ดาวน์โหลด 'ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา' พบมีการแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นสำคัญ อาทิ การกำหนดวิธีการยึดทรัพย์ หรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินเพื่อใช้ค่าปรับ การปรับปรุงอัตราเงินในการกักขังแทนค่าปรับ เป็นต้น
29 ก.ย. 2558 ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การบังคับโทษปรับ การรอการกำหนดโทษและรอการลงโทษ และแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับโทษของผู้ใช้และผู้ถูกใช้) ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ด้วยคะแนนเสียง 175 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออกเสียง 3 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุม 178 คน พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาร่าง พ.ร.บ. จำนวน 21 คน กำหนดเวลาแปรญัตติ 7 วัน และกรอบระยะเวลาดำเนินงานภายใน 30 วัน
โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวชี้แจงหลักการและเหตุผล ว่า การปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาซึ่งเป็นกฎหมายหลักของประเทศ เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการบังคับโทษปรับ ในประเด็นการยึดทรัพย์สิน หรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินเพื่อใช้ค่าปรับ,ปรับปรุงอัตราเงินในการกักขังแทนค่าปรับให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน, ปรับปรุงจำนวนค่าปรับที่อาจขอทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ, กำหนดหลักเกณฑ์ให้ศาลพิจารณารอการลงโทษสำหรับผู้กระทำความผิดซึ่งถูกลงโทษจำคุก หรือโทษปรับ และเพิ่มเงื่อนไขในการคุมความประพฤติได้ เพื่อให้โอกาสจำเลยได้กลับตัว รวมทั้งกำหนดเพิ่มโทษให้หนักขึ้นสำหรับผู้ใช้ให้บุคคลบางประเภท อาทิ เด็ก และผู้สูงอายุ ไปกระทำความผิด ขณะเดียวกันให้อำนาจศาลสามารถลดโทษแก่ผู้ถูกใช้ให้กระทำความผิดที่ให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินคดีได้ โดยมีกรมบังคับคดี และกรมคุมประพฤติ สังกัดกระทรวงยุติธรรม มาช่วยดำเนินการบังคับใช้โทษปรับกรณีผู้ถูกปรับไม่ยอมจ่ายค่าปรับให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นเครื่องมือให้ศาลใช้พิจารณาคดีต่างๆ ให้เกิดความเป็นธรรมต่อไป
ด้านสมาชิก สนช.ส่วนใหญ่อภิปรายเห็นด้วยกับการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว อย่างไรก็ตามได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับอัตราเงินกรณีการกักขังแทนค่าปรับวันละ 300 บาท โดยเทียบจากอัตราค่าแรงขั้นต่ำนั้นยังไม่สมเหตุสมผลเท่าที่ควร โดยเห็นว่าควรมีอัตราสูงมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบัน พร้อมเห็นว่าผู้กระทำความผิดที่ไม่สามารถชำระค่าปรับได้ควรทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนการกักขัง เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้กระทำความผิดได้ใกล้ชิดกับสังคมมากขึ้น อาจทำให้ผู้กระทำความผิดมีความประพฤติที่ดีได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว มีการแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นสำคัญ อาทิ การกำหนดวิธีการยึดทรัพย์ หรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินเพื่อใช้ค่าปรับ การปรับปรุงอัตราเงินในการกักขังแทนค่าปรับ เป็นต้น
>>สามารถคลิ๊กดาวน์โหลดได้ที่นี่<<
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ