สื่อทางเลือกและองค์กรภาคี รวม 6 องค์กร รวมตัวเฉพาะกิจจับตาประชามติ แนะสื่อรายงานสถานการณ์ใกล้ชิด แนะประชาชนร่วมจับตาเหตุผิดปกติ (ที่มาภาพจาก:ประชาไท)
2 ส.ค. 59. เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมเว็บไซต์ประชาไท ในการแถลงข่าว “เครือข่ายสังเกตการณ์ประชามติ” จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท กล่าวถึงการรวมตัวครั้งนี้ว่า เป็นการรวมตัวกันเฉพาะกิจขององค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้ง องค์กรสิทธิมนุษยชน และสื่อทางเลือก คือ เครือข่าย We Watch อาสาสมัครเยาวชนสังเกตการณ์ประชามติ, สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน, สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล, โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), สำนักข่าวไทยพับลิก้า, ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ), และสำนักข่าวประชาไท เพื่อร่วมกันจับตาการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม นี้ โดยเปิดรับข้อมูลจากประชาชนและเครือข่ายทั่วประเทศ พร้อมรายงานข้อมูลสู่สาธารณะ
"ในการรับข้อมูลจะมาจากสองส่วน คือ อาสาสมัครของ We Watch ซึ่งมีกระบวนการให้จัดส่งรายงานเข้ามาอย่างเป็นระบบ ส่วนของประชาชนทั่วไปที่อยากเข้าร่วม ไม่มีเงื่อนไขว่าต้องลงทะเบียน เช่น หลังจากไปออกเสียงประชามติ ก็สามารถเขียนรายงานเข้ามา หรือกลุ่มคนที่จะเดินทางในพื้นที่ต่างจังหวัด ในหน่วยที่อยู่ไกล แล้วถูกสกัดกั้นการออกเสียง เรื่องเหล่านี้อยากให้รายงานและบันทึกไว้ให้มากที่สุด เท่าที่กำลังของประชาชนและเครือข่ายจะทำได้"จีรนุช กล่าว
เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ว่า การลงประชามติครั้งนี้แตกต่างจากหลายครั้งและการเลือกตั้งทั่วไป เนื่องจากยังไม่เคยเห็นความพยายามที่จะทำให้เกิดการสอดส่องและติดตามกระบวนการลงประชามติครั้งนี้ ทั้งนี้ การที่มีองค์กรติดตาม ทั้งในช่วงก่อนลงประชามติ วันประชามติ และหลังประชามติ สำคัญมากเพราะทำให้เห็นว่าการประชามติครั้งนี้มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้
"ในอดีต ในการเลือกตั้งทุกครั้ง พรรคการเมืองจะส่งตัวแทนลงสังเกตการณ์ทุกหน่วยเลือกตั้ง ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จะมีการจับผิดกันว่ามีการโกงกันไหม ใครมีพฤติกรรมล่อแหลม ขณะเดียวกัน องค์กรอื่นๆ จะร่วมสังเกตการณ์ด้วย ทำให้เกิดการเปรียบเทียบข้อมูลที่ได้มา ทั้งของพรรคการเมือง องค์กรจากส่วนกลาง หรือจากต่างประเทศ แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นกระบวนการเหล่านี้เลย" นายเอกพันธุ์ กล่าวและว่า สถาบันได้ร่วมกับ We Watch ในการฝึกอบรมเยาชนอาสาสมัคร ในการสังเกตการณ์ จะเป็นเครื่องมือเก็บข้อมูล วิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ
ชมพูนุท เฉลียวบุญ ผู้ประสานงานเครือข่าย We Watch ซึ่งเป็นเครือข่ายของเยาวชนที่สนใจในประเด็นการเมือง การเลือกตั้ง ประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน กล่าวว่า เครือข่ายมีการอบรมเยาวชนและคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับการสังเกตการณ์ประชามติ โดยในการสังเกตการณ์จะจับตาข้อดีและข้อด้อย เพื่อสรุปเป็นข้อปรับปรุงการเลือกตั้งหรือการประชามติในครั้งต่อๆ ไป
"สำหรับหลักสำคัญของการสังเกตการณ์ประชามติ คนที่จะไปสังเกตการณ์ อย่างน้อยต้องศึกษากระบวนการตั้งแต่ต้น โดยสามารถดูในหน่วยของตัวเอง การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ดูว่าประชาชนที่ไปใช้สิทธิ ตื่นตัวแค่ไหน กระบวนการระหว่างวัน เป็นไปด้วยความเรียบร้อยหรือไม่ แต่ละหน่วยมีผู้มาใช้สิทธิเท่าไหร่ มีบัตรดี บัตรเสียเท่าไหร่ คะแนนดิบในแต่ละประเภท ตลอดจนการนำเอกสารและอุปกรณ์กลับไปที่ระดับเขต" นางสาวชมพูนุท กล่าว
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวว่า องค์กรที่มาร่วมเครือข่ายก็เป็นสื่อทางเลือก ซึ่งไม่มีกำลังคนมากพอจะรายงานทุกอย่าง แต่ทางเครือข่ายจะเป็นศูนย์กลางในการรายงาน โดยให้ประชาชนเก็บข้อมูลและรายงานข้อเท็จจริงที่เห็นจากแต่ละพื้นที่ โดยทางเครือข่ายมีแนวทางปฏิบัติในการสังเกตการณ์ จากนั้นทางเครือข่ายจะทำออกมาเป็นรายงานต่อไป
“ที่ผ่านมาไอลอว์สังเกตการณ์สองประเด็นคือเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและคดีที่เกี่ยวกับการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น ซึ่งที่ผ่านมามีอย่างน้อย 25 เวทีที่ถูกห้ามจัด และมีถูกจับอย่างน้อย 20 คน จากกฎหมายประชามติ ถูกห้ามพูด ถูกจับ และ สองคือข้อความเท็จ แม้บรรยากาศการรณรงค์ประชามติจะเงียบมาก แต่ก็มีการแสดงข้อมูลที่ไม่เป็นจริงหรือคิดไปเอง หรือมีการเลือกที่จะไม่พูดบางประเด็นอย่างจงใจ เช่น นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง ไม่มีแต่งตั้ง ซึ่งไม่จริง มันมีโอกาสอยู่ ถ้าประชาชนเห็นการเผยแพร่ที่ไม่จริงหรือใช้ข้อมูลบางอย่างเท่านั้น ก็แจ้งเข้ามา เป็นส่วนหนึ่งในการจับตาว่าถูกต้องชอบธรรมหรือเปล่า”
ผู้สื่อข่าวถามว่า อย่างนี้จะเท่ากับส่งเสริมกฎหมายประชามติที่ปิดกั้นเสรีภาพขอประชาชนในการตีความหรือไม่ นายยิ่งชีพ กล่าวว่า การตีความเป็นสิทธิที่จะทำได้และทางไอลอว์ไม่ได้จะนำไปฟ้องร้องแต่อย่างใด แต่จะช่วยชี้แจงถ้ามีการตีความผิดมากเกินไป เช่น มีการตีความว่าหากร่างรัฐธรรมนูญผ่านจะไม่สามารถสร้างมัสยิดได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง
ขณะที่ รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด ผู้สื่อข่าวศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) เรียกร้องไปยังสื่อมวลชนใน 3 ประเด็น คือ หนึ่ง ให้ติดตามการลงประชามติอย่างใกล้ชิด ตรงไปตรงมา และรอบด้าน สอง รายงานบรรยากาศการใช้สิทธิของประชาชน เพราะจะทำให้เห็นว่าประชาชนมีสำนึกต่อการทำประชามติอย่างไร และประการสุดท้ายคือ เสนอให้สื่อทำเอ็กซิทโพลล์ เพราะจะเป็นสิ่งบอกเหตุผลและตั้งคำถามต่อประชามติ เช่น หากเอ็กซิท โพลล์ ระบุว่า ฝ่ายไม่รับร่างชนะ แต่ผลปรากฏว่าฝ่ายรับร่างชนะ ประชาชนก็สามารถอ่านระหว่างบรรทัดได้ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ห้ามไม่ให้มีการทำเอ็กซิทโพลล์ ดังนั้น สื่อจึงต้องทำหน้าที่ในสองประการแรกอย่างเข้มข้น
“อยากบอกเพื่อนสื่อมวลชนว่าอย่ากลัวมากเกินไป จนไม่กล้ารายงานสิ่งที่เกิดขึ้น เผด็จการและอำนาจไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คุณคิด เพราะถ้ากลัวผี คุณก็จะเห็นผี ถ้าไม่กลัวผี คุณก็จะไม่เห็นมัน” รวิวรรณ กล่าว
ส่วนบัณฑิต หอมเกษ ผู้ประสานงานฝ่ายวิชาการและรณรงค์ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ทางสมาคมฯ ทำงานด้านสิทธิและติดตามตามสถานการณ์การลงประชามติ เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับสิทธิทาการเมืองเพื่อกำหนดชะตากรรมในอนาคต
“แต่บรรยากาศในช่วงก่อนลงประชามติที่ผ่านมาเห็นว่าการแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและการรณรงค์ต่างๆ เป็นไปอย่างจำกัด ซึ่งเป็นข้อกังวลหนึ่งของทางสมาคม ทำให้จึงต้องมาร่วมสังเกตการณ์ให้การลงประชามติเป็นไปอย่างโปร่งใสที่สุดและให้เป็นไปตามเจตนารมณ์อย่างแท้จริง” บัณฑิต กล่าว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ