เปิดปมดัน ‘โรงไฟฟ้าถ่านหินปะนาเระ’ อ้างมั่นคง-ทำเลดี-ที่เอกชน-คนค้านน้อย

ทีมข่าว TCIJ : 2 พ.ค. 2559 | อ่านแล้ว 5093 ครั้ง

เป็นเรื่องที่เรียกเสียงคัดค้านทันทีเมื่อคณะกรรมาธิการพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอให้รัฐบาลสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ณ ต.บ้านน้ำบ่อ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี โดยข้อเสนอนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม สนช.ไปแล้วเมื่อปลายเดือน มี.ค. 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งคณะกรรมาธิการพลังงาน สนช. ให้เหตุผลว่าปัจจุบันภาคใต้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 3,122 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นกำลังการผลิตที่พึ่งพาได้เพียง 2,473 เมกะวัตต์ รับจากภาคกลางประมาณ 600 เมกะวัตต์ และรับซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียอีก 300 เมกะวัตต์ รวมเป็นกำลังการผลิตที่สามารถพึ่งพาได้ทั้งหมด 3,373 เมกะวัตต์ ขณะที่ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของภาคใต้จากข้อมูลเมื่อเดือน เม.ย. 2558 อยู่ที่ 2,500 เมกะวัตต์ และข้อมูลพยากรณ์ในปี 2562 อยู่ที่ประมาณ 3,218 เมกะวัตต์ ดังนั้นการพัฒนาโครงการไฟฟ้าเพื่อให้สามารถเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2562 เป็นสิ่งที่ควรรีบพิจารณาและดำเนินการเร่งด่วนเพื่อป้องกันการขาดแคลนพลังงาน

ภูมิประเทศ ของ ต.บ้านน้ำบ่อ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ติดทะเล 2 ด้าน ทั้งทิศเหนือและทิศตะวันออก (ที่มาภาพ: Google Map)

ปะนาเระ เหนือกว่าที่อื่น

แต่จากสถานการณ์การชุมนุมคัดค้านต่อต้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และโรงไฟฟ้าถ่ายหินเทพา ที่อาจจะส่งผลให้ไม่สามารถบรรลุตามแผน PDP 2015 ได้นั้น ศอ.บต. จึงเตรียมการศึกษาศักยภาพเบื้องต้น สำหรับการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดที่ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เพื่อเป็นแบบแผนทดแทนเพิ่มเติมกรณีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และโรงไฟฟ้าถ่ายหินเทพาไม่สามารถพัฒนาได้ตามกำหนด เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศและพื้นที่ภาคใต้ รวมทั้งสร้างอาชีพและรายได้แก่ชุมชน ยิ่งไปกว่านั้นสามารถสร้างความมั่นใจและภาพลักษณ์ที่ดีต่อการลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดต้นแบบสำหรับการเรียนรู้และการยอมรับในพื้นที่อื่น ๆ อีกทั้งยังช่วยลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้แผนในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดที่ จ.ปัตตานี นี้ยังคงปฎิบัติตามเกณฑ์ของแผน PDP 2015 ในส่วนของ 1,000 เมกะวัตต์ ที่ยังไม่ได้กำหนดพื้นที่เพื่อการผลิตในปี 2577  โดยรายละเอียดเบื้องต้นของโครงการโรงไฟฟ้าปะนาเระนั้น  เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด ขนาดกำลังติดตั้ง 1,000 เมกะวัตต์ ใช้ถ่านหินซับบิทูมินัส หรือ บิทูมินัส นำเข้าจากต่างประเทศ ต้นทุนโครงการประมาณ 70,000 ล้านบาท ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าประมาณ 2.67 บาทต่อหน่วย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบสถานที่ตั้งและท่าเทียบเรือระหว่าง โรงไฟฟ้ากระบี่-เทพา และปะนาเระ พบว่าท่าเทียบเรือที่ยื่นลงไปในทะเลให้ได้ร่องน้ำลึก 6-7 ม. ใช้เรือบรรทุกได้ 13,000 ตันได้นั้น โรงไฟฟ้ากระบี่มีระยะทางที่ 6.7 กม. โรงไฟฟ้าเทพามีระยะทางที่ 3.00 กม. และโรงไฟฟ้าปะนาเระมีระยะทางที่ 3.58 กม. ส่วนระยะทางท่าเทียบเรือที่ยื่นลงไปในทะเลให้ได้ร่องน้ำลึก 16 ม. ที่ใช้เรือบรรทุกได้ 80,000-100,000 ตัน นั้น โรงไฟฟ้ากระบี่ไม่มีท่าเทียบเรือดังกล่าว โรงไฟฟ้าเทพามีระยะทางที่ 15 กม. และโรงไฟฟ้าปะนาเระมีระยะทางที่ 4.96 กม. ซึ่งเมื่อสรุปด้านความสิ้นเปลืองในการขนส่งถ่านหินนั้นพบว่า โรงไฟฟ้ากระบี่มีความสิ้นเปลืองมากที่สุด ตามมาด้วยโรงไฟฟ้าเทพา และโรงไฟฟ้าปะนาเระมีความสิ้นเปลืองน้อยที่สุด

ทั้งนี้คณะกรรมาธิการพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ระบุว่า ในการพิจารณาด้านความเป็นไปได้และความเหมาะสมของพื้นที่ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ดังนี้

  1. มีความเหมาะสมทางด้านภูมิประเทศ ติดทะเล 2 ด้าน (ทิศเหนือและทิศตะวันออก) มีโครงสร้างด้านธรณีวิทยาที่ดี (เป็นหินแกรนิต) มีแหล่งน้ำทั้งจากน้ำทะเล และจากคลองพลุแตรแต แม่น้ำสายบุรี ระยะ
  2. ความลึกของน้ำ มีแนวน้ำลึก 15 เมตร ห่างจากชายฝั่งทะเล 3.4 กม. มีความเหมาะสมในการสร้างท่าเรือขนส่งถ่านหิน
  3. ที่ดินและกรรมสิทธิ์เป็นของบริษัทเอกชน ขนาดเนื้อที่ประมาณ 2,600 ไร่ เดิมเตรียมไว้สำหรับการสร้างท่าเรือขนาดใหญ่ แต่ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ จึงถูกทิ้งร้างไว้ 20 ปี
  4. มีนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ซึ่งปัจจุบันผลิตผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบได้ 50,000 ห่อ/วัน และโรงงานชำแหละไก่ 1,500 ตัว/ต่อวัน  (อ่านเพิ่มเติม นิคมอุตสาหกรรมฮาลาล และข่าว มติ สปช.ยกเลิกนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล
  5. มีถนนสาธารณะคั่นอยู่ระหว่างชายทะเลกับพื้นที่โครงการ ซึ่งจะมีผลต่อการรักษาความปลอดภัย โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความอ่อนไหว หากตัดถนนใหม่จะมีต้นทุนสูงขึ้นและมีผลกระทบต่อชุมชนที่ใช้ถนนเดิม  
  6. หน้าที่ดินโครงการติดชายทะเลมีระยะห่างประมาณ 1 กม. ซึ่งเป็นอุปสรรคทางเทคนิคเรื่องระยะห่างระหว่างจุดนำน้ำทะเลเข้ามาหล่อเย็น และจุดระบายน้ำออกที่มีอุณหภูมิต่างกัน 1-2 องศา ควรมีระยะห่างกันประมาณ 2-3 กม. แต่ด้านเทคนิคสามารถแก้ไขได้ ด้วยการจัดสรรที่ดินเพิ่มเติม เพื่อเป็นสถานที่ลดอุณหภูมิน้ำหล่อเย็น และจุดปล่อยน้ำออก ที่ระยะ 2-3 กม. จากจุดรับน้ำ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนโครงการเพิ่มขึ้น
  7. รูปผังที่ดินยังไม่เป็นรูปสี่เหลี่ยม มีส่วนที่เว้าแหว่ง อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการวางผังโครงการและการวางระบบรักษาความปลอดภัย รวมทั้งการจัดสรรที่ดินเพื่อเป็นพื้นที่กันชนและใช้ประโยชน์สาธารณะให้กับชุมชนที่อยู่โดยรอบ การแก้ไขจะต้องจัดสรรที่ดินจากภาคเอกชนเพิ่มขึ้น ให้พื้นที่มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม และมีจำนวนเพียงพอกับความต้องการดังกล่าวเบื้องต้น ซึ่งอาจเป็นปัญหาในการจัดหาและมีต้นทุนเพิ่มมากขึ้น
  8. สรุปผลการพิจารณาเห็นว่าพื้นที่โครงการมีความเป็นไปได้

ข้ออ้างเรื่องความมั่นคง

นอกจากนี้คณะกรรมาธิการพลังงาน สนช. ยังระบุถึงเรื่องด้านผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ และด้านการรักษาความปลอดภัยว่า

  1. ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นผู้มีรายได้น้อย ดำรงชีวิตด้วยความยากลำบาก เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่กันดารแห้งแล้ง ไม่สามารถใช้ประกอบอาชีพเพื่อหาเลี้ยงชีพได้มากนัก จึงมีความคาดหวังต่อโครงการว่าจะสามารถสร้างรายได้ สร้างอาชีพ และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีแก่ประชาชนในพื้นที่ได้
  2. ประชาชนมีความเป็นมิตร อัธยาศัยดี มีความรู้สึกที่ดีต่อการดำเนินโครงการ
  3. ประชาชนมีความต้องการอาศัยอยู่ในถิ่นฐาน ประกอบศาสนกิจ ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ดำเนินชีวิตตามแนวทางของชุมชนมุสลิม ไม่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านวิถีชีวิตความเป็นอยู่
  4. ประชาชนมีความวิตกกังวลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลภาวะที่อาจเกิดจากโรงไฟฟ้า การประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน การเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ผลกระทบจากท่าเรือและการขนส่งถ่านหิน
  5. ประชาชนต้องการให้โครงการมีการทำงานร่วมกันในลักษณะไตรภาคี (ชุมชน ภาครัฐ ภาคเอกชน) โดยมีเป้าหมายให้ชุมชนเป็นตัวตั้ง ทั้งด้านสุขภาพอนามัย รายได้จากการประกอบอาชีพ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และผลประโยชน์ตอบแทนด้านสาธารณะกับชุมชน
  6. ผู้แทนชุมชนคาดว่าอาจมีการต่อต้านโครงการบ้าง จากกลุ่มคัดค้านภายนอก (ที่มีผลประโยชน์ตอบแทน) ซึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ แต่จะไม่มีผลกระทบมากนัก และไม่ถูกต่อต้านมากเหมือนพื้นที่อื่น ๆ
  7. ด้านความปลอดภัย ปัจจุบันยังเป็นพื้นที่ที่มีการกระทำการต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดความไม่สงบ แม้ว่าหน่วยงานของรัฐจะพยายามแก้ไขให้เกิดความสงบในพื้นที่แล้ว ก็ยังไม่มีสิ่งบอกเหตุว่าจะเกิดความสงบได้เมื่อใด ดังนั้นระบบการรักษาความปลอดภัยต่าง ๆ ตั้งแต่การเริ่มต้นก่อสร้างโรงไฟฟ้าฟ้าจนสามารถก่อสร้างได้สำเร็จ จะต้องได้รับการวางระบบและการเอาใจใส่ทุกขั้นตอนในการดำเนินการเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้คณะกรรมาธิการพลังงาน สนช. ยังระบุว่าสรุปผลกระทบกับประชาชนแล้วเห็นว่าโดยทั่วไปประชาชนในพื้นที่ให้การยอมรับกับการก่อสร้างโครงการ และมีความคาดหวังว่าการมีโครงการ จะทำให้ชุมชนมีความเจริญมีรายได้มีงานทำในโรงไฟฟ้าหรือที่เกี่ยวเนื่องกับโรงไฟฟ้าและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงน่าจะให้การสนับสนุนโครงการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังมีความกังวลต่อมลภาวะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดจากโรงไฟฟ้า รวมทั้งต้องดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตหรือผลประโยชน์ที่ประชาชนและชุมชนจะได้รับ ให้ดำเนินการในลักษณะไตรภาคี สำหรับปัญหาด้านความปลอดภัยจากการก่อความไม่สงบในพื้นที่ เห็นว่าปัจจุบันยังไม่สามารถคาดหวังได้ว่าจะมีมากน้อยเพียงใด เนื่องจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์และปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการจัดหาแหล่งเงินทุนรวมถึงการประกันภัยด้วย ซึ่งหากจะมีการดำเนินโครงการจึงควรนำเรื่องนี้มาเป็นข้อพิจารณาเพื่อหาแนวทางการป้องกันและแก้ไขเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น

การส่งเสริมโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ตัวอย่างโรงไฟฟ้าชีวิมวลในต่างประเทศ (ที่มาภาพ: mnre.gov.in)

พื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ถือว่าเป็นพื้นที่ที่รัฐได้ออกนโยบายสนับสนุนโรงไฟฟ้าทดแทนมากที่สุดพื้นที่หนึ่งของประเทศไทย โดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชีวมวลและก๊าซชีวภาพในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอใน จ.สงขลา โดยให้มีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) เชื้อเพลิงชีวมวลและก๊าซชีวภาพในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส และ 4 อำเภอใน จ.สงขลา ได้แก่ อ.จะนะ อ.เทพา อ.สะบ้าย้อย และ อ.นาทวี ในปริมาณกำลังผลิตติดตั้งประมาณ 50 เมกะวัตต์ ด้วยวิธีแข่งขันด้านราคา (FIT Bidding) แบ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล ได้แก่ แกลบ ฟางข้าว ชานอ้อย กะลาปาล์ม หญ้า หรือเศษวัสดุจากการเกษตรอื่น ๆ กำลังผลิตติดตั้งประมาณ 30–40 เมกะวัตต์ และเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ หรือก๊าซที่เกิดขึ้นจากการหมักย่อยสลายของน้ำเสีย ของเสียต่าง ๆ กำลังผลิตติดตั้งประมาณ 10-20 เมกะวัตต์

ในส่วนความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ กพช. ได้เห็นชอบในหลักการเพิ่มสัดส่วนน้ำมันปาล์มดิบผสมกับน้ำมันเตาเพื่อผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้ากระบี่จากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 23 โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพิ่มชั่วโมงการเดินเครื่องโรงไฟฟ้ากระบี่และให้พิจารณานำน้ำมันปาล์มดิบมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าทดแทนน้ำมันเตา ภายหลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรสวนปาล์มที่มีล้นตลาดอยู่ 200,000 ตัน โดยให้ กฟผ.รับซื้อน้ำมันปาล์มปริมาณไม่เกิน 15,000 ตันต่อปี ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นให้ถือเป็นค่าใช้จ่ายตามนโยบายภาครัฐในสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ และมอบหมายให้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำกับดูแลการดำเนินงานโดยคำนึงถึงความมั่นคงของระบบไฟฟ้าและผลกระทบต่อราคาไฟฟ้าเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ ล่าสุดในช่วงต้นเดือน เม.ย. 2559 ที่ผ่านมาบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่าบริษัทฯ เตรียมยื่นเสนอขายไฟจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนประเภทชีวมวลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กมาก (VSPP) แบบ Feed-in Tariff ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรที่เป็นเจ้าของวัตถุดิบ คือ เศษไม้ยางพารา คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ โดยบริษัทฯ ยังระบุว่าการตัดสินใจลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น แม้ว่าจะมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย แต่เห็นว่าเป็นโครงการที่มีความสำคัญต่อประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ยังมีความต้องการใช้ไฟฟ้า

นอกจากนี้เมื่อปลายเดือน เม.ย. 2559 ที่ผ่านมา กกพ.ยังเปิดเผยถึงผลการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ Feed-in Tariff (FiT) ระยะที่ 1 ประเภทก๊าซชีวภาพ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอใน จ.สงขลา ว่าภายหลังจากประกาศโครงการที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและข้อเสนอด้านเทคนิค จำนวน 1 โครงการ จากทั้งหมด 4 โครงการ คือ โครงการบาเจาะไบโอก๊าซ จังหวัดนราธิวาส ของบริษัท พลังงานไทยเสริมสุข จำกัด และเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2559 ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการได้พิจารณาข้อเสนอด้านราคา สรุปผลได้ว่า โครงการบาเจาะไบโอก๊าซผ่านการประเมินข้อเสนอด้านราคา และเป็นผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการบาเจาะไบโอก๊าซ จังหวัดนราธิวาส ของบริษัท พลังงานไทยเสริมสุข จำกัด ได้เสนอปริมาณกำลังการผลิตติดตั้งจำนวน 2 เมกะวัตต์ โดยมีแหล่งเชื้อเพลิงจากน้ำเสียจากกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์มและได้เสนออัตราส่วนลดของราคารับซื้อไฟฟ้าในส่วนอัตรารับซื้อคงที่ (FITF) ร้อยละ10.25  ซึ่งภายหลังจากการประกาศผลการคัดเลือกแล้ว ห้ามไม่ให้ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเปลี่ยนแปลงจุดรับซื้อไฟฟ้าหรือจุดเชื่อมโยงไฟฟ้า (Feeder) ประเภทเชื้อเพลิง และขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง และขั้นตอน หลังจากนี้ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะต้องดำเนินการเตรียมเอกสารต่างๆ ในการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยจะต้องดำเนินการลงนามภายใน 120 วัน หรือภายในวันที่ 19 ส.ค. 2559โดย กกพ.ขอให้ผู้ที่ได้รับคัดเลือกเร่ง ดำเนินการตามกรอบเวลา เพื่อไม่ให้กระทบกับวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในเดือน ธ.ค. 2561 สำหรับกำหนดการรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงประเภทชีวมวลจำนวนกำลังการผลิตติดตั้งไม่เกิน 36 เมกะวัตต์ กกพ. จะประกาศ ข้อมูลศักยภาพระบบไฟฟ้า (Feeders) สำหรับประเภทชีวมวลในวันที่ 2 พ.ค. 2559 นี้ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)  จะเปิดรับตรวจสอบ Feeders ระหว่างวันที่ 10 – 31 พ.ค. 2559 หลังจากนั้น กกพ. จะเปิดให้มีการยื่นข้อเสนอในช่วงวันที่ 15 – 21 มิถุนายน 2559 ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลรายละเอียดและความคืบหน้าอื่น ๆ เกี่ยวกับโครงการได้ โดย กกพ.  จะประกาศให้ทราบผ่านทาง www.erc.or.th

พลังงานทดแทนภาคใต้ศักยภาพสูง แต่คสช.ใช้กรอบคิด กฟผ.

นโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลทหารชุดนี้ ได้รับอิทธิพลการชี้นำจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ซึ่งมีทัศนคติต่อพลังงานทดแทนว่าไม่สามารถสร้างความมั่นคงให้ระบบ และสิ้นเปลืองมากกว่าพลังงานหลักอย่างถ่านหินหรือนิวเคลียร์ ซึ่งพลังงานทดแทนจะทำให้ค่าไฟฟ้าของประเทศไทยสูงขึ้นหากมีการใช้ในสัดส่วนที่สูงเกินไป ทำให้การเริ่มหรือสานต่อพลังงานทดแทนในรัฐบาลชุดนี้ ดูเหมือนจะสะดุดและล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด

และแม้ว่าพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้จะได้รับการส่งเสริมด้านพลังงานทดแทนมากที่สุดดังกล่าวแล้วนั้น แต่ในภาพรวมธุรกิจพลังงานทดแทนในภาคใต้ยังคงมีปัญหาอยู่ และได้ออกมาเคลื่อนไหวให้รัฐบาลชุดนี้ช่วยสนับสนุนและแก้ปัญหาให้หลายครั้งแล้ว อย่างเมื่อช่วงกลางปี 2558 กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก็ได้ออกมาเรียกร้องให้แก้ไขความเดือดร้อนเนื่องจาก กฟผ. ปฏิเสธการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โดยมีมีผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบอาทิเช่น บริษัท สะบ้าย้อย กรีน เพาเวอร์ จำกัด โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ตั้งโครงการ อ.สะบ้าย้อย จ.ยะลา, บริษัท ไบโอเอ็นเนอร์ยี่ สตูล จำกัด ที่ตั้งโครงการ อ.ละงู จ.สตูล, บริษัท ปอ พานิช ปาล์ม ออยล์ 2 ที่ตั้งโครงการ อ.เมือง จ.กระบี่, บริษัท ศรีสไวรีนิวเอเบิลเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ที่ตั้งโครงการ อ.เขาพนม จ.กระบี่, บริษัท ไทย ไบโอแก๊ซ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด โครงการปาล์มศรีนคร ที่ตั้งโครงการ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช, บริษัท ไทย ไบโอแก๊ซ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด โครงการลาภภักดีปาล์ม ที่ตั้งโครงการ อ.ปลายพระยา จ.กระบี่, บริษัท เกษตรลุ่มน้ำ จำกัด กิจการโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ที่ตั้งโครงการ อ.พระพรหม จ.นครศรีธรรมราช, บริษัท ปัตตานี กรีน จำกัด โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ตั้งโครงการ  อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และบริษัท บุดีกรีน จำกัด โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ตั้งโครงการ อ.เมือง จ.ยะลา เป็นต้น  (อ่านเพิ่มเติม: เสียงครวญจาก ‘โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน’ อ้างนโยบายสนับสนุน-แต่สายส่งไม่รองรับ)

และล่าสุดเมื่อต้นเดือน เม.ย. 2559 ที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรม จ.กระบี่ เปิดเผยว่าจากการที่รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานได้สั่งการให้โรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตกระแสไฟฟ้าโดยก๊าซชีวภาพหรือไบโอก๊าซ เพื่อจำหน่ายให้แก่ กฟผ. และ กฟภ. นั้น ระงับการทำสัญญาซื้อขายระหว่างโรงงานกับการไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งไว้ก่อน ซึ่งได้สร้างปัญหาให้โรงงานสกัดปาล์มน้ำมันใน จ.กระบี่ หลายโรงที่ได้ลงทุนสร้างโรงผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยไบโอก๊าซเป็นอย่างมาก จึงได้ร้องทุกข์มายังสภาอุตสาหกรรม จ.กระบี่ ให้นำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจหรือ กรอ. จ.กระบี่ เมื่อเร็ว ๆ นี้เพื่อพิจารณานำเสนอต่อ กรอ.ส่วนกลาง เป็นข้อมูลให้รัฐบาลทราบ ทั้งนี้ได้มีการรวบรวมข้อมูล ด้านการสร้างพลังทดแทนร่วมกับตัวแทนกระทรวงพลังงานและ กฟผ. ให้นำเรื่องความเดือดร้อนแจ้งต่อคณะกรรมการไตรภาคีได้รับทราบ สำหรับเรื่อง กฟผ.รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มใน จ.กระบี่ ไปผสมกับน้ำมันเตาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้านั้น เนื่องจากช่วงนี้ราคาผลปาล์มสูงขึ้นถึง กก.ละ 5.50 บาท และน้ำมันปาล์มดิบราคา กก.ละ 29-30  บาท ทาง กฟผ.จึงหยุดซื้อไว้ก่อนเพราะนโยบายการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบก็เพื่อช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวสวนปาล์มในกรณีราคาผลปาล์มลดต่ำลง กก.ละ 4.20 บาท และน้ำมันปาล์มดิบลดลงต่ำกว่า กก.ละ 25 บาท โดยสภา  อุตสาหกรรม จ.กระบี่ ยังระบุว่าปัญหาใหม่ของชาวสวนปาล์มก็คือการอนุญาตให้ชาวสวนยางที่ต้องการปลูกแทนเปลี่ยน จากสวนยางพาราเป็นสวนปาล์มได้ เพื่อลดปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมัน ซึ่งอีก 5-6 ปีอาจเกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบ  อาชีพปาล์มน้ำมันก็เป็นได้

ทั้งนี้ข้อมูลจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานระบุว่าแหล่งศักยภาพพลังงานลมที่ดีของประเทศไทยมีกําลังลมเฉลี่ยที่มีศักยภาพในการผลิตพลังงานที่ 300W/m2 อยู่ที่ภาคใต้บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี รวมทั้งยังมีศักยภาพของพลังงานทดแทนอื่น ๆ ที่จะนำมาผลิตไฟฟ้าเช่น น้ำมันปาล์มและชีวมวลต่าง ๆ ในปริมาณมา นอกจากนี้ก็ยังมีงานวิจัยจากมูลนิธินโยบายสุขภาวะที่ระบุว่า 14 จังหวัดภาคใต้มีศักยภาพผลิตพลังงานทดแทนได้ 100% เลยทีเดียว 

อ่าน 'จับตา': “ศักยภาพของโรงไฟฟ้าในภาคใต้"
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=6178

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: