ข้อสังเกตต่อ 'วิธีแก้ปัญหา' องค์กรแรงงาน ทำไมยังคงมี 'ทาส' มหาศาล

ฐานันดร ชมภูศรี 3 ต.ค. 2559 | อ่านแล้ว 2745 ครั้ง


9 ก.ย.59 สำนักข่าวดังแฉ! สหรัฐค้ามนุษย์แรงงานประมง

23 ก.ย.59 เกล็น เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ของไทยว่า  "... ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ไทยทำทุกอย่างดีขึ้น"

โดยก่อนหน้านั้น (1 ก.ค.59) GREENPEACE เห็นว่าการตัดสินใจของกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ในการเลื่อนชั้นประเทศไทยเป็น Tier2 Watch List ว่าจากการสังเกตการณ์ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ สิ่งที่เกิดขึ้นยังห่างไกลจากการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ให้หมดไป ซึ่งจะทำให้การดำเนินการขจัดการค้ามนุษย์มีความท้าทายและยุ่งยากมากขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ตาม  เมื่อ 21 ก.ย. ที่ผ่านมา ได้มีการเปิดตัว Alliance 8.7 ซึ่งเป็นสหพันธ์เพื่อยุติการบังคับใช้แรงงาน ที่ นิวยอร์ก  โดยเป็นส่วนหนึ่งขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และเป็นวาระเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ 2030 (United Nations' 2030 Agenda for Sustainable Development)  ซึ่ง Alliance 8.7 ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ถูกบังคับใช้แรงงานประมาณ 21 ล้านคน (หญิง 11.5 ล้าน, ชาย 9.5 ล้าน, เด็ก 5.5 ล้าน)

ที่มาภาพ: http://www.alliance87.org

นั่นทำให้เราไม่จำเป็นต้องเคลิบเคลิ้มกับคำใหญ่คำโตขององค์การระหว่างประเทศ เพราะอย่างน้อยๆ ในรอบเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา (1998) ก็มีการประชุมใหญ่รับรองปฏิญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทํางานอันได้แก่ เสรีภาพในการสมาคม การเลิกใช้แรงงานเด็ก และการยุติแรงงานบังคับและการเลือกปฏิบัติ (น.9)  โดยอธิษฐานว่า ส่วนที่นักสิทธิแรงงาน นักข่าว เข้าไม่ถึง จะไม่เกิดการบังคับใช้แรงงาน เป็นต้น  ผู้เขียนจึงอยากลองใช้กระบวนทัศน์ (paradigm) หรือวิธีคิดต่อปัญหาว่าจะเอาอย่างไร อีกแบบหนึ่ง

-1-

เมื่อปลายเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา  ผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมถ่ายภาพเกี่ยวกับแรงงานประมงข้ามชาติที่ ต.มหาชัย จ.สมุทรสาคร  ได้ฟังเรื่อราวเกี่ยวกับการค้ามนุษย์จาก NGO ด้านแรงงาน  ทำให้ทราบว่า  คนที่เราเรียกว่า 'ต่างด้าว' ต่างก็เดินทางเข้าเมืองไทยผ่านนายหน้าทั้งถูกและผิดกฎหมายอย่าง 'สมัครใจ'  ตามความเห็นของเจ้าหน้าที่เครือข่ายส่งเสริมสิทธิแรงงาน (Labour Rights Promotion Network - LPN)

แรงงานส่วนใหญ่ยังไม่อยากกลับไปประเทศบ้านเกิด เพราะอยู่เมืองไทยมีงานประจำให้ทำ อาหารอร่อย ได้ส่งเงินกลับบ้านเกิด ได้สร้างเนื้อสร้างตัว มีความหวังว่าถ้ากลับไปบ้านเกิดจะได้เป็นคนรวย  แต่จากการสอบถามเจ้าหน้าที่เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (Migrant Worker Rights Network) ว่ามีแรงงานเพื่อนบ้านประมาณกี่เปอร์เซ็นต์ที่กลับไปแล้วรวย จนท.ตอบว่า "น้อยมาก"

เมื่อพูดถึงความ 'สมัครใจ' ลักลอบเข้ามาเมืองไทยของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ ก็เกิดจากค่าแรงในประเทศบ้านเกิดต่ำ หรือหางานทำไม่ได้เลย อยู่แบบนั้นต่อไปก็ยากจนเหมือนเดิม  ที่สำคัญคือ คนที่โชคดี ไม่ถูกนำไปค้ามนุษย์ ได้กลายเป็นแรงจูงใจให้เพื่อนบ้านจำนวนมากเข้าเมืองไทยมาแบบผิดกฎหมาย และหลายคนถูกนำไปค้ามนุษย์  แม้สถานการณ์ปัจจุบันจะดีขึ้นบ้าง แต่บาดแผลก็เกิดขึ้นไปแล้ว แรงจูงใจให้เพื่อนบ้านเข้ามาหางานทำแบบไม่หยุดไม่หย่อน

-2-

เมื่อดูจากประวัติศาสตร์ช่วงเริ่มต้นของ ILO (น.8)  ผู้เขียนสนใจว่าทำไมถึงระบุหนังสือ "ทุน" (Das Kapital) เล่มแรก (1867) ของ Karl Marx ลงไปด้วย?  ไม่ว่าจะระบุด้วยเหตุผลใดก็ตาม มันสัมพันธ์กับความเข้าใจเรื่อง 'ความยุติธรรมทางสังคม' ที่หวังว่าจะทำให้เกิดสันติภาพที่ครอบคลุมทุกๆ คนและถาวร  แต่ความยุติธรรมทางสังคมคืออะไร ก็มิใช่จะสรุปกันง่ายๆ 

ที่มาภาพ: https://en.m.wikipedia.org/wiki/Capital:_Critique_of_Political_Economy#/media/File%3AZentralbibliothek_Zürich_Das_Kapital_Marx_1867.jpg

กล่าวคือ ไม่ว่าจะด้วยอุดมการณ์ที่ได้รับอิทธิพลจาก Karl Marx หรือปัญหาทางงบประมาณของ ILO  ก็ได้ทำให้การต่อสู้ของแรงงาน/เพื่อแรงงาน ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันมีลักษณะเป็นการ 'รวมตัว' เช่น ก่อกบฏ จัดตั้งสหภาพ หยุดงานประท้วง จนพัฒนามาเป็นสหภาพแรงงานนานาชาติ (Workers International) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกท่ี ลอนดอน ในปี 1864 (น.8)  และในปีเดียวกัน Marx เองก็เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการจัดตั้งสมาคมกรรมกรสากล (International Workingmen's Association) ที่ลอนดอนเช่นกัน  นั่นอาจสันนิษฐานได้ว่า 'วิธีการ' ให้ได้มาซึ่ง 'ความยุติธรรมทางสังคม' คือการต้องรวมตัวกันมากๆ เพื่อ 'ยึดอำนาจ' จากนายทุน  และไม่ว่าจะด้วยอุดมการณ์ที่ได้รับอิทธิพลจาก Karl Marx หรือปัญหาทางงบประมาณ สหภาพแรงงานก็คงจะไม่ตั้งตนเป็น 'ทุน' เสียเอง

การ 'เรียกร้อง' มาตรฐานระหว่างประเทศเกี่ยวกับการใช้แรงงาน  ทําให้เกิดการก่อตั้ง ILO ในปี 1919 (น.4)  โดยเขียนปฏิญญาฟิลลาเดลเฟีย ปี 1944 (น.5), อนุสัญญาต่างๆ (น.3)  ทำให้การรวมตัว/ประท้วงเป็นสิทธิ  

ซึ่งถ้าใครเป็นนายทุน ย่อมจะคิดถึงการลดต้นทุน เพื่อให้ความเสี่ยงมันลดลง  และเมื่อ ILO สร้างมาตรฐานต่างๆ เช่น ให้รัฐกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำตามความเปลี่ยนแปลงของค่าครองชีพ  นายทุนก็ต้องลดต้นทุนด้วยการบังคับใช้แรงงาน หรือจ้างแรงงานจากภายนอกผ่านนายหน้า และหลายกรณีนำไปสู่การที่นายหน้าบังคับใช้แรงงาน  ถึงตรงนี้ผู้อ่านอาจสงสัยว่า พูดแบบนี้มันก็เหมือนกล่าวโทษมาตรฐานของ ILO, ค่าจ้างขั้นต่ำแต่การได้มาซึ่งมาตรฐาน มันก็เกิดจากการ เรียกร้อง/กดดัน ให้นายทุนจำยอม

การประชุมใหญ่ครั้งแรก ILO ได้รับรองอนุสัญญาหกฉบับ อนุสัญญาฉบับแรกจํากัดชั่วโมงทํางานเหลือวันละ 8 ชั่วโมง และสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมง  และในปี 1930 เกิดอนุสัญญาฉบับใหม่ที่มุ่งให้มีความคืบหน้าในการยุติแรงงานบังคับ เป็นต้น  โดยอธิษฐานว่า ในส่วนที่นักสิทธิแรงงาน นักข่าว เข้าไม่ถึงนั้น ผู้ประกอบการ นายหน้า จะปฏิบัติต่อแรงงานเป็นอย่างดี หรือจนท.รัฐจะขมักเขม้นในการแก้ปัญหา  แต่ ILO ก็ได้ถือกําเนิดขึ้นตั้งแต่ 97 ปีที่แล้ว!

แล้ว ILO นี่แหละที่เป็นผู้ระบุตัวเลขมหาศาลของการบังคับใช้แรงงาน  แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคือ การคาดหวังจากนายทุนและรัฐ ว่าจะทำตามปฏิญญา อนุสัญญาต่างๆ  แต่ 'บาดแผล' จากการบังคับใช้แรงงานก็เกิดขึ้นมากมายแล้ว  และยังคงเกิดขึ้นต่อไป

-3-

อย่างไรก็ตาม  อย่างน้อยๆ ILO มีความพยายามสร้างโครงการเกี่ยวกับทักษะ ความรู้ และความสามารถที่จะได้งานทํา (InFocus Programme on Skills, Knowledge and Employability – IFP/ SKILLS)  โดยการหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อฝึกและพัฒนาทรัพยากรบุคคล ทว่าร่างแก้ไขข้อแนะเรื่องการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ฉบับท่ี 150 ก็เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2518 หรือตั้งแต่ 41 ปีที่แล้ว! (น.23)  และยังมีโครงการเพื่อเพิ่มการจ้างงานด้วยการพัฒนากิจการขนาดเล็ก (InFocus Programme on Boosting Employment through Small Enterprise Development) ซึ่งที่ประชุมใหญ่ ILO ได้อนุมัติตั้งแต่ พ.ศ. 2541!  โดยถ้าพิจารณาจากข้อมูลที่ผู้เขียนได้ลงพื้นที่เกี่ยวกับ 'แรงจูงใจ' ของคนต่างด้าวที่เข้าเมืองไทยแบบผิดกฎหมาย อันนำไปสู่การถูกจับไปค้ามนุษย์ ก็คือ ความหวังที่จะหลุดพ้นจาก 'ความยากจน'  นี่ยังไม่ได้นับภูมิภาคอื่นตามตัวเลข 21 ล้านคน  นั่นก็แสดงว่าโครงการต่างๆ ของ ILO ไม่สำเร็จ

กรณีแรงงานพม่า - เปิดประเทศแล้วไม่ใช่หรือ?  แน่นอนว่าก่อนปี 2555 สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดาและอีกหลายประเทศได้คว่ำบาตรเศรษฐกิจพม่า  แต่พม่าเริ่มเปิดประเทศโดยการ ประกาศนโยบายเปิดประเทศ ในเวทีการประชุมเศรษฐกิจโลกที่เมืองดาวอส (Davos) สวิตเซอร์แลนด์ (ม.ค.55) โดยรัฐบาลพลเรือนพม่าได้ส่งรัฐมนตรีอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีช่วยการรถไฟ ไปร่วมประชุมด้วยเป็นครั้งแรก สร้างความตื่นเต้นให้แก่ตะวันตกที่เคยคว่ำบาตรเศรษฐกิจพม่าทั้งสหรัฐฯ และยุโรป  ตัวอย่างคำแถลง เช่น ยกเว้นภาษีนานถึง 8 ปีแก่นักลงทุน และมีโอกาสขยายเวลาออกไปอีก, รัฐบาลกำลังแก้ไขกฎหมายการลงทุนของพม่าที่เข้มงวดโดยจ้างที่ปรึกษาต่างชาติมาช่วยร่างกฎหมายที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ เป็นต้น  ทั้งนี้ ศักยภาพด้านทรัพยากรธรรมชาติที่พม่ามีอย่างอุดมสมบูรณ์ช่วยดึงดูดนักลงทุนสหรัฐฯ ยุโรป และเอเชียได้เป็นอย่างดี -ข้อมูลจาก http://www.pol.ru.ac.th/attachments/article/192/article0002_56.pdf

นาย U Soe Thane รัฐมนตรีอุตสาหกรรมของพม่า ในการประชุมเศรษฐกิจโลกที่เมืองดาวอส (Davos) สวิตเซอร์แลนด์ ม.ค.55 ที่มาภาพ: http://www.alamy.com/stock-photo-epa03081636-u-soe-thane-minister-of-industry-of-myanmar-attends-a-40421390.html

แม้จะประกาศกร้าวว่าน่าลงทุนแค่ไหน แต่เราก็เห็นข่าวจับพม่าเข้าเมืองผิดกฎหมายอยู่เรื่อยๆ ซึ่งก็เรียกได้ว่า 'ไม่ทันการณ์' สำหรับปัญหาค้ามนุษย์ เพราะปีที่แล้วก็หนักหนาสาหัส  และอย่างน้อยๆ เมื่อไทยแสดงความพยายามว่าจริงจังกับการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ อาจทำให้ขบวนการค้ามนุษย์เปลี่ยนปลายทางไปสู่มาเลเซีย (ข่าว)  และคงมีข่าวทำนองนี้ให้เห็นกันอีกเรื่อยๆ  นี่เป็นผลสืบเนื่องจากการคว่ำบาตรเศรษฐกิจพม่า

แน่นอนว่าโลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ  แต่ความไม่สำเร็จของ ILO ที่ยากจะเข้าใจ เช่น การกดขี่แรงงานจีนที่ผลิตชิ้นส่วนให้ Apple โดยไม่มีแม้กระทั่งการให้ความรู้เรื่องสิทธิแรงงาน, หรือก่อนหน้านั้น (13 มิ.ย.59) China Labor Watch ได้รายงานสภาพ/วิถีการทำงาน และความเป็นอยู่อันย่ำแย่ของพนักงานชาวจีนที่โรงงานผลิตสินค้าของ Disney  

ซึ่งผู้เขียนก็ได้แต่เดาว่า อาจเป็นเพราะเห็นว่าเป็นบริษัทระดับโลกอยู่แล้ว หรือเป็นเพราะความจงรักภักดีต่อยี่ห้อ (brand loyalty) จึงละเลย ไม่รู้ว่าสภาพข้างต้นเกิดขึ้นมานานเท่าไหร่แล้ว  และนี่คงเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ในตัวเลข 11,700,000 คนโดยประมาณ ของภูมิภาคเอเชีย ที่ ILO รายงาน

-4-

"... ในความเป็นจริง 50 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นคนงานไร้ฝีมือ คือเรายังอยู่กับผลพวงของอุตสาหกรรม 2.0 คือการทำงานไม่มีสกิล ... หากจะเกิดการแทนที่ด้วยหุ่นยนต์แรงงานตรงนี้จะถูกแทนที่ได้ทันที ความไม่มั่นคงในการทำงานมีชัดเจน จะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้มีอำนาจในการต่อรอง ..." เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร กล่าวในงาน ทศนิยมแห่งยุคสมัย : ไทยแลนด์ 4.0 vs แรงงาน 4.0

แต่ถ้านายทุนคิดว่า เทคโนโลยีนี้คือผลผลิตของผม หรือสิทธิของผมที่จะซื้อมาใช้  แล้วพวกคุณ (เช่น สหภาพแรงงาน) มา 'เรียกร้อง' เพื่อให้ผมจ้างงานพวกคุณ ทั้งๆ ที่ผมใช้หุ่นยนต์แล้วลดต้นทุนได้มหาศาล  แบบนี้มันปล้นกันรึเปล่า!

องค์กร/สหภาพแรงงานจะ 'เอาอยู่' มั้ย?

"... เราปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบ ในเยอรมันมีกรณีขาดคนจึงใช้เทคโนโลยีแทนคน แต่ในสังคมที่ไม่ได้ขาดคนแล้วเอาเทคโนโลยีเข้ามา แล้วคนที่ถูกแทนจะไปอยู่ที่ไหน แรงงานส่วนใหญ่ของเราเป็นแรงงานที่ไร้ฝีมือ แต่หากว่าถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีที่ประหยัดคน คนจะต้องหลุดออกไปจากระบบ ..." ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์  กล่าวในงานเดียวกัน

ผู้เขียนเข้าใจความหวังดีของ ศาสตราภิชาน แล  แต่ในเมื่อ ILO เขียน 'ปฏิญญาฟิลลาเดลเฟีย' ไว้ตั้งแต่ปี 1944 ข้อสุดท้ายว่า 'มนุษย์ทุกคน ... ย่อมมีสิทธิที่จะแสวงหาความสะดวกสบายทางวัตถุและการพัฒนาทางจิตใจ ตลอดจนมีเสรีภาพ ศักดิ์ศรี ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และโอกาสที่เท่าเทียมกัน'  ในเมื่อการเกิดมาประกอบกับสภาพแวดล้อมของคนบางกลุ่ม ทำให้พวกเขาต้องไปทำงานตามสายพานในโรงงาน หรือไปแกะกุ้ง/ปลาหมึก-กรณีต่างด้าวบางกลุ่ม ก็คงต้องเตรียมทักษะที่จำเป็นหลังการเข้ามาของหุ่นยนต์ให้คนกลุ่มนี้  เพราะไม่มีใครบอกได้ว่า องค์กร/สหภาพแรงงานจะสามารถต้านทานการอยากประหยัดคนของนายทุน ด้วยการเอาเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่

และแม้กระทั่ง "... คนจำนวนมากที่อยากทำงานแบบ platform economy (เศรษฐกิจในโลกออนไลน์) เราต้องคิดถึงเรื่องการคุ้มครองแรงงาน เรื่ององค์กรแรงงานในกระบวนทัศน์ที่ต่างออกไป ..." เกรียงศักดิ์  กล่าว,  เพราะบริษัท Uber ในเบอร์ลิน สามารถใช้พนักงานเพียง 20 คน  การคุ้มครองแรงงานอย่างยั่งยืน คงไม่ใช่แค่ลดหย่อนภาษีให้นายทุน โดยให้นายทุนยังไม่ต้องเอาเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามา ด้วยการยังคงจ้าง 'คน' อยู่  และการคุ้มครองทั้งคนที่กำลังทำงานตามสายพานในโรงงานและคนจำนวนมากที่อยากทำงานแบบ platform economy รวมถึงต่างด้าวที่กำลังแกะกุ้งอยู่ด้วย คงต้องคุ้มครองด้วยการทำให้มีทักษะ จะเผชิญความเสี่ยงได้ดีกว่า  เพราะในเมื่อปฏิญญาฟิลลาเดลเฟียพูดถึง สิทธิที่จะแสวงหาความสะดวกสบายทางวัตถุ/พัฒนาจิตใจ เสรีภาพ ...โอกาสเท่าเทียม  การจะมาโรแมนติคว่าพวกเขาเกิดมาเป็นคนจน หรือชนชั้นพนักงานออฟฟิศในกรณีที่อยากทำงานใน platform economy แล้วองค์กรแรงงานต้องคุ้มครอง โดยไม่เคยถามว่า พวกเขาอยากสร้างปัญญาประดิษฐ์ (AI) มั้ย? เป็นต้น  นั่นย่อมไม่ได้ช่วยให้ใครมี 'เสรีภาพ' และไม่ได้สร้าง 'โอกาสอันเท่าเทียม' ตามปฏิญญาฟิลลาเดลเฟีย เพราะวิธีคิดยังคงยึดติดกับความเป็น 'ชนชั้น'  และ platform economy ที่ไม่สามารถรองรับทุกๆ คนที่อยากทำงานนั้น การไป 'ยึดอำนาจ' นายทุนในนามของการคุ้มครองแรงงาน ย่อมไม่ใช่ 'เสรีภาพ' เพราะยังคงยึดติดกับตลาดแรงงานนั้นๆ 'ที่เพิ่งสร้าง' !

และ ILO คาดปี 2559-2560 คนรุ่นใหม่ที่อายุระหว่าง 16-24 ปี จะว่างงานเพิ่มเป็น 71 ล้านคน  โดยในปี 2558 มีมากกว่า 204 ล้านคน (ไม่แยกอายุ) ที่ว่างงาน

(อัตราการว่างงานทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 170 ล้านคน ในปี 2007 เป็นเกือบ 202 ล้านคน ในปี 2012)

เมื่อพิจารณาจาก Decent Work ที่ ILO ภาษาไทยแปลว่า 'งานที่มีคุณค่า' (น.2) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ วาระเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ของสหประชาชาติ (Goal 8: Promote inclusive and sustainable economic growth, employment and decent work for all)  ซึ่ง Decent Work มันมีลักษณะที่ไม่เชิง 'มีคุณค่า' แบบภาษาไทย โดย ILO นิยามว่า งานที่มีคุณค่า คืองานที่ทําให้ความปรารถนาของผู้ทำงานงานเป็นจริง, ทำแล้วได้ผลสำเร็จ, ผลตอบแทนเป็นธรรม, ปลอดภัย, มีความคุ้มครองทางสังคมให้ครอบครัว (ความจำเป็นพื้นฐานของลูกจ้างและครอบครัว และค่าจ้างขั้นต่ำจะต้องได้รับการพิจารณาปรับปรุงตามค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น), โอกาสพัฒนาตน/สถานะทางสังคม, ให้เสรีภาพในการเคลื่อนไหว และมีส่วนร่วมตัดสินเรื่องต่างๆ ที่จะกระทบกับชีวิตของตน, เสมอภาคทางเพศ (น.12)  แต่ถ้าเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิตอล หรือเศรษฐกิจ 4.0 เต็มตัว การตั้ง 'มาตรฐานขั้นต่ำ'-(ผู้เขียน) ของ Decent Work เพียงเท่านี้ อาจไม่เพียงพอ 

ดร.เนื้อแพร กล่าวในงานเดียวกันกับ ศาสตราภิชาน แล ว่า "... อาจมีความเป็นไปได้ที่เราไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทักษะคนทำงานให้พร้อม ดังนั้นการที่จะมี 4.0 เข้ามา ถ้าไม่มีการเตรียมกำลังก็อาจเป็นปัญหา และทางฝั่งผู้ให้ความรู้เองก็อาจไม่มีความรู้พอ ..."  แล้วพวกเกลวกลาดไม่มีสกิล จะโซซัดโซเซถูกจับไปบังคับใช้แรงงานอีกหรือไม่?

ถ้าองค์กรแรงงานไม่อยากเห็นปัญหา เช่น สาวไทยถูกหลอกค้ากาม, ค้ามนุษย์แรงงานลาว จ.เพชรบุรี, บุกจับแรงงานเถื่อนคาห้องเช่าที่ตลาดโรงเกลือ ระหว่างรอ 'นายหน้า' พาเข้ากทม.? (ประเภทนายหน้าพาไปนี่แหละ เสร็จขบวนการค้ามนุษย์ไปเยอะแล้ว), บุกจับกุมแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมา กลางสวนยางพารา หลังลักลอบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย กรณีนี้ นายหน้าค้าแรงงานเถื่อนในมาเลเซียจะเสียค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด!?  ฯลฯ ฯลฯ

แล้วที่ไม่โดนจับล่ะ?  เมื่อดูจากแถลงการณ์ของ GREENPEACE ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ก็ยังคงน่ากังวล  เพราะคนที่ถูกนำไปค้ามนุษย์หรือบังคับใช้แรงงานที่ผ่านมา ก็คือกลุ่มที่ไม่โดนจับ

-5-

ที่ได้เกริ่นไปตอนต้นแล้วว่า จะลองใช้กระบวนทัศน์แบบอื่น ประกอบกับ เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร ได้พูดถึงเรื่อง จะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้มีอำนาจในการต่อรอง การคุ้มครองแรงงาน เรื่ององค์กรแรงงานในกระบวนทัศน์ที่ต่างออกไป  เมื่อพูดถึงกระบวนทัศน์ (paradigm) หรือวิธีคิดต่อปัญหาว่าจะเอาอย่างไร  ฝรั่งก็มีคำพูดที่ว่า “นายพลทั้งหลายถูกฝึกฝนมาเพื่อจะรบกับสงครามหลังสุดที่ผ่านมาแล้ว เพราะเหตุนี้เอง ทำไมนายพลพวกนี้จึงรบแพ้ในสงครามครั้งต่อไป” (Generals are trained to fight the last war. That is why they will lose the next one.) คัดลอกจาก: ทำไม The Structure of Scientific Revolution จึงเป็นหนังสือยอดนิยมของ Mark Zuckerberg

เมื่อวิชาเศรษฐศาสตร์ได้แยกตัวออกจากการเมือง ซึ่งก่อนศตวรรษที่ 20 เป็นวิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง (Political Economy) โดยความคิดพื้นฐานของวิชาเศรษฐศาสตร์นั้น ให้ความสำคัญกับความเป็นปัจเจกชน ที่มีความสามารถตัดสินใจได้ด้วยเหตุผล (rationality) ของตัวเอง  การตัดสินใจที่จะแลกเปลี่ยนอย่างมีเหตุมีผลภายใต้กลไกตลาด จะเป็นตัวทำให้เกิดความสงบเรียบร้อยในสังคม  ดังนั้น ใครก็ตามที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบของตลาด เป็นพวกไม่มีเหตุผล  ซึ่งสร้างความไม่แน่นอนในการ 'สร้าง' ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์  แต่ความคิดทางเศรษฐศาสตร์แบบ Keynesian ยอมรับความไม่แน่นอน (uncertainty) ที่เกิดจากจิตวิทยาสังคม จิตวิทยาฝูงชน กฎเกณฑ์ทางสังคม สถาบันทางสังคม มากกว่าที่จะใช้เหตุผลล้วนๆ (น.301-302)

หรือนี่ทำให้บางครอบครัว/ชุมชน อันเป็น 'สถาบัน' ทางสังคม,  ถ้า พม่า/เขมร/ลาว ฯลฯ คนไหนขี้เกียจ ย่อมเป็นพวกไม่มีเหตุผล ตามกรอบความคิดนี้ พม่า/เขมร/ลาว ฯลฯ เหล่านั้น ย่อมต้องเผชิญกับแรงกดดันจาก ครอบครัว/ชุมชน อยู่เรื่อยๆ สุดท้ายอาจตัดสินใจเข้าเมืองผิดกฎหมาย หลายคนถูกนำไปค้ามนุษย์

นอกจากนี้ เศรษฐศาสตร์ก็ได้แสดงความเป็น 'เอกเทศ' ด้วยการตัดเรื่องราวทางการเมืองทิ้งไปในราวต้นศตวรรษที่ 20 ด้วยฝีมือของ Alfred Marshall  วิชาเศรษฐศาสตร์จึงหลุดออกจากเศรษฐศาสตร์การเมือง  ในแง่นี้ อาจกล่าวได้ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการวางกรอบให้กับโลกทางสังคมภายนอก ให้เป็นไปตามวิธีคิดของสำนักนั้นๆ (น.302)

เพราะเมื่อกล่าวถึงการบังคับใช้แรงงาน การบอกว่าผู้กระทำนั้น 'เลว'  หรือนายทุน/นายจ้างที่เอาเปรียบคนงาน 'เห็นแก่ตัว'  ย่อมแสดงถึงความเชื่อว่า มนุษย์แต่ละคนมีความเป็นปัจเจก หรือเป็น 'เอกเทศ' (autonomy)  เมื่อพิจารณาจากคำว่า political economy แล้ว nomy แปลว่า การกระจาย, การกำหนด, การจัดการ / eco แปลว่า เชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อม  นั่นทำให้ economy น่าจะแปลว่า 'การเป็นไปตามสิ่งที่อยู่แวดล้อม'  ซึ่งเมื่อดูคำว่า Homo Economicus ที่แปลง่ายๆ ว่า 'สัตว์เศรษฐกิจ',  ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า economy มันเริ่มแปลว่า 'เศรษฐกิจ' ตั้งแต่ตอนไหน  แต่ตามที่ได้แยกคำเป็น eco+nomy จึงทำให้เห็นว่า คำว่า Homo Economicus ไม่ได้ผิดโดยตัวมันเองที่บอกว่ามนุษย์เป็นสัตว์เศรษฐกิจ  แต่ผิดที่ความเข้าใจว่า economy เป็นแค่เรื่องเศรษฐกิจแบบที่เข้าใจๆ กัน  แถมต้นศตวรรษที่ 20 ได้ตัดคำว่า political ออกไป  นั่นทำให้เศรษฐศาสตร์ก็ส่วนเศรษฐศาสตร์  รัฐศาสตร์ก็ส่วนรัฐศาสตร์

ความเป็น Homo Economicus หรือสิ่งมีชีวิตที่เป็นไปตามสิ่งที่อยู่แวดล้อม จึงทำให้ ILO ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางความคิดแบบ Marxism (ระบุ Das Kapital เล่ม 1 ลงใน ILO กับประวัติศาสตร์สังคม เป็นอย่างน้อย)  ซึ่ง Marx อ่อนมากๆ ในเรื่องการวิเคราะห์ทางการเมือง การคิดเรื่องความยุติธรรม เสรีภาพ เพราะเวลาวิเคราะห์อะไร Marx มองหา 'ชนชั้น' ตลอดเวลา  โดยไม่มองในแง่การ 'แย่งชิงอำนาจ' (0:05-1:19) ซึ่งจะบอกว่าผิดก็ไม่ได้เสียทีเดียว  เพราะในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมอังกฤษ กลางศตวรรษที่ 18 ถึงกลางศตวรรษที่ 19 วิถีชีวิตของผู้คนจำนวนมากตกต่ำ กลายเป็นกรรมกรที่อยู่ในโรงงาน แทนที่จะอยู่ในท้องไร่ท้องนาที่มีความเป็นพี่เป็นน้อง ต้องมาแออัดอยู่ในสภาพแวดล้อมอุดอู้  ด้วยความเป็น Homo Economicus เมื่อความไม่พอใจสะสมถึงจุดหนึ่งจึงได้นำไปสู่การประท้วง เผาโรงงานในอังกฤษ จนกระทั่งฝ่ายคนงานสามารถรวมตัวกันได้และตั้งเป็นสหภาพแรงงาน และเป็นพรรคแรงงาน (Labour Party) ในปี 1900  และ 'กดดัน' จนมีการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองคนที่เสียเปรียบ ซึ่งก็ออกมาเป็นกฎหมายแรงงานที่ช่วยเกลี่ยผลประโยชน์ของคนที่ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงให้ทั่วถึงคนทั้งแผ่นดิน มันจึงอยู่ร่วมกันได้ -ทศนิยมแห่งยุคสมัย : ไทยแลนด์ 4.0 vs แรงงาน 4.0 (ความเป็น Homo Economicus ผู้เขียนใส่ลงไปเอง)

และลักษณะเช่นนี้ก็วิวัฒนาการมาจากวิธีคิดแบบ Marxism  คือแนวคิด 'เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ' 

แต่ถามว่า ต่อให้ไม่มี Karl Marx เลย  คนงานที่ถูกกดขี่จะไม่หือไม่อือเลยหรือ?  ก็คงไม่ใช่

จากเรื่องการปฏิวัติอุตสาหกรรมข้างต้น การสามารถออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองคนที่เสียเปรียบ ก็เกิดจากการ 'กดดัน' ซึ่งต่อเนื่องมาจากการเผาโรงงาน และตั้งสหภาพแรงงาน  การ 'แย่งชิงอำนาจ' เช่นนี้ มันยุติธรรมกับนายทุนหรือไม่? อันนี้คงถกเถียงกันได้ยาวๆ  แต่ถ้า Marx คิดเรื่องเสรีภาพมากกว่านี้ คนงานอาจไม่ต้องแสดงความเผด็จการต่อนายทุน (เผาโรงงาน)  หรือถ้านักปรัชญาที่ต่อสู้เพื่อแรงงาน ไม่ใช่ Marx  แนวคิดไม่ใช่ 'เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ'  โลกนี้จะหน้าตาเป็นแบบไหน องค์กรแรงงานอาจจะไม่ต้องไป 'เรียกร้อง' จากรัฐ-ทุน  และเพื่อไม่ให้คนจนต้องพลัดหลงเข้าไปสู่การกดขี่ องค์กรแรงงานทั้งหลาย อาจจะทำตัวเป็น 'ทุน' เองเลยก็ได้  ทั้งนี้ ยุโรปตะวันตกและอเมริกาเหนือ ที่ดูเหมือนจะจริงจังเรื่องสิทธิมนุษยชนกันมากๆ ก็มีคนถูกบังคับใช้แรงงานประมาณ 1,500,000 คน  และตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้มาจาก รัฐ-ทุน แน่นอน!  แล้วทำไมวิธีคิดแก้ปัญหาขององค์กรแรงงาน จึงยังคงติดอยู่กับ รัฐ-ทุน 'ที่เพิ่งสร้าง' ?

และที่องค์กรแรงงานยังคงมีลักษณะ 'เรียกร้อง' / 'กดดัน' รัฐ-ทุน  คือไม่ยอมตัดปัญหาด้วยการ สถาปนาตนเองเป็น 'ทุน' ไปเลย คงเป็นเพราะแนวคิดเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ ที่ต้องไป 'ยึดอำนาจ' จาก รัฐ-ทุน ในนามของการ 'เรียกร้อง' / 'กดดัน'  ซึ่งคงเป็นเพราะนักปรัชญาที่ต่อสู้เพื่อแรงงานแล้วดังมากๆ ดันเป็น Karl Marx ! 

-6-

เมื่อ Decent Work ของ ILO คือการเรียกร้อง สวัสดิภาพ, สวัสดิการ, เสรีภาพการรวมตัวเคลื่อนไหว, เสมอภาคทางเพศ โดยให้รัฐบังคับใช้กฎหมายกับนายทุน/นายจ้าง  แต่การบังคับใช้แรงงานยังมีอยู่จำนวนมหาศาล แม้จะมีโครงการอย่าง 50 for Freedom ที่ประสงค์ให้ประเทศทั่วโลกลงนามในอนุสัญญา หรือ Alliance 8.7 สหพันธ์เพื่อยุติการบังคับใช้แรงงาน  แต่ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่า Decent Work จะนำไปสู่การยุติการบังคับใช้แรงงานได้ เพราะเมื่อดูจากที่ ILO คาดการณ์ว่าปีหน้า คนรุ่นใหม่ที่อายุระหว่าง 16-24 ปี จะว่างงานเพิ่มเป็น 71 ล้านคน ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่นอกจากอัตราว่างงานสูงแล้ว ยังต้องเผชิญกับปัญหาความยากจนเนื่องจากการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม

การตั้ง 'มาตรฐานขั้นต่ำ' เรื่อง Decent Work มันมีกลิ่นอายของการคิดที่แยกเป็น 'ชนชั้น' โดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เพราะการทำงานของชาวพม่าในโรงงานปลากระป๋องที่ ต.มหาชัย สมุทรสาคร ก็เป็น Decent Work แล้ว  แบบว่าได้แค่นี้ก็ดีแล้ว

เมื่อ 'มาตรฐานขั้นต่ำ' ของ Decent Work ไม่ได้เรียกร้องทักษะมากนัก มันก็หมายถึงคนที่จะไปสู่ Decent Work นั้น ไม่มีอำนาจต่อรอง  ดังที่เกิดการ 'ล่อเหยื่อ' ให้ติดกับขบวนการค้ามนุษย์ เพราะเหยื่อที่ติดกับก็คงหวังว่าจะได้ Decent Work

ในเมื่อวิดีโอ The Future of Work ของ ILO ลงท้ายอย่างสวยหรูว่า "อนาคตที่ต้องการ อยู่ที่เราสร้างสรรค์"  งั้นก็ควรตั้งมาตรฐาน Decent Work ให้ 'เยอะ' ขึ้น  เพราะอย่างน้อยก็มีวัยรุ่นแอฟริกัน (1:42-1:47) ที่อยากเป็นนายธนาคาร เพราะชอบคณิตศาสตร์กับเทคโนโลยี  หรือผู้ลี้ภัยซีเรียสร้างแอพฯ 'Bureaucrazy' นำทางผู้คนฝ่าระบบราชการยุ่งเหยิงแบบเยอรมนี โดย แอพฯ นี้มีการพัฒนาที่วิทยาลัย ReDI ซึ่งเป็น 'วิทยาลัยเพื่อการบูรณาการดิจิตอล' ที่ไม่แสวงหาผลกำไรในกรุงเบอร์ลิน

อาจเป็นเพราะความรู้งูๆปลาๆ เกี่ยวกับความเป็นองค์กรแรงงาน จึงทำให้ผู้เขียนไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมระดับ 'ศูนย์ฝึกอบรมนานาชาติ' ของ ILO จึงตั้งเป้าหมายเพียง Decent Work

ตัดภาพจาก: http://www.itcilo.org/en

เพราะใครบอกได้ว่า คนพม่า เขมร ลาว อูกันด้า เบอกินาฟาโซ ลิเบีย ไม่อยากสร้าง AI หรือไม่อยากเป็น Start Up,  ทิวา ยอร์ก CEO kaidee.com ได้กล่าวใน ทศนิยมแห่งยุคสมัย : ไทยแลนด์ 4.0 vs แรงงาน 4.0 ทำนองว่า ถึงแม้ 95% ของสตาร์ทอัพทั่วโลก fail ... การแก้ปัญหามีอยู่ทั่วไปหมด นี่เป็นโอกาส อยากเห็นสตาร์ทอัพที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีไฟไปแก้ปัญหาที่เป็นปัญหาของบ้านเราจริง ๆ ทั้งเรื่องเกษตร การส่งเสริมสุขภาพ เรื่องการศึกษา

คนในประเทศที่เพื่อนร่วมชาติของเขาถูกจับไปค้ามนุษย์มากๆ จะบอกว่าเขาไม่รู้องค์ประกอบที่ทำให้เกิดปัญหา ก็คงไม่ใช่  แต่ “เราพูดกันว่าอยากให้แรงงานเรามี 'ทักษะ' แต่คำถามคือว่าเรามี supply คนที่จะให้ทักษะหรือยัง ก็น่าจะตอบได้คร่าวๆ ว่าไม่น่าพอ” ดร.เนื้อแพร กล่าวในงานเดียวกัน  นั่นหมายถึง รู้ปัญหา แต่อาจยังไม่รู้เรื่องเทคโนโลยีที่จะช่วยผ่อนแรงในการแก้ปัญหาได้เยอะ 

แรงงานชายนอนใช้สมาร์ทโฟน ภาพถ่ายโดย: ฐานันดร ชมภูศรี

ถ้าจะแก้ปัญหาค้ามนุษย์กันจริงๆ คงไม่ต้องไปคาดหวังกับรัฐ-ทุน 'ที่เพิ่งสร้าง' ให้มากนัก  เช่นที่กล่าวไปตอนต้นว่า "GREENPEACE ไม่สบายใจต่อท่าทีของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ที่มีต่อสถานการณ์ค้ามนุษย์ของไทย - สื่อดังแฉ! สหรัฐฯค้ามนุษย์ - สหรัฐฯชมไทยแก้ค้ามนุษย์ได้ดี"  เพราะข่าวที่เราทราบๆ กัน ก็มาจาก นักสิทธิแรงงาน นักข่าว ไม่ใช่ รัฐ-ทุน,  องค์กรแรงงานต่างๆ คงถึงเวลาต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ หรือ paradigm shift  โดยไม่ต้องกลัวว่าตนเองจะกลายเป็นกระฎุมพี!

 

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน:

ฐานันดร ชมภูศรี แอดมินเพจ Make Life Safe Again ปัจจุบันมีการรณรงค์เรื่อง 'แก้กฎหมายความเร็ว "ในเมือง" ให้ไม่เกิน 60 กม./ชม' ผ่าน change.org เรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติแก้กฎหมายความเร็ว "ในเมือง" ให้ไม่เกิน 60 กม./ชม. โดยระบุว่าประเทศที่อุบัติเหตุและการเสียชีวิตบนท้องถนนน้อยกว่าไทยมีกฎหมายบังคับความเร็วที่เข้มงวดกว่า 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: