คปน.แถลงการณ์ขอประชาชนร่วมจัดการน้ำในพื้นที่ 

29 ม.ค. 2558


เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2558 เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือ (คปน.) ประกอบด้วย สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต สถาบันอ้อผะหญา (องค์กรสาธารณประโยชน์) คณะกรรมการคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น ยมบน-ยมล่าง จังหวัดแพร่ เครือข่ายลุ่มน้ำยม จังหวัดแพร่ คณะกรรมการคัดค้านเขื่อนแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำแม่แจ่มตอนบน จังหวัดเชียงใหม่ เครือข่ายคัดค้านเขื่อนแม่ขาน จังหวัดเชียงใหม่ เครือข่ายคัดค้านเขื่อนห้วยตั้ง จังหวัดลำพูน เครือข่ายคัดค้านเขื่อนคลองชมภู จังหวัดพิษณุโลก เครือข่ายคัดค้านโครงการเขื่อนโป่งอาง จังหวัดเชียงใหม่ และเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบโครงการผันน้ำป๋าม จังหวัดเชียงใหม่ ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกัน  เรื่องการปฏิรูปการบริหารจัดการน้ำให้ถูกต้องตรงตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่

โดยเนื้อหาในแถลงการระบุว่า ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีคำสั่งที่ 85/2557 แต่งตั้งคณะกรรมการกําหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ํา เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2557 เพื่อกำหนดกรอบนโยบายและแผนงานการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฯลฯ

ต่อมา คณะกรรมการดังกล่าวมีคำสั่งที่ 3/2557 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2447 เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามนโยบายพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกของประเทศไทยเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลสูงสุด รวมทั้งมีการบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสามารถแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องตรงตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่

แต่ปรากฏว่า ขณะที่แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำยังไม่แล้วเสร็จ อธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการกําหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ํา และในฐานะอนุกรรมการและเลขานุการคณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฯ รวมทั้งเลขานุการและกรรมการบางท่าน กลับรวบรัดตัดตอนแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ ด้วยการนำโครงการต่างๆ บรรจุลงไปในแผนบริหารจัดการน้ำ และไม่นำความเห็นของภาคประชาชนจากเวทีรับฟังทั้ง ๙ เวทีทั่วประเทศมาประมวลร่วมในการกำหนดแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ ทั้งๆ ที่คณะอนุกรรมการวิศวกรรมแหล่งน้ำ (วสท.) ได้ส่งหนังสือเร่งรัดการแก้ไขร่างยุทธศาสตร์ฯมายังประธานกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ แต่คณะทำงานก็ยังแสดงท่าทีเพิกเฉย

นอกจากนั้น ในวันที่ 20  มกราคม 2558 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำ ฉวยโอกาสในช่วงจัดทำแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำยังไม่แล้วเสร็จ ผลักดันร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำที่ยกร่างขึ้นมาใหม่โดยกรมทรัพยากรน้ำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเร่งด่วน โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีมติรับหลักการและส่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวให้กับคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณาต่อไปแล้ว

เครือข่ายภาคประชาชนและภาคประชาสังคม ในนามเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือ (คปน.) ขอประณามการกระทำดังกล่าวของบุคคลในคณะกรรมการกําหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ํา และคณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฯบางท่าน ที่รวบรัดขั้นตอน เพิกเฉย และไม่มีความจริงใจในการทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาในการปฏิรูปการบริหารจัดการน้ำ ให้ถูกต้องตรงตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง ดังความที่ปรากฏในคำสั่งที่ 3/2557 ลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2557

ดังนั้น เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือ (คปน.) ขอเรียกร้องมายังคณะกรรมการกําหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ํา คณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฯ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนี้

1. ให้คณะกรรมการกําหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ํา และคณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฯ แสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำที่ไม่ได้เป็นไปตามหลักวิชาการและไม่เป็นไปตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยการเอาความเห็นของภาคประชาชนจากเวทีรับฟังทั้ง ๙ เวทีทั่วประเทศมาประมวลร่วมในการกำหนดแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำด้วย

2. ในช่วงที่มีการปฏิรูปประเทศทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปการบริหารจัดการน้ำ ขอเรียกร้องให้กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการจัดการน้ำ รวมถึงบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแสดงความจริงใจในการปฏิรูปการจัดการน้ำที่เน้นการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนเหนือผลประโยชน์ใดๆ

3. ให้กรมชลประทาน บุคคล และหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการบรรจุโครงการต่างๆ ไว้ในแผนบริหารจัดการน้ำ ๑๐ ปีที่มีวงเงิน 9.8 แสนล้านบาท ถอนโครงการออกจากแผนบริหารจัดการน้ำดังกล่าวก่อน รอจนกว่าการปฏิรูปการบริหารจัดการน้ำแล้วเสร็จ

4. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เห็นควรให้นำร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำออกมาแก้ไขโดยปราศจากการแทรกแซงทางการเมืองในกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งขาติ และ

ให้ร่วมกับสภาปฏิรูปแห่งชาติในการเสนอความเห็นเพื่อเป็นแนวทางเดียวกัน

5. ในสถานการณ์ปฏิรูปประเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานการปฏิรูปประเทศ ดังนั้นจึงขอเรียกร้องทุกหน่วยงานสร้างความเป็นเอกภาพ ด้วยการบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคู่ไปกับสภาปฏิรูปแห่งชาติ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำจนสร้างความสับสนให้กับประชาชนดังที่เป็นอยู่ในเวลานี้

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือ (คปน.) หวังเป็นอย่างยิ่งว่า คณะกรรมการกําหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ํา และคณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฯ นโยบายและแผนงานการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบางท่าน มีความอาจหาญทางจริยธรรมพอที่จะดำเนินการปฏิรูปการบริหารจัดการน้ำให้ถูกต้องตรงตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: