งบดับไฟใต้ในเงาทหารกับข้อกังขา ‘ความโปร่งใสและนโยบายการใช้งบ’

สมานฉันท์ พุทธจักร : TCIJ School รุ่นที่ 2 30 ก.ค. 2558 | อ่านแล้ว 4183 ครั้ง

นับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืน จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือค่ายปิเหล็ง ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นความขัดแย้งระลอกใหม่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถึงตอนนี้ก็เป็นเวลากว่า 11 ปีมาแล้ว รัฐบาลทั้งหมดถึง 8 ชุดมีความพยายามทุ่มงบประมาณดับไฟไต้ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี แต่เหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง จึงเป็นข้อกังขาของสาธารณะถึงการจัดการงบประมาณที่ส่อไปในทางไม่โปร่งใสและแนวทางการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด เกี่ยวโยงกับผลประโยชน์ทับซ้อนอื่น ๆ (ที่มาภาพประกอบ: ibtimes.com)

ตลอดเวลา 11 ปีที่ผ่านมา งบประมาณที่ทุ่มลงไปเพื่อจัดการความขัดแย้งที่ซับซ้อนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้  รวมทั้งหมดแล้วกว่า 2.3แสนล้านบาท  กำลังพลอีกกว่า 70,738 นาย แต่ความขัดแย้งนั้นยังคงอยู่ เห็นได้จากการเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบถึง16,969 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 6,286 ราย เฉลี่ยมีผู้เสียชีวิตปีละ 571 คน  โดยปี 2557ที่ผ่านมามีเหตุการณ์ความไม่สงบ 793 เหตุการณ์และมีผู้เสียชีวิต 330 คน

จึงเกิดข้อกังขาแก่สังคมมากมาย เกี่ยวกับการบริหารงบประมาณดับไฟใต้ก้อนมหาศาล ภายใต้เงาของทหาร  ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ยุทธวิธีที่เน้นหนักการปราบปรามฝ่ายขบวนการ  โดยการทุ่มงบลงไปในหน่วยงานด้านความมั่นคง  มากกว่าหน่วยงานฝ่ายพลเรือนที่ทำงานสร้างความเข้าใจกับคนในพื้นที่   ทั้งข้อกังขาต่อความโปร่งใสของการตรวจสอบการใช้งบประมาณของทหาร ที่ไม่มีกลไกลการตัวสอบเหมือน กับหน่วยงานรัฐอื่นๆ ซึ่งทำให้หน่วยงานความมั่นคงมีอำนาจมาก จนอาจเป็นเหตุหนึ่งที่นำมาสู่การใช้ความขัดแย้งเพื่อหาประโยชน์ส่วนตัวทั้งหน่วยงานความมั่นคงและหน่วยงานอื่นๆ        

ตัวเลขตัวเลขงบประมาณดับไฟใต้ 12 ปีทั้งหมด 2.3 หมื่นล้านบาท  ซึ่งเมื่อจำแนกดูในแต่ล่ะปีแล้วจะเห็นถึงการเพิ่มสูงขึ้นของงบประมาณทุกปี  และเมื่อดูตามตัวเลขงบประมาณที่หน่วยงานต่างๆได้รับ จะเห็นถึงการเติบโตขึ้นของหน่วยงานความมั่นคง  ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่านโยบายของรัฐที่เน้นปฏิบัติการทหารและการปราบปราม มากกว่าการพูดคุยทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่

   งบประมาณดับไฟใต้ตลอด 12  ปี (รวมงบประมาณปี 2558)

 

งบประมาณเหล่านี้กระจายอยู่ในหน่วยงานต่างๆทั้งหมด 50 หน่วยงาน ซึ่งมีหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบให้มากที่สุดคือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จำนวน 8,191.18 ล้านบาท หน่วยงานที่รองลงมาคือศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) 2,767.33 ล้านบาท ตามด้วยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย 2,648.99 ล้านบาท และอื่นๆ

งบดับไฟใต้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เรียงตามปี พ.ศ.

การเพิ่มขึ้นของของงบประมาณในหน่วยงานฝ่ายความมั่นคง  อย่างกอ.รมน. ที่เติมโตขึ้น จากปี 2555 จำนวน 6.2 พันล้านบาท ปี 2556 จำนวน 7.2พันล้านบาท  ปี 2556 จำวน 7.5พันล้านบาท ปี  2557 จำนวน 7.5พันล้านบาท  ปี 2558  8.1 พันล้านบาท ที่ปีนี้ได้รับงบเพิ่มขึ้นและเป็นปีที่งบ ประมาณสูงที่สุด  แสดงให้เห็นทิศทางและแนวนโยบายที่เน้นการทหารมากกว่าการเมือง  ซึ่งสวนทางกับนโยบายที่ประกาศว่า ต้องการสร้างความเข้าระหว่างกันและพัฒนาชุมชนไปพร้อมกัน  เพื่อนำไปสู่การพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้

การเพิ่มขึ้นของงบประมาณด้านการทหารอย่างที่ดำเนินมาตลอด  11 ปี  เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณะว่าไม่สามารถแก้ปัญหาในพื้นที่ได้  เพราะสถานการณ์และชีวิตจริงที่คนในพื้นที่ยังเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใส เห็นได้จากการที่แทบไม่มีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้กำลังปราบปรามโดยมิชอบ  เช่น การวิสามัญผู้บริสุทธิ์ การเข้าตรวจค้นแล้วเกิดความเสียหายต่างๆ เป็นต้น   รวมไปถึงการจับตัวผู้ต้องสงสัยไปซ้อมทรมาน และปัญหาด้านอื่นๆอีกมากมาย  

หลังการรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างงบประมาณของงบดับไฟใต้  จากเดิมที่แบ่งออกเป็น 2 ด้านคือ ด้านความมั่นคงโดยให้กอ.รมน.เป็นผู้รับผิดชอบ และด้านพลเรือนมี ศอ.อบต เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ  โดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  ฉบับที่ 98/2557 ให้อำนาจกอ.รมน.ในการจัดสรรงบประมาณดับไฟใต้ทั้งหมด และให้หน่วยงานทั้งหมด  ที่เกี่ยวข้องอยู่ภายใต้คำสั่งของ กอ.รมน. โดยให้เหตุผลว่าเพื่อบูรณาการให้เกิดการอำนวยการร่วมกันอย่างมีเอกภาพ

ในความเห็นของ ผศ.ดร.ศรีสมภพ  จิตร์ภิรมย์ศรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นักวิชาการที่มีงานวิจัยเกี่ยวกับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มากมาย เห็นว่าเป็นการทำให้ไม่มีการถ่วงดุลระหว่างฝ่ายทหารกับพลเรือน  ทหารหรือฝ่ายความมั่นคงมีอำนาจในการจัดสรรงบ  ซึ่งปกติที่ปฏิบัติกันคือ งบประมาณของฝ่ายพลเรือนจะผ่านการตรวจสอบตามระเบียบขั้นตอนปกติของทางราชการ แต่ฝ่ายความมั่นคงที่นั่น มีระบบการตรวจสอบแบบของฝ่ายความมั่นคงเองโดยเฉพาะ โดยไม่เป็นไปตามระเบียบขั้นตอนปกติของทางราชการ  เช่น ไม่ต้องผ่านสำนักงานตรวจเงินแผนดิน (สตง.)  ไม่ใช่เพียงด้านงบประมาณเท่านั้น  ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  ฉบับที่ 98/2557  ยังให้อำนาจกอ.รมน. ภาค4 ส่วนหน้า ในการอำนวยการด้านการพัฒนาซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายพลเรือน  การกำหนดนโยบายจากหน่วยงานความมั่นคงฝ่ายเดียว อาจเป็นปัญหาในระยะยาวเพราะจะไม่เกิดการถ่วงดุลและตรวจสอบจากฝ่ายพลเรือน  ซึ่งในความเป็นจริง ฝ่ายพลเรือนมีความใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่า แต่กลับต้องไปทำตามนโยบายที่มาจากฝ่ายความมั่นคง  เห็นจากการเรียกให้ ศอ.บต  เข้ามาทำงานในส่วนกลางของ กอ.รมน. การชี้ขาดงบประมาณจึงตกไปเป็นของฝ่ายทหารทั้งหมด จึงเป็นธรรมดาที่หน่วยงานใดที่มีงบประมาณมหาศาลและขาดการตรวจสอบการใช้งบประมาณ  จะเกิดการทุจริตขึ้นไม่มากก็น้อยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ตูแวดานียา ตูแวแมแง  ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา(LEMPAR)  สื่อมวลชนที่เป็นคนในพื้นที่ ที่ทำงานด้านสันติภาพอย่างใกล้ชิดกับชุมชนมายาวนาน  ให้ความเห็นว่า

"การที่นโยบายการจัดการความขัดแย้งนั้นมาจากฝ่ายทหารเพียงฝ่ายเดียว โดยเน้นไปทางการปรามปราบ  จะเป็นการสร้างเงื่อนไขในการใช้ความรุนแรงของฝ่ายขบวนการ  อีกทั้งจะเป็นการทำให้ประชาชนที่เห็นต่างในพื้นที่ ไม่มีที่พึ่ง รู้สึกเหมือนถูกผลักให้ไปเป็นฝ่ายของขบวนการ  ซึ่งยากที่จะทำการพูดคุยทำความเข้าใจ  ที่ผ่านมา ก็มีชาวบ้านในพื้นที่หลายคนที่ไม่ได้เห็นด้วยกับฝ่ายขบวนการ  แต่ถูกบีบจากการเข้าปราบปรามของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ จนทำให้คนเหล่านั้นต้องกลายเป็นผู้ให้ความสนับสนุนฝ่ายขบวนการ"

ตูแวยังให้ความเห็นว่าในสถานการณ์ปกติ ยังมีหน่วยงานราชการฝ่ายผลเรือนและภาคประชาสังคมที่เข้ามาเป็นพื้นที่กลางระหว่างฝ่ายขบวนการและฝ่ายความมั่นคง  คอยเยียวยาความเสียหายและทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่  แต่หลังรัฐประหารที่ผ่านมา หน่วยงานฝ่ายผลเรือนต่างอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายทหาร  แม้กระทั้ง ศอ.บต. ที่ทำหน้าที่เป็นกลไกการเยียวยาความเสียหายจากการปราบปรามให้ชาวบ้าน  ก็ยังเป็นคนของฝ่ายทหาร 

ตัวละครในสถานการณ์ความความขัดแย้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้มีเพียงฝ่ายขบวนการและฝ่ายทหารหรือฝ่ายความมั่นคงเท่านั้น  แต่ยังมีกลุ่มที่แอบอิงอยู่กับผลประโยชน์ในความขัดแย้ง  โดยการใช้ประโยชน์จากสถานการณ์พิเศษที่ฝ่ายทหารได้ผูกขาดอำนาจ

นายปกรณ์  พึ่งเนตร  บรรณาธิการสำนักข่าวอิศราภาคใต้  อธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า  ความขัดแย้งมันเกิดขึ้นมาของมันเองอยู่แล้ว ไม่มีใครจงใจสร้างความขัดแย้งขึ้นมาโดยตรง  แต่ผลพลอยได้จากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น  เช่น มีการพูดคุยในวงในฝ่ายความมั่นคงว่า  พื้นที่สามจังหวัดเป็นพื้นที่เดียวในประเทศที่เป็นพื้นที่สงครามในปัจจุบัน  ซึ่งกองทัพที่ขาดหายสถานการณ์การรบมาเป็นเวลานาน  ได้ใช้เป็นที่ทดลอง ยุทธวิธีการรบโดยเฉพาะการก่อการร้ายที่ประเทศไทยไม่มีประสบการณ์ด้านนี้  ตัวความขัดแย้งเองก็เป็นเหตุทำให้เกิดเครือข่ายอิทธิพลในท้องถิ่นขึ้นด้วย โดยตัวขบวนการเองอาจเริ่มต้นจากต้องการทำตามอุดมการณ์ความเชื่อ  แต่พอเกิดการขยายตัวของกลุ่ม ขบวนที่ใหญ่ขึ้นทำให้ยากที่จะควบคุมได้  ทำให้ขยายไปเกี่ยวข้องกับกลุ่มผลประโยชน์  เพราะกลุ่มขบวนการในพื้นที่มีหลากหลายกลุ่มและไม่ได้มีเอกภาพดังเช่นที่มีเหตุการณ์คนในขบวนการใช้อำนาจและอ้างชื่อกลุ่ม เข้าไปหาผลประโยชน์นอกระบบการ เช่น ใช้อาวุธปืนของกลุ่มขบวนการไปในการค้ายาเสพติด  ในขณะเดียวกัน หน่วยงานราชการเองก็ใช้ประโยชน์จากงบจำนวนมากที่ลงมาเช่นกัน  ทั้งสองฝ่ายในความขัดแย้งต่างอ้างถึงการพัฒนา แต่มีการสร้างสถานการณ์ขึ้นมาเองให้เกิดความเสียหาย เพื่อจะได้ของบประมาณเพิ่มขึ้น จากงบประมาณดับไฟใต้ที่มีวงเงินที่เยอะอยู่แล้ว

ตูแวดานียา ตูแวแมแง  ยังได้เสริมว่า สถานการณ์ในพื้นที่ที่วุ่นวายจนรัฐไม่สามารถเข้าไปจัดการได้นั้น เป็นช่องว่างทำให้เกิดกลุ่มอิทธิพลเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ได้ง่ายขึ้น  และการเข้ามาของงบ ประมาณที่มากมายนี้เอง ก็ทำให้เกิดการขยายตัวของหน่วยงานราชการต่างๆ มีการนำเอาคนของตนเข้ามาในองค์กรเพื่อสร้างเครือข่ายและฐานอำนาจของตน  

กลุ่มอำนาจเหล่านี้ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจผิดกฎหมาย โดยใช้อำนาจและช่องว่างเหล่านี้  ในสถานการณ์ความวุ่นวายที่ยากจะตรวจสอบว่าเป็นการกระทำจากฝ่ายใด  เช่น กลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองใช้สถานการณ์ในการกำจัดคู่แข่งทางการเมืองของตน  หรือการใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มธุรกิจผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการค้าน้ำมันเถื่อน  ยาเสพติด  เช่น การปล่อยให้มีการนำน้ำมันเถื่อนเข้ามาผ่านด่านของฝ่ายความมั่น  แล้วรับส่วนแบ่งจากธุรกิจเหล่านั้น  ซึ่งที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมเองก็ไม่มีสิทธิภาพที่จะเข้าไปจัดการได้  ทั้งที่แต่ก่อนนั้น ฝ่ายผลเรือนยังพอมีอำนาจถ่วงดุล เพราะเป็นกลไกปกติที่รับนโยบายจากรัฐบาลกลางอยู่บ้าง

อ่าน 'จับตา': “นโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้”  
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5707

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: