สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย – เชียงใหม่ พัฒนาศักยภาพจังหวัดแพร่เป็นศูนย์ขนถ่ายสินค้าของภาคเหนือตอนบน เบื้องต้นนำเสนอรายละเอียด 3 แนวเส้นทางเลือก 1 ใช้เส้นทางที่อยู่ในเขตทางรถไฟเดิม ซึ่งรถไฟสามารถวิ่งได้ด้วยความเร็วสูงสุด 90 กม./ชม. ระยะทางประมาณ 217 กม. แนวทางเลือกที่ 2 ใช้เส้นทางเหมือนทางเลือกที่ 1 เป็นหลัก แต่มีบางช่วงที่ปรับแนวเส้นทางให้เป็นทางตรงหรือเพิ่มรัศมีโค้งมากขึ้น เพื่อให้รถไฟสามารถวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 120 กม./ชม. ระยะทางรวมอยู่ที่ 206 กม. ส่วนแนวทางเลือกที่ 3 เป็นแนวเส้นทางตัดใหม่เป็นส่วนใหญ่ รถไฟสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 160 กม./ ชม. ระยะทางรวม 170 กม.
30 เม.ย. 2558 สวท.แพร่ รายงานว่าที่ห้องไอยเรศ โรงแรมนครแพร่ทาวเวอร์ จังหวัดแพร่ นายธนากร อึ้งจิตรไพศาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ และนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ร่วมเป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย – เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ที่ผ่านมา
โดยการสัมมนาครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลโครงการ พื้นที่ศึกษา แนวเส้นทางเลือก และกรอบแนวทางการศึกษาในด้านต่าง ๆ พร้อมทั้ง รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนโดยมีผู้สนใจทั้งจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษาในพื้นที่ ตลอดจนตัวแทนภาคประชาชนและสื่อมวลชน ในจังหวัดแพร่และจังหวัดลำปาง เข้าร่วมงานกว่า 300 คน
รองผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่าการสัมมนาครั้งนี้ ได้นำเสนอรายละเอียด 3 แนวเส้นทางเลือก ประกอบด้วย แนวทางเลือกที่ 1 ใช้เส้นทางที่อยู่ในเขตทางรถไฟเดิม ซึ่งรถไฟสามารถวิ่งได้ด้วยความเร็วสูงสุด 90 กม./ชม. ระยะทางประมาณ 217 กม. แนวทางเลือกที่ 2 ใช้เส้นทางเหมือนทางเลือกที่ 1 เป็นหลัก แต่มีบางช่วงที่ปรับแนวเส้นทางให้เป็นทางตรงหรือเพิ่มรัศมีโค้งมากขึ้น เพื่อให้รถไฟสามารถวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 120 กม./ชม. ระยะทางรวมอยู่ที่ 206 กม. ส่วนแนวทางเลือกที่ 3 เป็นแนวเส้นทางตัดใหม่เป็นส่วนใหญ่ รถไฟสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 160 กม./ ชม. ระยะทางรวม 170 กม. โดยทั้ง 3 แนวทางเลือก จะผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด คือ จังหวัดแพร่ จังหวัดลำพูน จังหวัดลำปาง และจังหวัดเชียงใหม่ มีจุดเริ่มต้นที่สถานีเด่นชัย และสิ้นสุดที่สถานีเชียงใหม่ เชื่อมต่อรถไฟทางคู่สาย ลพบุรี - ปากน้ำโพ – เด่นชัย (แพร่)
หากมีการพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย - เชียงใหม่ จะส่งผลให้เส้นทางรถไฟสายเหนือมีการเชื่อมต่อโครงข่ายระบบรางที่สมบูรณ์มากขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดแพร่ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีการขยายตัว ทางด้านการผลิตและอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง และกำลังได้รับการพัฒนาเสริมศักยภาพให้สามารถเป็นศูนย์กลางในการขนถ่ายสินค้าหลักของภาคเหนือตอนบนในอนาคตได้ เพิ่มขีดความสามารถด้านการขนส่งสินค้าและเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคเหนือได้อีกทางหนึ่งด้วย
ด้านรองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวว่า โครงการนี้มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อจังหวัดแพร่ในภาพรวม เพราะไม่ว่าจะมีการเลือกแนวเส้นทางใดจาก 3 เส้นทาง จังหวัดแพร่ก็ยังคงเป็นชุมทางรถไฟหรือ Rail Hub และหากมีการพิจารณาในแนวทางที่ 3 ซึ่งมีการตัดเส้นทางใหม่ ก็ได้มีการเสนอให้มีการปรับปรุงแนวเส้นทางรถไฟเดิมที่ยังคงอยู่พัฒนาเป็นเส้นทางเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านมาทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจก็ตั้งความหวังในการพัฒนาการคมนาคมระบบรางในพื้นที่มาโดยตลอด
สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย – เชียงใหม่ เป็นรถไฟทางคู่ขนาดราง 1 เมตร ซึ่งเป็นโครงข่ายระบบรางพื้นฐานหลักของประเทศไทย ดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 และแผนการดำเนินงานโครงการการลงทุนพัฒนาด้านคมนาคมขนส่ง ปี 2558 (พ.ศ.2559 – 2563) ระยะที่ 2 โดยมีเป้าหมายเพิ่มจำนวนการขนส่ง ทางรางจากร้อยละ 2.5 เป็นร้อยละ 5
การสัมมนาครั้งนี้จะจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่อีก 1 วัน ในวันที่ 30 เมษายน 2558 ณ ห้องอิมพีเรียลบอลลูม โรงแรม ดิ เอ็ม เพลส เพื่อนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้ ไปประกอบผลการศึกษาโครงการ หลังจากนั้น จะมีการจัดกิจกรรมการประชุมกลุ่มย่อย การสัมภาษณ์เชิงลึก และการสัมมนารับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 เพื่อนำเสนอผลการคัดเลือกแนวเส้นทางที่มีความเหมาะสม จากนั้นจึงเป็นการสัมมนาสรุปผลการศึกษาของโครงการ
ผู้ที่สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดโครงการได้ที่ www.denchai-chiangmai-doubletrack.com และแฟนเพจรถไฟทางคู่ เด่นชัย-เชียงใหม่ facebook.com/denchaichiangmaidoubletrack
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ