เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ล่าชื่อร้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ตั้งคณะกรรมการควบคุมราคาสถานพยาบาลเอกชน (ที่มาภาพ: change.org)
28 เม.ย. 2558 เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ได้จัดการรณรงค์ "ขอให้ตั้งคณะกรรมการควบคุมราคาสถานพยาบาลเอกชน" ผ่านเว็บไซต์ change.org โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ขอให้ตั้งคณะกรรมการควบคุมราคาสถานพยาบาลเอกชน
เคยคิดไหมว่า วันหนึ่งหากตัวเราและคนที่เรารักต้องเจ็บป่วยฉุกเฉิน เช่น ประสบอุบัติเหตุรถชน แต่รพ.รัฐบาลตามสิทธิอยู่ไกล กว่าจะไปถึงอาจเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต และจำเป็นต้องเข้ารพ.เอกชนที่ใกล้ที่สุด
คำถามคือ สู้ราคาที่ต่อรองไม่ได้ได้ไหม ทุกรายการในบิลตรวจสอบไม่ได้ หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบค่ารักษารพ.เอกชนโดยตรงไม่มี เมื่ออยากย้ายรพ.แต่เตียง ICU เต็มทุกที่ จำต้องอยู่รพ.เดิม เรามีเงินเก็บและทรัพย์สินอยู่เท่าไหร่ ลูกหลานมีเงินพอไหม มีใครพร้อมเซ็นรับสภาพหนี้บ้าง พร้อมรับหมายศาลเมื่อถูกฟ้องเรียกค่ารักษาหรือยัง
คำว่า "ธุรกิจ" เมื่อมีการลงทุนก็ต้องมีการทำกำไรไม่เว้น "ธุรกิจรพ.เอกชน"
แต่ปชช.ควรมีสิทธิตรวจสอบว่าราคาสมเหตุสมผลไหม หลายคนหายจากโรคแต่ต้องช็อคเพราะค่ารักษาพยาบาล หลายรายต้องผ่อนจ่าย หรือแปลงโฉนดที่ดินไปเป็นค่ารักษา
กรณีที่ทางเครือข่ายฯ เคยพบมาก็เช่น
1.ผู้ป่วยชายมีอาการเจ็บหน้าอก เข้ารพ.เอกชนที่โฆษณาว่ามีหมอโรคหัวใจ 24 ชั่วโมง แต่นอนรอตั้งแต่สองทุ่มถึง 8 โมงเช้า ก็ไม่มีหมอหัวใจมาตรวจ จนผู้ป่วยเสียชีวิต ต่อมาญาติฟ้องรพ.เอกชนแห่งนั้น จึงมีการตรวจสอบบิลค่ารักษา พบว่าทางรพ.เก็บค่าอะดรีนาลีนเพื่อกระตุ้นหัวใจ 148 หลอด ราคา 29,600 บาท แต่ในเวชระเบียนระบุว่าใช้เพียง 30 หลอด ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจไปเบิกความว่า อะดรีนาลีนนั้นใช้ได้ไม่เกิน 2 หลอด/ ชั่วโมง ถ้าใช้เกินคนไข้จะเสียชีวิต ความจริงคือช่วงที่แพทย์สั่งให้อะดรีนาลีนทางโทรศัพท์ใช้เวลา 4-5 ชั่วโมง ดังนั้นการใช้อะดรีนาลีนไม่น่าจะเกิน 10 หลอด ซึ่งคิดเป็นเงินเพียง 2 พันบาทเท่านั้น
2.ผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งเล่าว่า เธอและสามีต้องไปหาหมอรพ.เอกชนทุก 3 เดือน ค่ายาแต่ละครั้ง 5-6 หมื่นบาทต่อคน เธอและสามีก้มหน้าก้มตาจ่าย ครั้งล่าสุดหมอจ่ายยาให้สามีเธอสำหรับ 3 เดือน เป็นเงินถึง 9.8 หมื่นบาท เรียกว่าเกือบหนึ่งแสน เธอตกใจมาก จึงไปสอบถามร้านยาว่า ยาลดไขมัน Ezetrol เม็ดละเท่าไร ร้านยาบอกว่า 50 บาท ขณะที่รพ.เอกชนแห่งนั้นขายเม็ดละ 117 บาท และยายับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะ Nexium40mg ที่ร้านยาขายเม็ดละ 55.75 บาท แต่รพ.เอกชนขายเม็ดละ 156 บาท เมื่อเธอศึกษาพบว่าราคายาที่ต้องจ่าย 9.8 หมื่นบาท ราคากลางที่กระทรวงสธ.กำหนดเพียง 3 หมื่นกว่าบาท สรุปแล้วเธอต้องจ่ายแพงขึ้นถึง 6 หมื่นกว่าบาท
พวกเราบ่นกันมานานมากแล้ว ทางรพ.เอกชนก็มักโต้แย้งว่าต้นทุนสูง รัฐไม่ได้เข้ามาดูแล ประชาชนสามารถเลือกได้ที่จะไม่เข้ารพ.เอกชน แต่เวลาเจ็บป่วยฉุกเฉินขึ้นมาเราไม่สามารถเลือกโรงพยาบาลได้
ความเป็นธรรมไม่ได้มาด้วยการบ่น ถึงเวลาที่เราจะร่วมกันแสดงพลัง ด้วยการลงชื่อหนุนให้มีการตั้ง "คณะกรรมการควบคุมราคาสถานพยาบาลเอกชน" ขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เพือตัวเราและเพื่อลูกหลานเราในวันข้างหน้า
นี่ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน ทางเครือข่ายฯ ได้พูดคุยกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องและพบว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้และควรจะเกิดขึ้น
19 เมษายน 2558
เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
สืบเนื่องจากเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ได้ก่อตั้งมานาน 13 ปี รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ป่วยและญาติจำนวนมาก เกี่ยวกับการคิดค่ารักษาพยาบาลที่สูงเกินจริงของโรงพยาบาลเอกชน แต่กลับไม่มีหน่วยงานใดที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบให้ความเป็นธรรมกับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเหล่านั้นโดยตรง
เครือข่ายฯ เห็นว่าหากมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและให้ความเป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่ายโดยตรง จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยส่วนรวมอย่างยิ่ง
จึงเรียนมา เพื่อขอท่านโปรดพิจารณาสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าว เพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวม จักเป็นพระคุณยิ่ง
ขอแสดงความนับถืออย่างสููง
นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา
ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์
ร่วมลงชื่อในการรณรงค์นี้ได้ที่: http://goo.gl/EsEJbU
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ