ASTV ผู้จัดการออนไลน์เผย “กฟผ.” ยังไม่เลิกทำตัวเป็นพ่อพระแจกทั้งเงิน ข้าวกล่อง ข้าวสาร เสื้อ และสิ่งของมากมายให้ฝ่ายหนุนเวที ค.3 โรงไฟฟ้าและท่าเรือขนถ่านหินเทพา ขณะที่ “เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาถ่านหิน” ตั้งใจจะเคลื่อนขบวนไปถามผู้ว่าฯ ที่ออกประกาศจังหวัดกีดกันผู้เห็นต่างกลับยังไม่สามารถเข้าได้ (ที่มาภาพ: ASTV ผู้จัดการออนไลน์)
28 ก.ค. 2558 ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ รายงานจากบริเวณที่ทำการ อบต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา ซึ่งเป็นสถานที่ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ใช้จัดเวที ค.3 โรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือขนส่งถ่านหินเทพา เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมาว่าตั้งแต่ช่วงเช้า (27 ก.ค.) มีรถยนต์ที่จัดเตรียมโดย กฟผ.นำผู้สื่อข่าวชุดใหญ่เดินทางออกจากหน้าโรงแรมไดอิชิ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เข้าสู้บริเวณเวที ขณะที่รถยนต์ขนส่งประชาชนฝ่ายเห็นด้วยต่อโครงการก็ทยอยนำคนเข้าร่วมเวทีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน โดยส่วนใหญ่มีการนัดแนะจัดเตรียมกันไว้แล้ว เป็นทั้งรถยนต์ของชาวบ้านเอง หรือส่วนที่ผู้จัดเวทีเตรียมการไว้ให้ นอกจากนี้ ยังมีการแจกข้าวกล่องให้รับประทานก่อนเข้าร่วมด้วย ซึ่งมีการจัดเตรียมไว้ทั้งมื้อเช้า และมื้อเที่ยง
ในส่วนของ นายธำรงค์ เจริญกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมข้าราชการทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ และทหาร ก็เข้าเดินทางถึงตั้งแต่ก่อนเริ่มเวที โดยนายธำรงค์ รับหน้าเสื่อเป็นประธานบนเวทีในการเปิดรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนในครั้งนี้ด้วยตัวเอง ซึ่งหวังว่าจะทำให้การดำเนินการราบรื่น และประสบผลสำเร็จ เนื่องจากช่วงก่อนหน้านี้ไม่กี่วันได้มีการออกประกาศจังหวัดที่ลงนามโดย ผู้ว่าฯ ห้ามมิให้บุคคลหรือกลุ่มคนที่เห็นต่างเข้าไปในบริเวณ เพราะเกรงว่าจะสร้างความปั่นป่วน และเกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
สำหรับการจัดเตรียมเวที ค.3 ของ กฟผ.ในครั้งนี้ ได้มีการเกณฑ์ข้าราชการมาเป็นจำนวนมาก ขณะที่กองกำลังดูและรักษาความสงบก็กระจายเต็มพื้นที่ทั้งตำรวจ ทหาร และ อส. บางส่วนมีการแต่งชุดลายพราง และติดอาวุธ รวมแล้วกว่า 1 พันนาย ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ฝ่ายสนับสนุนที่มีการจัดเตรียมสามารรถเข้าสู่บริเวณงานได้อย่างง่ายดาย แต่หากใคร หรือกลุ่มใดที่แสดงตัวหรือมีเครื่องหมายไม่เห็นด้วย บุคคลและกลุ่มคนเหล่านั้นจะถูกกีดกันไม่ให้เข้าไปในบริเวณ
นอกจากนี้แล้ว ในส่วนของประชาชนฝ่ายที่เห็นด้วยที่ กฟผ.อ้างไว้ก่อนหน้าว่าจะมีถึง 1 หมื่นคนเข้าร่วมนั้น มีข้อมูลที่ยืนยันด้วยว่า โดยรวมๆ แล้วประชาชนแต่ละคนที่เข้าร่วมจะได้รับทั้งเงิน และของแจกมากมาย เช่น ฝ่ายเห็นด้วยที่เข้าร่วมจะได้รับถุงใส่เอกสาร และสิ่งของแล้ว ยังได้รับค่าเดินทางเป็นเงินคนละ 500 บาท สิ่งนี้ยืนยันได้จากเอกสารรับและจ่ายเงิน เสื้อยืดคอกลมที่มีข้อความว่า “เทพาเมืองเก่า คนเอาถ่าน” ขณะที่เสื้อแจ็กเกตว่ากันว่ามีการมอบให้ไปก่อนหน้าที่จะจัดเวที อีกทั้งยังมีข้าวสารไว้แจกให้อีกคนละ 5 กิโลกรัม แต่ต้องกลับไปขอรับยังบ้านผู้ประสานงานที่มีการเตรียมไว้ให้แล้ว ซึ่งแต่ต่างจากการจัดเวที ค.1 เมื่อปีที่แล้วที่มีการแจกจ่ายข้าวสารให้ถือกลับบ้านกันอย่างโจ๋งครึ่มแบบไม่อายฟ้าดิน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวทีเริ่มขึ้นเมื่อเวลากว่า 9 โมงเช้า ซึ่งมีประชาชนที่ผ่านเข้าสู่บริเวณได้รวมแล้วหลายพันคน โดยมีผู้ว่าฯ สงขลา นั่งเป็นประธานอยู่ด้านบน ควบคู่กับผู้บริหาร กฟผ. จากนั้นเวลาประมาณ 10.00 น. กลุ่มชาวบ้านที่แสดงตัวไม่เห็นด้วยต่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้เคลื่อนขบวนมาถึง แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตั้งด่านกีดกั้นไม่ให้เข้าไปในบริเวณเวที ซึ่งก็ใช้เวลาเจรจากันพักใหญ่ โดยฝ่ายรัฐมีนายอำเภอเทพาเป็นตัวแทนเจรจา กำหนดให้ฝ่ายเห็นต่างส่งตัวแทนเข้าพบผู้ว่าฯ ได้เพียง 3 คน และหากใครถือป้าย หรือแสดงสัญลักษณ์ไม่เห็นด้วยห้ามไม่ให้เข้า
ด้าน พล.ต.ต.อัมพล บัวรับพร ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ได้จัดกำลังตำรวจ 400 นาย ซึ่งในจำนวนนี้มี 150-200 นาย ปฏิบัติการในพื้นที่ที่จัดการประชุม โดยผู้ว่าฯ สงขลามีอำนาจเต็มในการสั่งการ พร้อมกับนำป้ายคำสั่งกองอำนวยการและบรรเทาสาธารณภัย จ.สงขลา ที่ลงนามโดย นายธำรงค์ เจริญกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา มาติดตั้งบริเวณสถานที่จัดประชุม
ขณะเดียวกัน ชาวบ้านที่รวมตัวหันในนามเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้มาตั้งขบวนใกล้กับบริเวณทางเข้าที่ประชุม โดยแจ้งความประสงค์ต่อเจ้าหน้าที่ว่า ต้องการเข้าไปพบผู้ว่าฯ ที่มาเป็นประธานการประชุมในครั้งนี้ เพื่อขอความชัดเจนกรณีลงนามในคำสั่งกองอำนวยการและบรรเทาสาธารณภัย จ.สงขลา ที่ห้ามไม่ให้มีการเคลื่อนไหวใดๆ อันเป็นการแสดงออกคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้า หลังจากที่เมื่อวานนี้ (26 ก.ค.) ชาวบ้านกลุ่มนี้ได้เดินทางไปยื่นหนังสือที่ศาลากลางจังหวัดแล้วครั้งหนึ่ง
ด้าน นายดิเรก เหมนคร ผู้ประสานงานเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ระบุว่า คำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดไม่มีความเป็นธรรม และอาจจะขัดต่อกฎหกมาย เนื่องจากมีการกีดกันชาวบ้านที่เห็นต่างกับโครงการนี้ไม่ให้มีการเคลื่อนไหว ขณะเดียวกัน ผู้ว่าราชการจังหวัดวางตัวไม่เป็นกลาง จึงทำให้ชาวบ้านมองว่าการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ไม่มีความชอบธรรมตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ตาม การชุมนุมของชาวบ้านยังคงเป็นไปอย่างสงบ โดยไม่มีการก่อความวุ่นวายใดๆ ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่
ส่วนบรรยากาศบริเวณเวทีแสดงความคิดเห็น หลังจากที่เจ้าหน้าที่ กฟผ. ได้ชี้แจงรายละเอียดของโครงการแล้วเสร็จ ได้เปิดโอกาสให้ชาวบ้านแสดงความคิดเห็น โดยมีทั้งผู้สนับสนุนและคัดค้าน โดยในส่วนของผู้สนับสนุนเห็นว่า โครงการจะช่วยพัฒนาพื้นที่ ขณะเดียวกัน ได้เป็นห่วงเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ขณะที่ผู้คัดค้านโครงการมองว่า โครงการนี้จะส่งผลเสียมากกดว่าผลดี เนื่องจากโรงไฟฟ้าถ่านหินจะมีอายุการใช้งานไม่ถึง 50 ปี แต่จะสร้างมลพิษอย่างมหาศาลต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ และยากต่อการฟื้นฟู
ด้านสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม Greennews รายงานว่าบรรยากาศการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อทบทวนร่างรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพครั้งสุดท้าย (ค3) โครงการโรงไฟฟ้าเทพา จ.สงขลา ขนาด 2,200 เมกะวัตต์ ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา ณ อบต.ปากบาง เป็นไปอย่างตึงเครียด ท่ามกลางมาตรการรักษาความปลอดภัยเข้มงวด
บริเวณโดยรอบ อบต.ปากบาง มีการกั้นลวดหนามหนาแน่นป้องกันไม่ให้ชาวบ้านที่คัดค้านโรงไฟฟ้าเข้ามาในพื้นที่ และมีการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกว่า 1,500 นาย ดูแลความสงบเรียบร้อย ขณะที่ด้านนอกปิดช่องทางจราจรบนถนนสายหลักเส้นทางปัตตานี-หาดใหญ่ เหลือเพียงช่องทางเดียว และพบรถหุ้มเกราะและรถฮัมวี่วิ่งวนอยู่ตลอดเวลา
ด้านใน อบต.ปากบาง มีชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) และอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) อีกกว่า 500 นาย คอยสังเกตการณ์ โดยเวทีเริ่มตั้งแต่ 8.00 น เจ้าหน้าที่ได้แจกบัตรคิวให้ผู้ที่ลงทะเบียนไว้จำนวน 60 คน อนุญาตให้พูดได้คนละ 5 นาที ซึ่งความเห็นส่วนใหญ่ชื่นชมและเห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้า ขณะที่ชาวบ้านที่คัดค้านประมาณ 50 ราย ถือธงและป้ายคัดค้านโครงการอยู่ด้านนอก
นายธำรงค์ เจริญกุล ผวจ.สงขลา ในฐานะประธานการจัดเวที ค3 กล่าวต่อที่ประชุมว่า ตั้งแต่ กฟผ.มีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ทำให้คนเทพากลายเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ ซึ่งสร้างความภูมิใจให้กับคนเทพา และคนเทพาจะได้เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าและท่าเรือขนส่งถ่านหินที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ในฐานะที่จ่ายภาษีให้กับประเทศ
“วันนี้เป็นวันที่เราเพียงมารับรู้ รับทราบ รับฟัง สอบถามข้อข้องใจจากผู้เชี่ยวชาญที่ กฟผ.จ้างมา ว่าเขาคิดอย่างไร และอยากจะแก้ปัญหาอย่างไร ผมขอยืนยันว่าในทางราชการไม่มีคำสั่งไม่ให้คนที่เห็นต่างมาร่วมรับฟัง และ อ.เทพา เป็นพื้นที่ความมั่นคง จึงสามารถใช้คำสั่ง (กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) ได้” นายธำรงค์ กล่าว
ขณะที่ชาวบ้านในนามเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาถ่านหิน ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนคัดค้านการจัดเวที ค3 ในครั้งนี้ พร้อมทั้งเรียกร้องใน 6 ประเด็น ประกอบด้วย 1.ให้ ผวจ.สงขลา ยกเลิกเป็นประธานการประชุมเพื่อความโปร่งใส 2.ผวจ.สงขลา ต้องชี้แจงการออกคำสั่งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกล่าวหาผู้เห็นต่างว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบเรียบร้อย
3.ทบทวนการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นใหม่ตั้งแต่ต้น 4.ขอประณามการจัดเวที ค1 และ ค2 ของบริษัทเอกชนแห่งนี้เพราะใช้วิธีสกปรกด้วยการให้ประชาชนลงชื่อเพื่อรับข้าวสารฟรี 5.ขอให้รัฐบาลเปิดใจรับฟังข้อมูลจากประชาชน ยืนยันว่าหากไม่สร้างโรงไฟฟ้าเทพาและกระบี่ ประเทศก็ยังมีไฟฟ้าเพียงพอ 6.ประชาชนสงขลา-ปัตตานี อยู่ท่ามกลางความทุกข์จากเหตุการณ์ความไม่สงบก็หนักพอแล้ว แต่ กฟผ.กลับสร้างความแตกแยกเพิ่ม และภาครัฐใช้อำนาจข่มขู่รังแกประชาชน ซึ่งทำให้ผิดหวังมาก
อนึ่ง โรงไฟฟ้าเทพา จ.สงขลา มีขนาด 2,200 เมกะวัตต์ ใหญ่กว่าโรงไฟฟ้ากระบี่ (ขนาด 800 เมกะวัตต์) อยู่เกือบ 3 เท่า และใช้เวลาจัดทำกระบวนการรับฟังความคิดเห็นเพียง 8 เดือนเท่านั้น ทั้งนี้ในวันที่ 28 ก.ค.นี้ จะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นการจัดสร้างท่าเรือขนส่งถ่านหิน (ค3) ในเวลาเดียวกัน
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ