สิทธิเด็กต่างด้าวในเขตก่อสร้าง: เสียงเล็กๆ ที่ไม่มีใครได้ยิน

สุขุม ปรีชาพานิช : TCIJ Scool รุ่นที่ 2 1 พ.ค. 2559 | อ่านแล้ว 10624 ครั้ง

สำรวจชีวิตลูกแรงงานข้ามชาติในเขตก่อสร้างยังคงเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ภาพรวมเด็กต่างด้าวกว่า 2.5 แสนคนในไทย ยังขาดทั้งการศึกษา-อนามัย-พื้นที่ปลอดภัย แม้ภายหลังผู้ประกอบการเริ่มตระหนักถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็ก เช่นเดียวกับบริษัทรับเหมาที่จัดสถานศึกษาแต่ยังขาดบุคลากร

ข้อมูลของกระทรวงแรงงานพบว่าประเทศไทยมีแรงงานต่าวด้าวที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกกฏหมาย 2,232,925 คน และยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนอีกประมาณ 2 เท่าของจำนวนแรงงานที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกกฎหมาย ขณะที่ความต้องการแรงงานต่างด้าวของไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามที่สถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนา (TDRI) ที่ระบุว่าไทยยังมีความต้องการแรงงานต่างด้าวอีก 2.5 – 3 ล้านคนในปัจจุบัน

เช่นเดียวกับผู้ใช้แรงงานทั่วโลก แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย ส่วนใหญ่มักจะนำครอบครัวเข้ามาด้วยเพื่อช่วยกันประกอบอาชีพและให้ครอบครัวได้อยู่ด้วยกัน ผลสำรวจโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชน (Child Watch) ของสถาบันรามจิตติ ระหว่างปี 2554 - 2556 พบว่ามีลูกแรงงานต่างด้าวประมาณกว่า 2.5 แสนคน อาศัยอยู่ในประเทศไทย เกือบทั้งหมดยังเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ อาทิ การศึกษา การรักษาพยาบาล  

ลูก ๆ ของแรงงานข้ามชาติต้องมาอาศัยใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ก่อสร้างที่พ่อแม่ของตัวเองต้องทำงานอยู่ซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมกับเด็กเท่าไรนัก

ประเทศไทยได้ร่วมลงนามเป็นภาคีในสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนกับสหประชาชาติถึง 7 ฉบับ โดย ‘อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก" เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งใจความสำคัญจะเน้นหลักปฏิบัติพื้นฐานต่อเด็กเช่น การห้ามเลือกปฏิบัติต่อเด็กไม่ว่าจะชนชาติใด ภาษาไหน , การกระทำหรือดำเนินการใด ๆ ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นอันดับแรก , สิทธิในการมีชีวิตและพัฒนาด้านจิตใจ อารมณ์ และสังคมของเด็ก รวมไปถึงสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและให้ความสำคัญกับความคิดเหล่านั้นของเด็ก ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามในสนธิสัญญาฉบับนี้ตั้งแต่ปี 2535

ภายในประเทศเองก็มีการออกกฏหมายมารองรับต่าง ๆ มากมาย เช่นพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) 2545 ที่ได้ให้แนวทางปฏิบัติในการรับเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยได้เข้าเรียน หรือมติครม.เมื่อ 5 กรกฏาคม 2548 ที่ได้รับรองการเข้าศึกษาของเด็กที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยรวมถึงไม่มีหลักฐานการแสดงตน สามารถเข้าเรียนในสถานศึกษาของไทยได้ รวมถึงหลักประกันสุขภาพของไทยที่ครอบคลุมไปถึงแรงงานข้ามชาติ ฯลฯ แล้วเหตุใดเด็กซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงสิทธิในด้านต่าง ๆ

การศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์

ดร.จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติซึ่งทำงานเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน กล่าวถึงอะไรคือปัญหาหลักที่ทำให้เด็กข้ามชาติเข้าไม่ถึงระบบการศึกษาเป็นเพราะ สภาพความเป็นอยู่ของเด็กในเขตก่อสร้างเหล่านี้ไม่มีหลักแหล่งแน่นอน ต้องเคลื่อนย้ายอยู่ตลอดเวลาจึงทำให้ยากต่อการเข้าเรียนในโรงเรียนทั่วไป และที่สำคัญหลักสูตรการศึกษาไทยยังคงเน้นสายสามัญเป็นหลัก จึงทำให้ผู้ปกครองของเด็กซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ไม่เห็นประโยชน์ในการส่งลูกเข้ามาศึกษาต่อในระบบการศึกษา

"พ่อแม่เขาก็มองว่าจะส่งลูกมาทำไมในเมื่อวิชาในสายสามัญไม่ตอบโจทย์ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา สู้ให้อยู่ใกล้ ๆ เรียนรู้การทำงานจากพวกเขา พอโตมาก็จะได้ช่วยงานพวกเขาได้ ยังไม่นับเรื่องทัศนะคติที่หวาดระแวงเจ้าหน้าที่รัฐจะมาจับกุมอีกนะ ซึ่งก็เป็นปัญหาซ้อนปัญหาอีกชั้นนึง"

ดร.จุฬกรณ์ กล่าวถึงแนวทางแก้ไขว่า ระบบการศึกษาไทยต้องปรับปรุงหลักสูตรใหม่ให้ยืดหยุ่นขึ้น อาจจหันมาเน้นสายวิชาชีพให้มากขึ้น หรือปรับหลักสูตรให้เข้ากับความชำนาญเฉพาะในแต่ล่ะท้องถิ่น เพื่อให้เด็กที่เข้าสู่ระบบการศึกษามีทางเลือกและทักษะความรู้ที่เหมาะสมกับตน เช่น เด็กที่อยู่ในเขตก่อสร้างก็สามารถนำทักษะความรู้ที่เล่าเรียนในระบบไปต่อยอดปรับปรุงใช้ได้เลย รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการส่งต่อเด็กระหว่างเขตโรงเรียนให้ยืดหยุ่นขึ้น ไม่ว่าเด็กจะสามารถอยู่ในโรงเรียนได้นานแค่ไหนก็ตาม 3 เดือน 6 เดือน หรือเป็นปี เด็กก็จะมีความรู้ที่นำไปใช้ได้จริงติดตัวไป และเมื่อถึงเวลาต้องเคลื่อนย้ายไปในพื้นที่อื่น หากมีระบบการส่งต่อและเข้าเรียนที่ยืดหยุ่นพอ เด็กก็สามารถเข้าเรียนในสถานที่ใหม่ได้ทันที

อีกทั้งความสามารถสายวิชาชีพของแรงงานที่มีทักษะเฉพาะทางที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในเมื่อเราไม่สามารถพลักเด็กข้ามชาติเหล่านี้ออกไปจากประเทศได้ เหตุใดจึงไม่พัฒนาเด็กเหล่านี้มีทักษะความรู้ความสามารถที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมเด็กเหล่านี้อาจกลายเป็นอีกกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศเทศ

สองมาตรฐานการรักษาพยาบาล

การเข้าถึงระบบการรักษาพยาบาล ก็เป็นอีกปัญหานึงของเด็กข้ามชาติกลุ่มนี้ โดยประเทศไทยได้มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ารองรับเด็กกลุ่มนี้อยู่แล้ว โดยมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2556 โดยให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลคนต่างด้าวทั้งหมด โดยใช้การประกันสุขภาพแต่เนื่องจากไม่ได้มีสัญชาติไทย เด็กกลุ่มนี้ที่อายุไม่เกิน 15 ปี จึงต้องออกเงินซื้อประกันสุขภาพในราคา 365 บาทต่อปี หรือเรียกกันว่าประกันสุขภาพคนต่างด้าว เพื่อให้เด็ก  ๆ กลุ่มนี้ใช้สิทธิ์ในการรักษาพยาบาลได้เหมือนคนที่มีสัญชาติไทย แต่ในความเป็นจริงแม้จะมีสิทธิ์ในการเข้ารับการรักษาพยาบาล แต่ในทางปฏิบัติกับประสบปัญหาต่างๆ มากมาย รวมถึงการปฏิเสธการใช้สิทธิ์หรือขึ้นทะเบียนจากทางโรงพยาบาล เนื่องจากทางโรงพยาบาลมองว่าเงินจำนวนนี้น้อยเกินไป หากรับเข้ามาจะทำให้ทางโรงพยาบาลต้องแบกค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้น จึงพยายามโน้มน้าวชักจูงให้คนกลุ่มนี้ซื้อประกันกับทางโรงพยาบาลเพิ่มเติมอีกทางนึง

เด็กทารกชาวกัมพูชาวัย 8 เดือน ถูกทิ้งให้นอนหลับอยู่ใต้อาคารซึ่งกำลังก่อสร้างเพียงลำพัง

สมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ทำงานขับเคลื่อนเรื่องเด็กข้ามชาติม กล่าวถงปัญหาการเข้าไปรักษาที่ส่งผลต่อการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพว่า เกิดจากการไม่มีสถานะที่ชัดเจนของเด็กและผู้ปกครองซึ่งกังวลในเรื่องการตรวจสอบเอกสาร รวมทั้งทัศนะคติของผู้ปกครองที่ชอบความสะดวกรวดเร็ว และหวังแค่แก้ปัญหาสุขภาพเฉพาะหน้าเท่านั้น จึงเลือกที่จะใช้บริการด้านสุขภาพจากคลินิก หรือหมอใกล้ชุมชน ที่สามารถสื่อสารภาษาเดียวกันได้มากกว่า ซึ่งดีกว่าโรงพยาบาลที่ต้องรอนานและยาที่ได้ก็เป็นยาเบื้องต้นเท่านั้น

"หากจะให้ปรับปรุงจริงๆ ส่วนตัวมองว่าการประกันสุขภาพ ควรจะเป็นนโยบายของรัฐที่เข้ามาดูแลไปเลย ไม่จำเป็นต้องเรียกเก็บอีก รวมถึงการจัดทำสถานะบุคคลให้ชัดเจนน่าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องเอกสารต่างๆ ได้"

‘พื้นที่ปลอดภัย’ ของเด็ก

ตู้คอนเทนเนอร์หลากสีที่ตั้งเรียงรายอยู่ในเขตก่อสร้าง บริเวณถนนคู่ขนานกับถนนวิภาวดีใกล้วัดเสมียรนารีดู มักตกเป็นเป้าดึงดูดสายตาแก่ผู้สัญจรผ่านไปมา ภายในตู้เหล่านี้ถูกแปรสภาพเป็นที่อยู่อาศัยของคนงานในเขตก่อสร้างแห่งนี้ บางส่วนยังถูกดัดแปลงให้เป็นห้องเรียนของลูกหลานพวกเขา

บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งได้นำตู้คอนเทรนเนอร์ที่ไม่ได้ใช้ มาทำเป็นสถานที่ดูแลเด็ก ๆ ซึ่งเป็นลูกของแรงงานที่ต้องทำงานในเขตก่อสร้างของทางบริษัท เพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและให้พ่อแม่หมดห่วงเรื่องการเลี้ยงดูลูกขณะทำงาน

ครูโรจ หรือไพโรจน์ จันทรวงษ์ คุณครูอาสาจากมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก  อยู่ในเขตก่อสร้างแห่งนี้เล่าให้ฟังถึงที่มาของห้องเรียนในเขตก่อสร้างว่า หากปล่อยให้ไปวิ่งเล่นอยู่ในเขตก่อสร้างเกรงว่าจะเกิดอันตราย หากจัดพื้นที่ให้อยู่เป็นหลักแหล่งมีคนดูแลดีต่อตัวเด็กและครอบครัว

ครูโรจ ครูอาสาจากมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ช่วยดูแลเด็ก ๆ ในพื้นที่เขตก่อสร้าง การขาดแคลนบุคลากรที่จะมาดูแลเด็ก ๆ เหล่านี้นับเป็นปัญหาใหญ่อีกปัญหาหนึ่งนอกจากพื้นเรื่องของพื้นที่ปลอดภัยของเด็ก 

ปัจจุบันแม้จะยังไม่มีกฏหมายออกมารองรับหรือควบคุมผู้รับเหมาให้จัด ‘พื้นที่ปลอดภัย’ หรือสถานที่เพื่อดูแลเด็กที่เป็นลูกหลานของแรงงานในเขตก่อสร้าง ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มตระหนักถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กเหล่านี้ เช่นเดียวกับมาบริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งของไทย จัดหาพื้นที่ปลอดภัยให้กับลูกหลานของแรงงานก่อสร้างในไซต์งานของโครงการฯ ในชื่อ ‘โครงการโรงเรียนในไร่ส้ม’ ให้ผู้รับเหมาที่รับงานกับบริษัท ต้องจัดเตรียมพื้นที่ปลอดภัยในทุกโครงการที่ดำเนินการให้กับบริษัท เพื่อดูแลสภาพชีวิตความเป็นอยู่รวมถึงให้การศึกษาขั้นพื้นฐานแก่เด็กเหล่านี้ ซึ่งที่ผ่านมาผู้รับเหมาหลายรายให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

“แม้จะมีสถานที่สำกรับให้การศึกษากับเด็กในเขตก่อนสร้าง แต่จำนวนครูที่อาสาเข้ามาสอนยังไม่เพียงพอ หากเป็นไปได้อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ” ไพโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: ใครคือแรงงานเด็ก?

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: