อำนาจส่วนกลางที่ปกคลุมผู้คนทั่วทั้งดินแดน มีมาตั้งแต่ 5,000 ปีที่แล้ว เปลี่ยนหน่อยมั้ย?

ฐานันดร ชมภูศรี 2 ธ.ค. 2559 | อ่านแล้ว 2264 ครั้ง


1

แม้ว่าจะนับถือพระเจ้าหลายองค์ก็ตาม หรืออาจมีบางยุคที่มีหลายคนเป็นผู้รวบอำนาจไว้ที่ตนเอง มีอำนาจเท่าเทียมกัน แต่นักประวัติศาสตร์ไม่สามารถเข้าใจได้ เช่น อาจมีกษัตริย์ที่ครองใจคนส่วนหนึ่ง ปัญญาชนที่ครองใจคนอีกส่วนหนึ่ง เมียของฟาโรห์อีกส่วนหนึ่ง แต่อย่างไรเสีย นักประวัติศาสตร์ก็ต้องสรุปให้เหลือแค่คนเดียว

ไม่ว่านักประวัติศาสตร์พูดถูกหรือผิดว่า แต่ละช่วงเวลาในดินแดนหนึ่งๆ มีผู้มีอำนาจสูงสุดเพียงหนึ่งเดียว หรืออาจมีอำนาจเท่าเทียมกันหลายคน แต่การปลดปล่อยชนชาติอิสราเอลที่ถูกบังคับใช้แรงงานในอียิปต์ ก็กระทำโดยพระเจ้าผู้เป็น "ศูนย์กลางอำนาจสูงสุด" ในจักรวาล แม้จะมีพระบิดา พระบุตร พระจิต หรืออาจรวมถึงพระแม่มารีย์ แต่อาณาจักรของพระเจ้าก็เป็นอาณาจักรสูงสุดหนึ่งเดียว

ยุคโรมัน(ประมาณ 27 ปีก่อน ค.ศ. - ค.ศ.1453) ในแต่ละช่วงเวลาก็ถูกระบุว่ามีผู้ยิ่งใหญ่สูงสุดเพียง "หนึ่งเดียว" ที่เป็น "ศูนย์กลางอำนาจ" ที่ปกคลุมผู้คนทั่วทั้งแดนดินถิ่นโรมัน

ถ้าเอาตามที่นักประวัติศาสตร์ระบุ ตั้งแต่สุเมเรียน อียิปต์โบราณ ถึงโรมัน อำนาจสูงสุดของผู้ยิ่งใหญ่ ก็มีลักษณะปกคลุมเหนือ "ดินแดน" ที่ในขอบเขตดินแดนหนึ่งๆ ต้องมี "ศูนย์กลางอำนาจ" เพียงหนึ่งเดียว พูดให้ชัดคือ เป็นศูนย์กลางในการเขียนและบังคับใช้ "กฎหมาย" เช่น ถ้าท่านเป็นคนต่อต้านสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วท่านอยู่เมืองจีน แล้วเขียนบล็อกด่าเทพเจ้าต่างๆ เอาวิทยาศาสตร์มาหักล้าง ถึงสังคมอาจไม่ชอบท่าน แต่ท่านไม่ติดคุก แต่ถ้าบล็อกที่ท่านเขียนเป็นการด่ารัฐบาลจีน ถ้าบล็อกของท่านดัง คงไม่ใช่แค่ "ใครด่ามากุด่ากลับ" แต่ท่านจะติดคุก หรือถ้าท่านเป็นพลเมืองของแดนดินถิ่นประชาธิปไตย สมมติท่านไม่พอใจที่รัฐบาลอเมริกันเอาเงินไปสิ้นเปลืองกับกองทัพ แล้วท่านก็ไปสรรพากรของที่นั่น แล้วบอกว่า "เนี่ย รู้สึกว่ารัฐบาลมันโง่ ช่วยสร้างระบบสำหรับคนที่ไม่ชอบรัฐบาล ให้เสียภาษีแค่ 70% หน่อยดิ" ความจริงคงไม่ได้หรอกครับ แต่นี่แหละ อำนาจจากศูนย์กลางที่ปกคลุมผู้คนทั่วทั้งดินแดน

2

เมื่ออำนาจของผู้ยิ่งใหญ่มาจากความยินยอมพร้อมใจของคนส่วนใหญ่ แม้ว่าจะเกิดจากการบังคับหรือโฆษณาชวนเชื่อก็ตาม อย่างยุคปัจจุบันที่แม้จะมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่ทางการเมืองก็ปรากฏในลักษณะแบ่งเป็น 2 ขั้ว ที่แย่งชิงกันสถาปนาอำนาจสูงสุดที่ฝ่ายไหนชนะก็สามารถ "บังคับ" ใช้กฎหมายเดียวกันต่อผู้คนทั่วทั้ง "ดินแดน" เช่น ผลการตัดสินของศาลสูงสหรัฐฯ ในเรื่องแต่งงานเพศเดียวกัน ได้บังคับให้ศาลของทุกรัฐต้องยอมจดทะเบียนสมรสให้คู่รักเพศเดียวกัน เมื่อกลางปี 2015

ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจึงต่อสู้ด้วยการอ้างเสรีภาพทางศาสนา เช่น เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา มีกรณีที่รัฐมิสซิสซิปปีออกกฎหมายอนุญาตให้คนทำธุรกิจที่รังเกียจ LGBTIQ สามารถปฏิเสธไม่ต้องให้บริการคนกลุ่มนี้ สังเกตว่ากฎหมายนี้ก็อยู่บนฐานของ "ดินแดน" (รัฐมิสซิสซิปปี) กฎหมายนี้เกิดจากการกดดันของมหาชน และ LGBTIQ ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยในรัฐนี้ ก็ต้องก้มหน้ารับไป

ถามว่ากฎหมายนี้ละเมิดคนรักร่วมเพศไหม ก็คงละเมิดครับ แต่พวกที่เขาสนับสนุนกฎหมายนี้เขาก็ถามว่า ที่บังคับให้ผมขายยาขายอาหารให้คนรักร่วมเพศโดยผมไม่เต็มใจ ละเมิดผมไหม ก็คงละเมิดอีกแหละ เมื่อฟังได้เท่ากัน คราวนี้ก็ดูจำนวนว่าเสียงใครมากกว่า นักการเมืองเขาก็เอาตามนั้น นักการเมืองเขาประกอบอาชีพนะครับ เขาก็ต้องดูทิศทางลม - (ศ.ดร.สมภาร พรมทา)

สำหรับบ้านเรา ฑูตสหรัฐฯก็เคยบอกว่า ประชามติ 7 ส.ค. free&fair พอสมควร คงเป็นเพราะผู้แสดงออกอย่างชัดแจ้งว่า กระบวนการก่อนถึงประชามติ ไม่ฟรี ไม่แฟร์ มีเพียงหยิบมือเดียว นักการฑูต เขาก็ต้องดูทิศทางลม ซึ่งรธน.ที่ได้รับความเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่ที่ออกมาลงคะแนน ก็บังคับใช้เหนือดินแดนที่คนส่วนใหญ่โหวตโนด้วย

อีกอย่างที่ถูกกำหนดจากอดีต ไม่ใช่เรื่องดินแดนโดยตรง แต่นำไปสู่การสถาปนาอำนาจ(กฎหมาย)ที่ปกคลุมผู้คนทั่วทั้งดินแดน เช่น ระบบเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่ท่านๆคงทราบกันอยู่แล้วว่าฮิลลารี่ได้คะแนนดิบเยอะกว่า แต่แพ้เพราะระบบ electoral college, และ "ศูนย์กลางอำนาจ" ของประเทศที่เพิ่งเปลี่ยนไป หากดูจากการเปิด "โผ"  คนที่จะมานั่งตำแหน่งระดับสูงในยุค Trump ก็มีแนวโน้มจะเกิดกฎหมายที่เหยียด เชื้อชาติ, LGBTIQ

เพราะลักษณะของคนที่จะมาเป็นผู้ยิ่งใหญ่ร่วมกับ Trump ก็เช่น ต่อต้าน LGBTIQ, ต่อต้านการทำแท้งแม้แต่กรณีที่เด็กอาจพิการ, เคยพูดมุขตลกเกี่ยวกับกลุ่มขวาจัดที่ยกย่องคนขาวเหนือกลุ่มอื่น หรือ คู คลักส์ แคลน, เคยสนับสนุนสงครามอิรักที่ Trump บอกว่าเป็นการตัดสินใจที่โง่เขลา, เคยคัดค้านการปิดคุกกวนตานาโมที่มีการซ้อมทรมานนักโทษอย่างหนัก, เคยประกาศว่าเกลียดกลัวชาวมุสลิม เป็นต้น

"ศูนย์กลางอำนาจ" เพียงหนึ่งเดียว ที่เริ่มตั้งแต่อย่างน้อยประมาณ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล มีผลต่อแดนดินถิ่นสยามเช่นกัน เพราะได้รับความเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่ ในความหมายที่ผู้แสดงความไม่เห็นด้วยอย่างชัดแจ้ง เป็นเพียงเสียงส่วนน้อย เช่น ศูนย์กลางบล็อคเว็บไซต์ เสกเว็บให้หายไปง่ายกว่าเดิม หรือย้อนหลังไปในช่วงที่คนไทยกำลังโศกเศร้า จนน่าตั้งคำถามว่า คสช.กำลังอาศัยโอกาสในช่วงเวลานั้นดำเนินการต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงแรงเสียดทานจากผู้ที่ไม่เห็นด้วยซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาปกติ เช่น กวาดจับนักศึกษารามฯ อ้างกฎอัยการศึก, ขึ้นค่าแรงไม่เท่ากันทั่วประเทศ, ติดเครื่องพร้อมเดินหน้าเขตเศรษฐกิจพิเศษ ท่ามกลางเสียงค้านของชุมชน ฯลฯ

เมื่อระบบสังคมการเมืองมันผูกติดกับอำนาจจากศูนย์กลางที่อยู่เหนือผู้คนทั่วทั้งดินแดน แม้แต่ดินแดนที่ยอมรับกันว่าเป็นประชาธิปไตย ก็ใช่ว่าทุกเสียงจะถูกนับ เช่น อย่างน้อยยุคโอบามาที่สหรัฐฯต้องรับผิดชอบงบประมาณ

ของ NATO ถึง 70% ถ้าพูดแบบ อ.ธเนศ วงศ์ยานนาวา ก็ต้องบอกว่า การเลือกตั้งนี่เป็น Super Orgasm ของความเป็นพลเมืองแล้ว เพราะหลังจากนั้น การที่คนอเมริกันไม่แสดงการคัดค้านอย่างโจ่งแจ้งในจำนวนที่มากพอ ก็ย่อมเท่ากับเสียงส่วนใหญ่ยินยอมพร้อมใจให้รัฐบาลจ่ายเงินมหาศาลให้ NATO

ผมเคยคิดทีเล่นทีจริงว่า ถ้าจะออกจากความคาราคาซังเรื่องศูนย์กลางอำนาจ ที่สืบทอดมาแต่โบราณกาล ทำไมไม่เอาแบบว่า ใครชอบนโยบายพรรคไหน ก็ไปสมัครพรรคนั้น สร้างระบบเก็บภาษีที่ส่งเงินไปให้ทีมของพรรคนั้นบริหาร เพราะนักการเมืองถูกตรวจสอบง่ายกว่า ด่ามันเป็นกะหรี่ก็ได้ ถ้ามันดูเหมือนไม่อยากให้ท่านจดทะเบียนสมรสแบบ LGBTIQ หรือวันไหนตรวจสอบยาก ก็ตั้งท่า stand by เตรียมย้ายออกให้มันเห็นซะ ถ้ามันยังไม่ปรับปรุงตัว เราก็ย้ายพรรค ส่วนคนที่เกลียดนักการเมืองก็ให้อยู่กับพรรคราชการอันมีทหารเป็นต้น

แต่สมมติใครบ้าจี้จะเอาไอเดียนี้ไปทำก็คงมึนงงน่าดู เพราะคงยังไม่มีที่ไหนเคยทำ ไหนจะโครงสร้างพื้นฐาน(แม้กำหนดจากส่วนกลางแต่ก็กระจายงบฯอย่างไม่โอเค) ไหนจะศาลอีก

แต่การมีอำนาจกลุ่มเดียวที่ปกคลุมผู้คนทั่วทั้งดินแดน มันแฟร์กับคนที่ไม่ได้เลือกมั้ย? ไอ้ที่ผมเสนอก็ไม่ได้ให้ย้ายบ้านไปไหนแบบที่คนอเมริกันส่วนหนึ่งทำท่าว่าอยากย้ายไปอยู่แคนาดาหลังเลือกตั้ง ปะปนอยู่ในดินแดนเดียวกันนั่นแหละ ฝึก EQ ดีออก

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน:

ฐานันดร ชมภูศรี ผู้ประกอบการแฟชั่นตุ๊กตา, แอดมินเพจ 'จะลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างไรดี', งานอดิเรกชอบดูวิดีโอพวก AI, Machine Learning, เป็นคนลำปาง

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: