เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 58) ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอเรื่องการขอขยายระยะเวลาดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนด้านการเดินทางออกไปอีก 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558 – 31 กรกฎาคม 2558 ดังนี้
1. ขยายระยะเวลาดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนด้านการเดินทางออกไปอีก 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558 – 31 กรกฎาคม 2558 วงเงินชดเชยรวมทั้งสิ้น 2,113 ล้านบาท โดยให้สำนักงบประมาณ (สงป.) พิจารณาจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายจากการดำเนินมาตรการลดภาระ ค่าครองชีพของประชาชนด้านการเดินทางต่อไป ดังนี้
1.1 มาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางรถโดยสารประจำทางดำเนินการผ่านองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โดยรัฐรับภาระค่าใช้จ่ายการจัดรถโดยสารประจำทางธรรมดาจำนวน 800 คันต่อวัน ใน 73 เส้นทาง ให้บริการแก่ประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
1.2 มาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางโดยรถไฟชั้น 3 ดำเนินการผ่านการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยรัฐรับภาระค่าใช้จ่ายการจัดรถไฟชั้น 3 เชิงสังคม จำนวน 164 ขบวนต่อวัน และรถไฟชั้น 3 ระยะทางไกล ในขบวนรถเชิงพาณิชย์ จำนวน 8 ขบวนต่อวัน ให้บริการแก่ประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
2. กำชับให้กระทรวงคมนาคม (คค.) เร่งรัดสร้างความชัดเจนในรายละเอียดของมาตรการใหม่ (โดยให้บริการฟรีเฉพาะกลุ่มแบบมีเงื่อนไข เช่น การใช้ระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticket) การจัดทำบัตรให้สิทธิพิเศษ เป็นต้น) และเตรียมความพร้อมในส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถดำเนินมาตรการใหม่ได้อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบและเริ่มดำเนินการได้ภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2558
นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอรายงานว่าโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ประกอบด้วย
1. หลักการสำคัญ คือ เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้งให้มีรายได้และสร้างโอกาสให้ชุมชนเกษตรสามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของชุมชน โดยชุมชนเป็นผู้กำหนดกิจกรรมการดำเนินงานที่สอดคล้องกับความต้องการ และเป็นผู้บริหารจัดการโครงการให้เกิดผลสำเร็จ อันจะนำไปสู่การพัฒนาการเกษตรของชุมชนอย่างยั่งยืน
2. วัตถุประสงค์ เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและชุมชนเกษตรในช่วงฤดูแล้ง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของชุมชนเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนจากภัยแล้งในระยะยาว
3. เป้าหมายและพื้นที่ดำเนินการ คือ พื้นที่เกษตรที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบภัยแล้ง ปี 2557/2558 จำนวน 3,052 ตำบล 58 จังหวัด จากบัญชีรายชื่อพื้นที่คาดการณ์ความแห้งแล้งในพื้นที่เกษตร ปี 2558 ตามแผนเตรียมการรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ประจำปีงบประมาณ 2558
4. แนวทางการดำเนินงาน
4.1 ให้ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล (ศบกต.) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารงานด้านการเกษตรระดับตำบลที่จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2543 ทำหน้าที่เป็นองค์กรตัวแทนของชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย ขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินกิจกรรม ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยผ่านความเห็นชอบจากชุมชน
4.2 กำหนดกลไกในการขับเคลื่อนและบริหารโครงการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการฯ ที่มีองค์ประกอบครอบคลุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ ทำหน้าที่กลั่นกรอง อนุมัติโครงการ แนะนำตรวจสอบ ติดตาม กำกับการดำเนินงานโครงการ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล
โดยนายนายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรฯ เปิดเผยว่าว่าหลักเกณฑ์การเข้าโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง เดือนพฤศจิกายน 2557- 30 เมษายน 2558 วงเงิน 3,565 ล้านบาท โดยขอจากงบกลางของรัฐบาล เพื่อขัดให้แก่ชุมชนท้องถิ่นที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบแล้ง ปี 2557/2558 ในพื้นที่ 3,052 ตำบล 58 จังหวัด ตำบลละ 1 ล้านบาทเป็นเงินให้เปล่าและให้ท้องถิ่นบริหารกันเองโดยโครงการดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง ระยะที่ 2 โดยจะจัดเงินให้กับชุมชนโดยตรงตำบลละ 1 ล้านบาท เพื่อให้องค์กรท้องถิ่นบริหารกันเองตามความต้องการจริง เนื่องจากกระทรวงเกษตรฯคาดว่าสถานการณ์ภัยแล้งจะรุนแรงเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้หลักการสำคัญของโครงการ มีประมาณ 10 ข้อ อาทิ โครงการก่อสร้างพื้นฐานทางการเกษตร และสัดส่วนการจ้างงานในชุมชนเป็นหลักไม่น้อยกว่า 30% ของงบประมาณที่ได้ โครงการเพิ่มสร้างแหล่งน้ำต้นทุน โครงการพัฒนาแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น โดยโครงการดังกล่าวจะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับโครงการที่ใช้เงินจากก้อนอื่นหรือที่ได้จากหน่วยงานอื่น และที่สำคัญต้องใช้แรงงานในทิ้งถิ่นไม่น้อยกว่า 30% โดยการเบิกจ่ายจะผ่านทางธนาคารของรัฐในท้องถิ่น
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ