ใครคืออุยกูร์ จากมุมมองนักตะวันออกกลางศึกษา

ดันย้าล อับดุลเลาะ 28 ก.ค. 2558 | อ่านแล้ว 9118 ครั้ง


อุยกูร์ คือใคร

"อุยกูร์" เป็นกลุ่มเชื้อชาติในกลุ่มชาติพันธุ์"เตอร์กิช" หรือกลุ่มเชื้อชาติที่ใช้ภาษาตุรกี เช่นเดียวกับชาวตุรกีซึ่งก็ได้กระจัดกระจายไปพื้นที่ต่างๆ ในแถบเอเชียกลางบางประเทศก็อยู่เป็นชนกลุ่มน้อย แต่บางประเทศก็มีประชากรจำนวนมาก โดยเฉพาะในเขตปกครองซินเจียง-อุยกูร์ของจีน มีประชากรมากถึง 45% หรือ ประมาณ 10 ล้านคน ของประชากรในเขตปกครองซินเจียง-อุยกูร์

เขตปกครองตนเองซินเจียง-อุยกูร์อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ถือเป็นเขตปกครองตนเองที่ใหญ่ที่สุดในจีนหรือมีขนาด 1/6 ของพื้นที่ทั้งประเทศ โดยมีชายแดนติดกับ 8 ประเทศ คือ มองโกเลีย รัสเซีย คาซัคสถาน เคอร์ดิสถาน ทาจิกิสถาน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน และอินเดีย[1]

ชาติพันธุ์เตอร์กิซคือใคร

กลุ่มชนเตอร์กิก (อังกฤษ: Turkic peoples) เป็นกลุ่มชนยูเรเชียที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางตอนเหนือ กลาง และตะวันตกของยูเรเชียผู้พูดภาษาที่อยู่ในตระกูลภาษากลุ่มเตอร์กิก มีลักษณะวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์บางอย่างร่วมกัน คำว่า “เตอร์กิก” เป็นคำที่ใช้แทนกลุ่มชาติพันธุ์/ภาษา (ethno-linguistic group) ของชาติพันธุ์ของสังคมที่ยังคงมีอยู่ในปัจจุบันเช่นชาวอาเซอร์ไบจาน, ชาวคาซัคสถาน, ชาวตาตาร์, ชาวคีร์กีซ, ชาวตุรกี, ชาวเติร์กเมน, ชาวอุยกูร์, ชาวอุซเบกิสถาน, ชาวฮาซารา, และรวมทั้งประชาชนในรัฐและจักรวรรดิเตอร์กิกในอดีตเช่นฮั่น, บัลการ์, คูมัน, ชนอาวาร์, เซลจุค, คาซาร์, ออตโตมัน, มามลุค, ติมูริด และอาจจะรวมทั้งซยงหนู (Xiongnu)

กลุ่มภาษาเตอร์กิกเป็นกลุ่มของภาษาที่แพร่กระจายจากยุโรปตะวันออก ผ่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปถึงไซบีเรียและจีนตะวันตก และจัดเป็นส่วนหนึ่งของสมมติฐานตระกูลภาษาอัลไตอิก กลุ่มภาษานี้มีผู้พูดเป็นภาษาแม่ราว 180 ล้านคน ถ้ารวมผู้ที่พูดเป็นภาษาที่สองด้วยมีราว 200 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นผู้พูดภาษาตุรกี ซึ่งคิดเป็น 40%ของผู้พูดกลุ่มภาษานี้ทั้งหมด

เป็นเวลาหลายศตวรรษที่ผู้พูดกลุ่มภาษาเตอร์กิกได้เคลื่อนย้ายอย่างต่อเนื่อง และได้ติดต่อกับภาษาที่อยู่ใกล้เคียง ทั้งกลุ่มภาษาอิหร่าน กลุ่มภาษาสลาฟ และกลุ่มภาษามองโกเลียโดยทั่วไป กลุ่มภาษาเตอร์กิกแบ่งได้เป็น 6 สาขา คือ

  • กลุ่มภาษาตะวันตกเฉียงใต้ หรือกลุ่มภาษาโอคุซ
  • กลุ่มภาษาตะวันตกเฉียงเหนือ หรือกลุ่มภาษาเคียบชัก
  • กลุ่มภาษาตะวันออกเฉียงใต้ หรือกลุ่มภาษาอุยกูร์
  • กลุ่มภาษาตะวันออกเฉียงเหนือ หรือกลุ่มภาษาไซบีเรีย
  • กลุ่มภาษาโอคูร์
  • ภาษาอาร์คู

อาจรวมกลุ่มภาษาตะวันตกเฉียงใต้ กลุ่มภาษาตะวันตกเฉียงเหนือ กลุ่มภาษาตะวันออกเฉียงใต้ และกลุ่มภาษาโอคูร์เข้าเป็นกลุ่มภาษาเตอร์กิกตะวันตก ที่เหลือจัดเป็นกลุ่มภาษาเตอร์กิกตะวันออก ทางด้านภูมิศาสตร์และภาษาศาสตร์ จัดให้ กลุ่มภาษาตะวันตกเฉียงเหนือ กลุ่มภาษาตะวันออกเฉียงใต้รวมเป็นกลุ่มภาษาเตอร์กิกกลาง ส่วนกลุ่มภาษาตะวันออกเฉียงเหนือ และภาษาคาลาซจัดเป็นภาษาที่อยู่ที่ราบ[2]

ในอดีตกาลพรมแดนมิได้ถูกขีดเขียนและจัดสรรอย่างเจนดั่งเช่นปัจจุบัน การปกครองแบบรัฐชาติสมัยใหม่ทำให้ชาวอุยกูร์นั้นตกเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติสมัยใหม่ที่มีชื่อว่า จีน แม้จะมีข้อถกเถียงในประวัติศาตร์เกี่ยวกับการตกเป็นเมืองขึ้นต่อราชวงศ์ของจีนก็ตาม ทั้งนี้เป็นเพียงข้อเท็จจริงที่จะต้องหยิบเอามาพูด ถกเถียงต่อไปว่าทางออกควรจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้ เมื่อความแตกต่าง ทั้งศาสนา วัฒนธรรมภาษารวมไปถึงชาติพันธุ์ วามต่างเหล่านี้ รวมไปถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ได้ถูกนำไปโยงเข้าปสู่ความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ ที่ทุกรัฐให้ความสำคัญ ในเรื่องของอำนาจและการจัดการในรัฐของตน คือ เรื่องภัยความมั่นคง

ชาวอุยกูร์ทุกคนเชื่ออย่างมั่นคงว่าบรรพบุรุษของพวกตนคือชนพื้นเมืองในลุ่มน้ำทาริม ซึ่งครอบคลุมบริเวณกว้างถึงประมาณ 350,000 ตารางกิโลเมตร หรือคือมณฑลซินเจียง ในปัจจุบัน โดยดินแดนซินเจียงได้ตกเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีนตั้งแต่สองพันปีก่อนเป็นต้นมา 

พอมาถึงราชวงศ์ชิงรัฐบาลกลางของจีนได้แต่งตั้งนายพลอีหลีไปปกครองดินแดนซินเจียงทั้งหมดและเมื่อถึงปี 2427 เขตซินเจียงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นมณฑลก่อนที่เดือน ก.ย.2492 ซินเจียงได้รับการปลดแอกอย่างสันติจนกลายเป็นเขตบริหารระดับมณฑลที่มีอำนาจปกครองตนเองตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2492

ปัจจุบัน จีนแบ่งการปกครองออกเป็น มณฑล (23 มณฑลรวมไต้หวัน) เขตปกครองตนเอง (5 เขต) เทศบาลนคร (4เขต) และเขตบริหารพิเศษ (2 เขต)[3]

สำหรับซินเจียงอุยกูร์อยู่ในรูปแบบการปกครองแบบเขตปกครองตนเอง ใน 5 เขต ได้แก่เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน เขตปกครองตนเองหนิงเซียเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ และเขตปกครองตนเองทิเบต

เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์เป็นเขตที่ใหญ่ที่สุดในเขตปกครองตนเองทั้ง5 เขต

ศ.ดร.สุรชัยศิริไกร อาจารย์สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้สัมภาษณ์กับ "ทีม New Media PPTV HD" ว่าชาวอุยกูร์ที่จริงเป็นชาวเชื้อสายตุรกีเก่าอาศัยอยู่ที่เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์มาเป็นเวลานาน ร่วมกับชนเผ่าอื่นๆ อีก 10กว่าเผ่า แต่เผ่าอุยกูร์เป็นชนเผ่าที่ใหญ่ที่สุด

ที่ผ่านมามีรายงานว่าความที่ชาวอุยกูร์เป็นชนเผ่าขนาดใหญ่จึงมีคนบางกลุ่มต้องการแบ่งแยกดินแดน โดยมีความคิดที่จะตั้งสาธารณรัฐ เคอร์ดิสถานอุซเบกิสถานตะวันออก และมีการไปตั้งเป็นขบวนการลับอยู่ในตุรกี

"ขบวนการนี้มีมานานแล้วเป็นสิบๆปี แต่เริ่มมาตื่นตัวในช่วงที่มีการปฎิวัติมุสลิมภายในยุคหลังที่โซเวียตล่มสลาย อย่างที่เห็นได้ชัดเลยคือพวกชนเผ่าทั้งหลายของรัสเซียที่คิดแบ่งแยกดินแดน โดยเฉพาะใน เอเชียกลางก็ออกมาเป็นรัฐอิสระหมด บรรดาประเทศอาหรับทั้งหลายก็ไม่แปลกที่ซินเจียงจะอยากออกมาเป็นอิสระเช่นกัน จีนจึงจำเป็นต้องมีทหารราวๆ 1แสนคน ดูแลดินแดนเหล่านี้เหมือนกับที่ทิเบตที่จีนจัดวางกองกำลังทหารราว 1 แสนคนเพื่อดูแลป้องกันการแบ่งแยกดินแดน" ศ.ดร.สุรชัย กล่าว

3 ชนวนสำคัญซินเจียงลุกฮือแบ่งแยกประเทศได้แก่ ช่วงการปฏิวัติมุสลิมขึ้นในอิหร่าน 1979 กระแสเรื่องการล่มสลายของรัสเซียและเมื่อกลุ่มไอเอสต้องการตั้งรัฐอิสลามรวมถึงความไม่พอใจจีนที่พยายามผลักดันชาวฮั่นมาอยู่ในซินเจียงและบังคับให้ทุกคนเรียนภาษาจีน[4]

ข้อมูลจากจุลสารความมั่นคงศึกษาระบุว่าเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ในจีน อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือซินเจียงเป็นที่ตั้งของอาณาจักรโบราณ มาตั้งแต่เมื่อ 2,000 ปีก่อนเป็นจุดเชื่อมจีนเข้ากับเอเชียกลางและเอเชียใต้ซึ่งความเจริญถึงขีดสุดในยุคที่การค้าบนเส้นทางสายไหมรุ่งเรือง และศาสนาอิสลามได้เผยแพร่เข้ามาผ่านพ่อค้ามุสลิมดินแดนแถบนี้ตกเป็นของจีนมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16ในเวลานั้น ชาวฮั่นและชาวมุสลิมอยู่ร่วมกันอย่างสันติ แต่ต่อมาในศตวรรษที่ 18 จีนและรัสเซียแข่งขันกันแผ่อิทธิพลในเอเชียจีนจึงมีนโยบายเพิ่มความเข้มข้นในการปกครองซินเจียง[5]

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวอุยกูร์ต้องหลบหนี หรือที่เรียกว่าหนีตายจากบ้านเกิดของตนไปสู่ดินแดนอื่น เนื่องจากว่า การถูกกดขี่ ข่มเหง การริดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ซึ่งก็ไม่ต่างจากกลุ่มชนอื่นๆที่ต้องอพยพหลี้ภัยกันมากมายทั่วโลก เรียกได้ว่าเป็นเรื่องประเด็นปัญหาคลาสสคิกับความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ เช่น รัฐอิสราเอลกับปาเลสไตน์ อารอพยพของชาวโรฮิงญา เนื่องด้วยต้องหนีตาย จากบ้านเกิดไปสู่แผ่นดินใหม่เพื่อ หาพื้นที่หายใจ

ราชสำนักชิง มีนโยบายต่อชาวมุสลิมที่ต่อต้าน คือการปราบปรามอย่างเฉียบขาด ทำให้ชาวมุสลิมล้มตายไปเป็นจำนวนมาก และ เมื่อ 5 ก.ค.2552 ชาวอุยกูร์จำนวนมากได้ออกมาประท้วงทางการจีน เพราะถูกจำกัดสิทธิหลายเรื่อง

ซึ่งการประท้วงนี้ สุดท้ายแล้วมีผู้เสียชีวิตเกือบ 200 คน บาดเจ็บกว่า 1,700 คนและหลังจากนั้นก็เกิดความรุนแรงอีกหลายครั้ง จนล่าสุดเมื่อเดือนรอมฎอนเริ่มต้นขึ้น ในวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา ทางการจีนได้ออกมาตรการหลายอย่าง ที่สำคัญ คือจำกัดการถือศีลอดของชาวมุสลิมในซินเจียง สั่งร้านอาหารให้เปิดบริการกลางวันปกติห้ามข้าราชการพลเรือน นักศึกษา และ ครู ถือศีลอดรวมไปถึงการจับกุมคุมขังผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามสิ่งที่รัฐกำหนด เช่นการจับกุมชาวอุยกูร์ที่ไม่ยอมเคารพธงชาติจีนทำให้เพิ่มความตึงเครียดระหว่างชาวจีนและอุยกูร์ซึ่งความขัดแย้งดำเนินมานานต่อเนื่อง ทำให้มีชาวอุยกูร์หลายคนอพยพออกนอกประเทศโดยหวังจะไปอาศัยอยู่ที่ประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม เช่น ตุรกีปากีสถาน มาเลเซีย[6]

สาเหตุ เริ่ม 5 ก.ค.2552 ชาวอุยกูร์นับพันคนได้ออกมาประท้วงทางการจีน เนื่องจากถูกจำกัดสิทธิในหลายเรื่อง ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้ทางการได้ส่งชาวฮั่นเข้ามาในพื้นที่ปกครองตนเองของชาวอุยกูร์จำนวนมากซึ่งหลังจากเหตุประท้วง ส่งผลให้มีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและชาวฮั่นจนเกิดเหตุการจลาจล ทำให้มีผู้เสียชีวิต 197 เจ็บ 1,721รถถูกเผา อาคารถูกทุบทำลายหลายหลัง ชาวอุยกูร์เชื่อว่ายอดผู้เสียชีวิตมีจำนวนมากกว่านี้ เพราะมีผู้ชายสูญหายไปจำนวนมาก

หลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นหลายครั้งกระทั่งวันที่ 1 มี.ค.57เกิดเหตุคนร้ายนับ 10 รายถือมีดไล่ฆ่าประชาชนไม่เลือกหน้า ในสถานีรถไฟในเมืองคุนหมิงทางตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลยูนนาน ส่งผลให้มีประชาชนเสียชีวิต 29 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 143 ราย [7]

นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่เลยสำหรับประชาคมโลกภายใต้รัฐชาติสมัยใหม่ ที่กำหนดขอบเขตดินแดนที่ชัดเจน และการออกแบบการจัดการภายในรัฐของตนด้วยอำนาจของรัฐบาลหรือผู้บริหารประเทศ ยังมีเรื่องราวที่ฉายภาพให้เห็นว่าทำไมเขาต้องหนีตาย เหตุผลด้วยกันกับชนกลุ่มน้อยในโลกคือการถูกกดขี่ การถูกริดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานนั่นเอง

ขณะที่เบื้องหลังของความขัดแย้งนั้นมาจากเจ้าหน้าที่ของจีนได้ใช้มาตรการควบคุมชาวอุยกูร์ในซินเจียงอย่างเข้มงวดกวดขันโดยมีการจำกัดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการนับถือศาสนาของพวกเขาการแย่งชิงทรัพยากร การกีดกันทางเศรษฐกิจ การเลือกปฏิบัติ  รวมไปถึงการจับกุมคุมขังผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามสิ่งที่รัฐกำหนดเช่น การจับกุมชาวอุยกูร์ที่ไม่ยอมเคารพธงชาติจีน

การละเมิดสิทธิมนุษยชนล่าสุดที่ชาวอุยกูร์ต้องเผชิญก็คือในกลางเดือนมีนาคมนี้ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นของเดือนรอมฎอนรัฐบาลจีนได้กีดกันทางศาสนาโดยห้ามชาวอุยกูร์ถือศีลอดในเดือมรอมฎอน ซึ่งชาวอุยกูร์มองว่า เป็นมาตรการบังคับให้ชาวอุยกูร์ละทิ้งวัฒนธรรมมุสลิมและทำให้ความเชื่อศรัทธาของชาวอุยกูร์เป็นเรื่องการเมือง คือการยั่วยุที่มีแต่จะนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพ การต่อต้านและความขัดแย้ง

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในซินเจียงอุยกูร์ก็ไม่แตกต่างกับเหตุการณ์ความขัดแย้งในทิเบตภายหลังรัฐบาลปักกิ่งเร่งพัฒนาเศรษฐกิจแนวเสรีนิยมใหม่ และขยายอำนาจไปยังเขตปกครองตนเองของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นนโยบายดังกล่าวยังทำให้ชาวฮั่นซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในจีนได้หลั่งไหลเข้าไปตั้งรกรากในเขตปกครองตนเองของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นด้วย

เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นชาวอูกุยร์ส่วนหนึ่งจึงหลบหนีออกนอกประเทศในฐานะของ "ผู้แสวงหาแหล่งพักพิง"โดยเป้าหมายของพวกเขาคือการอพยพข้ามชาติไปยังประเทศปากีสถานและชุมชนมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มาเลเซีย และกัมพูชาในกรณีของไทยนั้น ถือได้ว่าอุยกูร์ใช้เป็นเพียงทางผ่าน

สิ่งที่น่าเศร้าก็คือบางประเทศได้ส่งผู้แสวงหาที่พักพิงชาวอุยกูร์เหล่านี้กลับจีนแม้ว่าพวกเขาขอสถานะเป็นผู้ลี้ภัย เช่น กัมพูชาตัดสินใจส่งผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ 20 คนกลับจีนเพราะจีนและกัมพูชามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมานานและจีนเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือรายใหญ่ต่อกัมพูชาการส่งกลับนี้เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงคัดค้านและประท้วงจากสหรัฐ สหประชาชาติและกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆและถือว่าเป็นการละเมิดอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัยเพราะคนเหล่านี้จะถูกทำร้ายและกระทำทารุณกรรมตามมา[8]

ปัญหาคลาสสิคอีกประเด็นนึงที่ไม่อาจจะมองข้ามได้ คือการมองมนุษย์ที่มีความแตกต่างทางอัตลักษณ์ ไม่เท่ากับตน หรือมองคนไม่เท่ากัน ในสภาวะรัฐชาติที่ถูกกำหนดให้รัฐชาตินั้นเป็นของชาติใดๆ ทั้งที่การให้คำนิยามความเป็นชาตินั้นสามารถให้นิยามได้กว้างกว่าการยึดเอาชาติพันธุ์ตนหรือส่วนใหญ่ของรัฐเป็นตัวกำหนด ความขัดแย้งระลอกนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องของ ความต่างในอัตลักษณ์ ในภาวะรัฐชาติสมัยใหม่

ภายหลังการปฏิวิติของเหมาเจ๋อตุงประเทศจีนได้แบ่งชาวจีนออกเป็นชนชาติต่างๆ ทั้งหมด 56 ชนชาติ (nationality) ซึ่งในจำนวนนี้มีชนชาติที่เป็นมุสลิมจำนวน10 ชนชาติ ดังนั้น ชนชาติอุยกูร์คือหนึ่งในสิบของชนชาติมุสลิมในประเทศจีน คำว่า “ชนชาติ” มาจากภาษาจีนว่า“หมินจู๋” (minzu) คำนี้เพิ่งถูกกล่าวถึงในภาษาจีนเป็นครั้งแรกเมื่อศตวรรษที่20 นี้เอง โดยมีที่มาจากภายหลัง ดร.ซุน ยัตเซ็นได้โค่นล้มระบบราชวงศ์ของจีนลงในปี ค.ศ.1911

แนวคิด “หมินจู๋”เป็นแนวคิดที่ ดร.ซุน ยัตเซ็นนำเข้าและได้รับอิทธิพลจากจากอุดมการณ์ชาตินิยมที่ฝังรากมายาวนานในสังคมญี่ปุ่นที่เรียกว่า“หมินโจกุ”โดยเห็นว่าหากขบวนการชาตินิยมจีนจะเป็นจริงขึ้นมาได้นั้นจำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์อย่างถอนรากถอนโคนระหว่างผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครองที่ได้ยืนหยัดมายาวในสังคมจีนหรืออาจเข้าใจได้ในทางยุทธวิธีก็คือว่า ดร.ซุนต้องการใช้แนวคิดนี้เพื่อระดมชาวจีนทั้งประเทศเพื่อทำการโค่นล้มราชวงศ์ชิงซึ่งถูกสถาปนาขึ้นโดยกลุ่มคนเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้นหรือที่เรียกว่าชาวแมนจู (Manchu) โดยพยายามบอกว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศจีนนั้นเป็นชนชาวฮั่น (Han)

ดังนั้น ดร.ซุน จึงเห็นว่า แนวคิด “หมินจู๋”เป็นสัญลักษณ์ชาตินิยมที่ทรงประสิทธิภาพในการต่อต้านพวกแมนจูและชาวต่างชาติอื่นๆซึ่งคนส่วนใหญ่ในประเทศจีนย่อมเข้าร่วมด้วยอย่างแน่นอน ดังนั้น ดร.ซุน ยัตเซ็น จึงได้รณรงค์ความคิดว่าประเทศจีนประกอบด้วยผู้คน 5 กลุ่ม คือ ชาวฮั่น ชาวแมนจู ชาวมองโกล ชาวทิเบต และชาวหุย(ซึ่งรวมชาวมุสลิมทุกกลุ่มไว้ในกลุ่มนี้ ซึ่งต่อมายุคประธานเหมาได้แบ่งย่อยเป็นชาวหุย ชาวอุยกูร์ ชาวคาซัก ฯลฯ) และแนวคิดนี้ได้กลายเป็นแนวนโยบายหลักของ ดร.ซุนในการตั้งระบอบสาธารณรัฐเป็นครั้งแรกของจีน

หากลองย้อนดูประวัติศาสตร์จีนแล้วชาวอุยกูร์ทุกคนต่างเชื่ออย่างมั่นคงว่าบรรพบุรุษของพวกเขาคือชนพื้นเมืองในลุ่มน้ำทาริมซึ่งครอบคลุมบริเวณกว้างถึงประมาณ 350,000 ตารางกิโลเมตรหรือที่รู้กันในปัจจุบันคือ "มณฑลซินเจียง"พวกเขาเชื่อว่าที่ดินแดนนี้คือผืนดินของพวกเขา ในหนังสือประวัติศาสตร์ซินเจียง (1977) แจ๊ค เฉิน (Jack Chen) ได้อธิบายคำว่า อุยกูร์ว่าหมายถึงชนเผ่าเติร์กที่อาศัยอยู่ในเติร์กกิสถานของจีนแต่จากการรวบรวมบันทึกเกี่ยวกับชนเผ่าร่อนเร่ที่รู้จักกันว่าคือชาวอุยกูร์นั้นปรากฏพบตั้งแต่ก่อนศตวรรษที่ 8 ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่นับถือพ่อมดหมอผีและเปลี่ยนมานับถือพุทธ ต่อมาชนชาวอุยกูร์ได้ค่อยๆ เปลี่ยนเข้ารับอิสลามนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 10-16 และอัตลักษณ์ของพวกเขาได้สูญหายไปในช่วงศตวรรษที่15-20 โดยถูกเรียกว่าเป็นชนชาวหุย-เหอ หรือหุย-หู

ปัจจุบัน ในประเทศจีน มีชาวอุยกูร์อยู่ประมาณ 10 ล้านคน ซึ่งเป็นชนชาติมุสลิมที่มีจำนวนมากเป็นอันดับสองรองจากชนชาติหุย (Hui)จากจำนวนชนชาติมุสลิม 10 ชนชาติในประเทศจีนและเป็นชนชาติที่มีมากเป็นลำดับที่ 5 ของประเทศจีนจากทั้งหมด56 ชนชาติ โดยเกือบร้อยละ 90 อาศัยอยู่ในมณฑลซินเจียง(ตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน)ถึงแม้ว่าชนชาวอุยกูร์จะปรากฏมายาวนานย้อนไปถึงก่อนศตวรรษที่ 8 แต่อัตลักษณ์ของพวกเขามีการปรับเปลี่ยนอย่างขนานใหญ่ตามบริบทของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิสัมพันธ์กับรัฐชาติของจีนที่เป็นตัวแปรสำคัญ

คำว่า “อุยกูร์”จึงไม่ได้มีความหมายในเชิงชนเผ่าหรือเขตแดนแต่เพียงอย่างเดียวหากมีนัยทางการเมืองที่แฝงอยู่ดังที่พวกเขาถูกจัดกลุ่มให้กลายเป็นพวกเดียวกับหุย-เหอ หรือหุย-หูในขณะที่พวกเขายังคงสืบทอดภาษาสำเนียงเติร์กของตัวเองและต่อมาชนชาวอุยกูร์ถูกผนวกเข้ากับจีนอย่างจริงจังอีกครั้งหลังจากการปฏิวัตเหมาปีค.ศ.1949 โดยพร้อมๆ กับการได้รับการยอมรับความเป็นชนชาติอุยกูร์อย่างเป็นทางการนั้นจีนก็ได้ดำเนินนโยบายส่งชนชาวฮั่นมากมายเข้าไปในดินแดนซินเจียงที่มีทรัพยากรธรรมชาติอย่างมหาศาลเพื่อดำเนินนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนจนเป็นที่มาของความขัดแย้งต่อมาอย่างมากมาย[9]



[2] https://th.wikipedia.org/wiki/กลุ่มชนเตอร์กิก

[3] http://www.thairath.co.th/content/510556

[4] http://www.pptvthailand.com/news/14447

[5] http://board.postjung.com/895525.html

[6] http://board.postjung.com/895525.html

[7] http://www.thairath.co.th/content/510556

[8] http://www.citizenthaipbs.net/node/5870

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: