เอกชนมั่นใจลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าจังหวัดชายแดนใต้ไร้ปัญหาช่วยจ้างงานสร้างรายได้แก่ท้องถิ่น มีการรับซื้อไม้ยางพารามาเป็นวัตถุดิบ และยังมีเงินกองทุนรอบโรงไฟฟ้า ด้านโรงไฟฟ้าปัตตานีกำลังผลิตรวม 46 MW ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะได้รับอนุญาตเดือนกันยายนนี้ (ที่มาภาพประกอบ: mottmac.com)
เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2559 ที่ผ่านมา สำนักข่าวไทย รายงานว่า นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง (TPCH) ซึ่งเป็นบริษัทที่ประมูลโรงไฟฟ้าในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ 3 โรง รวม 26 เมกะวัตต์ กล่าวว่า บริษัทมั่นใจจะลงทุนได้ แม้หลายฝ่ายจะมองว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย เนื่องจากก่อนหน้านี้บริษัทแม่ คือ ไทยโพลีคอน ได้ลงทุนในพื้นที่และบริษัทก็มีโรงไฟฟ้าที่ปัตตานีอยู่แล้ว ประกอบกับโครงการนี้เป็นโครงการที่ให้ช่วยจ้างงานสร้างรายได้แก่ท้องถิ่น มีการรับซื้อไม้ยางพารามาเป็นวัตถุดิบ และยังมีเงินกองทุนรอบโรงไฟฟ้า ซึ่งบริษัทจะมีการจ่ายเพิ่มให้อีกด้วย จึงมั่นใจจะว่าโครงการจะเดินหน้าผลิตไฟฟ้าได้
สำหรับโครงการที่เพิ่งประมูลได้ใหม่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ โรงไฟฟ้า ทีพีซี เพาเวอร์1 (TPCH1) , โรงไฟฟ้า ทีพีซี เพาเวอร์2 (TPCH2) และโรงไฟฟ้า ทีพีซี เพาเวอร์5 (TPCH5) แต่ละโครงการถือหุ้นโครงการละร้อยละ 65 โดย TPCH1 และ TPCH2 มีกำลังผลิตแห่งละ 10 MW ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันในจังหวัดยะลา ทำให้สามารถใช้สาธารณปูโภคร่วมกันได้บางอย่างส่งผลให้สามารถประมูลค่าไฟฟ้าได้ในระดับต่ำ ส่วน TPCH5 มีกำลังผลิตประมาณ 6 MW ตั้งอยู่ในจังหวัดนราธิวาส โดยโครงการทั้งหมดจะต้อง COD ภายในเดือนธันวาคม 2561
“ค่าไฟที่ประมูลได้เฉลี่ย 26 เมกะวัตต์ โดยรวมอยู่ที่ 3.2 บาทต่อหน่วย เท่ากับโครงการช้างแรก จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นโครงการแรกที่ดำเนินการ ถ้าประมูลได้ลักษณะก็จะคล้าย ๆ กึ่งผูกขาด วันนี้มีปัตตานี 1 อยู่ตรงนั้นแล้ว 23 เมกะวัตต์ และปัตตานี 2 ก็จะได้อีก 23 เมกะวัตต์ และประมูลได้อีก 26 เมกะวัตต์ รวมกันตรงนั้นจะมี 70 เมกะวัตต์ในแง่ยุทธศาสตร์จะเป็นรายใหญ่ในพื้นที่” นายเชิดศักดิ์ กล่าว
บริษัทวางเป้าหมายในช่วง 5 ปีข้างหน้าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือจากทั้งในและต่างประเทศเพิ่มเป็น 350 MW โดยมาจากในประเทศ 250 MW แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล 200 MW และโรงไฟฟ้าขยะ 40-50 MW ส่วนในต่างประเทศวางเป้าจะมีกำลังผลิตไฟฟ้า 100 MW จากปัจจุบันที่บริษัทมีกำลังผลิตไฟฟ้าในมือเฉพาะในประเทศประมาณ 110 MW ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลทั้งหมด แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าช้างแรก ไบโอเพาเวอร์ (CRB) ถือหุ้นร้อยละ 75 COD ในปี 2558, โรงไฟฟ้าแม่วงศ์ เอ็นเนอยี่ ถือหุ้นร้อยละ 85 COD ในปี 2558, โรงไฟฟ้ามหาชัย กรีน เพาเวอร์ ถือหุ้นร้อยละ 46 COD ในเดือนเมษายน 2559, โรงไฟฟ้าทุ่งสัง กรีน ถือหุ้นร้อยละ 65 COD ในไตรมาส 3/2559, โรงไฟฟ้าพัทลุง กรีน เพาเวอร์ ถือหุ้นร้อยละ 60 COD ในไตรมาส 1/2560, โรงไฟฟ้าสตูล กรีน เพาเวอร์ ถือหุ้นร้อยละ 51 COD ไตรมาส 2/2560 ซึ่งทั้ง 6 โรงมีกำลังการผลิตแห่งละประมาณ 10 MW
ส่วนโรงไฟฟ้าปัตตานี กรีนที่ TPCH ถือหุ้นร้อยละ 65 กำลังผลิตรวม 46 MW ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะได้รับอนุญาตเดือนกันยายนนี้ โครงการแบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะแรก 23 MW คาดว่าจะได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ในเดือน กันยายน โดยจะเริ่มโครงการและดำเนินการผลิตปี 2561 ส่วนระยะที่ 2 อีก 23 MW อยู่ระหว่างรอผลพิจารณาการรับซื้อไฟฟ้า (LOI) จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หลังยื่นเสนอโครงการไปแล้ว 2 ปีก่อนที่ทางรัฐบาลจะปิดรับซื้อไฟฟ้าในระบบ adder เชื่อว่าหากได้รับอนุมัติก็จะแปลงจาก LOI เป็น PPA และสามารถดำเนินโครงการได้
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ