หวั่นเมืองเชียงใหม่เกิดวิกฤตแย่งน้ำกินน้ำใช้ หลังคอนโด-โรงแรม-อาคารพาณิชย์ ผุดเพิ่มกว่า 100 ราย เฉพาะปี 2555 มากถึง 34 โครงการ เกือบ 20,000ยูนิต สมาคมอสังหาริมทรัพย์เชียงใหม่-ลำพูน ระบุทุกประเภทกว่า 40,000 หน่วย ส่วนผู้ใช้น้ำปัจจุบันกว่า 83,000 ราย ขณะที่แหล่งน้ำจำกัดเพียง 2 เขื่อนใหญ่ ที่ต้องปล่อยน้ำเกินเป้าถึงวันละ 50,000 ลบ.ม. | ที่มาภาพประกอบ: Google Maps
ในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเมืองเชียงใหม่ไปในทิศทางที่เร็วมาก โดยเฉพาะสิ่งปลูกสร้าง อาคาร ที่พัก โรงแรม อาคารพาณิชย์และอื่น ๆ ผุดขึ้นอย่างรวดเร็ว ยิ่งเป็นช่วงสุญญากาศของผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ ที่ยังไม่ประกาศใช้เป็นทางการ และเป็นห้วงเวลามาตั้งแต่ปี 2549 การขออนุญาตก่อสร้างก็ทำภายใต้กรอบกติกาเดิมที่ผ่อนผันมา ท้องถิ่นก็ต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย เพราะไม่เช่นนั้นก็เป็นการละเลยต่อการทำหน้าที่ ช่องว่างตรงนี้จึงไม่เป็นเรื่องที่แปลกที่จะเห็นอาคารต่าง ๆ เริ่มก่อสร้างกันจำนวนมาก
ข้อมูลจากสำนักการช่าง เทศบาลนครเชียงใหม่ นายชาตรี เชื้อมโนชาญ รองนายกเทศมนตรี เทศบาลนครเชียงใหม่ กล่าวว่า การขออนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ระยะ 5 ปีที่ผ่านมา เติบโตแบบก้าวกระโดด มีการขอสร้างบ้านเรือน โดยเฉพาะอาคารพาณิชย์ คอนโดมิเนียม โรงแรม ปีละมากกว่า 100 ราย หากไม่นับรวมการขออนุญาตสร้างบ้านอาศัยของประชาชนทั่วไป เช่น ปี 2555 มีการก่อสร้างคอนโดมีเนียมระดับ 4-5 ดาวในพื้นที่ถึง 34 โครงการมากกว่า 17,500 ยูนิต และยังมีรอพิจารณาอีกประมาณกว่า 10 โครงการหรือกว่า 5,000 ยูนิต โดยมีกลุ่มทุนจากกรุงเทพฯ และพื้นที่อื่น ๆ เริ่มเข้ามามาก ขณะที่กลุ่มทุนเดิมในพื้นที่ก็ปรับแนวทางทำคอนโดมิเนียมตามกระแสนิยม
จากข้อมูลปี 2555 ยังพบว่ามีการก่อสร้างบ้านและคอนโดมิเนียมต่าง ๆ สูงตามปริมาณความต้องการที่มากกว่า 60 เปอร์เซนต์ เป็นคนในต่างพื้นที่ที่ต้องการมาอยู่เชียงใหม่ บางรายเป็นบ้านหลังที่ 2 -3 โดยมีคำขออนุญาตสร้างคอนโดมีเนียมถึง 46 โครงการ ถ้ารวมปี 2554 ก็มีถึง 76 โครงการ บ้านเดี่ยวทั้งชั้นเดียวและมากกว่า 2 ชั้น รวม 93 โครงการเพิ่มจากช่วงปี 2554 กว่า 3 เท่าตัว
ซึ่งตามข้อมูลวิเคราะห์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคเหนือ นายสมศักดิ์ วงศ์ปัญญาถาวร ผู้อำนวยการฯ ระบุว่า ดัชนีชี้วัดจากดีมานด์ซับพลายยังไม่เกินความต้องการ ปริมาณการก่อสร้างหรือขออนุญาตก่อสร้างในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ที่หนาแน่นและเพิ่มมากขึ้นทั้งในเขตเมือง และอำเภอรอบนอกขณะนี้ เป็นการพัฒนาต่อเนื่องมาในระยะ 2-3 ปีนี้และเติบโตตามความต้องการอยู่ โดยเฉพาะปี 2555 ที่ผ่านมา ปริมาณคอนโดมิเนียมและบ้านจัดสรรเพิ่มขึ้นสูง เป็นเพราะมีคนนอกพื้นที่ในกรุงเทพฯ และภาคกลางมีความต้องการมากขึ้นและมีกลุ่มทุนในภาคกลาง และกรุงเทพฯ รวมทั้งในพื้นที่ได้ขยายฐานการลงทุนตามความต้องการของตลาด จึงไม่ได้มีมากเกินความต้องการในขณะนี้
ด้านนายณรงค์ คองประเสริฐ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยจ.เชียงใหม่ ปี 2555 ว่า จากข้อมูลการขออนุญาตก่อสร้างอาคารที่ปรากฏขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่และอำเภอรอบ ๆ ทั้งสันกำแพง สันทราย ดอยสะเก็ด แม่ริม แม่แต่ง สารภี หางดง สันป่าตอง พบว่า มีประมาณเพิ่มสูงขึ้นจาก 2-3 ปีก่อนหน้านี้มาก
สอดคล้องกับข้อมูลของทางสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองเชียงใหม่ ก็ระบุว่า มีปริมาณการขออนุญาตก่อสร้างเพิ่มจากช่วง 5 ปีก่อนหน้านี้ 3-5 เท่าตัว มีสัญญาณบอกเหตุถึงความเชื่อมั่นและการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วรองรับความเจริญทางเศรษฐกิจที่นักลงทุนไม่เฉพาะในพื้นที่ยังมีกลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์จากกรุงเทพฯ และพื้นที่อื่น ๆ ที่เข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก มีสถิติชัดเจนหลังมีเหตุหลักจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ในเขตภาคกลางเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา ทำให้มีการขยายตัวของที่อยู่อาศัยในพื้นที่เชียงใหม่และจังหวัดในภาคเหนือสูงขึ้น
ข้อมูลโครงการบ้านและที่อยู่อาศัยที่มีการขออนุญาตก่อสร้างไปเมื่อปี 2555 ณ สิ้นเดือนธันวาคมนั้น นายกิตติวัฒน์ อ่วมอารีย์ อุปนายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์จังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน บอกว่า มีหน่วยในผังโครงการทั้งหมด 42,994 หน่วย แบ่งเป็นบ้านจัดสรร 14,560 หน่วย อาคารชุด 1,856 หน่วย บ้านพักตากอากาศ 102 หน่วย บ้านเอื้ออาทร 3,457 หน่วยและ อาคารชุดเอื้ออาทร 4,334 หน่วย คอนโดมิเนียม 18,685 หน่วย โดยที่บ้านจัดสรรที่อยู่ระหว่างการขาย มีมูลค่าการขายประมาณกว่า 56,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะอยู่ในอ.เมือง สันทราย ดอยสะเก็ด และอ.สันกำแพง ประเภทบ้านที่นิยมเปิดขายจะเป็นบ้านเดี่ยว 1 ชั้น ขนาดที่ดิน 50-100 ตารางวา ราคาขายอยู่ในช่วง 1.7-3.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ตามราคาประเมินและอัตราค่าธรรมเนียมด้านที่ดิน ซึ่งจากการสำรวจก็พบว่า เป็นหน่วยที่ขายไปแล้ว 9,325 หน่วย ประมาณ 64.04 % ในจำนวนนี้เป็นหน่วยที่ขายได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 จำนวนถึง 1,102 หน่วย และเหลือขายอีก 5,235 หน่วยประมาณ 35.96 เปอร์เซนต์ มีสถานะ ของการก่อสร้างเป็นหน่วยที่ยังไม่ก่อสร้างอีก 5,856 หน่วย อยู่ระหว่างก่อสร้าง 1,640 หน่วย และสร้างเสร็จ 6,441 หน่วย โดยหน่วยที่สร้างเสร็จเหลือขาย (บ้านว่าง) มีจำนวน 623 หน่วย
สำหรับโครงการคอนโดมิเนียมตามพื้นที่ต่าง ๆ ใน จ.เชียงใหม่ อาทิ ถ.เลียบคลองชลประทาน 18 โครงการ จำนวน 2,000 ยูนิต ถ.ซุปเปอร์ไฮเวย์ 11 โครงการ จำนวน 1,800 ยูนิต ถ.ห้วยแก้ว 10 โครงการ จำนวน 1,600 ยูนิต ถ.นิมมานเหมินทร์ 9 โครงการ จำนวน 600 ยูนิต ถ.ช้างคลาน 3 โครงการ จำนวน 400 ยูนิต ถ.มหิดล 3 โครงการ 400 ยูนิต บิสสิเนสพาร์ค 15 โครงการ 1,500 ยูนิต อื่น ๆ 30 โครงการ 3,000 ยูนิต
จากฐานข้อมูลด้านที่อยู่อาศัยที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น มีข้อห่วงใยเรื่องของระบบสาธารณูปโภคที่จะรองรับว่าจะมีการพัฒนารองรับได้ดีมีประสิทธิภาพหรือไม่ ทั้งไฟฟ้า ประปา หรือการจัดการด้านขยะ ที่นับเป็นปัญหาที่รอประทุขึ้นได้ทุกวัน นายทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ กล่าวว่า จำนวนประชาการของเขตเทศบาลนครเชียงใหม่จากตัวเลขล่าสุดในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ณ 8 เมษายน 2555 มีประชาชนในพื้นที่ 35,935 ครัวเรือนหรือ 133,393 คน มีสิทธิเลือกตั้ง 104,738 คน การที่มีคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้นมากกว่า 30 โครงการ หรือมีอาคารกว่า 80 หลังหรือกว่า 30,000 ยูนิต นั้นหมายถึงจะมีประชาชนกรในพื้นที่เพิ่มมากกว่า 30,000 คนแต่เชื่อว่า 1 ยูนิตหรือห้องนั้นจะมีคนอยู่มากกว่า 2 คนนั่นหมายถึงเทศบาลนครเชียงใหม่จะมีสมาชิกเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 60,000 คนในเร็ว ๆ นี้
ข้อมูลการใช้น้ำของสำนักงานประปาส่วนภูมิภาค สาขาจังหวัดเชียงใหม่ นายสมเดช คล้ายมาก ผู้จัดการเปิดเผยว่าสาขาเชียงใหม่มีพื้นที่รับผิดชอบ 99.49 ตารางกิโลเมตร มีผู้ใช้น้ำล่าสุด 83,482 ราย ซึ่งจะเป็นเฉพาะเขตอำเภอเมืองส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่รับผิดชอบของสาขาอื่น ๆ ในพื้นที่อีก 7 พื้นที่คือ สาขาแม่ริมที่ดูแลเขตเมืองส่วนหนึ่งด้วย มีตัวเลขผู้ใช้น้ำทั้งหมด 15,043 ราย สาขาฮอดอีก 2,621 ราย สาขาสันกำแพงอีก 10,101 ราย สาขาแม่แตงอีก 3,007 ราย สาขาฝาง 4,205 ราย และสาขาจอมทอง 3,320 ราย รวมทั้งจังหวัดเวลานี้ 121,779 ราย ครอบคลุมพื้นที่ 252.99 ตารางกิโลเมตร ขณะที่พื้นที่การประปาเขต 9 ที่ดูแลภาคเหนือตอนบนนั้นมีจำนวนประปา 27 แห่ง หน่วยบริการ 31 แห่งมีตัวเลขผู้ใช้น้ำมากถึง 289,661 ราย ส่วนกำลังการผลิตวันละ 121,680 ลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำผลิต 3,995,428 ลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำผลิตจ่าย 3,616,084 ลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำจำหน่าย 2,277,180 ลูกบาศก์เมตร (สิงหาคม 2555)
“การเพิ่มของสิ่งปลูกสร้าง อาคารบ้านเรือนหรือที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม จะมีการขอใช้บริการน้ำประปาอยู่แล้ว เท่ากับว่าตอนนี้มีผู้ยื่นของใช้น้ำมากกว่า 30,000 ราย และยังจะมากขึ้น เมื่อมีการขายโครงการต่าง ๆ ที่ผุดขึ้นมาทั้งหมด ขณะเดียวกันเราก็ยังมีปัญหาเรื่องของปริมาณน้ำดิบสำรองในการผลิตน้ำประปา เพราะไม่มีแหล่งน้ำเป็นของประปาเอง ต้องอาศัยน้ำจากเขื่อนและน้ำปิง ยิ่งหน้าแล้งถือว่าเป็นห้วงวิกฤตมาก ปกติเราก็มีปัญหาเรื่องนี้อยู่แล้ว หากมีการแบ่งการใช้หรือแชร์เพิ่มขึ้นในขณะที่ปริมาณน้ำยังไม่เพิ่ม ก็จะทำให้ประสิทธิภาพการบริการน้ำประปาด้อยลงไปด้วย” ผู้จัดการ สำนักงานประปาส่วนภูมิภาค สาขาจังหวัดเชียงใหม่กล่าวย้ำ
โดยปกติแล้วปัจจุบันชาวบ้านต่างประสบปัญหาเรื่องของน้ำประปาไม่ไหลหรือไหลอ่อน รวมทั้งหยุดไหลเพราะท่อแตก ชำรุด กว่าจะแจ้งและซ่อมเสร็จก็ใช้เวลานาน มีชาวบ้านร้องเรียนอยู่ตลอดเวลา การปรับปรุงท่อส่งไปยังพื้นที่ต่างๆ การเก็บเนื้องานหลังเสร็จสิ้นก็ยังกลายเป็นปัญหาแก่ประชาชนและกระทบต่อภาพลักษณ์ของเมืองท่องเที่ยวมาก ยิ่งปี 2556 นี้ ทางรัฐบาลกำหนดให้มีการกระตุ้น ส่งเสริมกิจกรรมเรื่องการท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มมูลค่าถึงแสนล้านบาทให้ได้ด้วย จากปัจจุบันได้กว่า 40,000-50,000 ล้านบาท ดังนั้นงานสาธารณูปโภค ประปา ไฟฟ้า จึงเป็นดัชนีชี้วัดสำคัญอีกด้านหนึ่ง หากเร็ว ๆ นี้ มีคนมาแบ่งการใช้น้ำเพิ่มขึ้นมาอีกกว่า 30,000 รายจากเดิม แน่นอนว่าปัญหาที่เคยพบอยู่ทั้งน้ำประปาไม่ไหลหรือไหลอ่อน รวมทั้งหยุดไหลเพราะท่อแตก ชำรุด จะยิ่งเพิ่มความรุนแรงขึ้นอีกอย่างเลี่ยงไม่ได้
สอดคล้องกับข้อมูลของโครงการชลประทานเชียงใหม่ เปิดเผยข้อมูลเรื่องการใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคตามแผนบริหารจัดการน้ำที่กำหนดไว้ร่วมกับประชาชนผู้ใช้น้ำ โดยเฉพาะหน้าแล้งที่น้ำมีปริมาณน้อย นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและบำรุงรักษาโครงการชลประทานเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากการบริหารจัดการเรื่องการใช้น้ำนั้นทางโครงการชลประทานเชียงใหม่มีการจัดสรรการใช้น้ำที่ค่อนข้างให้ความเข้มงวดมากในห้วงฤดูแล้ง เพราะฤดูฝนปริมาณน้ำมากไม่เป็นปัญหา โดยในฤดูแล้งเช่นปีนี้ ปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่ทั้ง 2 แห่ง คือ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล มีปริมาณน้ำกักเก็บและใช้การได้มีความจุ 63.42 เปอร์เซนต์ หรือ 168 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนเขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีปริมาณกักเก็บ และใช้การได้ขณะนี้ 41.63 เปอร์เซนต์ ของความจุหรือ 109.48 ล้านลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้ในฤดูแล้งมีแผนการจ่ายน้ำเป็นช่วงเวลา โดยแบ่งสัดส่วนสำคัญคือด้านการเกษตร การปรับสมดุลหรือรักษาระบบนิเวศน์ และอุปโภคบริโภคที่แบ่งให้เป็นน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาเพื่อใช้ในตัวเมืองเชียงใหม่ ตามแผนงานระยะหลังนั้นกำหนดไว้จะปล่อยน้ำจากเขื่อนให้วันละ 20,000 -25,000 ลูกบาศก์เมตร แต่ ณ ปัจจุบันเขื่อนต้องจ่ายน้ำเกินเป้าหมายที่วันละ 50,000- 52,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าใกล้ภาวะความเสี่ยงต่อการแย่งน้ำในอนาคตค่อนข้างสูง หากมีปริมาณความต้องการใช้น้ำประปาสูงขึ้นอีก เพราะประปาไม่มีแหล่งน้ำดิบของตนเองที่เพียงพอ ทุกวันนี้พบว่านอกจากจะได้รับจากเขื่อนแล้ว ยังมีการสูบจากน้ำปิงหลายจุดและแหล่งน้ำบาดาลที่ถือว่าสัดส่วนน้อยมาก เชื่อว่า 1-2 ปีจากนี้วิกฤตการใช้น้ำจะรุนแรงมากขึ้นและอาจถึงขั้นการแย่งน้ำระหว่างเกษตรกรกับผู้ใช้น้ำอุปโภคบริโภคในตัวเมืองได้ หากการประปาไม่มีแผนรับมือตั้งแต่เนิ่น ๆ
จากข้อมูลนั้นการใช้น้ำต่อครัวเรือนต่อเดือนจะไม่ต่ำกว่า 20 ลูกบาศก์เมตร บวกลบตามกิจกรรมของแต่ละครอบครัว ดังนั้นเมื่อเทียบง่าย ๆ หากมีครอบครัวหรือความต้องการเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 30,000-40,000ราย ระยะอันใกล้นี้ ซึ่งเป็นผลจาการเข้ามาอยู่ในโครงการบ้านจัดสรรหรือคอนโดมิเนียมต่าง ๆ มากกว่า 80 เปอร์เซนต์ ขึ้นไป น้ำดิบหรือประปาที่ให้บริการอยู่อาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการอย่างแน่นอน เพราะจะมีปริมาณที่ต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นมากกว่า 600,000 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน หรือวันละ 20,000 ลูกบาศก์เมตรหรือเพิ่มปริมาณมากกว่าเดิมอีกเท่าตัวจากที่ชลประทานได้จัดสรรให้ โดยรวมทั้งหมดแล้วถือว่าสูงมาก เพราะถ้าปริมาณน้ำในแหล่งน้ำยังมีเท่าเดิมและจะยิ่งน่าเป็นห่วงเมื่อปีไหนที่แล้งมาก ๆ
ในการนี้ยังไม่นับรวมสิ่งต่าง ๆ ที่จะตามมาทั้ง ความชุกหรือหนาแน่นของสังคม ปัญหาเรื่องการจราจร สิ่งแวดล้อม มลพิษทางอากาศ ปริมาณขยะมูลฝอยที่จะเพิ่มขึ้นมีผลต่อการจัดการเพราะปัจจุบันก็ยังมีปัญหาอยู่ เฉพาะแค่เขตเทศบาลนครเชียงใหม่พื้นที่เดียวก็มีขยะวันละกว่า 300 ตันแล้ว นอกจากนี้ยังจะมีขยะพวกอิเล็กทรอนิกส์ ขยะพิษ หรือความต้องการด้านพลังงานเช่น ไฟฟ้า ที่ทุกวันนี้ก็ติด ๆ ดับๆ ตลอดเวลา หากมีผู้คนมากขึ้น ปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นจะรองรับได้หรือไม่ รวมทั้งผลต่อพลังงานสำรองในอนาคต ที่สำคัญวิถีความเป็นอยู่ของเมืองประวัติศาสตร์ล้านนาในอดีตก็จะมีผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้ด้วย ซึ่งวันนี้มีแผนรับมือไว้ดีแล้วหรือไม่อย่างไร
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ