/หน่วย จากปัจจุบันที่กลุ่ม SPP ขายไฟฟ้าเฉลี่ยให้กับภาครัฐราว 3.40 บาทต่อหน่วย
กระบวนการรับฟังประชาชนต้องติดตาม ‘รับฟัง’ หรือ ‘ตรายาง’
สำหรับกระบวนการต่อไปของการร่างแผน PDP 2015 นี้จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 หลังจากนั้นจะนำความคิดเห็นต่างๆ มาปรับปรุงแก้ไข ก่อนที่จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในเดือนมีนาคมและจะประกาศใช้เดือนเมษายน แต่กระนั้นกระทรวงพลังงานก็ระบุว่า แผน PDP 2015 แม้จะเป็นการวางแผนระยะยาว (พ.ศ.2558-2579) แต่ก็จะมีการทบทวนปรับปรุงให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและสถานการณ์เป็นระยะๆ
ทั้งนี้ ในอดีต กระบวนการวางแผน PDP ถูกมองว่ามีลักษณะที่รัฐเป็นผู้กำหนดแนวนโยบายที่ยึดแนวทางของรัฐบาลเป็นหลัก แต่ในขณะนี้สังคมไทยมีความซับซ้อนมากขึ้น มีความห่วงและความคาดหวังแตกต่างกันมากขึ้น จำเป็นที่กระบวนการต้องเปลี่ยนจากเดิม โดยให้สังคมหรือประชาชนเป็นผู้กำหนดแนวนโยบาย ซึ่งเป็นการวางแผนที่ได้ข้อสรุปในทางสาธารณะเทียบกันตอนนี้ซึ่งได้เพียงมติของหน่วยงานเท่านั้น
รวมทั้งที่ผ่านมาการรับฟังความคิดเห็นจากหลายภาคส่วนยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร มีการใช้กระบวนการที่รวบรัดเกินไป ทำให้ได้ข้อมูลจากด้านประชาชนไม่ครบถ้วนรอบด้าน ส่งผลให้ได้ข้อมูลไม่ครบถ้วนสำหรับใช้ในการพยากรณ์และทำให้ขาดความร่วมมือจากภาคประชาชนตั้งแต่ต้น จึงเป็นที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่งว่าในการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ การมีส่วนร่วมของประชาชนจะมีมากน้อยแค่ไหน หรือจะเป็นแค่ ‘เวทีตรายาง’ แบบที่แล้วๆ มา
อ่าน 'จับตา: Load Forecast คืออะไร' http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5340
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ