ข้าว ปลา อาหาร วันนี้ที่แม่เมาะ

พิมพ์กมล พิจิตรศิริ : TCIJ School รุ่น 2 29 ต.ค. 2558 | อ่านแล้ว 3527 ครั้ง

ป้ายรณรงค์ “ผักปลอดสารพิษ” ประจำตลาด ตำบลแม่เมาะ

ในการลงพื้นที่ภาคสนามของนักเรียนโรงเรียนนักข่าว TCIJ  เพื่อติดตามความคืบหน้ากรณีศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้ กฟผ.แม่เมาะ  จ่ายเงินชดเชยปัญหาสุขภาพแก่ชาวบ้าน 131 รายที่ร่วมกันฟ้อง กฟผ.ในนาม”เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ” ซึ่งเป็นคดียืดเยื้อมาถึงเกือบ 13 ปี  มีชาวบ้านเจ็บป่วยล้มตายระหว่างการฟ้องร้องหลายคน 

ทันทีที่เข้าไปถึงตลาด  เราก็สะดุดกับป้ายผ้าขนาดใหญ่ที่ขึงพาดถนน  รวมทั้งยังมีร้านค้าผักปลอดสารพิษอีกหลายร้าน  ชวนให้ฉงนว่าเหตุไฉนคนแม่เมาะจึงใส่ใจเรื่องผักปลอดสารพิษมากถึงเพียงนี้   ฤาว่าความฝังใจเกี่ยวกับมลพิษสิ่งแวดล้อม  ยังไม่จางหายไปจากความกังวลใจของชาวแม่เมาะ ?

เราจึงทำการสำรวจและสังเกตการณ์ “ข้าว ปลา อาหาร” รอบๆตลาดแห่งนี้  รวมทั้งการสัมภาษณ์พ่อค้าแม่ขายและประชาชนทั่วไปที่มาจับจ่าย  เบื้องต้นพบว่า คนแม่เมาะส่วนใหญ่ มีพฤติกรรมเลือกซื้อผักที่ปลอดสารพิษ และมีความพยายามสอบถามผู้ขายถึงแหล่งที่มาที่ไปของปลา

ตลาดประจำตำบล ตั้งอยู่ใจกลางเมืองแม่เมาะ เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่ขายทั้งอาหารสด และสินค้าเกษตร  เหมือนตลาดตามต่างจังหวัดทั่วไป  ต่างกันที่ที่นี้  ผู้บริโภคมีความต้องการผัก ปลา ที่ให้ความรู้สึกมั่นใจว่าจะไม่มีสารพิษปนเปื้อน  จากการสัมภาษณ์  มีผู้ให้ข้อมูลว่าคนแม่เมาะทุกวันนี้ ยังติดนิสัยบริโภคปลาจากอ่างน้ำจืด ซึ่งมีอยู่มากมายหลายอ่างโดยรอบแอ่งแม่เมาะ  รวมทั้งอ่างที่อยู่ในพื้นที่ขุมเหมืองถ่านหินแม่เมาะด้วย  เป็นผลให้คนแม่เมาะยังมีความกังวลใจว่าจะมีความเสี่ยงจากการบริโภคปลาปนเปื้อนสารพิษจากโรงไฟฟ้า สังเกตได้ว่า คนชื้อส่วนใหญ่จะมีการถามไถ่แม่ค้าก่อนซื้อปลาว่า  เป็นปลาจากอ่างไหน  ถ้าเป็นปลาอ่างแก้วและอ่างแสม  ก็จะไม่ซื้อ  บางคนบอกว่าเคยเห็นปลาจากอ่างแสม  มีแผลเต็มตัวและบางตัวถึงกับพุงแตก  ว่ากันว่าเกิดขึ้นเมื่อครั้งเหตุการณ์ฝนกรดในแม่เมาะ ช่วงปี 2535 เป็นต้นมา

แต่เป็นเรื่องน่าสนใจ ที่การส่งเสริมกระบวนการผลิตพืชผักปลอดสารพิษนี้ กลับเป็นผลมาจากความริเริ่มของโรงพยาบาลแม่เมาะ  ที่ก่อตั้งโครงการรณรงค์ “ผักปลอดสารพิษ” ขึ้นมา โดยมีองค์กรผู้สนับสนุนการรณรงค์และให้งบประมาณสนับสนุน คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  หรือ กฟผ.แม่เมาะ   ที่มีโครงการด้านมวลชนสัมพันธ์อื่นๆอีกมาก  อาทิ  ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง  ซึ่งกฟผ.แม่เมาะจัดให้มีการบรรยายการปลูกผักปลอดสารพิษให้กลุ่มเกษตรกรแม่เมาะที่สนใจอย่างต่อเนื่อง  โดยมีวิทยากรจากหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนมาให้ความรู้  จนทำให้ปัจจุบัน เกษตรกรสามารถรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มเกษตรกรปลูกผักปลอดสารพิษประมาณ 30 คน  โดยมี สมโภช ปานถม หรือลุงอ้วน เป็นหัวหน้าดูแลโครงการดังกล่าว

สมโภช ปานถม หรือลุงอ้วน ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการปลูกผักปลอดสารพิษ ประจำอำเภอแม่เมาะ กล่าวถึง การเริ่มต้นจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรผักปลอดสารพิษและการช่วยเหลือของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยว่า  “การจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรปลูกผักปลอดสารพิษ เริ่มตั้งแต่ปี 2546 โดยเริ่มจากตนเอง ต่อมา กฟผ. เห็นถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจทำงานจริงของตน จึงเสนอให้รวมกลุ่มจัดตั้งเป็นกลุ่มเกษตรกรผักปลอดสารพิษ และสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้กลุ่มเกษตรกรผักปลอดสารพิษ  เช่น ถนนลาดยาง อาคารหอประชุม  โดยที่ปัจจุบันสมาชิกจากการจัดตั้งกลุ่มดังกล่าวอยู่ในราว 30 คน “  

ลุงอ้วน  ยังได้กลายเป็นวิทยากรประจำของ กฟผแม่เมาะ  เวลามีหน่วยงานหรือนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชม กฟผ.แม่เมาะ  ทางกฟผ.ก็มักจะพามาชมกิจการของลุงอ้วนหรือเชิญลุงอ้วนไป  ซึ่ลุงอ้วนเล่าด้วยความภาคภูมิใจว่า  ลูกชายของลุงก็ได้ทำงานกับ กฟผ.แม่เมาะด้วย

ส่วน นางคำป้อ ออมแสง เกษตรกร อายุ 62 ปี  ที่เข้าร่วมกลุ่มเกษตรกรปลูกผักปลอดสารพิษตั้งแต่ปี 2551 เดิมอาศัยอยู่หมู่บ้านหางฮุง ซึ่งเป็นหนึ่งในหมู่บ้านที่อพยพย้ายจากผลกระทบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และมีอาชีพเลี้ยงหมู ปลูกผัก ด้วยที่ดิน 2 ไร่ ปัจจุบัน ป้าคำป้อย้ายมาอยู่หมู่บ้านหนองมะแปป  ซึ่งเป็นหนึ่งในหมู่บ้านที่ถูกจัดเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง  และต้องซื้อที่ดินใหม่เพิ่มอีก 2 งาน เพื่อปลูกผักปลอดสารพิษ  เนื่องจากได้รับการจัดสรรที่น้อยลง  ทำให้ทำการผลิตได้ไม่เพียงพอ  จากพื้นที่ทำกินเดิมมี 2 ไร่ และกำลังถูกควบคุมผูกขาดเมล็ดพันธุ์สำเร็จรูปจากบริษัทเมล็ดพันธุ์รายใหญ่ที่หาซื้อได้ตามท้องตลาด ปัจจุบัน  แปลงผักของป้าคำป้อและบริเวณใกล้เคียง  ถูกปล่อยให้รกร้าง  ปราศจากการดูแล  ซึ่ง ป้าคำป้อเล่าว่า

กฟผ.ให้ความช่วยเหลือในนามของกลุ่ม ในส่วนของการจัดซื้อจัดหาเมล็ดพันธุ์  สแลนและไม้ปักหลัก ส่วนรายการผักปลอดสารพิษที่ตนปลูกนั้น  ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ กฟผ. แต่จะขึ้นอยู่กับหัวหน้ากลุ่มเกษตรกรปลูกผักปลอดสารพิษ ที่ รับรายการผักจากพ่อค้าแม่ค้าอีกทอดหนึ่ง  สำหรับรายได้จากการขายผักปลอดสารพิษสูงสุดของตนนั้น  อยู่ในราว 3,000 บาทต่อเดือน

 “เฮาบ่ฉีดยา ใส่ปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกเอา  จะปลูกอะไรก็ได้ตามใจเฮา แต่แม่ค้าต้องมาฮับ ขายส่งกลุ่มไผกลุ่มมัน  อย่างกะหล่ำ คะน้า เฮามีแกลบ มีขี้วัวคลุกกับดินเอา ขายดีที่สุด 3,000 บาทต่อเดือน ขายแย่ที่สุด 1,000 บาทต่อเดือน “

ข้าวปลาอาหารของคนแม่เมาะในวันนี้  มีความปลอดภัยและปลอดสารพิษจริงแท้แค่ไหน คงไม่อาจสรุปได้  แต่ความพยายามรณรงค์กิจกรรม CSR ด้วยโครงการปลูกผักปลอดสารพิษ โดย กฟผ.ที่ถูกกล่าวหาว่าคือผู้ก่อมลพิษ  อาจกลายเป็นทางเลือกเล็กๆเท่าที่ผู้บริโภคจะเข้าถึงได้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: