อันตรายของการเจรจา

Gene Sharp (แปลโดย ธรรมชาติ กรีอักษร) 30 มิ.ย. 2558 | อ่านแล้ว 3967 ครั้ง


แปลจาก Gene Sharp, From Dictatorship to Democracy (East Boston, MA: The Albert Einstein Foundation, 2010). บทที่ 2


เมื่อพบกับปัญหาร้ายแรงของการเผชิญหน้ากับเผด็จการ (ดังที่ได้พิจารณาไปแล้วในบทที่ 1) บางคนอาจถอยกลับมายอมจำนนอย่างเฉื่อยชาต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ขณะที่คนอื่นๆ ที่ไม่เห็นวี่แววว่าประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้ อาจด่วนสรุปว่าพวกเขาจำเป็นต้องยอมรับเผด็จการที่คงอยู่ในอำนาจในระยะยาวไปก่อน และหวังว่าพวกเขาอาจจะสามารถช่วยให้ผลดีเกิดขึ้นได้บ้างและหยุดยั้งความเลวร้ายไม่ให้เกิดขึ้นอีกด้วยการ “ปรองดอง” “ต่อรอง” หรือการ “เจรจา” หากมองอย่างผิวเผินจะเห็นว่า ในเมื่อไม่มีทางเลือกอื่นที่เป็นไปได้จริง ความคิดดังกล่าวจึงดูไม่เลวนัก

การต่อสู้อย่างจริงจังกับเผด็จการที่โหดร้ายไม่มีวี่แววว่าจะทำให้อะไรดีขึ้นเลย มีความจำเป็นอะไรถึงต้องทำอย่างนั้น  แค่ให้ทุกคนใช้เหตุผล หันหน้าเข้าหากัน แล้วเจรจาเพื่อหาทางนำเผด็จการไปสู่จุดจบอย่างค่อยเป็นค่อยไปไม่ได้หรือ   เป็นไปไม่ได้เลยหรือที่ผู้นิยมประชาธิปไตยจะโน้มน้าวพวกเผด็จการโดยใช้ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ โน้มน้าวให้เผด็จการค่อยๆ ผ่อนคลายการครอบงำลง จนบางทีเผด็จการอาจยอมลงสู่อำนาจและหลีกทางให้แก่ประชาธิปไตยไปเองในที่สุด

บางครั้งมีการโต้แย้งว่าไม่มีฝ่ายใดพูดถูกทั้งหมด ผู้นิยมประชาธิปไตยอาจเข้าใจเผด็จการผิดไป เพราะเผด็จการอาจทำไปเนื่องจากมีเจตนาดีต้องการแก้ไขปัญหาภายใต้สถานการณ์ที่ยากลำบาก หรือบางทีบางคนอาจคิดว่าเผด็จการจะรีบถอนตัวจากสถานการณ์ยากลำบากที่ประเทศต้องเผชิญอยู่ไปเองหากมีการเสนอหรือพูดคุยกันดีๆ อาจโต้เถียงได้ว่าเผด็จการอาจตอบรับข้อเสนอที่ให้ผลดีแก่ทุกฝ่ายโดยไม่มีใครต้องแพ้ ทั้งนี้ อาจมีการท้วงติงด้วยว่า ความเสี่ยงและการล้มตายอันมาจากการต่อสู้เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้น ถ้าฝ่ายประชาธิปไตยมีเจตนาแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติผ่านการเจรจา (ซึ่งอาจได้รับความช่วยเหลือจากบุคคลที่มีความสามารถ หรือแม้แต่รัฐบาลของประเทศอื่นๆ) สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ทางออกที่ดีกว่าหรอกหรือเมื่อเทียบกับการต่อสู้กับเผด็จการอย่างยากลำบาก ต่อให้เป็นการต่อสู้โดยสันติวิธีแทนที่จะเป็นสงครามทางการทหารก็ตาม

ข้อดีและข้อจำกัดของการเจรจา

การเจรจาเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์อย่างมากในการหาทางออกให้กับประเด็นความขัดแย้งบางประเภท ทั้งเป็นสิ่งที่ไม่ควรถูกปฏิเสธหรือละเลยไปเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่เหมาะสม

ในบางสถานการณ์ที่ประเด็นความขัดแย้งไม่ได้กระทบต่อหลักการพื้นฐาน ทำให้การประนีประนอมเป็นสิ่งที่ยอมรับได้นั้น การเจรจาสามารถเป็นหนึ่งในวิธีการสำคัญที่ใช้ในการแก้ไขความขัดแย้งได้ การนัดหยุดงานเพื่อค่าแรงที่เพิ่มขึ้นเป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้การเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างเหมาะสม กล่าวคือ ข้อตกลงจากการเจรจาอาจทำให้บางฝ่ายได้ผลลัพธ์มากกว่าที่ตนเคยร้องขอไว้ในตอนแรก อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งระหว่างผู้ใช้แรงงานกับสหภาพแรงงานตามกฎหมายค่อนข้างแตกต่างจากปมขัดแย้งที่มีการดำรงอยู่ต่อไปของเผด็จการที่เหี้ยมโหดและการสถาปนาเสรีภาพทางการเมืองเป็นเดิมพัน

เมื่อประเด็นของความขัดแย้งเป็นปัญหาในระดับหลักการ กระทบต่อหลักการทางศาสนา ประเด็นเกี่ยวกับเสรีภาพของมนุษย์ หรือการพัฒนาของสังคมในอนาคตทั้งหมด การเจรจาอาจไม่ใช่หนทางที่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ทุกฝ่ายพอใจ สำหรับประเด็นระดับหลักการบางอย่าง การประนีประนอมเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ การปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เป็นประโยชน์ต่อผู้นิยมประชาธิปไตยเท่านั้นที่เพียงพอต่อการปกป้องรักษาประเด็นระดับหลักการที่กำลังขัดแย้งกันอยู่เอาไว้ได้ และการปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการต่อสู้เท่านั้น ไม่ใช่ด้วยการเจรจา นั่นไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรใช้การเจรจาเลย แต่ประเด็นคือ การเจรจาไม่ใช่ทางเลือกที่ใช้จัดการกับอำนาจเผด็จการที่เข้มแข็งได้จริงหากฝ่ายประชาธิปไตยเป็นฝั่งที่ไร้ซึ่งอำนาจ

แน่นอนว่าการเจรจาอาจไม่ใช่ทางเลือกเลยสักนิด เผด็จการที่ได้รับการคุ้มกันอย่างแน่นหนาและรู้สึกปลอดภัยในตำแหน่งสถานะของตนอาจปฏิเสธการเจรจากับฝั่งตรงข้ามที่นิยมประชาธิปไตย หรือเมื่อการเจรจาเริ่มขึ้นแล้ว ผู้เจรจาฝั่งประชาธิปไตยอาจหายตัวไปและไม่ได้รับการรับฟังอีกเลยก็เป็นได้

ถูกเจรจาให้ยอมจำนน ?

ปัจเจกบุคคลและกลุ่มต่างๆ ที่ต่อต้านเผด็จการและสนับสนุนให้มีการเจรจามักเป็นผู้ที่มีเจตนาดี    เป็นเรื่องเข้าใจได้ว่า ไม่ว่าจะมีจุดยืนทางการเมืองเป็นอย่างไร ทุกคนก็ล้วนแต่ต้องการสันติภาพทั้งสิ้นโดยเฉพาะในสถานการณ์ที่การสู้รบทางทหารกับฝ่ายเผด็จการยืดเยื้อหลายปีโดยยังไม่มีใครชนะอย่างเบ็ดเสร็จ  การเจรจาอาจกลายเป็นประเด็นที่พูดคุยกันในฝั่งประชาธิปไตยเมื่อเผด็จการมีแสนยานุภาพทางทหารเหนือกว่าอย่างชัดเจน และการบาดเจ็บสูญเสียที่เกิดขึ้นกับประชาชนรุนแรงเกินกว่าจะรับไหว ด้วยเหตุนี้ ผู้นิยมประชาธิปไตยจึงพยายามอย่างมากในการแสวงหาวิธีอื่นๆ เพื่อยุติวังวนของความรุนแรง พร้อมกับการปกปักษ์รักษาเป้าหมายของฝ่ายประชาธิปไตยเอาไว้เพียงบางส่วน

แน่นอนว่า ข้อเสนอเจรจา “สันติภาพ” กับฝ่ายประชาธิปไตยที่ริเริ่มโดยเผด็จการ เป็นการกระทำที่มักไม่จริงใจ เพราะความรุนแรงเป็นสิ่งที่สามารถยุติลงได้ในทันทีโดยเผด็จการเอง ขอเพียงแค่ฝ่ายเผด็จการต้องการเลิกทำสงครามกับประชาชนของตัวเองเท่านั้น พวกเขาสามารถริเริ่มฟื้นฟูสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ปล่อยนักโทษการเมือง หยุดการทรมาน ยุติปฏิบัติการทางทหาร ถอนตัวออกจากรัฐบาล และขอโทษต่อประชาชนด้วยตัวเองได้ทันทีโดยไม่ต้องต่อรองกับใครเลยแม้แต่น้อย

หากเผด็จการมีความเข้มแข็ง แต่ยังคงมีการต่อต้านรบกวนอยู่ เผด็จการอาจต้องการเจรจากับฝ่ายต่อต้านโดยใช้คำว่า “สันติภาพ” เพื่อหลอกล่อให้อีกฝ่ายยอมแพ้แต่โดยดี แม้การเจรจาจะฟังดูน่าดึงดูดใจ แต่อันตรายอย่างร้ายแรงอาจซุกซ่อนอยู่ในห้องเจรจาได้เช่นกัน

ในทางกลับกัน หากฝ่ายต้านเผด็จการมีความเข้มแข็งเป็นพิเศษ และอำนาจเผด็จการถูกคุกคามอยู่จริง  ฝ่ายเผด็จการอาจแสวงหาการเจรจาเพื่อกอบกู้อำนาจและความมั่งคั่งของตัวเองเอาไว้ให้มากที่สุดเท่าที่มากได้ ไม่มีกรณีใดเลยที่ผู้นิยมประชาธิปไตยควรช่วยเผด็จการให้บรรลุเป้าหมายที่พวกเขาวางไว้

ผู้นิยมประชาธิปไตยควรระวังกับดักที่ถูกลอบวางไว้อย่างจงใจในกระบวนการเจรจาโดยฝีมือของเผด็จการ การร้องขอการเจรจาในขณะที่หลักการพื้นฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับเสรีภาพทางการเมืองยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง อาจหมายความว่าเผด็จการกำลังพยายามหลอกล่อให้ผู้นิยมประชาธิปไตยยอมแพ้แต่โดยดีโดยที่ความรุนแรงของเผด็จการยังคงดำเนินอยู่ต่อไป ในกรณีของความขัดแย้งในลักษณะนี้ การเจรจาจะเป็นสิ่งเหมาะสมก็ต่อเมื่อการต่อสู้จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของเผด็จการอย่างแน่นอน จนพวกเผด็จการต้องหาเส้นทางปลอดภัยเพื่อหนีไปที่สนามบินนานาชาติแล้วเท่านั้น

อำนาจและความยุติธรรมในการเจรจา

หากข้อเสนอที่ว่านี้ยังฟังดูเป็นคำวิจารณ์ที่รุนแรงต่อการเจรจามากเกินไป  บางทีเราอาจต้องปรับใจที่ยกยอการเจรจาอย่างเกินเลยให้เป็นกลาง การคิดให้คมชัดเป็นเรื่องจำเป็นต่อการทำความเข้าใจกลไกการทำงานของการเจรจา

“การเจรจา” ไม่ใช่กระบวนการที่สองฝ่ายนั่งลงในฐานะที่เท่าเทียมกันแล้วพูดคุยกันเพื่อหาทางออกให้กับความแตกต่างอันเป็นสาเหตุของความขัดแย้ง มีข้อเท็จจริงสองประการที่จำต้องระลึกไว้เสมอ ประการแรก การให้ความยุติธรรมแก่มุมมองและเป้าหมายที่ขัดแย้งกันไม่ได้เป็นตัวกำหนดผลลัพธ์ข้อตกลงของการเจรจาแต่อย่างใด ประการต่อมา ผลลัพธ์ของข้อตกลงที่ได้จากการเจรจาส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่ถูกกำหนดโดยอำนาจที่แต่ละฝ่ายมี

โจทย์ที่ตอบยากสองสามข้อต้องถูกนำเอามาขบคิด แต่ละฝ่ายสามารถทำอย่างไรได้บ้างเพื่อบรรลุเป้าหมายของฝ่ายตัวเอง ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งล้มเหลวในการบรรลุข้อตกลงบนโต๊ะเจรจา แต่ละฝ่ายจะทำอย่างไรถ้าการเจรจานำไปสู่ข้อตกลงแล้ว แต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ทำตามสัญญาและใช้อำนาจที่มีในการบรรลุเป้าหมายของตัวเอง เสมือนไม่เคยมีการเจรจาเกิดขึ้น  

ผลลัพธ์ของการเจรจาไม่ได้มาจากการประเมินความถูกผิดของประเด็นปัญหาโดยตัวมันเอง แม้การเจรจาจะมีการโต้เถียงกันมากในเรื่องความถูกผิดของปมขัดแย้ง แต่ผลลัพธ์ของการเจรจา แท้จริงแล้วมาจากการประเมินอำนาจที่แต่ละฝ่ายมีและอาจส่งผลต่อกันภายใต้เงื่อนไขต่างๆ ผู้นิยมประชาธิปไตยทำอะไรได้บ้างเพื่อให้มั่นใจว่าข้อเรียกร้องขั้นพื้นฐานจะไม่ถูกปฏิเสธ เผด็จการควรทำอย่างไรเพื่อให้ฝ่ายประชาธิปไตยอยู่ภายใต้การควบคุมและถูกกำจัด หากมีการบรรลุข้อตกลง ผลลัพธ์ของการเจรจามีแนวโน้มว่าจะมาจากการประเมินอำนาจของแต่ละฝ่ายโดยเปรียบเทียบ และการคาดคะเนว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรหากมีการเปิดฉากต่อสู้ระหว่างกัน

เราควรมุ่งความสนใจไปที่สิ่งซึ่งแต่ละฝ่ายใช้แลกเปลี่ยนเพื่อบรรลุข้อตกลงเจรจาด้วยเช่นกัน การเจรจาที่ประสบความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการประนีประนอมและการยอมไกล่เกลี่ยความแตกต่างบางประการออกไป แต่ละฝ่ายจะได้สิ่งที่ตัวเองต้องการบางส่วน และต้องสละเป้าหมายวัตถุประสงค์ของตัวเองไปบางส่วนเช่นกัน

ในกรณีของเผด็จการสุดโต่ง พลังฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยจะยอมสละอะไรให้แก่เผด็จการได้บ้าง เป้าหมายของฝ่ายเผด็จการที่พลังฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยยอมรับได้มีอะไรบ้าง ฝ่ายประชาธิปไตยต้องยอมให้ฝ่ายเผด็จการ (ไม่ว่าจะอยู่ในรูปพรรคการเมืองหรือกองทหารก็ตาม) มีบทบาทถาวรอยู่ในรัฐบาลสมัยต่อไป โดยบทบาทดังกล่าวได้รับการลงหลักปักฐานเอาไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ แล้วประชาธิปไตยไปอยู่ตรงไหนในแผนการดังกล่าว

ต่อให้คิดว่าการเจรจาดำเนินไปด้วยดี ก็ยังจำเป็นต้องตั้งคำถามด้วยว่า สันติภาพอันเป็นผลลัพธ์ของการเจรจาจะออกมาในรูปแบบใด ชีวิตจะดีขึ้นหรือแย่ลงกว่าที่ควรจะเป็น หากฝ่ายประชาธิปไตยเริ่มต่อสู้หรือดำเนินการต่อสู้ต่อไปแทนการเจรจา

เผด็จการที่ “ยอมรับได้”

เหล่าเผด็จการอาจมีแรงจูงใจและเป้าหมายหลากหลายในการปกครองอย่างไม่เป็นประชาธิปไตย เช่น อำนาจ ยศถาบรรดาศักดิ์ ความมั่งคั่ง การเปลี่ยนแปลงสังคม ฯลฯ ทุกคนควรตระหนักว่าเป้าหมายเหล่านี้ของเผด็จการจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้หากเผด็จการยอมสละอำนาจ เผด็จการจึงจะพยายามรักษาเป้าหมายต่างๆ ของตนเอาไว้บนโต๊ะเจรจา

ไม่ว่าคำมั่นสัญญาใดๆ จะออกมาจากปากเผด็จการเมื่อตอนบรรลุข้อตกลง โปรดอย่าลืมว่าเผด็จการอาจให้สัญญาใดๆ แก่ฝ่ายประชาธิปไตยก็ได้เพียงเพื่อให้ฝ่ายปฏิปักษ์วางมือ แล้วจึงค่อยผิดคำสัญญาที่เคยให้ไว้อย่างหน้าไม่อาย

ถ้าฝ่ายประชาธิปไตยยอมหยุดเคลื่อนไหวต่อต้านเพื่อหวังว่าวันปราบปรามจะถูกเลื่อนออกไป คงเป็นเรื่องน่าผิดหวังสำหรับฝ่ายประชาธิปไตยอย่างมาก การหยุดเคลื่อนไหวต่อต้านแทบไม่เคยทำให้การปราบปรามลดลงเลย ทันทีที่แรงกดดันต่อต้านเผด็จการจากในและนอกประเทศถอนออกไป เผด็จการอาจใช้กำลังปราบปรามรุนแรงยิ่งกว่าเดิม บ่อยครั้ง การสิ้นสุดลงของการต่อต้านโดยประชาชนหมายถึงการนำพลังในการจำกัดอำนาจและความโหดร้ายของเผด็จการออกไปด้วย ดังนั้นทรราชจึงสามารถจัดการกับใครก็ตามได้ตามอำเภอใจ Krishnalal Shridharani เคยเขียนไว้ว่า “ทรราชมีอำนาจบังคับข่มเหงได้ก็ต่อเมื่อเราอ่อนแอไม่ขัดขืนเท่านั้น”[1]

การต่อต้านขัดขืนเท่านั้นที่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเปลี่ยนแปลงความขัดแย้งที่มีประเด็นหลักการพื้นฐานเป็นปมปัญหา ไม่ใช่การเจรจา ในเกือบทุกกรณี การต่อต้านต้องดำเนินต่อไปเพื่อทำให้เผด็จการลงจากอำนาจ ความสำเร็จโดยส่วนใหญ่แล้วไม่ได้ถูกกำหนดโดยผลลัพธ์ของการเจรจา แต่มาจากการใช้วิธีการต่อต้านที่มีอยู่ให้ฉลาดและเหมาะสมที่สุด ข้อถกเถียงที่จะได้รับการอภิปรายในรายละเอียดอีกครั้งในภายหลังจะแสดงให้เห็นว่า การขืนต้านทางการเมือง หรือการต่อสู้โดยสันติวิธี เป็นวิธีการที่ทรงพลังที่สุดที่มีอยู่ในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ

สันติภาพแบบใด

หากเผด็จการและผู้นิยมประชาธิปไตยต้องพูดคุยเกี่ยวกับสันติภาพกันจริงๆ การคิดให้คมชัดอย่างถึงที่สุดเป็นสิ่งที่พึงกระทำเนื่องจากการเจรจาอาจทำให้เกิดอันตรายหลายประการ ไม่ใช่ทุกคนที่ใช้คำว่า “สันติภาพ” เพื่อเจตนาถึงสันติภาพซึ่งมาพร้อมกับเสรีภาพและความยุติธรรม การจำนนต่อการปราบปรามอันทารุณและการจำยอมต่อเผด็จการที่ไร้ความปรานี ซึ่งนำความเลวร้ายมาสู่ประชาชนจำนวนนับไม่ถ้วน ไม่สามารถถือได้ว่าเป็นสันติภาพที่แท้จริง ฮิตเลอร์เรียกร้องสันติภาพอยู่บ่อยครั้ง เพียงเพื่อให้คนยอมจำนนต่อความปรารถนาของเขา สันติภาพของเผด็จการส่วนใหญ่ไม่ใช่อะไรมากไปกว่าสันติภาพของการกักขังและความตาย

อันตรายอื่นๆ ยังมีอยู่เช่นกัน ผู้เจรจาที่มีเจตนาดีบางครั้งอาจสับสนเกี่ยวกับวัตถุประสงค์และขั้นตอนกระบวนการของการเจรจา ยิ่งกว่านั้น ผู้เจรจาฝั่งประชาธิปไตย หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการเจรจาจากต่างประเทศที่รับเชิญมาเป็นผู้ช่วยสนับสนุน อาจเผลอหยิบยื่นความชอบธรรมทั้งในระดับประเทศและระดับระหว่างประเทศให้แก่เผด็จการโดยไม่รู้ตัว ทั้งที่ก่อนหน้าเคยปฏิเสธความชอบธรรมของเผด็จการมาโดยตลอดเพราะการรัฐประหาร การละเมิดสิทธิมนุษยชน และความโหดร้ายทารุณ หากปราศจากความชอบธรรมอันเป็นที่ต้องการอย่างยิ่งยวด เหล่าเผด็จการจะไม่สามารถดำรงอยู่ในอำนาจได้นาน ผู้สนับสนุนสันติภาพไม่ควรมอบความชอบธรรมให้แก่พวกเขา

เหตุผลสำหรับความหวัง

ดังที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ ผู้นำฝ่ายปฏิปักษ์อาจรู้สึกถูกกดดันให้ต้องยอมเจรจาเพื่อหาทางออกจากความสิ้นหวังของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกไร้อำนาจเป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เผด็จการเป็นสิ่งไม่ยั่งยืน ประชาชนภายใต้ระบอบเผด็จการไม่จำเป็นต้องอ่อนแอไปตลอด เช่นเดียวกับเผด็จการที่ไม่จำเป็นต้องมีอำนาจค้ำฟ้าเสมอไป อริสโตเติลเคยกล่าวไว้เมื่อนานมาแล้วว่า “...ทุชนาธิปไตยและทรราชมีอายุสั้นกว่าการสถาปนาอำนาจรูปแบบอื่น... ไม่ว่าในที่ใด ทรราชล้วนไม่เป็นสิ่งถาวร”[2] เผด็จการสมัยใหม่มีลักษณะอ่อนแอไม่ต่างกัน การโจมตีที่จุดอ่อนสามารถบั่นทอนอำนาจเผด็จการให้ล่มสลายลงไปได้ (ในบทที่ 4 เราจะพิจารณาจุดอ่อนของเผด็จการในรายละเอียดต่อไป)

ประวัติศาสตร์เมื่อไม่นานมานี้แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของเผด็จการ ตลอดจนเผยให้เห็นด้วยว่าเผด็จการสามารถอันตรธานลงได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ขณะที่การโค่นล้มเผด็จการคอมมิวนิสต์ในโปแลนด์ต้องใช้ระยะเวลาถึง 10 ปีในช่วงระหว่าง 1980-1990 กรณีเยอรมนีตะวันออกและเช็คโกสโลวาเกียเมื่อปี 1989 กลับเกิดขึ้นโดยใช้เวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ ในปี 1944 การต่อสู้กับเผด็จการทหารที่แข็งแกร่งในเอลซาวาดอร์และกัวเตมาลาใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์ ระบอบทหารอันทรงอำนาจของชาห์ในอิหร่านถูกโค่นล้มโดยใช้เวลาไม่กี่เดือน เผด็จการมาร์กอสในฟิลิปปินส์ล่มสลายลงด้วยอำนาจของประชาชนภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ในปี 1986 โดยรัฐบาลสหรัฐได้ละทิ้งประธานาธิบดีมาร์คอสอย่างรวดเร็วหลังจากฝ่ายปฏิปักษ์เริ่มก่อตัวเป็นรูปขบวน ความพยายามทำรัฐประหารของพวกหัวอนุรักษ์นิยมในสหภาพโซเวียตเมื่อเดือนสิงหาคม 1991 ถูกสกัดกั้นภายในเวลาไม่กี่วันหลังจากมีการขืนต้านทางการเมือง จะเห็นได้ว่าชาติที่ถูกครอบงำมาเป็นเวลานานสามารถกอบกู้อิสรภาพกลับคืนมาได้โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่วัน ไม่กี่สัปดาห์ หรือไม่กี่เดือนเท่านั้น

ความเชื่อเก่าๆ ว่าการใช้ความรุนแรงทำให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่การใช้สันติวิธีต้องใช้เวลานาน เป็นความเชื่อที่ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด แม้การเปลี่ยนแปลงสถานการณ์และสภาพสังคมในบางกรณีต้องใช้เวลานาน แต่การต่อสู้กับเผด็จการโดยสันติวิธีจริงๆ นั้น บางครั้งเกิดขึ้นโดยใช้ระยะเวลาน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการใช้ความรุนแรง

การเจรจาไม่ใช่เพียงทางเลือกเดียวในการหาทางออกจากสงครามทำลายล้างและการยอมจำนนต่อเผด็จการ ตัวอย่างที่เพิ่งกล่าวถึงไปนั้น เช่นเดียวกับตัวอย่างอื่นๆ ในบทที่ 1 แสดงให้เห็นว่า ทางเลือกอีกทางหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการทั้งสันติภาพและเสรีภาพนั้นมีอยู่จริง ซึ่งทางเลือกดังกล่าวก็คือ การขัดขืนทางการเมืองแบบสันติวิธี



[1] Krishnalal Shridharani, War Without Violence: A Study of Gandhi’s Method and Its Accomplishments (New York: Harcourt, Brace, 1939, and reprint New York and London: Garland Publishing, 1972), p.260.

[2] Aristotle, The Politics, transl. by T.A. Sinclair (Harmondsworth, Middlesex, England and Baltimore, Maryland: Penguin Books 1976 [1962]), Book V, Chapter 12, pp.231 and 232. 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: