แนวคิด ค่านิยม บทบาทและสถานภาพของสตรีในช่วงทศวรรษ 2490 ผ่านเรื่องสั้นของ ร.จันทพิมพะ

กนกวรรณ ธัญญานนท์ นิสิตสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร : 1 พ.ย. 2559 | อ่านแล้ว 15231 ครั้ง


โดยได้เริ่มแต่งนวนิยายเรื่องยาวตั้งแต่ครั้งยังเป็นครูสอนหนังสืออยู่ เรื่องสั้นของ ร.จันทพิมพะ เป็นเรื่องสั้นสมัยใหม่ที่ใช้ท่วงทำนองการเล่าเรื่องแบบตะวันตก มีเนื้อหาที่สั้นกระชับหากแต่สะท้อนความคิด สังคมชีวิตและสังคมท้องถิ่นของผู้คนในทศวรรษ 2490 ได้เป็นอย่างดี

ผลงานของ ร.จันทพิมพะปรากฎอยู่ในรูปแบบของงานเขียนสมัยใหม่ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากประเทศตะวันตกอย่าง นวนิยายและเรื่องสั้น อาจกล่าวได้ว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับวัฒนธรรมหนังสือหรือวัฒนธรรมวรรณกรรมของไทยเป็นผลผลิตของตะวันตก โดยเฉพาะรูปแบบการประพันธ์สมัยใหม่อย่างนวนิยาย และเรื่องสั้นในแนวสัจนิยมซึ่งเป็นอิทธิพลของตะวันตกอย่างสมบูรณ์แบบ แต่สังคมไทยได้ปรับปรนอิทธิพลตะวันตกให้เหลือเพียงรูปแบบภายนอก หากน้ำเนื้อภายในตลอดจนสำนึกหรือเจตนารมณ์นั้นเกิดขึ้นในบริบทของสังคมไทย สำนึกดังกล่าวนี้เองที่ทำให้เกิดวัฒนธรรมวรรณกรรมสมัยใหม่ที่สะท้อนสังคมในแง่ที่เป็นสัจนิยมอย่างไทย[1] แต่แนวทางในการสร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมของนักเขียนใดก็ตาม ย่อมหลีกไม่พ้นอิทธิพลของจารีตทางสังคมและวรรณกรรมแห่งยุคสมัย เรื่องสั้นของ ร.จันทพิมพะจึงหลีกไม่พ้นความเป็นผลของการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์สังคมและวรรณกรรมแบบวิวัฒนาการ ซึ่งจากการพิจารณาผลงานของ ร.จันทพิมพะ ในแง่นี้ ทำให้เห็นว่าความก้าวล้ำทางวรรณกรรมของ ร.จันทพิมพะ ด้านการเป็นผู้ริเริ่มหรือบุกเบิกนั้น ไม่ได้ตัดขาดจากประวัติศาสตร์ของสังคมและวรรณกรรมในยุคก่อนหน้าแต่อย่างใด ทั้งยังคอยเป็นแรงเสียดทานไม่ให้ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นไปอย่างก้าวกระโดด

เรื่องสั้นของ ร.จันทพิมพะมีทัศนะที่เกี่ยวกับความรัก ความสัมพันธ์ที่ทันสมัย มีการวิพากษ์วิจารณ์ลักษณะความสัมพันธ์เชิงอำนาจและทางสังคมระหว่างชายและหญิงในบริบทสังคมและวัฒนธรรมในทศวรรษ 2490 การที่ ร.จันทพิมพะ ตั้งประเด็นปัญหาในเรื่องสั้นที่เขียน จึงเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ที่ล้ำสมัยยิ่ง ทำให้เกิดความสนใจที่จะการศึกษาซึ่งแนวคิด ค่านิยม สถานภาพและบทบาทของผู้หญิงไทยในช่วงเวลาดังกล่าวผ่านเรื่องสั้นของนักเขียนหญิงผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ปูแนวทางของสตรีสมัยใหม่ โดยจะพิเคราะห์ในแนวสตรีนิยม ผ่านการมองบริบทแวดล้อมทางสังคมโดยผู้หญิงที่เป็นจุดศูนย์กลางของเรื่องในการพินิจวรรณกรรม

ตัวละครผู้หญิงในเรื่องสั้นของ ร.จันทพิมพะ มีทั้งที่มาจากการสร้างภาพตัวแทนของผู้หญิงไทยในทศวรรษ 2490 ขึ้นเพื่อนำเสนอภาพของผู้หญิงไทยในยุคสมัยนั้น และแนวทางว่าผู้หญิงควรจะมีบทบาท มีการดำรงสถานภาพ และสร้างสรรค์ตัวตนของตัวเองอย่างไรต่อไปในอนาคต การกดทับและการครอบงำจากเพศชายที่ยังไม่ได้รับการคลี่คลาย รวมทั้งภาพเสนอที่มีการปรุงแต่งเพื่อขับเน้นคุณสมบัติบางประการของผู้หญิงให้สื่อคุณค่าและความหมาย รวมทั้งยังเป็นดัชนีบ่งชี้ถึงค่านิยม และความคาดหวังของผู้คนในสังคมยุคนั้นที่มีต่อผู้หญิง

ถ้อยคำที่ใช้เรียกและการเปรียบเปรยตัวละครหญิงในเรื่องมีนัยยะขับเน้นความบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา มีความน่าทะนุถนอม บอบบางและอ่อนแอ มีความต้องการที่จะได้รับปกป้องคุ้มครอง เช่นการเปรียบเทียบว่าผู้หญิงเป็นสัตว์ชนิดที่มีความซื่อและเซ่อไร้เดียงสาเฉกเช่นนางโคในเรื่องตาวัวจากการที่ชาวนาได้กล่าวว่า

“แต่ยังไรผู้หญิงก็เหมือนวัวเอามากๆ ไม่เชื่อก็ดูลูกตานังเขียวผมซิ ทั้งเซ่อทั้งซื่อ”

หรือการเปรียบผู้หญิงเป็นสุนัข เนื่องจากแสดงท่าทีที่ชวนหัว หากนึกอยากเล่นด้วยเมื่อไหร่ก็จะทำทีไม่สนใจ แต่หากชักลืมเมื่อไหร่ก็จะเข้ามาคลอเคลียไม่ห่างแม้ไม่ได้ร้องขอในเรื่อง ฉากเช้าตรู่ทั้งยังได้เปรียบเปรยว่าผู้หญิงคล้ายกับสุนัขในแง่อื่นๆอีก ดังคำกล่าวของตัวละครที่ว่า

“สีหมอกเหมือนผู้หญิงเป็นที่สุด ในเรื่องเอ็ดอึงอีกด้วย ไอ้ชาติหมา!”

แนวความคิดเรื่องการรักษาความบริสุทธิ์ของผู้หญิงยังคงเป็นเรื่องสำคัญต่อชายคนรัก จากการที่ตัวละครชายในเรื่อง ม่านดอกไม้ ได้เปรียบการที่ตนต้องแต่งงานกับหญิงที่เขาเข้าใจว่าถูกพร่าพรหมจรรย์ไปแล้วว่าเป็นการกินกากกินเดน ซึ่งทัศนคติของตัวละครเพศชายที่มีต่อเพศหญิงในลักษณะนี้สามารถสะท้อนทัศนคติของผู้ชายส่วนใหญ่ในสังคมไทยได้เช่นกัน ในเรื่องการให้คุณค่ากับหญิงพรหมจารีมากกว่าด้วยถือว่าเป็นผู้มีพฤติกรรมที่ดีงาม ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการจำกัดและกดให้ความประพฤติเรื่องเพศของหญิงไทยเป็นไปโดยที่อยู่ภายใต้ขนบธรรมเนียม หรือประเพณีที่เป็นกฎเกณฑ์ที่สังคมสร้างขึ้นมาเพื่อจองจำเพศหญิงได้อย่างทรงพลัง การเปรียบหญิงที่ได้เสียความบริสุทธิ์เสียก่อนว่าเป็นกากเดนที่ชายผู้เป็นสามีจะต้องรับช่วงต่อนั้น เป็นหนึ่งในการลดทอนคุณค่าเพศหญิงอย่างเห็นได้ชัดที่สุดด้วยวาทกรรมที่เปรียบเสมือนว่าผู้หญิงเป็นเพียงอะไรก็ตามที่ไม่ใช่คน คำว่า ‘กากเดน’ มักจะใช้กับบุคคลที่ประพฤติตัวเลวทรามต่ำช้าจนถูกสังคมประณามและเปรียบเป็นกากเดน เศษสวะที่หาค่าไม่ได้ พฤติกรรมหญิงที่ผิดไปจากกฎเกณฑ์ศีลธรรมของสังคมเช่นนี้จึงถือเป็นความเลวอย่างหนึ่งตามทัศนะของผู้คนในสังคมไทยในขณะเดียวกัน ก็ได้มีการเสนอภาพว่าการที่สามีหมางเมินและปฏิบัติต่อภรรยาที่เสียความบริสุทธิ์แล้วอย่างไม่อนาทรเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ทั้งยังปกติและชอบธรรม

ในด้านการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของเพศหญิงในสังคมนั้นยังคงไม่ได้รับการยอมรับและความเชื่อถือจากเพศชาย เห็นได้จากในเรื่องเลิกบุหรี่ ที่ตัวละครหญิงอย่างดารุณีเสนอแนะให้ชายคนรักเลิกบุหรี่ ถึงแม้จะมีเหตุผลที่ดีเพียงพอรองรับอย่างในภาวะเศรษฐกิจแย่และข้าวของแพงเช่นนี้ก็ควรที่จะประหยัด แต่ก็ยังคงพ่ายและจำนนต่อเหตุผลของพี่ชายตน ก็คือไม่ควรพยายามเปลี่ยนแปลงความเป็นตัวตนของเพศชายดังคำกล่าวของดนัยที่ว่า

“ณีรักจะให้นิพันธ์เป็นคนหรือควาย?คนต้องสูบบุหรี่แต่ควายต้องเคี้ยวเอื้อง จะเอาคนหรือเอาควาย?”

และจะเห็นได้ว่าเมื่อชายคนรักของดารุณีเชื่อถือและปฏิบัติตามคำแนะนำด้วยการพยายามเลิกบุหรี่อย่างจริงจังกลับถูกมองว่าน่าสังเวช ถูกผู้หญิงจูงไปในทิศทางใดก็ไป และไม่มีหัวคิดที่เข้มแข็งเป็นของตนเอง จุดนี้เป็นจุดที่เห็นได้ชัดว่าเพศหญิงยังคงไม่ได้รับการยอมรับในแง่ความน่าเชื่อถือมากเพียงพอที่เพศชายควรจะให้ค่า

บทบาทและการดำรงซึ่งสถานภาพของเพศหญิงในสังคมไทยยังคงเกาะเกี่ยวกับค่านิยมของสังคมอย่างที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ จากคำปรารภของเลิศ ในเรื่องปัญหาหัวใจที่ว่า

“ฉันต้องการความเป็นอยู่อย่างใหม่ ความเป็นอยู่อย่างที่ไม่บังคับข่มขี่ฉันให้ทุกข์ทรมานอยู่ในขอบเขตของประเพณีเท่านั้น อย่างเมียฉันเขาไม่ยอมหย่ากับฉันทั้งที่รังเกียจเราเหลือเกิน ก็เพราะไอ้ประเพณีนั่นเอง เขาว่าพวกพ้องเขาไม่มีการหย่าร้างกันเลย เราถึงจะต้องทนอยู่อย่างควายที่เขาผูกไว้กับหลัก แต่ฉันถือว่าความรู้สึกที่เกี่ยวกับเกียรติยศอย่างนั้นเป็นประเพณีที่เก่าเกินไป น่าจะลบล้างได้แล้ว”

จะเห็นได้ว่าความคิดเห็นของเลิศที่มีต่อขอบเขตประเพณีเรื่องคู่สามี-ภรรยาหย่าร้างกันเป็นเรื่องไม่งามและไม่ใช่เรื่องปกติที่ยอมรับกันได้ในสังคมไทยในวงกว้างนั้นเป็นประเพณีที่เก่าเกินไป สมควรที่จะลบล้างแนวความคิดเช่นนี้ได้แล้ว และเพราะขอบเขตประเพณีดังกล่าวนี้เองที่ทำให้เขาทุกข์และต้องทนอยู่ต่อไปเช่นควายที่ผูกไว้กับหลัก ลักษณะการจองจำทางสังคมเช่นนี้ ทำให้คู่สามี-ภรรยาหลายคู่ไม่สามารถที่จะหย่าขาดกันได้ ผู้หญิงจำนวนมากในสังคมจึงจำต้องทนอยู่ต่อไปในภาวะเช่นนี้ เนื่องจากต้องการดำรงสถานภาพดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ร.จันทพิมพะ ได้สอดแทรกการวิพากษ์สถานะและความสัมพันธ์ของคู่สามี-ภรรยาในสังคมตามบริบทที่แวดล้อม และบริบทที่ต้องถูกกักกันในกรงขังของสังคมได้เฉียบแหลมยิ่ง

ในขณะเดียวกัน ผู้หญิงที่มีเจตจำนงแน่วแน่ที่จะหย่าขาดกับสามีได้ก็จำต้องฟันฝ่าม่านกฎเกณฑ์ของขนบประเพณีที่มีมาแต่ดั้งเดิมทั้งของครอบครัวและสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากลำบากทั้งในทางจิตใจและทางกฎหมายเห็นได้จากคำปรารภของสารภีที่ได้ทำการฟ้องหย่าขาดจากสามีในเรื่อง โดยพระราชเสาวนีย์

“เพราะรักของคุณพี่ไร้สัตย์...และยังทารุณกับเมียและหญิงอื่นอีกมาก...เหมือนผู้คุมของสัตว์!น้องสลดใจ! น้องระอา! แล้วก็อยากกลับไปเป็นผู้หญิงที่มีแต่ความรัก ประณีตด้วยเมตตา กรุณาและอิสระเหลือเกิน ก็จำหย่า จำขัดถ้อยคำของสกุลของประเพณี และของญาติมิตรหมดทั้งนั้น น้องยอม!”

ในด้านการแสดงออกของผู้หญิงยังคงถูกควบคุมและจับจ้องจากสังคมและเพศชาย เห็นได้จากการที่บรรเจิดกล่าวถึงเรไรในเรื่องจิตจำลองว่า

“แต่หล่อนมีข้อแตกต่างจากหญิงอื่นอยู่สองประการ คือหล่อนกล้ามาเช่าห้องโรงแรมอยู่ตากอากาศลำพังผู้เดียว ทั้งที่ปรากฏว่าหล่อนเป็นสาวบริสุทธิ์เสียด้วย ข้อนี้ แม้ในหมู่นักตากอากาศผู้ชายก็ยังมีเสียงซุบซิบสักหน่อย”

จากการที่บรรเจิดได้กล่าวว่าเรไรต่างไปจากผู้หญิงคนอื่น ย่อมแสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมของเรไรไม่ใช่วิสัยปกติของผู้หญิงไทยที่ยังเป็นสาวบริสุทธิ์มักจะกระทำ เช่นการเช่าห้องในโรงแรมแต่เพียงลำพังเช่นนี้ เห็นได้ชัดว่าการแสดงออกหรือเลือกกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งของผู้หญิงไทยยังไร้ซึ่งอิสระ เพราะพฤติการณ์ทั้งหลายล้วนถูกสายตาจับจ้อง แลตัดสินจากสังคมและเพศชายอยู่เสมอ ดังที่นายแพทย์ประชาได้ตัดสินว่าพฤติการณ์ของเรไรนั้น “ดูเป็นผู้หญิงเจ้าอารมณ์เรื่องเพศ แต่ออกจะกล้าเกินไป” เป็นต้น

ในเรื่องปัญหาหัวใจก็เช่นกัน จากบทสนทนาโต้ตอบของเลิศกับอรุณที่ว่า

“ผู้หญิงไทยทุกวันนี้ก็ยังหายากอยู่สักหน่อยที่จะยอมขับรถมารับผู้ชายกลางค่ำกลางคืนเหมือนคุณ เมียฉันจะไม่ทำอย่างนี้แน่ๆ”

“คุณเลิศคิดว่า...ว่าฉัน...ฉันเป็นหญิงไทยวิตถาร เอ้อ...ชอบกลกระมังคะ? แล้วก็...คุณเลิศไม่ชอบ”

จากการที่อรุณหวั่นเกรงว่าพฤติการณ์ที่แปลกแยกแตกต่างจากผู้หญิงส่วนใหญ่ในสังคมของตนจะยังความไม่พึงใจแก่เลิศนั้น สะท้อนให้เห็นว่า การควบคุมพฤติกรรมของผู้หญิงด้วยค่านิยมทางสังคมนั้นยังคงทรงประสิทธิภาพอยู่

ผู้หญิงกับการสร้างคุณค่าในตัวเอง จะเห็นได้ว่าตัวละครหญิงของ ร.จันทพิมพะ เป็นผู้ที่เกิดในชนชั้นกลางจนถึงชนชั้นสูง ได้รับการศึกษา และไม่มีความลำบากด้านฐานะทางเศรษฐกิจ หากแต่ตัวละครหญิงมักจะหาทำงานนอกบ้านเสมอ ซึ่งเป็นไปตามบริบทของสังคมในทศวรรษ 2490 ที่เริ่มเปลี่ยนไปผู้หญิงเริ่มทำงานนอกบ้านมากขึ้น เมื่อแต่งงานแล้วก็ไม่เพียงแต่ทำงานบ้านอยู่กับบ้านแต่เดิมอีกต่อไป การสร้างคุณค่าในตัวเองด้วยการทำงานและสามารถยืนบนลำแข้งของตัวเองได้โดยไม่ต้องคอยพึ่งพิงแต่ผู้ชายปรากฎในเรื่องสั้นของ ร.จันทพิมพะ หลายเรื่อง ทั้งเรื่องชายคนที่สาม อริสมรสเลี้ยงฉันมื้อนี้ เป็นต้น การทำงานยังเป็นการเปิดโลกทัศน์ของผู้หญิงสมัยใหม่อีกด้วย ดังที่ไขศรีได้กล่าวกับอดีตสามีที่มีอันต้องหย่าร้างกันในเรื่อง ฉันเป็นสุข ว่า

“ดิฉันไปหางานทำก็ไม่ใช่เพราะอับจนทีเดียว เนื่องจากคุณไม่มีอะไรให้ดิฉันเลย ดิฉันไปทำงานเพราะต้องการให้ชีวิตมีสิ่งสนใจใหม่ๆ ยืดเยื้ออยู่อีก”

แต่ค่านิยมในเรื่องที่ผู้หญิงออกไปทำงานทัดเทียมกับผู้ชายกลับไม่ได้รับการยอมรับจากผู้ชายบางกลุ่มที่มองด้วยกรอบทัศนคติแคบๆว่าเป็นการทำตัวทัดเทียม เกินหน้าและฐานะของผู้หญิง ดังที่อรอวลได้ปรารภในเรื่อง ชายคนที่สามว่า

“แต่ก็ไม่เคยมีผู้ชายที่ไหนอยากแต่งงานกับผู้หญิงทำงานเก่ง!”

การสร้างคำอธิบายว่าเพศหญิงเป็นเพศที่อ่อนแอและไหวระไวไปตามคลื่นอารมณ์ ในขณะที่เพศชายเป็นเพศที่เข้มแข็งกว่านั้น เป็นสิ่งที่ขัดกันกับหลักความเท่าเทียมและเสมอภาคระหว่างชายและหญิง แต่ ร.จันทพิมพะ ไม่ได้เน้นในประเด็นการเรียกร้องสิทธิของสตรีในด้านนี้ ตัวละครผู้หญิงในเรื่องสั้นของเธอจึงมีลักษณะเป็นหญิงที่เข้มแข็งขึ้น สามารถที่จะยืนด้วยขาของตัวเองได้ หากแต่ยังคงต้องพึ่งพิงเพศชาย ไม่ใช่ในฐานะทางเศรษฐกิจด้านเงินทองแต่เป็นที่พึ่งพิงทางใจ ต่างฝ่ายต่างจำเป็นต้องพึ่งพิงเกาะเกี่ยวซึ่งกันและกัน ดังที่ตัวละครหญิงในเรื่อง คุณพ่อไม่พูดได้กล่าวเอาไว้ว่า

“ผู้หญิงเก่งก็จริง แต่ต้องอาศัยความเข้มแข็งของผู้ชาย”

หรือชุดคำอธิบายที่ว่าเพศหญิงเป็นเพศที่หาได้มั่นคง และเข้มแข็งมากมายนักแต่อย่างใด หากเป็นเสมือนท้องฟ้าที่แปรปรวนไปมาตามความนึกคิดของตัวละครเอกในเรื่องข้ามขอบฟ้าที่ว่า

“นิสัยหญิงก็มิใช่เข้มแข็งคล้ายโขดหินแห่งใดเลย แต่เป็นเหมือนท้องฟ้าซึ่งปรวนแปรไปมาด้วยลมและเมฆ เมื่อเป็นดังนี้แล้วไฉนหล่อนไม่รีบอภิรมย์สิ่งซึ่งหล่อนปรารถนาจะได้เดี๋ยวนี้”

สุดท้ายแล้วตัวละครหญิงของร.จันทพิมพะ ก็ตกอยู่ในสภาวะที่ถูกกดทับและครอบงำจากเพศชาย และทำหน้าที่ถ่ายทอดวาทกรรมที่แสดงความเหนือกว่าของเพศชายโดยไม่รู้ตัว แต่ร.จันทพิมพะก็ได้เป็นหนึ่งในนักเขียนสตรีที่ประสบความสำเร็จในการแย่งชิงกันนิยามตัวตนและอัตลักษณ์ รวมทั้งกำหนดแนวทางของผู้หญิงสมัยใหม่ที่ไม่ทับซ้อนกับแนวทางนักเขียนสตรีคนใดภายหลังทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา


[1]พิเชฐ แสงทอง, วาทกรรมวรรณกรรม (มหาสารคาม: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2550) หน้า 138.

เอกสารอ้างอิง

คำ ผกา. (2556). กระทู้ดอกทอง. กรุงเทพมหานคร. สำนักพิมพ์อ่าน.

นัทธชัย ประสานนาม. (2556 ). นิยายแห่งนิยาม เรื่องเล่าสมัยใหม่ในปริทัศน์การเมืองวัฒนธรรม. กรุงเทพมหานคร.จรัลสนิทวงศ์การพิมพ์.

พิเชฐ แสงทอง.  (2550).  วาทกรรมวรรณกรรม.  มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

ปราณี พรหมจรรย์. (2531).วิเคราะห์เรื่องสั้นของ ร. จันทพิมพะ ในแง่กลวิธีการแต่ง ศิลปะการใช้ภาษาและแนวคิด. ปริญญานิพนธ์ ศศ.ม. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา, สงขลา.

ร. จันทพิมพะ. (2541). ม่านดอกไม้. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์ดอกหญ้า.

ร. จันทพิมพะ. (2513). รวมเรื่องสั้นเกียรติยศของนักเขียนสตรีผู้ยิ่งใหญ่. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์สยาม.

สุชาดา ทวีสิทธิ์. (2547). เพศสภาวะ: การท้าทายร่าง การค้นหาตัวตน. กรุงเทพฯ:อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: