'การศึกษาสร้างชาติสิงคโปร์' ประวัติศาสตร์จุดเริ่มความเข้าใจ 'เศรษฐกิจ-การเมือง' นำอาเซียน

ปาลิดา พุทธประเสริฐ 29 มี.ค. 2558 | อ่านแล้ว 11879 ครั้ง

พบการศึกษาสร้างชาติให้ 'สิงคโปร์' เจริญก้าวหน้าในทุกเรื่อง ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ฯลฯ นำหน้าอาเซียน เผยรัฐบาลเน้นสอนประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นใหม่รู้ภูมิหลังประเทศตัวเอง ป้องกันความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติต่างๆ ทั้งที่มีความหลากหลาย เผยหลังเป็นอิสรภาพจากอังกฤษ ประกาศหลักพื้นฐานของนโยบายการศึกษา 4 ข้อที่เด็กและเยาวชนต้องทำตาม

หากพิจารณาถึงประเทศที่มีลักษณะความเป็นหลากหลายทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “สิงคโปร์” จัดได้ว่าเป็นประเทศที่มีความเด่นชัดในเรื่องความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ทุกวันนี้ประเทศสิงคโปร์มีทั้ง ชาวจีน, ชาวมาเลย์, ชาวอินเดีย และยังมีความหลากหลายทางศาสนาทั้ง ศาสนาพุทธ อิสลาม ศาสนาฮินดู คริสต์ศาสนา และลัทธิเต๋า รวมไปถึงด้านวัฒนธรรมที่ได้รับการผสมผสานทั้งจากภายนอกและวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยแต่ละเชื้อชาติก็มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ย่อมส่งผลให้เกิดความขัดแย้งทางการดำรงชีวิต รวมถึงแนวคิดในเรื่องต่าง ๆ เช่น ประเด็นเรื่องกระแสชาตินิยมในแต่ละเชื้อชาติ

ปัจจุบันประเทศสิงคโปร์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางการเมือง และมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากสวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และเยอรมนี อีกทั้งเป็นศูนย์กลางการพาณิชย์และอุตสาหกรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก และมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยร้อยละ 9 ต่อปี รวมทั้งเป็น 1 ใน 10 ประเทศ ที่มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศทันสมัยมาใช้อย่างกว้างขวาง มีแรงงานระดับกลาง ที่มีทักษะฝีมือดีที่สุดในเอเชีย และได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศ ที่มีศักยภาพในการแข่งขัน เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

สิงคโปร์มีวิธีการอย่างไรในการสร้างประเทศ ท่ามกลางความหลากหลายทางเชื้อชาติ ไม่มีแม้แต่ทรัพยากรธรรมชาติ ให้กลายเป็นประเทศที่สามารถมีการพัฒนาได้มากที่สุด ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รัฐบาลจึงจำเป็นต้องหาวิธีหรือเครื่องมือ ในการสร้างความกลมเกลียว ท่ามกลางความหลากหลายของแต่ละเชื้อชาติ ทั้งยังต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของประเทศชาติในอนาคต และความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วย ทำให้การศึกษากลายเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลในการปลูกฝังให้ประชาชนภายในรัฐ เป็นพลเมืองที่ดี ตามแนวความคิดที่รัฐบาลต้องการ หรือวางแผนไว้โดยผ่านนโยบายการศึกษา หลักสูตร รวมทั้งตำราหรือแบบเรียน โดยเฉพาะในวิชาสังคมศึกษา ประวัติศาสตร์ และหน้าที่พลเมือง ที่เป็นตัวช่วยในการทำหน้าที่ขัดเกลาเยาวชนรุ่นใหม่ ให้เป็นไปตามที่รัฐบาลกำหนดไว้ ผ่านแบบเรียนที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกระทรวงศึกษาธิการของรัฐบาลสิงคโปร์ ที่เป็นส่วนสำคัญในการควบคุมดูแลเนื้อหาภายในแบบเรียน จำเป็นต้องสอดคล้องกับความต้องการของสภาพสังคมและนำไปสู่การสร้างการยอมรับและเข้าใจในความหลากหลายของแต่ละกลุ่มเชื้อชาติ

เยาวชนรุ่นใหม่ ถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของประเทศสิงคโปร์ โรงเรียนและระบบการศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยขัดเกลาทรัพยากรบุคคลหรือเยาวชนรุ่นใหม่เหล่านี้ ให้ได้รับการพัฒนาทั้งด้านคุณธรรม สติปัญญา ร่างกาย และสังคม | ที่มาภาพประกอบ: syfc.org.sg

ประชาชนชาวสิงคโปร์หรือเยาวชนรุ่นใหม่ ถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของประเทศสิงคโปร์ โรงเรียนและระบบการศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยขัดเกลาทรัพยากรบุคคลหรือเยาวชนรุ่นใหม่เหล่านี้ ให้ได้รับการพัฒนาทั้งด้านคุณธรรม สติปัญญา ร่างกาย และสังคม เพื่อหล่อหลอมคุณธรรม จริยธรรมในตัวเยาวชนที่จะเป็นอนาคตของชาติต่อไป การศึกษาจะช่วยพัฒนาสติปัญญา ความรู้ รวมทั้งความสามารถเฉพาะตัวของเยาวชนแต่ละคนให้รู้จักการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันโดยไม่คำนึงถึงความหลากหลายทางเชื้อชาติ เข้าใจในข้อจำกัดของชาติและมองเห็นช่องทางหรือโอกาสที่ดีในอนาคต

ช่วงปี ค.ศ.1819 นโยบายด้านการศึกษาของรัฐเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากสิงคโปร์ตกอยู่ภายใต้การวางแผนและควบคุมดูแลของเจ้าอาณานิคมอย่างสหราชอาณาจักร กลุ่มคนที่จะได้รับการศึกษามีเพียงกลุ่มเดียว คือ กลุ่มคนชั้นนำของแต่ละเชื้อชาติเท่านั้น

ต่อมาในปีค.ศ.1947 เมื่อสิงคโปร์ได้ประกาศตัวเป็นอิสรภาพจากเจ้าอาณานิคม สิงคโปร์เริ่มมีนโยบายด้านการศึกษาอย่างชัดเจนมากขึ้นผ่านนโยบาย 10 ปี  เป็นนโยบายการศึกษาแห่งชาติขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนรุ่นใหม่มีความรู้และความคิดในเรื่องการพัฒนา ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในสังคม โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ซึ่งมีหลักพื้นฐาน 4 ประการ ดังนี้

1.นักเรียนของสิงคโปร์จะต้องความรู้สึกที่มีลักษณะเป็นรากฐานเดียวกัน และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชาติ โดยไม่ดูถูกเหยียดหยามประเทศอื่น และไม่อายที่จะประกาศว่าตนเป็นชาวสิงคโปร์

2.ชาวสิงคโปร์รุ่นใหม่ทุกคนจำเป็นต้องรู้เรื่องราวความเป็นมาของประเทศสิงคโปร์ เช่น ประวัติความเป็นมาของสิงคโปร์ กลุ่มเชื้อชาติต่าง ๆ ในสิงคโปร์ ภาษา วัฒนธรรมและศาสนา เป็นต้น

3.ชาวสิงคโปร์ต้องเข้าใจในความเป็นสิงคโปร์ กล่าวคือ ต้องเข้าใจถึงความท้าทายของประเทศ รวมถึงความอ่อนแอของประเทศ และอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตและอนาคต เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นหนึ่งเดียวกันและสามารถฝ่าฟันอุปสรรคในอนาคตได้

4.ชาวสิงคโปร์รุ่นใหม่ต้องถูกปลูกฝังใน เรื่องความเชื่อมั่นในคุณงามความดีของสังคม และความเท่าเทียมกันของคนในสังคม

จากการศึกษาข้อมูลพบว่ารัฐบาลได้ปลูกฝังความเป็นพลเมืองที่ดีของรัฐผ่านเนื้อหาภายในแบบเรียน โดยเฉพาะแบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งเนื้อหาของแบบเรียนต้องการให้เยาวชนมีความเป็นพลเมืองที่ดีตามความต้องการของรัฐ ความเข้าใจในประวัติศาสตร์ของชาติ จุดเด่นและจุดด้อยของประเทศ จะส่งผลทำให้เยาวชนมีสัญชาตญาณในการป้องกันผลประโยชน์แห่งชาติร่วมกันของสังคม และมีเจตจำนงที่ดีและความมั่นใจในประเทศของตน รวมทั้งรู้จักรักษารากเหง้าทางวัฒนธรรม รู้จักมรดกทางวัฒนธรรมของตนเองและภาษาแม่ อีกทั้งยังเข้าใจและเคารพภูมิหลังที่แตกต่างกันทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม และภาษาของคนในชาติ

แบบเรียน Understanding Our Past : Singapore from Colony to Nation | ที่มาภาพ: sg.carousell.com

ในแบบเรียน Understanding Our Past : Singapore from Colony to Nation  ระบุว่า ‘รัฐบาลเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถสร้างความเป็นชาติได้ แต่ต้องได้รับการสนับสนุนและการมีส่วนร่วมจากประชาชนทุกคน ในการร่วมกันสร้างความเป็นชาติขึ้น ประเทศสิงคโปร์เข้าถึงความเป็นชาติได้จากการส่งเสริมและพัฒนาอัตลักษณ์ของคนในชาติ ประชาชนต้องมีความรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ โดยไม่คำนึกถึงเชื้อชาติ ภาษาหรือศาสนา พวกเราต้องช่วยกันส่งเสริมการทำงานร่วมกัน เพื่อความสำเร็จในอนาคต สำหรับชาติของเราและร่วมมือกันปกป้อง และป้องกันประเทศของเราไปสู่ความสำเร็จ รัฐบาลเชื่อว่าความรู้สึกเป็นสมาชิก และเป็นเจ้าของร่วมกัน จะสามารถนำประเทศไปสู่ความสำเร็จในอนาคตได้โดยการเชื่อมโยงประชาชนเข้าด้วยกัน’

จากการปลูกฝังความเป็นพลเมืองที่ดีของรัฐ ผ่านเนื้อหาภายในแบบเรียน สิ่งที่สะท้อนออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรม หากเราเดินทางไปสิงคโปร์ คือ ประชาชนไม่แบ่งแยกพรรคแบ่งพวกในเรื่องเชื้อชาติ ภาษาหรือศาสนา ทุกคนล้วนมีความรู้สึกว่า ตนเองเป็นประชาชนชาวสิงคโปร์ร่วมกัน จะเห็นได้จากคำกล่าว ปฎิญาณ ที่นักเรียนทุกคนต้องกล่าวอย่างพร้อมเพรียงหน้าเสาธงในตอนเช้าของทุก ๆ วันว่า

“พวกเราพลเมืองชาวสิงคโปร์ ขอปฏิญาณด้วยตนเองว่าจะเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ภาษา หรือศาสนา เพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตยที่มีรากฐานอยู่บนความยุติธรรมและความเท่าเทียมกันเพื่อให้บรรลุความสุข ความสำเร็จ และความก้าวหน้าสำหรับประเทศของเรา”

นอกจากนี้การป้องกันประเทศยังปรากฏในแบบเรียน Discovering Our World: Needs of a New Nation ยังมีข้อความระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ‘การป้องกันประเทศทั้งหมดเตรียมพร้อมสำหรับชาวสิงคโปร์ทุกคนในการปกป้องประเทศ พวกเราก็สามารถมีส่วนร่วมในการป้องกันประเทศได้ การปกป้องประเทศเป็นสิ่งสำคัญต่อสิงคโปร์ การป้องกันประเทศของเราเป็นความรับผิดชอบของชาวสิงคโปร์ทุกคน ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการคุ้มครองและปกป้องประเทศสิงคโปร์ในดำเนินต่อไปอย่างปลอดภัยและเต็มไปด้วยสันติภาพ’

จากข้อความในแบบเรียน ทำให้เราได้เห็นว่าชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่มีสำนึกร่วมกันในการดูแลมรดกของชาติ รู้จักหน้าที่ของตนเอง รวมถึงการปกป้องดูแลประเทศชาติ เช่น การเอาใจใส่มรดกของชาติ โดยการไม่ทำลายสิ่งก่อสร้างหรือสถาปัตยกรรมของชาติ ไม่ถมน้ำลายในที่สาธารณะ รวมทั้งไม่ทิ้งขยะตามทีสาธารณะ

ข้อความในแบบเรียนดังกล่าว เป็นการปลูกฝังและกล่อมเกลาให้เยาวชน มีความเป็นพลเมืองที่ดี มีความเข้าใจและเชื่อมั่นในประเทศของตนเอง สามารถรับมือกับปัญหาในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถนำพาประเทศไปสู่ความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว

ประชาชนในประเทศเป็นทรัพยากรเพียงอย่างเดียวที่สิงคโปร์มีอยู่ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องร่วมมือกันในการพัฒนาศักยภาพของประชาชนให้อย่างดีที่สุด โดยหลักสูตรจะต้องสอดคล้องกับความต้องการของชาติทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อเยาวชนเหล่านี้จะได้สามารถรับมือปัญหาในอนาคตต่อไป

การจัดการการศึกษาที่ดีจึงเป็นเหมือนการลงทุนที่สำคัญของประเทศสิงคโปร์ ระบบการศึกษาในสิงคโปร์ประสบความสำเร็จอย่างมากสร้างประชากรในการพัฒนาประเทศ จนกระทั่งหนังสือพิมพ์ไทม์หน้าเกี่ยวกับการศึกษาได้ยกย่องว่าสิงคโปร์เป็น “ชาติที่ประสบความสำเร็จทางวิชาการมากที่สุดในโลก” อีกด้วย

อย่างไรก็ตามประเทศสิงคโปร์ให้ความสำคัญอย่างมากต่อระบบการศึกษาและการให้การศึกษาแก่คน ซึ่งแน่นอนว่าเยาวชนที่ได้รับการศึกษาที่รัฐบาลให้ความสำคัญมากขนาดนี้ย่อมมีความรักและความเข้าใจในประเทศของตนเอง และสามารถนำประเทศไปสู่ความอยู่รอดและความรุ่งเรืองของชาติในอนาคตรวมถึงสามารถรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรัฐบาลยังมุ่งเน้นที่จะฝึกฝนเยาวชนให้เป็นนักคิดที่ดีโดยผ่านการศึกษาในโรงเรียนเป็นกระบวนการฝึกการคิดวิเคราะห์อย่างถูกต้อง และจากภายนอกโรงเรียนให้เป็นสังคมที่มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

มาถึงตรงนี้จึงมีคำถามว่าเพราะเหตุใดประเทศไทยเรามีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่าสิงคโปร์ มีการปลูกฝังเรื่องความเป็น “ชาติ” สิทธิหน้าที่พลเมือง อยู่ตลอดเวลา ผ่านการศึกษาในแบบเรียนวิชาสังคมศึกษา ประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกันสิงคโปร์ แต่เพราะเหตุใดสิงคโปร์จึงนำหน้าประเทศไทย ในหลายสิ่งหลายอย่าง แม้แต่จุดเริ่มต้นอย่างการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: