'ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อการศึกษา' ผ่าน ครม. แล้ว เปิดช่อง 'จ้างทวงหนี้-หักเงินเดือน'

3 มี.ค. 2559 | อ่านแล้ว 1450 ครั้ง


	'ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อการศึกษา' ผ่าน ครม. แล้ว เปิดช่อง 'จ้างทวงหนี้-หักเงินเดือน'

ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. กองทุนเพื่อการศึกษา รวม 'กยศ.- กรอ.' เปิดช่องจ้างนิติบุคคตามทวงหนี้ ให้นายจ้างส่งข้อมูลพนักงานและหักเงินได้พึงประเมินของผู้กู้ยืมเงินได้ ให้ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลไปสรุปวิธีสนับสนุนเงินแบบให้เปล่าช่วยเหลือเด็กยากจน หลังพบมีเด็กออกจากระบบมาช่วยพ่อแม่ทำงาน 

3 มี.ค. 2559 ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมานั้น คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อการศึกษา พ.ศ. ..... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานศาลปกครอง และฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

โดยสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ มีดังนี้ 1. กำหนดให้มีกองทุนเพื่อการศึกษา มีฐานะเป็นนิติบุคคล ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีงบประมาณ อยู่ในการกำกับดูแลของ กค. มีวัตถุประสงค์ แก่นักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ นักเรียน นักศึกษาที่ศึกษาในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลัก ซึ่งมีความชัดเจนของการผลิตกำลังคนและมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ นักเรียน นักศึกษา ที่ศึกษาในสาขาวิชาขาดแคลนหรือสาขาที่กองทุนมุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษ และให้แก่นักเรียน นักศึกษาที่เรียนดีเพื่อสร้างความเป็นเลิศ โดยนักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืมเงินมีหน้าที่ต้องคืนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ได้รับไปทั้งหมดคืนให้กองทุน 2. กำหนดให้มีคณะกรรมการกองทุนเพื่อการศึกษา โดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน มีผู้จัดการเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้คณะกรรมการมีหน้าที่กำหนดนโยบายและกรอบแนวทางในการดำเนินงาน กำหนดระเบียบและหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน 3. กำหนดให้มีสำนักงานกองทุนทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ และดำเนินงานต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ของกองทุนและนโยบายของคณะกรรมการรวมทั้งประสานงานกับส่วนราชการและองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

4. กำหนดให้มีผู้จัดการกองทุน มีอำนาจหน้าที่บริหารและจัดการเงินกองทุนเพื่อการศึกษา ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด โดยผู้จัดการสามารถจ้างสถาบันการเงินหรือนิติบุคคลใด ๆ ตามความเหมาะสมเพื่อทำหน้าที่แทนกองทุนในการบริหารและจัดการการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาและการดำเนินการติดตามเร่งรัดการชำระคืนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา 5. กำหนดให้คณะกรรมการกองทุนกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขสำหรับสถานศึกษาที่จะเข้าร่วมดำเนินงานให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา โดยให้มีคณะอนุกรรมการกำกับและประเมินสถานศึกษาที่เข้าร่วมดำเนินงานให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา มีหน้าที่ติดตามตรวจสอบและกำกับดูแลสถานศึกษา

6. กำหนดให้นักเรียนหรือนักศึกษาผู้ประสงค์จะขอกู้ยืมเงินกู้เพื่อการศึกษาประเภทใดให้ยื่นคำขอต่อคณะกรรมการฯ สำหรับเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาแต่ละประเภทนั้น และผู้กู้ยืมเงินต้องยินยอมให้กองทุนเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลหรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับการกู้ยืมเงินและการชำระเงินคืนกองทุน รวมถึงการให้ความยินยอมในขณะทำสัญญากู้ยืมเงิน 7. กำหนดให้นักเรียนหรือนักศึกษาผู้กู้ยืมเงินที่สำเร็จการศึกษาหรือเลิกการศึกษาแล้ว มีหน้าที่ต้องชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ได้รับไปคืนให้กองทุน ตามจำนวน ระยะเวลา และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด และ 8. กำหนดให้เมื่อผู้กู้ยืมเงินเข้าทำงานในหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคล ทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่ส่งข้อมูลบุคลากรในสังกัดให้กองทุนตรวจสอบว่าเป็นผู้กู้ยืมเงินหรือไม่ และมีหน้าที่หักเงินได้พึงประเมินของผู้กู้ยืมเงินในลำดับเดียวกับหนี้ค่าภาษีอากร

ทั้งนี้ จากรายงานของ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ระบุว่า พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยเมื่อวันที่ 1 มี.ค. ว่านายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ทีมเศรษฐกิจรัฐบาล ไปสรุปวิธีช่วยเหลือเด็กยากจนได้มีโอกาสได้เรียนหนังสือต่อด้วยการสนับสนุนเงินแบบให้เปล่า หลังจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เสนอแนวคิดว่า ในช่วง 1 - 2 ปีนี้ เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวอยู่ จนอาจมีเด็กที่ฐานะยากจนต้องออกจากระบบการศึกษามาช่วยพ่อแม่ทำงานหาเงินเลี้ยงชีพ จึงอยากหาทางช่วยเหลือ

โดยให้หน่วยงานรัฐไปตรวจสอบว่ามีเงินอะไรบ้างที่สามารถเข้ามาช่วยได้ เพื่อจะให้เด็กยากจนได้มีโอกาสเรียนหนังสือต่อไป โดยการช่วยเหลือก็ไม่ใช่ให้เงินกู้ แต่จะให้เงินไปเลย เพื่อเอาไปช่วยเหลือเด็กที่ยากจนในช่วงเวลาเศรษฐกิจกำลังมีปัญหา ซึ่งก็ตรงตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่อยากให้เด็กยากจนอยู่ในระบบการศึกษายาวนานขึ้น มีวุฒิภาวะ มีความรู้ และมีรายได้มาดำรงชีวิตเพิ่มขึ้นด้วย

 

 

 

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: